CITY CRACKER

‘Transformation เปลี่ยนผ่านประเทศไทย ผ่านพื้นที่สาธารณะ’ ถอดบทเรียนความร่วมมือจากภาครัฐ-ประชาชน เพิ่มกลไกและการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน 

หากเราต้องการการมีพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืน การออกแบบพื้นที่สีเขียวจึงไม่ใช่เพียงการมีพื้นที่ว่างและเพิ่มต้นไม้ลงไปเท่านั้น

แต่องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนตามลำดับขั้นตอน ตลอดจนการมีกลไกการดูแลรักษาหลังสวนสร้างเสร็จ ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องคิดคำนึงเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวที่ตอบโจทย์และครอบคลุมการใช้งานในระยะยาวอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรม เวทีเสวนา ‘Transformation เปลี่ยนผ่านประเทศไทย ผ่านพื้นที่สาธารณะ’ โดยทีม we!park ร่วมมือกับ The active (Thai pbs) และองค์กรภาคเครือข่ายอื่นๆ เพื่อเปิดพื้นที่เวสนาสาธารณะ ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายของพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเมืองอย่างยั่งยืน พร้อมสะท้อนความต้องการในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนา

เวทีนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับผู้คนจากหลากหลายกลุ่มและหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ในการถอดบทเรียน พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงความเป็นไปได้ และแนวทางของการออกแบบพื้นที่สาธารณะสีเขียวอย่างยั่งยืน ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือการชวนจินตนาการว่าพื้นที่สีเขียวสามารถเป็นอะไรได้บ้าง จาก ผศ.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยคำตอบที่ตามมามีความหลากหลาย เช่น พื้นที่สุขภาวะ พื้นที่สิ่งแวดล้อม พื้นที่ลดความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของคนเมือง สามารถพูดได้ว่าพืนที่สีเขียวเองก็เป็นเหมือนดัชนี้ชี้วัดคุณภาพชีวิตของคนเมืองเช่นกัน

นอกจากนั้นแล้ว การขับเคลื่อนพื้นที่สาธารณะสีเขียวจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเราไม่ปลดล็อก 3 เรื่องหลักๆ เรื่องแรกคือ ที่ดิน ต้องมีการเพิ่มกลไกให้กับเอกชนโดยภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจมากขึ้น และมีการลงทุนต่อเนื่องมาจากการส่งเสริมด้านที่ดิน คือภาครัฐต้องมีนโยบายที่สนับสนุนการลงทุนเพิ่มมากขึ้น และมีผลตอบรับอย่างเหมาะสม  สุดท้ายคือการบริหารจัดการ ซึ่งควรเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการดำเนินการสร้างสวน แผนงานการจัดการ แผนงานธุรกิจ ตลอดจนการให้ภาคประชาสังคมและองค์กรท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งมากขึ้น

สำหรับช่วง เสวนา ‘Green Space นโยบายที่ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน’ นำโดย ยศพล บุญสม จาก กลุ่ม we!park ได้มองเห็นประเด็นสำคัญของการขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียว คือการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและประชาชน เพื่อให้เห็นถึงปัญหาของพื้นที่และแนวทางแก้ไข ไม่ว่าจะในเรื่องเจ้าของที่ดิน รัศมีการให้บริการ ตลอดจนการจัดการกับองค์ความรู้ การชี้วัดตัวพื้นที่ รวมถึงสาธารณูปโภคและการเข้าถึงและใช้งานได้ต่างๆ ตลอดจนการให้ความร่วมมือของภาครัฐที่เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องของการจัดอบรมเจ้าหน้าที่สวน 50 เขต เพื่อขยายองค์ความรู้ให้กระจายต่อ และทำให้เห็นผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคต

เมื่อภาคประชาชนเข้าร่วมมือกับภาครัฐ หน้าที่หนึ่งของภาครัฐคือการจัดการให้เกิดขึ้นจริง ตัวอย่างหนึ่งจาก พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ที่เข้าร่วมวงเสวนาในประเด็นของการบริหารท้องถิ่นจากจังหวัดของตน ได้ให้มุมมองของการพัฒนาในฐานะเทศบาล คือการปรับเปลี่ยนพื้นที่สีเขียว ปรับภูมิทัศน์ใหม่ ตลอดจนทางเท้าและทางเดินสาธารณะ พร้อมกันนั้นยังตั้งเป้าถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อคน โดยปัจจุบันทำได้แล้วถึง 17 ตารางเมตร ต่อคน ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่เหมาะสมกับการทำงานขององค์กรท้องถิ่น

เมื่อมองภาพกว้างขึ้น ศนิวาร บัวบาน ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้กล่าวถึงนโยบายที่มีของพรรคคือการสนับสนุนให้พื้นที่สาธารณะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อทำให้เหลือพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งาน สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบนำมาสู่พื้นที่ใหม่ๆ ของเมืองได้ สอดคล้องกันไปกับ ดวงฤทธิ์ บุนนาค กลุ่ม Care คิด เคลื่อน ไทย ที่ยกประเด็นพื้นที่อาคารรัฐที่ไม่ได้ใช้งานมาปรับเปลี่ยนใหม่ ผ่านการวางแผนทางธุรกิจเพื่อให้ตอบรับกับการใช้งานของคนรุ่นใหม่ด่้วยเช่นกัน

และท้ายสุดคือประเด็นของพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจขนาดเล็กของเมือง ทั้งในแง่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจๆไปจนถึงการเพิ่มกลุ่มสังคม สนับสนุนชุมชน จาก ศ.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะอย่างเห็นภาพชัดเจน และเกิดขึ้นได้จริง

จากความคิดเห็นของหลายๆ ฝ่าย และตัวอย่างการทำงานที่เกิดขึ้นจริงแล้วบางส่วน เมื่อมองภาพใหญ่ทั้งระบบที่มีการขับเคลื่อนจากทุกฝ่ายแล้ว การสร้างพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืนจึงไม่สามารถมองได้แค่มิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น แต่ยังต้องครอบคลุมไปถึงการบริหารการจัดการ การดูแลหลังจากสวนเกิดขึ้นจริง ตลอดจนมิติของธุรกิจและเศรษฐกิจ มิติด้านสวัสดิการ สิ่้งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมของผู้ใช้งานและชุมชน เพื่อให้สวนที่เกิดขึ้นสามารถคงอยู่ได้ด้วยตัวเองต่อไปอย่างยั่งยืน

  • Pharin Opasserepadung
  • Nawin Deangnul

    ช่างภาพผู้อยากให้เรื่องเที่ยวและเรื่องงานเป็นเรื่องเดียวกัน

Share :