CITY CRACKER

ปรับภูมิทัศน์เมืองด้วยแลนด์มาร์ก สร้างคุณค่าใหม่แห่งอนาคตอย่างไรให้ยั่งยืน

เคยสงสัยไหมว่าการพัฒนาภูมิทัศน์ให้มีรูปร่างหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ ที่ปรากฏตามท้องถิ่นนั้นมีที่มาอย่างไร แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้น การลงทุนพัฒนาที่เกิดขึ้นคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด หรือมีวิธีอื่นไหมที่จะสามารถพัฒนาภูมิทัศน์ให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีได้

ที่ผ่านมาการพัฒนาในระดับท้องถิ่นส่วนใหญ่ เป็นการพัฒนาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในท้องถิ่นภายใต้ระบบทุนนิยม ถือเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว และสร้างเม็ดเงินจำนวนมาก ภายใต้แนวคิด ‘แปลก ใหม่ ใหญ่ ดัง’ หรือที่เรียกว่า ‘แลนด์มาร์ก’ อันเป็นกลยุทธ์หนึ่งของการสร้างสถานที่ให้เป็นจุดสนใจ และดึงดูดผู้คนให้เข้ามายังพื้นที่แห่งนั้น 

มองในอีกมุมหนึ่ง การพัฒนาภูมิทัศน์เช่นนี้ อาจไม่ใช่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะบางครั้งแลกมาด้วยงบประมาณมหาศาลในการก่อสร้างและดูแล ทำลายอัตลักษณ์ของภมูิทัศน์วัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีมา ทำลายระบบนิเวศของธรรมชาติ กระทั่งมีผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน จึงเกิดเป็นคำถามว่าสิ่งที่พยายามสร้างให้เป็นจุดดึงดูด และนำผู้คนเข้ามานั้นแลกมาด้วยอะไร 

แม้การพัฒนาภูมิทัศน์เมืองภายใต้แนวคิดนี้อาจนำไปสู่การสร้างรายได้ และมีเงินหมุนเวียนภายในท้องถิ่น แต่เงินจำนวนมากที่ได้จากการสร้างแลนด์มาร์กให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของทุกคน หรือคนในท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมหรือไม่ หรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นไปตกอยู่กับคนบางกลุ่มเท่านั้น 

 

khaonakhonsawan.com

ยั่งยืนจริงไหม…หากพัฒนาด้วยการใช้ยากระตุ้น

ปัญหาของการพัฒนาอาจมาจากจุดเริ่มต้นของคำว่า ‘ค่านิยม’ ที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่แสดงให้เห็นผ่านสื่อที่อาจบ่งบอกถึงความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นคนจำนวนมากที่เข้ามา ยอดไลก์จากโซเชียลมีเดีย กระทั่งรายได้ที่กระจายไปในท้องถิ่น เหล่านี้อาจเป็นเพียงสิ่ง ‘ลวงตา’ ว่านั่นคือความสำเร็จของการพัฒนา (ในช่วงเวลาหนึ่ง) 

การพัฒนาของผู้บริหารท้องถิ่น หรือแม้แต่ในระดับชาติ ที่เรียกว่า ‘ค่านิยม’ ที่ได้นำแนวคิดจากการดูงานทั้งในและต่างประเทศมาปรับใช้ ซึ่งเป็นการนำมาปรับที่ไม่ได้คำนึงถึงบริบทและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เป็นเพียงการเขียนงบประมาณเพื่อการสร้าง และกระตุ้นเศรษฐกิจ (ฉีดยากระตุ้นให้ฟู) ตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ได้คำนึงว่าถ้าในอนาคตไม่มีการดูแล สถานที่ทรุดโทรม และมีสิ่งใหม่เกิดขึ้น อาจทำให้ท้องถิ่นซบเซาและคนเริ่มเปลี่ยนไปสนใจสิ่งใหม่กว่า จะมีวิธีการแก้อย่างไร หรือต้องกลับมาคิดหาของแปลกเพื่อสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้น จนกลายเป็นวงจรที่นำไปสู่การทำลายทรัพยากรต้นทุนของท้องถิ่นเช่นนี้เรื่อยไป

 

eatandtrip.teenee.com

 

จัดสรรงบประมาณเช่นไรถึงจะนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดี

นโยบายการพัฒนาท้องถิ่นบนพื้นฐานความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ค่อนข้างยากที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เมื่อค่านิยมและแนวปฏิบัติเดิมในการใช้งบประมาณมีความเร่งรัด เนื่องจากว่าต้องการใช้ให้ทันกรอบงบประมาณ ทำให้ขาดแนวทางที่ชัดเจน ขาดการบูรณาการในภาพรวม ขาดผู้เชี่ยวชาญในการกลั่นกรอง ตลอดจนขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ นโยบายจึงถูกใช้เป็นเพียง ‘กรอบ’ หรือ ‘ช่องทาง’ ให้เขียนของบประมาณตามพันธะกิจของแต่ละหน่วยงานอย่างแยกส่วน

 คนหนึ่งทำถนนไม่สนใจชุมชน คนหนึ่งจะขุดบ่อลึกเพื่อกักเก็บน้ำ แต่ไม่สนใจระบบนิเวศ คนหนึ่งนำนักท่องเที่ยวมาชมความเป็นเอกลักษณ์ของเมือง แต่ไม่ได้ดูว่าท้องถิ่นมีของดีอะไรบ้าง หรือการทำเช่นนี้จะกระทบวิถีชีวิตและธรรมชาติหรือไม่ หรือคนหนึ่งอยากเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร แต่ไม่รู้จะใช้การพัฒนาที่เข้ามา เพิ่มมูลค่า เพิ่มอาชีพให้ชุมชนอย่างไร 

เมื่อ ‘ต่างคนต่างคิด’ ไม่ผสานกัน อาจทำให้มองไม่เห็นผลกระทบของการพัฒนา ที่สำคัญทรัพยากรที่เป็นของดีก็อาจถูกมองข้ามไป และไม่ได้นำมาพัฒนาให้ตอบโจทย์กว่าที่จะเป็น สุดท้ายก็นำไปสู่การทำโครงการเพื่อใช้งบประมาณ มากกว่าการใช้เพื่อสร้าง ‘คุณภาพชีวิตที่ดี’ ของผู้คนอย่างแท้จริง   

 

bangkokbiznews.com

 

ลงทุนกับสิ่ง ‘พื้นฐานของชีวิต’ แทนการลงทุนแบบใช้ยากระตุ้น

โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนได้เรียนรู้จากบทเรียนในอดีต และวิกฤตที่เข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้เราตระหนักในการให้คุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราจึงไม่อาจใช้การพัฒนาแบบเดิมได้อีกต่อไป เราควรหันมาลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากทรัพยากรต้นทุนที่มีในท้องถิ่นให้ยั่งยืน ที่อาจไม่ใช่การสร้างให้เป็นแลนด์มาร์กที่ ‘แปลก ใหม่ ใหญ่ ดัง’ อีกต่อไป 

แต่เป็นการลงทุนด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของชีวิต เช่น พื้นที่ผลิตอาหาร พื้นที่สีเขียว เกษตรอินทรีย์ อากาศบริสุทธิ์ พื้นที่ผลิตพลังงานสะอาด สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างงาน สร้างอาชีพ และสุขภาพ ที่สามารถต่อยอดจากทรัพยากรต้นทุนในพื้นที่ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา และผู้คน ให้เกิดการพัฒนาที่เป็นประโยชน์และสร้างมูลค่า และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ส่งเสริมคุณค่าท้องถิ่นได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งยังทำให้ผู้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

ในด้านการพัฒนาอาจะทำให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ผลิตพลังงานสะอาด เป็นแหล่งอาศัยนกเป็ดน้ำ กักเก็บเพื่อกระจายน้ำไปใช้ในระดับชุมชน ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์โดยรอบ ตลอดจนสร้างการท่องเที่ยววิถีธรรมชาติและชุมชนสีเขียว

 

เปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ริเริ่มบูรณาการศาสตร์เข้าด้วยกัน

เรื่องการพัฒนาเมือง หรือพัฒนาท้องถิ่น อาจไม่สามารถขับเคลื่อนผ่านกลไกที่แยกส่วนและขาดการร่วมมือของหลายๆ หน่วยงานได้ เพราะเมืองคือ ‘ความสัมพันธ์’ ที่ต้องอาศัยหลายศาสตร์และหลายหน่วยงานมาบูรณาการร่วมกัน ตั้งแต่ผังเมือง สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ภูมิสถาปัตยกรรม นิเวศวิทยา ฯลฯ เพื่อกำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนและกำหนดตัวชี้วัด ให้สอดคล้องกับปัญหาและความท้าทายของแต่ละพื้นที่ 

 

ta-to.com

 

กระจายภารกิจสู่ท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาที่ดี

เมื่อรัฐและกลไกแบบเก่ายังพัฒนาไม่ได้อย่างครอบคลุม รัฐอาจเปิดโอกาสในการให้เงินทุนและเครื่องมือกับท้องถิ่น ตลอดจนภาคีต่างๆ ที่เชี่ยวชาญ จากภาควิชาชีพ วิชาการ และเอกชนให้มาช่วยในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดี ทั้งนี้รัฐอาจทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและควบคุมกฏเกณฑ์อย่างโปร่งใส เพื่อส่งเสริมการสร้างให้เกิดสังคมแห่งการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง 

 

สร้างแลนด์มาร์ก…คุณค่าใหม่แห่งอนาคต 

ชีวิตต้องการทั้งเรื่องตื่นเต้นและเรื่องที่เป็นพื้นฐานควบคู่กันไป แต่ความท้าทายคือเราจะสร้างสมดุลอย่างไร เพื่อให้เรื่องหลักมีความสำคัญมากกว่าเรื่องรอง นี่อาจเป็นเวลาที่ดีในการร่วมกันสร้างค่านิยมใหม่ของการพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาที่เห็นค่า ‘สิ่งพื้นฐาน’ ในชีวิตสำคัญกว่า ของ ‘แปลก ใหม่ ใหญ่ ดัง’ เห็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต (well being) ควบคู่กับการพัฒนาคน (empowerment) มากกว่าการใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง เห็นคุณค่า ‘ทรัพยากรต้นทุน’ ในพื้นที่มากกว่าทรัพยากรจากภายนอก และเห็นเรื่อง ‘การลงทุนที่ยั่งยืน’ สำคัญกว่าการลงทุนที่ใช้ยากระตุ้นแค่ชั่วคราว 

 

การจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการพัฒนาในยุคใหม่ อาจต้องผ่านการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณค่า มูลค่า โอกาส และความยั่งยืน มากกว่าการเป็นแลนด์มาร์ก ที่อาจทำลายท้องถิ่นและอนาคตของเมืองที่ดี

 

Illustration by Napon Jaturapuchapornpong
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :