เคยสงสัยไหมว่าทำไมสวนสาธารณะบ้านเรามีน้อย แล้วรัฐเอาเงินไปทำอะไรหมด หรือเวลารัฐจะทำสวนสาธารณะสักที่ ไม่เห็นเคยมาถามเราเลยว่าจะใช้เงินทำอะไรได้บ้างที่จะเป็นประโยชน์กับเรา ถามเราแค่ว่าจะออกแบบอย่างไร ทางเดินกว้างแค่ไหน สีอะไร สร้างเมื่อไหร่ ดีอย่างไร เหมือนจะเป็นการสื่อสารทางเดียวมากกว่า เพราะสวนนั้นอาจไม่ตอบโจทย์การทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นก็เป็นได้
เมืองอื่นๆ เองก็มีปัญหาไม่ต่างกัน การใช้เงินในการพัฒนาสวนสาธารณะ ที่บางทีผลลัพธ์ไม่ใช่กับคนในชุมชนเสมอไป จึงจำเป็นที่เราต้องเข้าใจว่าการลงทุนเรื่องสวนสาธารณะนั้น ถ้าจะได้ผลที่คุ้มค่าตอบโจทย์ทุกมิติ ต้องคิดให้รอบ ให้สมดุล และให้เรามีส่วนร่วม เพราะเงินลงทุนนั้นก็เป็นของเราทุกคนด้วย
Gardens by the Bay สวนเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวของสิงคโปร์
2.5 หมื่นล้านบาทคือเงินที่รัฐบาลสิงคโปร์ลงทุนสร้างสวนสาธารณะในนาม Gardens by the Bay ซึ่งยังไม่นับรวมมูลค่าที่ดินริมอ่าวสิงคโปร์ที่มีการลงทุนถมทะเลในมูลค่ามหาศาลเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การทุ่มเงินภาษีประชาชนจำนวนมากกับการสร้างสวนแห่งนี้นั้น นับว่าเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของชาวสิงคโปร์ โดยนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง (Lee Hsien Loong) กล่าวว่า มันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก ว่าทำไมเราจึงลงทุนทำพื้นที่สีเขียว แทนที่จะเอาที่ดินนั้นมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จะสร้างรายได้เข้าประเทศ
การลงทุนกับเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือสร้างสวนแห่งนี้อาจไม่ใช่แค่การมีกลยุทธ์ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เนื่องจากสิงคโปร์นั้นเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มีตัวเลข และปริมาณพื้นที่สีเขียวต่อประชากรเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และพัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างทั่วถึงคนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องตลอดมา แต่เงินลงทุนสองหมื่นห้าล้านบาทคือการลงทุนเพื่อนำร่องการพัฒนาพื้นที่ร้างริมอ่าวสิงคโปร์สู่การเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ (New Central Business District – CBD) ตามแผนการพัฒนาเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวเป็นหัวใจ ซึ่งการพัฒนานี้ไม่ใช่แค่สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน แต่การที่รัฐตั้งต้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวสำคัญ ก็เป็นการเพิ่มมูลค่าที่ดินโดยรอบให้เพิ่มตามด้วย
นอกจากการเพิ่มมูลค่าที่ดินโดยรอบ พื้นที่สีเขียวยังเป็นหมุดหมายสำคัญ ที่ตอกย้ำความเป็นสิงคโปร์ในการเป็นผู้นำด้าน Green City และเป็นหมุดหมายสำคัญของโลกในด้านการจัดแสดงพันธุ์ไม้ และนวัตกรรมกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีเม็ดเงินสูงขึ้น ซึ่งก็มีการประเมินว่า Gardens by the Bay ดึงดูดนักท่องเที่ยวราว 6 ล้านคนต่อปี คิดเป็นรายได้ 1/3 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดของสิงคโปร์ที่มีมูลค่าสูงถึง 29 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (972 ล้านบาท)
อีกด้านหนึ่งนั้น รัฐบาลสิงคโปร์ยังตั้งใจจะใช้สวนแห่งนี้เป็นพื้นที่สำหรับถ่ายทอดและทดลอง องค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ด้านพืชกรรมสวน (Horticulture) และ การออกแบบที่ยั่งยืน เพื่อให้สามารถต่อยอดสู่การพัฒนาเมืองที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต ดังจะเห็นได้จากการทุ่มทุนกับการออกแบบอาคาร ตลอดจนพื้นที่ต่างๆ ที่ผสานเทคโนโลยีด้านที่สนับสนุนการสร้างอาคารสีเขียว (Green building) การลงทุนเช่นนี้ของสิงคโปร์ จึงอาจกล่าวได้ว่าคุ้มค่าทั้งเม็ดเงิน เปลี่ยนแปลงความคิด (Soft Power) ตลอดจนนวัตกรรมที่กำลังออกผลิดอกออกผลในวันนี้
แม้ดูเหมือนว่าแนวทางการลงทุนของสิงคโปร์จะมีข้อดีมากมาย แต่ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องดีเสมอไป เพราะด้วยเม็ดเงินลงทุนที่สูงนี้เองจึงไม่ใช่สิ่งที่จะคืนทุนในระยะสั้น อีกทั้งรัฐบาลยังต้องช่วยสนับสนุนค่าดูแลรักษาราว 1 พันล้านบาทต่อปี ที่บางส่วนต้องเอารายได้จากการขายตั๋วเข้าชมพื้นที่ ซึ่งทำให้สวนนี้ไม่ใช่สวนสาธารณะหนึ่งร้อยเปอร์เซนต์
The High Line, New York สวนสาธารณะสำหรับทุกคน ?
ย้อนกลับไปปี 1980 ที่ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมของนิวยอร์กลงทุนกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6.7 หมื่นล้านบาท) ร่วมทุนกันในการพัฒนา The High Line สวนสาธารณะจากทางรถไฟยกระดับความยาว 2.3 กิโลเมตร ที่ตัดผ่านย่าน Chelsea อันทรุดโทรมของมหานครนิวยอร์ก พร้อมเป้าหมายการพัฒนาสวนนี้ที่คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยว และชุมชนโดยรอบมาใช้ราว 3 แสนคนต่อปี
แต่ผลการคาดการณ์ไปไกลกว่านั้นเพราะการพัฒนา The High Line ได้กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว และกลายเป็นสัญลักษณ์ของนิวยอร์กยุคใหม่ กลายเป็นพื้นที่ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ราว 8 ล้านคนต่อปี และดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาพัฒนาย่านจนทำให้ราคาที่ดินโดยรอบสูงขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้ทางภาษี (Tax Revenue) ราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.3 หมื่นล้านบาท) ในช่วงระยะเวลา 20 ปีนับจากวันที่เปิดใช้
ความสำเร็จของโครงการนี้ทำให้เกิด Gentrification ของย่าน ทำให้ราคาที่ดินตลอดจนค่าครองชีพสูงขึ้นมาก ชุมชนในพื้นที่ไม่สามารถอยู่ในย่านได้อีกต่อไปโดยเฉพาะกลุ่มคนผิวสี High Line กลายเป็นอีกสัญลักษณ์ความไม่เท่าเทียมของมหานคร เป็นเพียงพื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์คนแค่บางกลุ่ม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มีปริมาณการเข้าใช้สูงมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนคนในพื้นที่ ตลอดจนการออกแบบและโปรแกรมในพื้นที่เองนั้น ก็อาจกล่าวได้ว่าตอบรับกับคนชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ High Line ไม่ใช่สวนที่ชุมชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะคนผิวสีสามารถเข้าไปทำกิจกรรมอะไรก็ได้ อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งยังไม่นับรวมความยากในการเข้าถึงพื้นที่
เกิดเป็นคำถามว่าการลงทุนมหาศาลนั้น ใครได้ประโยชน์กันแน่ ซึ่งดูเหมือนคำตอบจะชี้ไปที่นักพัฒนาที่ได้ประโยชน์ ทั้งการลดหย่อนภาษีจากการร่วมลงทุนสร้างพื้นที่สาธารณะ และได้ย่านที่น่าอยู่ส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ที่สูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อการลงทุนสร้างสวนสาธารณะไม่ตอบโจทย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม ดังนั้นแล้ว เรากำลังลงทุนไปเพื่ออะไร ในเมื่อพื้นที่หรือสวนสาธารณะคือพื้นที่สำหรับทุกคนไม่ใช่เหรอ และที่สำคัญเมืองและเงินภาษีนั้นเราล้วนเป็นเจ้าของเช่นกัน
กรุงเทพมหานครกับกลไกการพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่ควรต่างออกไป
กลับมาที่บ้านเรา กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เผชิญปัญหารอบด้านทั้งความเหลื่อมล้ำของคุณภาพชีวิตพลเมือง ตลอดจนความท้าทายของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น ทั้งเกาะความร้อน น้ำท่วม ฝุ่น โรคระบาด และภัยพิบัติ เมืองที่พื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความยั่งยืนและยืดหยุ่นของเมืองนั้น มีต่ำกว่ามาตรฐานทั้งในเชิงปริมาณต่อประชากรและระยะการเข้าถึง (ซึ่งเป็นตัวชี้วัดใหม่นั้นพื้นที่สีเขียวต้องสามารถเข้าถึงได้ในระยะเกิด 10 นาที หรือทุก 400 เมตร) และเมืองเรามีเพียง 13 % ของพื้นที่เมือง นั่นหมายความว่า ประชากรส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงบริการของพื้นที่สวนสาธารณะ ยังไม่นับรวมถึงบทบาทและโปรแกรมรูปแบบที่ยังจำกัดอยู่กับคนเมืองชนชั้นกลาง ในขณะที่ชุมชนหรือกลุ่มเปราะบางไม่ได้ถูกรวมเข้าไปในการพัฒนาเหล่านี้
เมื่อเรามีเงินและทรัพยากรจำกัด เราจะต้องลงทุนพื้นที่สีเขียวอย่างไร เพื่อจะตอบโจทย์ความท้าทายเหล่านี้ไปพร้อมกัน สิ่งที่รัฐส่งสัญญาณคือการลงทุนกับพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในย่าน CBD ใจกลางเมืองที่มีมูลค่ารวมกันหลายพันล้านในพื้นที่ที่ไม่ได้ขาดแคลน แต่ขาดความสมดุลของการพัฒนาพื้นที่ย่านอื่นที่ต้องการพื้นที่สีเขียว ทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และการกระจายตัว จากการวิจัยโดย we!park ชี้ให้เห็นว่า การเพิ่มระยะการเข้าถึงสวนทุกๆ 400 เมตร หรือ 10 นาทีเดินถึงให้ครอบคลุม 50% ของพื้นที่เมืองจาก 13 % เราต้องเพิ่มสวนขนาดเล็กในเมืองราว 50 สวนต่อปี และต้องทำทุกปีในระยะเวลา 10 ปี ตามแผน Green Bangkok 2030
แต่ปัจจุบันการลงทุนโดยกทม. ต่อการพัฒนาสวนต่อปีนั้นตกอยู่ราว 10 พื้นที่ และงบประมาณส่วนมากอยู่กับการลงทุนกับสวนขนาดใหญ่ในพื้นที่ใจกลางเมือง อย่างกรณีล่าสุดกับการทุ่มงบประมาณราว 3 พันล้านบาท ปรับปรุงสวนลุมพินีที่รายล้อมด้วยการพัฒนาของนักพัฒนา และมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ซึ่งเงินจำนวน 3 พันล้านบาทนี้สามารถสร้างสวนขนาดเล็กได้ราว 300 สวน ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งนั่นอาจช่วยขยับตัวชี้วัดของการเข้าถึงสวนสาธารณะของคนทุกกลุ่ม ให้เข้าใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญการลงทุนกับสวนขนาดเล็กจะเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาย่านรอบๆ ที่ตอบโจทย์ตามแต่ละชุมชนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น
แล้วเราจะมีมาตรการใดที่จะทำให้การลงทุนเพิ่มพื้นที่สีเขียวกระจาย เท่าเทียม และตอบโจทย์ คนทุกคนและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ไม่เป็นกลไก Gentrification Mechanism และไม่ให้การลงทุนนั้นสูญเปล่าและตอบโจทย์คนบางกลุ่ม เหมือนหลายตัวอย่างจากหลายเมืองทั่วโลกที่เป็นบทเรียนแล้ว
8 วิธีสร้างการลงทุนพื้นที่สีเขียวที่ Inclusive
1. ทำสวนให้สร้างประโยชน์ (park as green infrastructure) ตั้งเป้าหมายให้ชัดว่าการลงทุนนี้เพื่อผลอะไร ควรตอบโจทย์และคุ้มค่าๆ ทุกมิติ ควรเป็นมากกว่าพื้นที่เพื่อการพักผ่อน คือต้องตอบโจทย์การเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในหลากหลายมิติ เพื่อสร้างเมืองที่ยืดหยุ่นต่อภัยและยั่งยืนต่อโลกในระยะยาว สามารถเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดประโยชน์ทั้งต่อสังคม สิ่งแวดล้อม อาหาร ความหลากหลายทางธรรมชาติ ตลอดจนเรื่องสุขภาพของผู้คน เพราะการพัฒนาพื้นที่สีเขียวนั้นต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันอย่างสมดุลในทุกๆ ขนาด เช่นเราอาจจะสร้าง Green Belt เป็นแนวกันมลพิษ ทุ่งรับน้ำ พื้นที่ผลิตอาหาร Green Patch สวนขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่รับน้ำ เป็นพื้นที่เรียนรู้ และจัดกิจกรรมของเมือง Green Street โครงข่าย ทางเดินทางจักรยาน ทางเท้าทางสีเขียวที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงที่สะดวก Green Pocket สวนขนาดเล็กให้กระจายตัวตามย่านและชุมชน เป็นสวนที่มีโปรแกรมหลากหลายและเดินถึงได้ในทุกๆ 10 นาที
2. เปลี่ยนที่ร้างสร้างมูลค่า (add value to abandon land) การจัดความสำคัญของการใช้ทรัพยากรเงินและอื่นๆ ที่เรามีน้อย แต่ควรทำสิ่งที่สร้างผลตอบแทนสูง ซึ่งจากกรณีศึกษาต่างประเทศจะเห็นว่า การใช้เงินเพื่อซ่อมแซมพื้นที่ร้าง ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ย่านอุตสาหกรรม ที่ดินริมทางรถไฟ ริมคลอง พื้นที่ใต้ทางด่วนสามารถสร้างผลกระทบที่สูงได้ เพราะมันคือการพลิกฟื้นการใช้ประโยชน์ที่ดินในตัวมันเองให้มีประโยชน์ ปลอดภัย สร้างมูลค่าต่อที่ดินรอบๆ และกระตุ้นกิจกกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนมิติทางสังคมกับพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งควรมีทาร์เก็คให้กับย่านที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ซึ่งจะได้รับผลปรประโยชน์สูงจากการพัฒนาเหล่านี้
3. สร้างการพัฒนาสำหรับทุกคน (inclusive development) มีแผนรองรับลดผลกระทบ Gentrification เพื่อสร้างการพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive Development) ด้วยการมีมาตรการทางผังเมืองกำหนดการใช้ประโยชน์ของที่ดินรอบๆ การพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้มีการผสมผสานกิจกรรมที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกรายได้ ทั้งแหล่งงาน แหล่งพักอาศัย และแหล่งจับจ่ายใช้สอย ตลอดจนมีกองทุน หรือแรงจูงใจ (incentive) ที่ช่วยสนับสนุนนักพัฒนาในการผสานที่พักอาศัย และแหล่งงานสำหรับผู้มีรายได้น้อยเข้ากับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในย่าน
4. สร้างสวนให้เปลี่ยนย่าน (park as tool to district revitalization) การพัฒนาสวนไม่ใช่การพัฒนาสวนในรั้ว แต่คือการพัฒนาย่านที่มีสวนเป็นตัวกระตุ้นให้ชุมชนรอบๆ ได้ประโยชน์ เพราะชุมชนมีปัญหามากกว่าเรื่องขาดพื้นที่สีเขียว หรือเรื่องแบบสวนไม่สวย แต่จะทำอย่างไรให้การลงทุนเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวนี้สร้างคุณภาพชีวิต ซึ่งก็ต้องช่วยสร้างงานสร้างอาชีพในย่าน หรือมีกิจกรรมที่ตอบโจทย์ สร้างเศรษฐกิจชุมชน สร้างคน สร้างความเป็นพลเมือง นั่นจึงจะถือว่าเป็นการพัฒนาสำหรับทุกคน
5. ลงทุนกับโปรแกรมและผู้คน (invest in programming and people ware) เราต้องลงทุนในการสร้างโปรแกรมก่อนสร้างสวนสาธารณะ ในการค้นหาความต้องการของคนทุกกลุ่ม เพื่อให้ฝันของชุมชนในย่าน ในเมืองนั้นดังพอ ก่อนที่จะมอบหมายให้นักออกแบบไปสร้างฝันผู้คนให้เป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากลงทุนกับฮาร์ดแวร์ หรือพื้นที่กายภาพแล้ว เราต้องลงทุนกับ peopleware ในการเสริมอำนาจ (empowerment) สมาชิกในชุมชนในย่านให้เป็นส่วนหนึ่งของการก่อร่างสร้างสวน ถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้ผู้ที่เข้าใจบริหารจัดการ ปรับใช้ความเข้าใจนั้นๆ กับสวน ตามความต้องการของผู้คนได้อย่างยั่งยืน
6. สร้างกลไกให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม (involve all stakeholders) การออกแบบสวนไม่ใช่หน้าที่นักออกแบบ แต่คือการสร้างกลไก พื้นที่ให้ตัวแทนของคนทุกกลุ่มในสังคมได้มาร่วมกันก่อรูปก่อร่างสวนเพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนนั้นตอบโจทย์ทุกคนอย่างแท้จริง และสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของไปพร้อมกันด้วย ซึ่งนักออกแบบควรถอยมาเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวก เพื่อให้เสียงของทุกคนได้ยินต่อกัน
7. ประเมินและปรับเปลี่ยน (monitoring and improving) สวนทางกายภาพที่เสร็จไม่ใช่จุดจบหรือเส้นชัย แต่คือจุดเริ่มต้นที่จะถูกบริหารจัดการ เพื่อให้ทุกคนในสังคมได้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพผ่านการจัดกิจกรรม และปรับใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเฝ้าสังเกตและประเมินเพื่อให้สวนสอดคล้องกับไดนามิกของสังคมที่เปลี่ยนไป โดยมีเป้าหมายเพื่อรวมผู้คนทุกกลุ่มให้ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น
8. ร่วมกำหนดการใช้จ่ายงบประมาณ (Participatory Budgeting) ในหลายเมืองเริ่มทดลองให้ประชาขนมีส่วนร่วมกำหนดงบประมาณ คืองบประมาณจากภาษีของประชาชนนั้นจะนำไปใช้ทำประโยชน์ใด แทนที่จะให้ระบบของราชการหรือนักการเมืองตัดสิน ซึ่งอาจจะไม่ตรงความต้องการของประชาชน และอาจถูกบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม กระบวนการมีส่วนร่วมนี้ยังสร้างความเป็นเจ้าของเมืองที่เรามีด้วยกัน และสร้างความเป็นประชาธิปไตยทางตรงด้วย และน่าจะดีถ้าภาษีที่ดินหรือภาษีโรงเรือนที่จัดเก็บเข้าสำนักงานเขตสามารถให้คนในท้องถิ่น ตัดสินใจว่าจะนำเงินส่วนนั้นมาจัดการกับโครงการใดเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวืตที่ดีกับคนในเขตนั้นๆ
กรณีศึกษาที่ย่าน West End theatre ของเมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver) ประเทศแคนาดา รัฐบาลท้องถิ่นได้นำเงินกำไรจากการบริหารที่จอดรถมาให้คนในย่านโหวต ว่าจะใช้เงินจำนวนนั้นทำอะไร โดยทำผ่านกระบวนการระดมความเห็นกับสมาชิกของชุมชน และพัฒนารายละเอียดโครงการร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมประเด็นหลากหลายตั้งแต่เรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย พื้นที่สีเขียว ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนโหวตเลือกโครงการที่สำคัญสุด 3 อันดับแรกที่จะได้เงินสนับสนุน และสำคัญโครงการเหล่านี้ก็พัฒนามาจากกลุ่มคนในย่าน ภาคประชาสังคม และเยาวชนในเมืองเองที่อยากเห็นย่านดีขึ้น ซึ่งนั่นไม่เพียงใช้เงินที่ตอบโจทย์ชุมชน แต่ยังเป็นการใช้เงินสร้างผู้คนด้วย
สิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น คือการที่เราเห็นการลงทุนเรื่องพื้นที่สีเขียวที่ไม่ได้ตอบโจทย์ คน พื้นที่ และประเด็นที่จำเป็นของเมืองอย่างที่ควรจะเป็น เพราะมันคือเงินภาษีของเราทุกคน มันจึงควรถูกใช้เพื่อประโยชน์ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและชาญฉลาด
ดังนั้น ก่อนจะลงทุนทำอะไรเราควรตอบให้ได้ว่าเรา ‘ทำเพื่อใคร’ และถ้าเราตอบได้แล้ว กระบวนการที่เงินจะใช้ไปนั้นสามารถสร้างได้มากกว่าสวน แต่คือการสร้างย่าน คุณภาพชีวิต และความเข้มแข็งของพลเมืองไปด้วย ในขณะเดียวกัน ถ้าเราฉลาดในการใช้เงินพอ ถ้าเราเห็นเป้าหมายร่วมกันแล้ว เราอยากเอาเงิน 3 พันล้านบาทไปทำอะไรและอย่างไร เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวที่ได้ประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Graphic Design by Thanaphum Thongprasert
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker