CITY CRACKER

New Normal เมื่อความไม่ปกติกลายเป็นความปกติใหม่

ชีวิตที่ปกติ มันมีอยู่จริงไหม? ความผิดปกติจะกลายเป็นสิ่งปกติใหม่ได้ไหม แล้วเราจะปรับตัวอย่างไรกับความปกติใหม่ที่เริ่มก่อตัวเป็นปกติของชีวิตเราในทุกวัน

 

ปกติ คือ ความเป็นไปอย่างเคย ไม่ผิดแปลกจากธรรมดาของสังคม นั่นหมายความว่ามันขึ้นอยู่กับ บุคคล เวลา สถานที่ สถานการณ์ และเมื่อปัจจัยเหล่านี้เปลี่ยน ความไม่ปกติก็อาจกลายเป็นเรื่องปกติใหม่หรือก่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่สังคมยึดถือร่วมกันว่านี่คือความปกติต่อจากนี้ เช่น คนสมัยก่อนไม่ใส่เสื้อผ้าเดินบนท้องถนน แต่เดี๋ยวนี้หากใครทำก็คือคนไม่ปกติ เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ต้องใส่เสื้อผ้ากัน หรือเมื่อก่อนเราใช้พลาสติกเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ แต่เมื่อโลกร้อนขึ้น เราก็พยายามลดใช้ลดใช้พลาสติก หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่ยสลายได้เพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้ และในปัจจุบันที่เราเห็นได้ชัดคือการสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ก่อนเราจะใส่ก็ต่อเมื่อป่วย แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นความปกติใหม่ที่ทุกคนต้องใส่เพื่อระวังเชื้อโรค

สถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ชีวิตเราถูกปรับเปลี่ยนจากปกติวิสัย ต้องทำอะไรที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นการกักตัวอยู่บ้าน ไม่ออกไปไหหน ทำงานที่บ้าน ใส่หน้ากาก ออกไปซื้อของเท่าที่จำเป็น  เข้าบ้านต้องจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อที่รองเท้า อาบน้ำทันทีที่เข้าบ้าน ไปจนถึงการอกกำลังกายตอนเย็นตาม YouTube แทนการไปฟิตเนส ตารางชีวิตในแต่ละวันที่เคยไม่ปกติ แต่เราอยู่กับมันเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน หรือหลายเดือน ปรับตัวจนจากที่เคยไม่ปกติ จนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติของทุกวันนี้ไปแล้ว

มนุษย์เราปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมมาตลอด ตั้งแต่การปรับที่อยู่ให้เข้ากับสภาพภูมิอากาสที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก ถางป่าทำกสิกรรม รวมกลุ่มประดิษฐ์เครื่องมือล่าสัตว์ และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อความอยู่รอด

ทรัพยากรติดตัวที่สำคัญของมนุษย์ คือสมองที่มีการปฏิสัมพันธ์ เรียนรู้ ถ่ายทอด ระหว่างกัน เกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่จะพัฒนา ดัดแปลง ปรับเปลี่ยนเพื่ออยู่รอดและอยู่ร่วมกับธรรมชาติ รวมถึงสถานการณ์ภายนอกได้ ปรับสิ่งแวดล้อม ปรับวิธีคิดและการดำเนินชีวิตให้อยู่กับความไม่ปกติต่างๆ ได้

หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เราจะเห็นการปรับตัวเข้ากับปกติใหม่ ได้เป็นอย่างดี ทั้งในเชิง วิธีคิด และกายภาพการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เช่น คนในบริเวณที่ ราบลุ่มภาคกลางตระหนักในสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศแถบนี้ดีว่าน้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ปกติของธรรมชาติ แต่อาจเป็นความผิดปกติของการอยู่อาศัยของมนุษย์ แทนที่จะมองว่าน้ำท่วมเป็นภัยก็มองว่าน้ำท่วมเป็นปกติใหม่ที่สามารถอยู่ร่วมได้ เขาจึงปรับตัวอยู่ร่วมกับน้ำอย่างเข้าใจ ด้วยการสร้างบ้านเรือนยกเสาสูง ทำการเกษตรเป็นที่นา หรือ ยกท้องร่องสวน เพื่อใช้น้ำเป็นทรัพยากรต้นทุนในการผลิต สร้างโครงข่ายคูคลองเพื่อบริหารจัดการน้ำ และเพื่อการสัญจรไปในตัว การปรับตัวนั้นไม่ได้เป็นเพียงเพื่อรอดพ้นจากภัย แต่ใช้ประโยชน์จากภัยและสถาณการณ์ให้เป็นประโยชน์ เปลี่ยนความผิดปกติให้เป็นปกติใหม่ที่อยู่ด้วยกันได้

ตอนแรกเราอาจมองเห็นความไม่ปกติที่มากระทบกับเราหรือการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเป็นแค่สิ่งชั่วคราว ประเดี๋ยวประด๋าว เราจึงไม่ปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ แถมยังมองการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่อง ผิดปกติเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อสิ่งที่ไม่ปกตินั้นเกิดซ้ำและมีทีท่าว่ามันจะส่งผลต่อชีวิตของเรา หากเราไม่ปรับตัวก็ยากที่จะอยู่รอดได้ในสถานการณ์เช่นนี้ เราจึงลองที่จะปรับตัว อาจเป็นการทนทำ ทำใจ อย่างเสียไม่ได้ หวังให้ความผิดปกตินี้ผ่านพ้นไปและความปกติเดิมจะกลับมา

แต่ความจริงของชีวิตและโลก เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดแล้ว ไม่มีสิ่งใดกลับไปเป็นเหมือนเดิม และเมื่อนั้นเราจะตระหนักว่า ความไม่ปกติจะอยู่กับเราไปอีกนานหรือแม้กระทั่ง ตลอดไปจนกลายเป็นความ ‘ปกติใหม่’ นั่นคือจุดเริ่มต้น ที่เราต้องปรับตัวกับความปกติใหม่แบบจริงจัง ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราให้ได้ เพื่อความอยู่รอดและไม่ทุกข์มาก

 

การจะอยู่รอดกับความปกติใหม่นั้นจึงมี 3 วิธี คือ หนี สู้ หรือปรับตัว

 

‘การหนี’ ความปกติใหม่นั้นอาจหนีไม่พ้นเพราะไม่ว่าเราจะไปที่ใด ความเปลี่ยนแปลงนั้นตามติดเราไปเสมอ ตราบใดที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและตราบใดที่เรายังอยู่บนโลกใบนี้ที่มีนิเวศและวิถีที่เชื่อมโยงถึงกัน ไม่ว่าจะไวรัส การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ค่านิยม หรือระบบเศรษฐกิจ เราอาจหนีพ้นไปจากช่วงเวลาหนึ่ง หรือ สถานที่หนึ่งที่สูงห่างไกลผู้คน แต่ความปกติใหม่นี้ย่อมไล่ตามเราทันเสมอ

‘การสู้’ กับปกติใหม่ นั่นคือการยังฝืนและทนทำตัวแบบเดิม ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง เช่น ไม่ใส่หน้ากาก ไม่กักตัว ในท้ายที่สุดความปกติใหม่ก็จะกลืนกินและคัดเราออกจากระบบด้วยตัวมันเอง เพราะโลกคือสิ่งแวดล้อมที่เราอิงอาศัย หาใช่สิ่งที่เราควบคุมได้

‘การปรับตัว’ คือ การมองหาวิธี รูปแบบ กลไก วิธีคิด (mindset ) ให้เราอยู่ร่วมกับปกติใหม่ที่เรามักมองว่าคือภัยที่เข้ามาทำลายปกติสุข เพื่อให้ยังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ นั่นหมายถึงมีสิงที่ต้องละทิ้ง และมีสิ่งที่ต้องทำเพิ่มอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ความปกติใหม่นี้ จะกระทบตั้งแต่ทัศนคติ คุณค่าร่วมของสังคม แนวนโยบาย กฏระเบียบ แนวทางในการดำเนินชีวิต ต่อจากนี้รัฐจะไม่ใช่กลไกเชิงเดี่ยวในการบริหารจัดการสังคมอีกต่อไปแต่ต้องยึดโยงกับความร่วมมือและกระจายอำนาจให้ภาคส่วนและท่องถิ่นร่วมจัดการกับภัยใหม่นี้ด้วย

aljazeera.com

ประชาชนอาจได้รับเงินเดือนเพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตพื้นฐานทั้งในยามปกติและยามวิกฤติ แทนการช่วยเหลือเป็นครั้งคราว ทั้งนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสต่อการแสวงหาความรู้ต่อยอดการพัฒนางานและชีวิตของตนเองในขณะเดียวกัน เสรีภาพส่วนบุคคลอาจถูกถ่วงดุลกับความปลอดภัยทางสุขภาพของสังคมด้วย ระบบติตามการเคลื่อนไหวและการประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจะเป็นเกณฑ์ในการเข้าใช้พื้นที่และเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม

ชีวิต ออนไลน์จะถูกใช้อย่างกว้างขวางลดบทบาทของการปฏิสัมพันธ์กับบุคคล ไม่ใช่แค่การทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเรียน การพักผ่อน การรักษา และแม้กระทั่งการบริหารประเทศ ที่รวมถึงการเลือกตั้งด้วย ระบบ logistic จะถูกพัฒนามากขึ้น มีการใช้ drone หรือ driverless vehicle เพื่อเชื่อมโยงโลกonline กับโลกจริง เราเดินทางเมื่อจำเป็นเท่นั้น ระเบียบปฏิบัติและการกักตัวเมื่อเดินทางจะถูกใช้อย่างเข้มงวด ส่งผลต่อการลดระยะเวลาการเดินทางท่องเที่ยวต่อครั้งให้สั้นลง ส่งผลให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตขึ้น

ผู้คนจะหันกลับมามีชีวิตที่พึ่งพาตัวเองมากขึ้น เพิ่มทักษะ ปลูกผัก ทำอาหาร ซ่อมแซมสิ่งต่างๆด้วยตนเอง ที่ 3D printing จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ครัวเรือนและเมืองจะหันกลับมาพัฒนาศักยภาพการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ผลิตอาหารจากที่ว่าง สร้างพลังงาน และจัดการขยะได้ด้วยตัวเองเพื่ออยู่ได้ทั้งในยามปกติและเมื่อเกิดวิกฤตื

ระยะห่างทางสังคมจะเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไปในพื้นที่สาธารณะพร้อมๆกับ เครื่องมือ เทคโนโลยี ที่จะช่วยทำให้พื้นที่สาธารณะมีสุขลักษณะที่ปลอดภัยจากเชื้อโรคมากขึ้น พื้นที่สาธารณะจะกลับมาสำคัญต่อชีวิตผู้คนที่จะอยู่ในละแวกบ้านมากขึ้น ทางเท้าทางจักรยานและพื้นที่สาธารณะขนาดเล็กจะเป็นองค์ประกอบของการเอื้อให้เกิดย่านที่น่าอยู่เพื่อลดการเดินทางไปในเมืองที่หนาแน่น ผู้คนจะหันมาใช้สวนสาธารณะและพื้นที่เปิดโล่งมากขึ้นกว่าการไปในที่แออัดอย่างห้างสรรพสินค้า

Big data จะเข้ามามีบทบาทต่อการชี้ทางในการใช้ชีวิตในเมือง ทั้งแผนที่คุณภาพอากาศ ปริมาณคนในแต่ละที่ พื้นที่เสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง อีกทั้งข้อมูลการเดินทางของประชากรจะถูกบันทึกเพื่อให้เมืองวางแผนการจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แนวทางหารจัดการปัญหา climate changeจะถูกพิจารณาอย่างจริงจัง เพราะเราได้เห็นผลกระทบเชิงบวก. ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น้อยลง จากการลดกิจกรรมการผลิต การเดินทาง และกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของธรรมชาติมากขึ้น

เรากำลังก้าวสู่ยุคของความร่วมมือระหว่างบุคคล องค์กร เมือง ประเทศ และมนุษยชาติ เพราะเราตระหนักแล้วว่า ทุกชีวิตสัมพันธ์กัน ทั้งยากดีมีจน เราไม่สามารถอยู่หรือรอดได้เพียงลำพัง วิกฤติทำให้เราใกล้ชิดขึ้น แน่นแฟ้นขึ้น ข้ามความขัดแย้ง ข้ามพรมแดน และความเชื่อทางศาสนา

 

สุดท้ายแล้ว ความปกติที่เราทุกคนคาดหวัง มันอาจไม่มีอยู่จริงที่จะเที่ยงแท้ถาวรอย่างที่ใจเราอยากให้เป็น เมื่อต้องเผชิญความจริงข้อนี้ชีวิตเราเหมือนโดนบังคับให้ต้องปรับตัว จากชีวิตที่เป็นปกติ เพื่อให้เราและสังคมดำเนินต่อไปได้

 

สิ่งที่แน่นอนคือ สังคมจะเผชิญกับภัยคุกคามต่างๆ ที่มากระตุกให้ความปกติที่เราดำเนินอยู่ ไม่ปกติจนกลายเป็นความปกติใหม่ให้เราต้องปรับตัวอยู่กับมันครั้งแล้วครั้งเล่า Covid-19 คงไม่ใช่ภัยคุกคามสุดท้าย และไม่ใช่ภัยคุกคามแรกที่มนุษยชาติเผชิญ ความปกติใหม่นับจากนี้ คือ การพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญกับธรรมชาติ โลกใบนี้ และสุขภาพของมนุษย์เป็นสำคัญ หาไม่แล้วเราจะกลับมาเผชิญกับคลื่นลมของความไม่ปกติที่รุนแรงมากกว่าเดิมในอนาคต

 

หากเป้าหมายคือการที่เราจะ อยู่รอด อยู่ได้ อยู่อย่างมีความสุข ท่ามกลางคลื่นลมที่ไม่แน่นอนนี้ให้ได้สิ่งสำคัญคือคุณสมบัติที่เราและสังคมสามารถมีระบบการจัดการและกายภาพ ที่ยืดหยุ่นปรับตัวได้ทันท่วงทีกับความไม่ปกติที่มาถึง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

politico.com

scientificamerican.com

traveldailynews.asia

compassonline.org.uk

bangkokbiznews.com

ahead.asia

brandbuffet.in.th

facebook.com/cnn

facebook.com/477076516195098

 

Cover illustration by Montree Sommut
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :