ผมเคยย้ายประเทศแบบชั่วคราวเมื่อ 20 ปีก่อน ด้วยวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่ส่งผลให้ขาดการจ้างงานในประเทศ คนรุ่นใหม่ในยุคนั้นหลายคนตัดสินใจเปลี่ยนสายงานที่ตอบรับมากกว่า หรือใช้เวลาที่ยังไม่มีงานเพื่อไปเรียนต่อ และหลายคนหันหลังให้ประเทศเพื่อแสวงหาโอกาส ที่ไม่เพียงให้ตัวเองรอดแต่คือได้ฝึกฝนพัฒนาตนเองไปพร้อมๆ กัน
สิงคโปร์คือหนึ่งในเป้าหมายของใครหลายคนในการมาทำงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปด้วย อีกทั้งไม่ไกลจากบ้านเรามากนัก โดยเฉพาะสถาปนิกนักออกแบบนั้นถือเป็นที่ต้องการมาก เพราะด้วยประเทศให้ความสำคัญกับการทำเมืองที่ดีโดยที่ยังพัฒนาได้อีกมาก และยังไม่มีการผลิตคนในสายวิชาชีพมากนัก การไปที่สิงคโปร์ทำให้ผมต้องเรียนรู้ทั้งระบบการทำงาน ภาษา ที่ยกระดับความคิดสู่ความเป็นสากลมากขึ้น เพราะที่นั่นงานที่ทำไม่ได้มีแค่ในประเทศแต่มีทั่วเอเชียเลยก็ว่าได้ จึงเป็นโอกาสเป็นความท้าทายให้เราพัฒนาตนเอง
สิงคโปร์คือเมืองน่าอยู่ในอุดมคติเลยก็ว่าได้ ทุกที่มีแต่สีเขียว วิ่งไปสวนได้ รถไม่ติด อากาศดี มีเวลาว่างจากการทำงานให้เราไปใช้ชีวิต และสิ่งที่ดูจะลำบอกพอๆ กับเรื่องงาน เมื่อเทียบกับบ้านเราคือการปรับตัวในการใช้ชีวิตที่ขาดสีสันและความน่าสนใจ เพราะเกาะเล็กๆ ทำให้ขาดความหลากหลายของทรัพยากร ผู้คน และวัฒนธรรม จนหลายคนบ่นว่าที่นี่คือสวรรค์ของการมาทำงานแต่ไม่ใช่การมาใช้ชีวิต
แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคของการสิงคโปร์แก้ไขจุดอ่อน พัฒนาเมือง สร้างกิจกรรม ชีวิตาสาธารณะให้มีชีวิตชีวา หรือทำให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตและดึงดูดทั้งคนในคนนอกให้มาเที่ยว กระทั่งปักหลักปักฐานที่นี่มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาประเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
เมืองน่าอยู่ แต่ (เคย) ไม่น่าเที่ยว
ประเทศไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ทรัพยากรมนุษย์ (human capital) เป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีทรัพยากรอื่นใดนอกจากคนอย่างสิงคโปร์เขาได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคนและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้คนเหล่านั้นสร้างผลิตผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในขณะเดียวแรงงานข้ามชาติก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของสิงคโปร์ โดยเฉพาะแรงงานทักษะสูงที่เรียกว่า Talented Foreigner ซึ่งแรงงานต่างชาตินี้ที่มีสัดส่วนราวเกือบ 40% ของประชากรทั้งหมด จึงไม่น่าแปลกใจหากสิงคโปร์จะลงทุนพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ มีแรงจูงใใจ (incentive) และระบบของสวัสดิการต่างๆ เพื่อดึงดูด Talented Foreigner ให้มาทำงานและอยู่อาศัยแบบถาวรในประเทศแห่งนี้
สำหรับสิงคโปร์แล้วตัวชี้วัดต่อความเป็นเมืองน่าอยู่ และดึงดูดให้คนย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่นั้น ก็คือการมีโอกาสในงานที่ดี ระบบการศึกษาที่ดี การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ความปลอดภัยในชีวิต ความง่ายในการทำธุรกิจ ความกลมเกลียว เปิดกว้างทางสังคม กิจกรรมทางวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมพื้นที่สาธารณะที่ดี ตลอดจนความมั่นคงทางการเมือง เพราะคนที่ย้ายเข้ามานั้นโดยมากแล้วมักเป็รคนที่มีทักษะสูง เป็นผู้บริหารที่จะมาลงทุน ย้ายสำนักงานที่ตั้งมาเป็นกำลังในการสร้าง GDP ของประเทศให้ขยายตัว ซึ่งนั่นหมายถึงความเป็นอยู่ที่ดีของประเทศโดยรวมด้วย
เราจะสร้างประเทศได้ดีคนต้องมีความเป็นอยู่ที่ดี
วิสัยทัศน์นี้ของลีกวนยูเป็นจริงและไม่ได้จำกัดแค่คนในประเทศสิงคโปร์เท่านั้น มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการอยู่ในสถานที่ที่ดี เพื่อที่เขาจะได้มีเวลา มีกำลังในการ perform และ produce สิ่งที่สร้างคุณค่าต่อตัวเขาและที่ที่เขาอยู่ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่ผู้บริหารระดับสูง (top executive) และต่างชาติ (foreigner) อยากย้ายมาอยู่ และทำงานเป็นอันดับ 8 ของโลกในปี 2020 (โดยประเทศส่วนใหญ่ใน top 10 คือประเทศที่พัฒนาแล้ว)
จากการศึกษาโดย Mckinsy Global Institute พบว่ามีคนราว 240 ล้านคนอยู่ในถิ่นฐานที่ไม่ใช่ถิ่นกำเนิด โดย 90% ของคนในโลกนั้นย้ายถิ่นฐานด้วยเรื่องเศริฐกิจ 50% ย้ายจากประเทศกำลังพํฒนาสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อสร้างงาน ได้เงินที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดี ในขณะเดียวกันก็สร้างเศรษฐกิจให้กับโลกราว 9.4 % ของ Global GDP ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศแถบอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก
เมืองที่คนอยากออก
การพัฒนาเมืองทั้งในเชิงกายภาพและสังคม มีผลต่อการดึงดูดให้คนในอยู่และคนนอกอยากมาตั้งถิ่นฐาน เพราะหากปราศจากคนแล้ว เมืองก็ขาดเศรษฐกิจและชีวิตที่จะดำรงความเป็นเมืองไว้ได้ ซึ่ง ‘ฟิลิปปินส์’ คือประเทศหนึ่งของโลกที่คนในอยากย้ายออกมากที่สุด เนื่องจากปัญหาการว่างงาน ขาดโอกาสทางการศึกษาที่ดี ภัยพิบัติ ทุจริตคอรัปชั่น และการเมืองที่ล้มเหลว ส่งผลให้ผู้คนอพยพออกไปแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า ตั้งแต่ปี 1970 คิดเป็นคนราว 10% ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อไปเป็นแรงงานต่างแดน ทั้งแรงงานทักษะสูงและแม่บ้าน เพื่อส่งเงินกลับประเทศที่ปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก
แต่ผลกระทบเชิงสังคมก็มีมากเช่นกัน คือส่งผลให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวลดน้อยลง ขาดความอบอุ่นจากระยะทางที่ไกลกัน ขาดความผูกพัน (bonding) ที่เชื่อมไม่ได้ เมื่อประชากรส่วนหนึ่งเติบโตมาด้วยสภาพสังคมที่มีปัญหา คนรุ่นใหม่จึงขาดความหวัง สุดท้ายก็ขาดคนในการพัฒนาประเทศให้ดีเพื่อดึงดูดให้คนอยู่ ดังนั้นเมืองที่ดี ต้องเป็นเมืองที่สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และสร้าง bonding ของความเป็นสังคมไปพร้อมๆ กัน
เมืองที่น่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่
ผมกลับมากรุงเทพฯ ในปี 2007 และค้นพบความจริงข้อนึงว่ากรุงเทพฯ คือเมืองน่าเที่ยว จากรายงาน Mastercard World Destinations Index ของปี 2015-1018 กรุงเทพฯ คือเมืองน่าเที่ยวอันดับหนึ่ง 4 ปีซ้อน และเป็นเมืองน่าอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Mercer quality of living city index) เป็นอันดับ 133 ของโลก ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 25 และคงไม่น่าแปลกใจที่เป็นเช่นนั้น เพราะในแง่สิ่งแวดล้อมที่ขาดพื้นที่สีเขียว เมืองของรถยนต์ใช้ชีวิตบนท้องถนน มีแหล่งเสื่อมโทรม เกิดอาชญากรรมในเมือง ปัญหามลภาวะ สภาพสังคมทีความเหลื่อมล้ำสูง การเข้าถึงบริการสาธารณะที่ดีเป็นไปได้สำหรับคนบางกลุ่ม ที่สำคัญคือความไม่มั่นคงทางการเมือง และในวันนี้ที่โควิด-19 ได้มาเขย่าและกระตุ้นให้ผู้คนคิดได้ว่า เรายังจำเป็นที่ต้องอยู่ในเมืองที่น่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่แบบนี้อีกหรือไม่
การย้ายถิ่นฐานครั้งใหม่
โควิด-19 ได้เข้ามาทำให้คนได้คิดอีกครั้งว่า ต่อจากนี้จะอยู่อย่างไรและที่ไหน ไม่ใช่เฉพาะในบ้านเราแต่กับคนทั่วโลกที่กำลังเข้าสู่การย้ายถิ่นฐานครั้งสำคัญ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Gen Z และ Gen M หรือ Mileinual ที่อนาคตเขามีความไม่แน่นอน มีแนวโน้มตกงานมากขึ้น (คาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานจากผลกระทบของโควิดราว 20% ทั่วโลก) และไม่อาจอยู่กับสังคมที่ไม่มีอนาคตได้อีกต่อไป และด้วยวัยที่ยังน้อยประกอบกับความสามารถทางความรู้และเทคโนโลยี เขาจึงเป็นกลุ่มที่มีความสามารถต่อการย้ายถิ่นฐานมากกว่ากลุ่มไหนๆ ปัจจัยพิจารณาในการย้ายถิ่นฐานครั้งนี้ก็แตกต่างออกไปจากที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งออกได้ 7 ปัจจัย ดังนี้
1. การจัดการโควิด-19 ของเมืองที่มีประสิทธิภาพจะเป็นดึงดูดคนสู่เมืองนั้นๆ เพราะเราไม่รู้ว่าโรคระบาดจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ คนต้องการความมั่นใจในความเป็นความตายที่เขาจะฝากไว้ได้ ยกตัวอย่างนิวซีแลนด์ คือประเทศที่เข้ามาปีแรกในอันดับ 10 ของเมืองที่คนอยากไปทำงานหลังโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับประสิทธิภาพของรัฐบาลในการจัดการสถาณการณ์โควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
2. คนมีแนวโน้มที่จะย้ายสู่เมืองที่ไม่หนาแน่น เพราะจากข้อมูลชี้ว่า ยิ่งเมืองที่หนาแน่นจะมีโอกาสของการติดเชื้อ และแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่า (จากการสำรวจพบว่า นิวยอร์กมีอัตราของการติดเชื้อมากกว่าเมืองอื่นๆ ในสหรัฐฯ ถึง 5 เท่า ) คนจะย้ายสู่เมืองที่มีการลงทุนด้านสาธารณสุข (health care) มากกว่า และมีระบบสาธารณสุขที่ดี
3. ผลกระทบของโควิดมีผลต่อเงินในกระเป๋าคือทำให้เราต้องคิดหนักว่าจะอยู่เมืองไหน ดังนั้นค่าครองชีพคือปัจจัยต้นๆ ในการย้ายถิ่นฐานครั้งนี้ ที่ทำให้เมืองใหญ่ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งดึงดูดของการย้ายถิ่นฐานรุ่นก่อนอาจไม่เป็นเช่นนั่นอีกต่อไป
4. ช่วงโควิดทำให้หลายคนเห็นความเป็นไปได้ใหม่ต่อการทำงานจากระยะไกล remote work ที่ตัวเขาอาจไม่ต้องย้ายจริงๆ ไปยังเมืองนั้นๆ คนอาจตัดสินใจิยู่ที่เดิมหรือย้ายไปยังพื้นที่ที่มี connectivity ทางการสื่อสารที่ดี
5. ความเปราะบางของการไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ของเมืองในช่วงโควิด-19 คนเริ่มคิดหนักว่าเราควรอยู่ที่ไหนดีเมื่อเกิดวิกฤต ที่ที่สามารถผลิตและมีอาหารอุดมสมบูรณ์ แต่ด้วยปรากฏการณ์โลกร้อนจากภัยแล้งและภัยธรรมชาติ มีแนวโน้มที่ส่งผลต่อการผลิตอาหารมากขึ้น เมืองที่มีทรัพยากร ดิน และน้ำที่สมบูรณ์ หรือมีการลงทุนด้านกสิกรรมสมัยใหม่ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดผู้คนเข้ามา
6. กระแสความเกลียดชังคนเอเชีย อาจทำให้การย้ายถิ่นฐานนี้มีปัจจัยเปลี่ยนไป แม้ในประเทศที่ได้ชื่อว่าน่าอยู่ที่สุดในโลกอย่างแคนนาดา ปรากฎตัวเลขของความรุนแรงที่มีต่อชาวเอเชียสูงขึ้นมากโดยเฉพาะในเมืองแวนคูเวอร์ นับตั้งแต่การเกิดโควิด-19
การย้ายชั่วคราวต่างจากย้ายถาวร
การอยู่นั้นแตกต่างจากการที่เราแค่ย้ายไปชั่วคราว เพราะชีวิตมนุษย์จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนมีความสุข เราต้องการมากกว่าปัจจัยพื้นฐานที่ตอบความต้องการทางกาย แต่ต้องรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและได้รับการยอมรับจากสังคมนั้นๆ ตามแนวคิด Maslow’s Hierarchy of Needs นั้นความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เกิดขึ้นได้ผ่านการสร้าง bonding ผ่านการทำประโยชน์ รู้จักเพื่อนบ้าน การเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ เผชิญปัญหาและแก้ไขอุปสรรคไปพร้อมๆ กับสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคม ไม่ใช่เราเขา ไม่ใช่เป็นเพียงผู้มาอาศัย ซึ่งมีความท้าทายมากกับเมืองที่มีวัฒนธรรมและคุณค่าแตกต่างจากที่เราจากมา ยิ่งความขัดแย้ง ความแร้นแค้น และภัยพิบัติต่างๆ ยิ่งทำให้ ท้องถิ่นนั้นๆ ปกป้องและยืนในจุดที่การจะเปิดรับคนนอกกว่าที่เคยเป็นมา แต่แน่นอนว่า สังคมที่ดีคือสังคมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน และได้พิสูจน์แล้วว่าเมืองที่เปิดกว้างกับความหลากหลาย สามาาถยืดหยุ่นรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้ดี และนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน
อยู่แบบไม่ผูกพัน
หากแต่คนยุคใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็น nomad generation ที่มีอิสระจะไปที่ไหน ทำงานที่ไหน และใช้ชีวิตที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้ ด้วยความง่ายของการเดินทาง และความพร้อมของเมืองที่มีสิ่งอำนายความสะดวกต่อการใช้ชีวิตครบครัน ที่สามารถดึงดูดคนกลุ่มนี้ให้ย้ายถิ่นฐาน และเคลื่อนที่ไปตามที่เป้าหมายในชีวิตต้องการ โดยให้คุณค่าต่อประสบการณ์มากกว่าการครอบครองและผูกพัน ทำให้ social bonding อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะเหนี่ยวรั้งเขาไว้ที่ใดที่หนึ่ง เพราะสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงเร็ว ยิ่งด้วยเทคโนโลยีของการสื่อสารและทัศนคติของ post covid-19 อาจทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ที่เราอาจทำงานกับบริษัทชั้นนำในอีกซีกโลกจากที่ไหนก็ได้ ที่ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในขณะเดียวกัน
หลายประเทศในโลกกำลังนำเสนอการใช้ชีวิตวิถีคนเรร่อน (nomad) เพื่อดึงดูดคนกลุ่มนี้ที่ถูกกระตุ้นมากยิ่งขึ้นหลังโควิด-19 ให้ไปอยู่ไปทำงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แบบ remote working ในประเทศหมู่เกาะห่างไกล หรือเมืองที่เจริญทางวัตถุมากๆ อย่างดูไบก็พร้อมให้ connectivity และพร้อมฉีดวัคซีนฟรี ทั้งนี้ล่าสุดจากการสำรวจโดย Resume.io ผู้สร้างเรซูเม่ออนไลน์ในเนเธอร์แลนด์เองก็ได้ระบุว่า กรุงเทพเป็นเมืองอันดับ 4 ของโลกที่ digital nomad (หรือผู้เร่ร่อนดิจิตัล ซึ่งหมายถึงคนที่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ ขอแค่มีแล็ปท็อปกับอินเตอร์เน็ต เพื่อชดเชยการสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยว) ต้องการย้ายมาอยู่ที่นี่เนื่องด้วย ค่าครองชีพถูก มีแหล่งท่องเที่ยว และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดี
อยู่กับโลกยุคใหม่แบบไหนก็ได้
ในยุคสมัยที่ความท้าทายของความอยู่รอดและการมีประสบการณ์ชีวิตที่ดีกว่านั้น พันธะที่พันธนาการเราไว้กับถิ่นกำเนิดอาจไม่สำคัญอีกต่อไป แต่ที่สำคัญกว่าและเราเลือกได้ ด้วยการปลดปล่อยของเทคโนโลยีที่ให้เรา วิกฤติที่ผ่านเข้ามาในชีวืตเราไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ สงคราม หรือโรคระบาดล้วนคือแรงกระตุ้น แรงปรารถนาที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ตลอดเวลาว่า เราควรอยู่และมีชีวิตที่ไหนอย่างไร ดังนั้น เราจงเลือกรูปแบบการใช้ชีวิตที่เหมาะกับเรา
ทำงานที่บ้านเกิดในต่างจังหวัดที่มีคุณภาพชีวืตที่ดีด้วยได้ กับบริษัทในต่างประเทศผ่านการทำงานออนไลน์ หรืออยู่ต่างประเทศแต่สามารถสร้าง และรักษาความผูกพันกับคนที่บ้านได้ด้วยการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย
การย้ายประเทศจึงไม่ได้มีรูปแบบตายตัว และอยู่ภายใต้ทัศนคติแบบเดิมอีกต่อไป สิ่งสำคัญคือการเข้าใจและยอมรับในความหลากหลายของคนในแต่ละรุ่น เพื่อออกแบบเมือง ตลอดจนรูปแบบสังคมให้ยืดหนุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อสร้างสังคมที่น่าอยู่กับทุกคนที่มาจากทุกที่ นับจากนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Graphic Design by Supatsorn Boontumma
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker