CITY CRACKER

พื้นที่สาธารณะกับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง

เวลาเรามองพื้นที่สาธารณะเรามักมีจินตภาพของเมืองที่เป็นระเบียบ สวยงาม ไม่รุงรัง ผู้คนต้องเดินในเมืองร่มรื่น และมักจะมองไม่เห็นคนจนว่าเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เพราะนั่นคือวิถีชีวิตของชนชั้นกลาง แล้วคนจนเมืองอยู่ตรงไหนในจินตภาพนี้ ?

พื้นที่สาธารณะสำหรับคนจนเมืองมักไม่ใช่เพื่อการพักผ่อนอย่างที่เราฝันถึง แต่แท้จริงแล้วคือพื้นที่ของการ ‘ประกอบเลี้ยงชีพ’ พื้นที่บนทางเท้า หัวมุมถนน ซอกตึก ในที่ที่คนเดินผ่าน ในที่ที่ต้องการบริการ เหล่านี้คือพื้นที่สาธารณะที่พี่ๆ ลุงๆ ป้าๆ คนที่ขับเคลื่อนเมืองได้ใช้ แต่พื้นที่สาธารณะเหล่านี้ไม่ได้ออกแบบเอื้อหรือมีกฎเกณฑ์การใช้ที่หลากหลายพอที่จะทำให้วิถีการอยู่ร่วมกันของคนจนเมืองเป็นไปอย่างมีเกียรติ เหมาะสม และไม่ใช่ส่วนเกิน

พี่ๆ ลุงๆ ป้าๆ เขาอยู่กับหาบเร่แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ คนหาเช้ากินค่ำ คนกวาดถนน คนส่งของ ที่ขับเคลื่อนเมืองต่างก็อยู่บนพื้นที่สาธารณะด้วยเช่นกัน แต่เรากลับ ‘ไม่มีที่ทาง’ ของพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมต่อเขาเหล่านั้น และ ‘ไม่มีบทบาท’ ที่ตกลงร่วมกัน เพื่อให้พื้นที่สาธารณะนั้นสร้างโอกาสกับทุกคนอย่างแท้จริง เพื่อจะแก้ปัญหานี้ในการสร้างเมืองของทุกคน (poverty in public spaces,) เราต้องมองเห็นในศักยภาพของทุกคนในเมือง เพราะการสงเคราะห์นั้นไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืนและยกระดับผู้คน

ดังนั้นเราจะหาวิธีที่จะเปลี่ยนและสร้างพื้นที่สาธารณะเมืองให้สร้างโอกาสทางความรู้ ทักษะ และเศรษฐกิจให้คนจนเมืองเพื่อให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคุณค่าและมูลค่าให้ย่านและเมืองอย่างภาคภูมิด้วยกัน โดยการเปลี่ยนที่ดินร้างเป็นลานตลาด ลานกิจกรรม เปลี่ยนตึกแถวเป็นที่ฝึกอาชีพห้องสมุด เปลี่ยนใต้ถุนตึกเป็นศูนย์อาหาร (food court) เราต้องการประเภทของพื้นที่สาธารณะจำนวนมากที่มากกว่าสวนสาธารณะหรือลานหน้าอาคารหรูเพื่อมีทางเลือกที่ตอบโจทย์ต่อความหลากหลายของความต้องการและจินตนาการมากกว่าที่เป็นอยู่

มากไปกว่านั้น เมืองเรายังต้องเพิ่มการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในระยะที่เข้าถึงได้ง่ายจากชุมชนเพื่อตอบสนองต่อการเป็นพื้นที่สุขภาวะ พื้นที่ประกอบกิจกรรม สร้างความมั่นคงทางอาหาร ฝึกอาชีพผ่านการคิด ทำ และบริหารจัดการด้วยชุมชนเอง เพื่อให้เกิดพื้นที่เหล่านั้น ซึ่งต้องการทัศนคติในการมองทั้งระบบ สร้างการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม และมีกลไกในการบริหารขับเคลื่อนพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นบนที่ดินของรัฐหรือเอกชน เพื่อทำให้เมืองยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนไม่ใช่บางคนอย่างที่เป็นอยู่ และเกิดการเกื้อหนุนต่อกัน

ขณะเดียวกันนโยบายกระตุ้นนั้นก็จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดหย่อนภาษี หรือ FAR Bonus ต่อเอกชนหรือกิจการที่สนับสนุนให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่อินคลูซีฟ (inclusive) แบบนี้ ตั้งกองทุนที่เอาเงินจากภาษีที่ดินมาพัฒนาพื้นที่สาธารณะในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง และมีการจัดเก็บภาษีและรับรองผู้ให้บริการเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาและให้เกียรติเพื่อตั้งเป็นกองทุน จากนั้นนำมาสร้างงานสร้างอาชีพ อบรมทักษะของผู้มีรายได้น้อยเพื่อเสริมศักยภาพทั้งคนและเมืองไปพร้อมกัน

การออกแบบกายภาพดูจะเป็นปลายทางของเรื่องนี้ เพราะหากเราไม่ตั้งเข็มทิศให้ถูกทางในการสร้างโจทย์ต่อการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน เราก็จะเป็นเมืองที่เก่งต่อการจัดระเบียบกายภาพแต่มองไม่เห็นรากของปัญหาที่มักหลบอยู่ใต้พรมหรือซอกหลืบของเมือง และหลงดีใจว่าเราเป็นเมืองที่สวยแล้ว (สำหรับบางคน)

ความเห็นและข้อคิดจากเวทีรับฟังความคิดเห็น ‘งานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะต่อการเพิ่มผลิตภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเขตพาณิชยกรรมเมือง’

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :