CITY CRACKER

‘สนามหลวงในฝัน’ ภาพสะท้อนความเป็นสนามหลวงในอุดมคติผ่านช่วงของกาลเวลา

พื้นที่ท้องสนามหลวงหรือทุ่งพระเมรุ มีความผูกพัน และวิวัฒน์ร่วมกับสังคมไทยในหลากหลายมิติ มาทุกยุคทุกสมัย  นับตั้งแต่ก่อร่างสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ผ่านกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และงานของราษฎร จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นพื้นที่ท้องสนามหลวงเป็นเสมือน ‘ลมหายใจของเมือง’

สนามหลวงถือได้ว่าเป็นพื้นที่หลากมิติ อย่างในยามสุขสนามหลวงคือพื้นที่สันทนาการ พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่เฉลิมฉลอง และพื้นที่แห่งการแสดงออกของกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น การเล่นว่าว ขี่จักยาน แข่งม้า เล่นดนตรี ฉายภาพยนตร์ และที่สำคัญคือเป็นพื้นที่สำหรับประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ของประเทศ

 

siamhistories.wordpress.com

 

ในยามเดือดร้อนสนามหลวงคือที่พักพิงกาย เป็นที่ทำนา เป็นตลาดนัดให้คนมาเปิดแผงขายของในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ และที่สำคัญคือเป็นที่พักพิงใจให้เรา เมื่อหันไปมองยังพระบรมมหาราชวังก็ได้ขอพรพระแก้วมรกตและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองให้เราและชาติได้พ้นภัย ในยามขัดแย้ง สนามหลวงคือพื้นที่รับฟังความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองและเป็นประจักษ์พยานของความสูญเสีย แม้กระทั่งในยามทุกข์ หรือคราวเปลี่ยนแผ่นดิน สนามหลวงก็เป็นพื้นคือที่จัดงานออกพระเมรุของพระมหากษัตริย์ ที่ประชาชนต่างพร้อมใจกันมาแสดงออกในฐานะสมาชิกของครอบครัวใหญ่แห่งนี้ อาจกล่าวได้ว่า ‘สนามหลวง’ คือสนามใหญ่ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนและทุกความคิด จากการที่สนามหลวงเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ที่ได้เชื่อมโยงและหล่อหลอมความเป็นชาติเข้าไว้ด้วยกัน

 

 

สนามหลวงในความทรงจำผมในครั้งแรกคงเป็นช่วงวัยเด็ก ที่พ่อและแม่พาไปรอเฝ้ารับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาโดยรถยนต์พระที่นั่ง ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา  นอกจากนี้บริเวณโดยรอบยังมีไฟประดับต้นมะขามสว่างสไสว และมีการจุดพลุสวยงามตระการตา  แม้โตมาไม่ได้ไปวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่ท้องสนามหลวง แต่ก็ยังจุดเทียนชัยถวายพระพรที่บ้านไปพร้อมกับงาน นอกจากความทรงจำที่เกิดขึ้นจากผมเองแล้ว  พ่อยังได้เล่าว่าสมัยหนุ่มๆ พ่อๆ เคยมาเปิดร้านขายข้าวแกงกับย่าที่นี่

ในคราวในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต สนามหลวงคือประจักษ์พยานของความจงรักภักดีที่ของคนไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งนี้เองที่เป็นเครื่องตอกย้ำว่าสนามหลวงไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่สาธารณะ แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งอุดมคติทางสังคมที่สะท้อนความเป็นชาติ และสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติเอาไว้ มากกว่าการเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้ง

 

dotproperty.co.th

 

เมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สนามหลวงถูกถูกใช้ในบริบทที่งานอย่างไม่เหมาะสมจึงเกิดการล้อมรั้วเอาไว้ ทำให้ไม่มีการเข้าไปใช้งาน  เมื่อย่านโดยรอบเริ่มร้างรา จากเดิมที่เป็นพื้นที่สันทนาการของเมือง เป็นพื้นที่ที่มีหลากหลายทางเลือก กลับกลายมาเป็นสนามหลวงแห่งการอนุรักษ์ ที่มีการล้อมรั้วเพื่อปิดกั้นไม่ใช้เกิดปัญหาด้านการใช้งานที่ไม่เหมาะสม เมื่อมีการปิดกั้นการใช้งานก็เหมือนปิดกั้นเสรีภาพของผู้คนไปในเวลาเดียว รวมถึงยังสร้างระยะห่างระหว่างสังคมกับสนามหลวงให้มีมากขึ้น ซึ่งเหลือไว้เพียงพื้นที่สนามทางการเชิงสัญลักษณ์ ที่ไม่ได้ผูกพันและวิวัฒน์ไปกับเราอย่างแต่ก่อน การปิดกั้นไม่ให้ใช้งานพื้นที่แห่งนี้ ส่งผลให้สนามหลวงพลาดโอกาสที่จะเป็นพื้นที่ทางสังคม ที่สร้างคนให้ผูกพันและเข้าใจกัน และสร้างความเป็นชาติร่วมกันอย่างที่เคยเป็นมา

 

bangkoktourist2.jpg

 

ตอนนี้เราจึงอยากเห็นสนามหลวงกลับมามีชีวิตสอดคล้องกับยุคสมัย และถูกแบ่งปันการใช้งาน ด้วยความตระหนักในประวัติศาสตร์ เรื่องราว และบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นบนพื้นที่สนามแห่งนี้ ที่สำคัญไปด้วยความ ‘เคารพ’ ในสิทธิเสรีภาพทางความคิดของทุกฝ่ายและเป็นไปได้ในทางสร้างสรรค์ เพื่อให้สนามหลวงเป็นพลังต่อการสร้างพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ ประสบการณ์ร่วม การส่งต่อ ความเข้าใจ ความหวัง และเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เพื่อให้เป็นกำลังในการสร้างสังคมที่มีเราทุกคนอีกครั้ง สิ่งนี้จะเกิดขึ้นจากการเปิดรั้วอย่างเดียวก็คงไม่พอ แต่ต้องเปิดโอกาสให้สร้างเป้าหมาย กฎกติกา และการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ตั้งแต่คุณลุงคุณป้า เด็กวัยรุ่น พี่น้องศิลปิน พี่น้องแรงงาน คนเมือง คนชนบท หรือแม้แต่ธรรมชาติ ผ่านการสร้างกิจกรรมและออกแบบสนามหลวงให้เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์

 

tourismthailand.jpeg

 

เมื่อสนามหลวงสะท้อนภาพจริงของความหลากหลายในชาติผ่านการใช้งานของผู้คนในพื้นที่ เราจะเริ่มเห็นความเข้าใจและความเป็นไปของสังคมมากขึ้น ว่าทุกคนต่างพักพิงอยู่บนสนามดินหรือสนามหลวงอันแผ่กว้างใหญ่แห่งนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นเราควรตระหนักว่าเราไม่สามารถล้อมรั้วเพื่ออนุรักษ์อุดมคติ และกั้นความคิดที่เปลี่ยนไปของสังคมได้ หนทางเดียวที่เราสามารถทำได้ คือเปิดพื้นที่เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของผู้คนให้กลับมาอีกครั้ง

 

Graphic Design by Montree Sommut
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :