CITY CRACKER

Paradise City เมืองที่ต้องมีความสมดุลทั้งเรื่องคนและธรรมชาติ

หากถามว่า ‘สวรรค์’ สำหรับเราคืออะไร แต่ละคนคงมีคำจำกัดความที่แตกต่างกัน สำหรับเมือง สวรรค์ที่ว่าคงเป็นสถานที่ที่มีความสุขและสมดุล

Lost and Gain

ทุกครั้งเวลาเราพัฒนาเมืองสิ่งหนึ่งที่หาย (lost) หรือถูกแทนที่เสมอๆ คือธรรมชาติหรือพื้นที่สีเขียว ธรรมชาติมักถูกแทนที่ด้วยสิ่งปลูกสร้รงที่มนุษย์คาดว่าจะนำมาซึ่งความสุข การพัฒนาเมืองในอดีตจะด้วยจำนวนคนที่น้อยกว่า หรือการเติบโตที่ช้ากว่า เราจึงยังเห็นความสมดุลระหว่างเมืองและธรรมชาติ แต่สิ่งสำคัญที่หายไปคือ ‘ทัศนคติ’ ต่อการเคารพธรรมชาติที่แท้จริง ด้านหนึ่งนั้น แม้ธรรมชาติจะพูดไม่ได้ ใช่ว่าไม่มีตัวตน เพียงแต่เราเองไม่เคยได้ยินและเราเองก็ละเลยเสียงนั้น ทำให้การพัฒนาเมืองของเรานำมาซึ่งการคิดและพัฒนาเมืองที่แยกขาดจากธรรมชาติ และท้ายที่สุดก็กลายเป็นปัญหาและภัยพิบัติที่เราได้มาแทน (Gain)

Design or Destroy

เวลาเรานึกถึงคนที่จะออกแบบสถานที่ให้สวยและมีความสุข เรามักนึกถึงนักออกแบบ ที่บางคนบอกว่า คือศาสตร์ของ ‘การแทรกแซง’ พื้นที่อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้มนุษย์ใช้งานและอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ แต่ถ้าเรามองไปรอบๆ ตัวก็ชักไม่แน่ใจว่ามันเป็นศาสตร์ของการสร้างสรรค์ หรือด้านหนึ่งมันกลับทำลายกันแน่ ภาพหมู่บ้านจัดสรรล้อมรั้วด้วยกำแพงสูงที่ตัดขาด และทำลายธรรมชาติริมคลองเพื่อสร้างพาราไดซ์ (paradise) ในกำแพง ไม่คุยไม่ปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและธรรมชาติที่อยู่รอบๆ  ในขณะที่ชาวบ้านกลับเข้าใจและเคารพธรรมชาติสามารถออกแบบถิ่นที่พักให้อยู่ร่วม เป็นร่องสวน เป็นธรรมชาติที่สัมพันธ์กับสายน้ำ และไม่แปลกแยก เกิดเป็นคำถามว่า ‘อะไรคือการออกแบบที่สร้างสรรค์ และใครคือนักออกแบบงานสร้างสรรค์ให้กับเมือง’ 

 

 

City Shape our Mindset

เราหลายคนในยุคสมัยใหม่ต่างเติบโตมาในเมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้าง ขาดซึ่งธรรมชาติที่เป็นกายภาพ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือสภาพแวดล้อมปลอมๆ เหล่านี้กำลังสร้างทัศนคติของเราให้มองธรรมชาติแบบแยกส่วน มองว่าเราจัดการและบังคับความเป็นไปของธรรมชาติได้ หรือแม้กระทั่งไม่ใยดีว่าธรรมชาติจะดำรงอยู่หรือไม่ในเมือง ซึ่งผลของปัญหาที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติต่างๆ ล้วนมาจากทัศนคติต่อการพัฒนาเมืองที่แปลกแยกแบบนั้นเป็นแน่ แล้วเราอยากให้เด็กๆ ลูกๆ ของเราเติบโตมาในเมืองแบบนั้นหรือไม่ เพราะเราออกแบบเมืองอย่างไร เราก็จะได้คนแบบนั้นเช่นกัน

 

 

Abandon Land – Opportunity

พื้นที่ทิ้งร้างเล็กๆ ในเมืองนั้นคือโอกาสที่จะเยียวยาเมืองและใจผู้คนให้กลับสู่ความสมดุลอีกครั้ง เพราะมันเต็มไปด้วยธรรมชาติ ระบบนิเวศ เข้าถึงง่าย และใกล้บ้าน เพราะแทรกตัวอยู่ในย่านในชุมขน ที่จะสามารถปรับใช้เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างได้ในแต่ละพื้นที่ ทั้งการเป็นพื้นที่ผู้คนและธรรมชาติที่ถูกละเลย เป็นพื้นที่สุขภาวะ พื้นที่ซับน้ำ แก้มลิง ที่พักพิงของสัตว์ แหล่งผลิตอาหาร พื้นที่เรียนรู้ และอีกมากมายที่เป็นไปได้

 

 

Green for ?

ในขณะที่เรามองเห็นภัยที่มาถึงและโอกาสที่พื้นที่สีเขียวสามารถเยียวยาเมือง ตลอดจนสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้นั้น อีกด้านเราก็ได้เห็นการลงทุนในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่ไม่ตอบโจทย์ยุคสมัย การพัฒนาพื้นที่สีเขียวหรือส่วนกลายเป็นเพียงการตกแต่งเมืองให้สวยงาม เป็นสนามหญ้าที่ปราศจากผู้คน เป็นเครื่องมือลดหย่อนภาษี เป็นการจัดระเบียบชุมชน เป็นการทำสีเขียวเชิงปริมาณแต่ไร้คุณภาพ หรือแม้แต่ไม่สร้างทางเลือกที่จะตอบสนองการใช้งานของคนทุกคนในสังคมอย่างแท้จริง ทำให้มิติหนึ่งมันเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่เสียทั้งงบประมาณและโอกาส

 

 

Co-Create Together

หากเราตระหนักและเคารพในความต้องการที่หลากหลายของผู้คนในสังคม และตระหนักในพันธกิจที่พื้นที่สีเขียวสามารถสร้างคุณภาพชีวิตของเราทุกคนได้ เราควรเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวไปด้วยกัน ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสร้าง ร่วมลงทุน และร่วมบริหารจัดการดูแล เพื่อให้การลงทุนนี้ไม่เพียงสร้างประโยชน์ตอบโจทย์และตรงใจทุกฝ่าย แต่ประเด็นสำคัญคือกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน อันเป็นขั้นตอนจะสร้างสรรค์ความเป็นสังคมไปด้วยกัน และเป็นมากกว่าการได้แค่สีเขียว

From Lost to Gain

ถึงเวลามาเปลี่ยนที่ดินร้างและโอกาสที่สูญเสียไปให้กลับมา ด้วยการพลิกฟื้นที่ดินร้างเล็กๆ ในเมืองเหล่านี้ ทั้งของรัฐและเอกชนให้เกิดประโยชน์ในทุกมิติ ทั้งเพื่อสร้างสุขภาวะ สร้างสังคม สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจในชุมชน เป็นโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (green infrastructure) ปรับสมดุลให้สิ่งแวดล้อมและสร้างคุณภาพชีวิตให้ผู้คน

 

Empowerment People to Shape their Future

เพื่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง รัฐต้องสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ที่จะกระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน ทั้งความรู้ ข้อมูล กลไก นโยบาย เงินทุนเพื่อให้สมาชิกในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเอกชน วิสาหกิจชุมชน ประชาชน หรือใครๆ ก็สามารถเข้าถึงทรัพยากรเพื่อมาช่วยกันทำพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ให้สร้างประโยชน์ต่อตัวเขาเหล่านั้น และเราจึงควรเป็นผู้กำหนดอนาคตด้วยกันเอง

 

We are Nature

เพื่อให้การเยียวยาเมืองครั้งนี้ด้วยการลงทุนสร้างพื้นที่สีเขียวต่างไปจากเดิม เราสมควรที่จะต้องเยียวยาจิตใจเราก่อน สานความสัมพันธ์ของเราและธรรมชาติให้กลับมา เอาตัวเราเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติ เพื่อที่จะตระหนักว่าไม่มีเราและธรรมชาติ มีแค่เราที่เป็นธรรมชาติเหมือนกัน เฉกเช่นสปีชีส์อื่นๆ บนโลกที่ล้วนอิงอาศัยและสัมพันธ์เกื้อกูลกัน ไม่ต่างกัน

 

Photo by Supawut Boonmahathanakorn

 

What’s Next

การเชื่อมโยงทรัพยากรตลอดจนองค์ความรู้ที่แต่ละฝ่ายมี เพื่อสร้างรูปธรรมของเมืองให้สมดุล เพื่อสร้างความสุขให้ยังดำเนินต่อไปอย่างมุ่งมั่น และเพื่อให้มีความหวังว่าจะสำเร็จได้ในรุ่นเรา ผ่านการใช้ทุกเครื่องมือที่มีทั้ง soft and hard power นั้น สิ่งสำคัญกว่าการได้มาซึ่งผู้นำที่เก่งมีวิสัยทัศน์ ที่มาแล้วก็ไปอาจไม่ยั่งยืน แต่การได้มาซึ่งระบบของสังคมที่เกื้อหนุน เปิดกว้างให้หน่วยเล็กๆ ในสังคมได้เติบโต เป็นพลเมืองที่มีพลัง มีความหวังที่พร้อมจะเป็นกำลังขับเคลื่อนเมืองไปด้วยกัน คือการทำให้เมืองเป็นเมืองของทุกคน เพราะเมืองคือผู้คน และสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขได้คือ อิสระภาพที่เรากำหนดชีวิตเราได้เอง

 

Graphic Design by Supatsorn Boontumma
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :