‘เมืองบางกอก” ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มเจ้าพระยาที่มีน้ำเหนือในหน้าน้ำไหลมากองอยู่สักระยะก่อนระบายลงสู่ทะเล อีกทั้งยังรับอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำมีสภาพกร่อย คนโบราณเข้าใจภูมิศาสตร์นี้ดีจึงปรับภูมิทัศน์เดิมที่มีคลองธรรมชาติอยู่แล้วด้วยการขุดคลองเพิ่มเป็นโครงข่าย ใช้เป็นทางระบายน้ำ ทางสัญจร เอาน้ำเข้าท้องร่องสวนเพื่อมาปลูกผลไม้ได้รสหวาน ไม่ก็ทดน้ำเข้าที่นาปลูกข้าว
คนก็อยู่อาศัยกับบ้านยกใต้ถุนแทรกตัวกับพื้นที่เกษตรกรรมเหล่านี้ หรือไม่ก็เรือนแพเรือนแถวริมคลอง นี่คือการตั้งถิ่นฐานบนที่ราบลุ่มของคนไทยอันเป็นภูมิปัญญาในการปรับตัวและใช้น้ำเป็นทรัพยากรต้นทุน ไม่ใช่ภัยเพื่อการดำเนินชีวิต ก่อเกิดวัฒนธรรม เกิดวิถีที่สัมพันธ์กลายเป็นเมืองน้ำ ทั้งกายภาพและจิตวิญญาณ
จากเมืองน้ำที่มีคลองกว่า 2000 คลอง กลับถูกถมเป็นถนน สร้างอาคารถมสวน ถมนา ขวางทางน้ำอย่างรวดเร็วราวกับความกระหายการพัฒนาที่ไร้สติ มีถนนและรถยนต์เป็นแกนกลางของความเจริญในการพัฒนาเมือง จนคนหันหลังให้คลองให้แม่น้ำ ลืมรากอันเป็นแก่นสำคัญของการตั้งถิ่นฐานว่าเรามีภูมินิเวศน์แบบไหนไปเสียสิ้น
คูคลองที่เหลือก็ถูกเขื่อนคอนกรีตดาดขอบปิดกั้นผู้คนและธรรมชาติไม่ให้มีชีวิตอ้อยอิ่งสัมพันธ์กับน้ำอย่างแต่ก่อน เพราะคนมองน้ำเป็นสาธารณูปโภคที่ต้องจัดการ ต้องป้องกัน เรากลัวน้ำ น้ำเป็นภัย ประตูระบายน้ำและเครื่องสูบน้ำรวมถึงอุโมงระบายน้ำคือเครื่องมือที่คนยุคใหม่ใช้จัดการน้ำ
ยิ่งคนหันหลังให้น้ำทั้งกายภาพและทัศนคติเยื่ยงนี้จึงไม่แปลกใจว่าทำไมคูคลองจึงเน่าเสีย วิถีชุมชนริมคลองกำลังค่อยๆ ตายลง เพราะเราไม่เห็นบทบาทว่าคูคลองสำคัญกับเราอย่างไรในวิถีเมืองยุคใหม่ คูคลองจึงไม่ต่างจากท่อระบายน้ำของเมืองในปัจจุบัน
กรุงเทพฯ เองกำลังจมลงช้าๆ จากการทรุดตัวของแผ่นดินที่สูบน้ำบาดาลออก ขาดการเติมน้ำใต้ดินเพราะเมืองถูกดาดแข็งไปหมด น้ำทะเลสูงจากโลกร้อน พายุรุนแรงขึ้นทุกปี ระบบระบายน้ำในท่อระบายไม่ทัน เขื่อนคอนกรีตริมคลองริมแม่น้ำบีบน้ำให้ยกตัวและไหลแรงขึ้น ไม่มีชายตลิ่งสะสมดินตะกอนให้พืชให้สัตว์อิงอาศัย ไม่มีธรรมชาติที่คอยบำบัดน้ำแบบในอดีต
การฟื้นคูคลองให้กลับมาในบริบทร่วมสมัยนั่นคือความท้าทายอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะเสียดายอดีต แต่มันคือโครงสร้างพื้นฐานที่คนโบราณได้วางไว้เพื่อความอยู่รอดของเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่ม
หากเราตั้งหลักในภาพกว้างของระบบนิเวศน์ เราจะมองเห็นว่าคูคลองและแม่น้ำเป็นกลไกสำคัญที่ต้องทำงานร่วมกับผังเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายพื้นที่สีเขียว การตัดโครงข่ายถนน รูปแบบอาคาร เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างเมืองน้ำให้กลับมา การคืนชีวิตให้คลองจึงไม่ใช่แค่การเอาคนไปเที่ยว แต่มันคือการทำให้คลองเป็นส่วนหนึ่งของวิถีนิเวศน์ คน และเมืองอย่างแยกไม่ออก
เมื่อคลองคือทางสัญจรที่เสริมกับระบบรางและรถไฟฟ้าในเมือง เป็นเส้นทางระบายน้ำส่งไปยังแก้มลิงต่างๆ ช่วยดูดซับน้ำท่วม เป็นเส้นทางส่งน้ำและตะกอนธรรมชาติให้กับพื้นที่เกษตรกรรมผลิตอาหารปลอดภัย เป็นสะพานนิเวศน์เชื่อมสัตว์ แมลง ปลา วรนุช หิ่งห้อย สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ชุมชนริมคลองเองก็เป็นพื้นที่สงบหลีกหนีความวุ่นวายจากเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต
และเมื่อวันนั้นมาถึงเราจะไม่พียงใช้ชีวิตที่อยู่ร่วมกับน้ำและคูคลองที่ผสานเมืองบกและน้ำเข้าไว้ด้วยกัน แต่เราจะมีทัศนคติที่เคารพและตระหนักในถิ่นฐานในธรรมชาติที่เป็นส่วนหนึ่งของตัวเราเองด้วย
วันนั้นเราจะนั่งเรือพลังงานไฟฟ้าจากบ้าน ผ่านแปลงเกษตรปลอดสารริมคลอง ไปนอน homestay ริมคลองบางหลวง เรียนรู้ศิลปะกับชุมชนศิลปินที่นั่น แวะเที่ยวคลองลัดมะยม แล้วมาทำงานในเมืองด้วยรถไฟฟ้าจากสถานีบางหว้าได้อย่างอ่มเอมใจ
และวันนั้นคือวันที่กรุงเทพฯ เปลี่ยนตัวเองอีกครั้งเป็นเมืองสะเทินน้ำสะเทินบก ที่คนและเมืองผสมผสานการใช้ทรัพยากรต้นทุนคือระบบคูคลองให้สอดคล้องกับวิถียุคใหม่ได้อย่างอย่างยั่งยืน
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker