CITY CRACKER

Healthy City เมืองที่สมดุลสร้างได้ ถ้านโยบายระดับประเทศแข็งแรง

โควิดและความท้าทายต่างๆ ทำให้การพัฒนาเมืองต่อจากนี้มุ่งเน้นสู่การเป็น Healthy City ซึ่งเมืองสุขภาพดีนี้ ไม่ใช่เพียงแค่สุขภาพของคน แต่ยังหมายรวมถึงสุขภาพของสิ่งแวดล้อมด้วย โดยประเด็นนี้ต่างก็เป็นเรื่องที่ทั้ง WHO และ UN เน้นย้ำ เนื่องจากระบบนิเวศ คือพื้นฐานที่สำคัญ และส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นั่นหมายความว่าแนวทางการพัฒนาต่อจากนี้ต้องสร้างความสมดุลให้กับเมือง

คำถามสำคัญคือประเทศไทยจะมีแนวทาง หรือนโยบายที่สามารถสร้างกฏเกณฑ์ เพื่อควบคุมและกระตุ้น ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและก่อร่างสร้างเมือง (shape) ให้เป็นไปตามทิศทางที่กำหนดได้อย่างไร ในต่างประเทศเขาจะมีเครื่องมือทางกฏหมาย เช่น นโยบายสร้างแรงจูงใจ (incentive), การเก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) ที่เรียกเก็บจากการผลิต การจำหน่าย หรือใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล, carbon credit ที่บ่งบอกถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้จากการดำเนินกลไกการพัฒนาที่สะอาด

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือเหตุการณ์ในประเทศเยอรมนี ที่บริษัทเดินรถไฟต้องชดเชยต่อการสร้างทางรถไฟและการเดินรถที่ก่อให้เกิดมลพิษโดยต้องสร้างพื้นที่สีเขียวสาธารณะคืนให้กับเมือง หรืออย่างในประเทศจีนรัฐออกกฏให้เอกชนที่มาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องสร้างสวนสาธารณะ ศูนย์ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่โรงเรียนอนุบาลให้กับย่านนั้นๆ ด้วย เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ารัฐในเมืองอื่นๆ พยายามควบคุมเพื่อให้เอกชนมีส่วนในการสร้างหรือลงทุนเพื่อเมืองที่สมดุลมากขึ้น

เครื่องมือทางกฎหมาย จึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกำกับและกระตุ้นการพัฒนา ไม่เช่นนั้นทรัพยากรที่ทั้งภาครัฐและเอกชนใช้ลงทุนเพื่อสร้างถนน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสาธารณูปโภคต่างๆ จะไม่ถูกคำนึงถึงการชดเชยเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม หรือโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ทำให้ทิศทางในการลงทุนพัฒนาเกิดปัญหาและกลายเป็นการทำลายตัวเองในที่สุด

เมืองที่น่าอยู่ หรือเมืองที่สุขภาพดี คือเมืองของทุกคนที่มีชีวิตที่ดีด้วยกัน ทั้งคนในชุมชน คนที่มาใช้แรงงาน พนักงานบริการ ชนชั้นกลาง หรือชนชั้นไหนๆ ต่างก็มีบทบาท มีหน้าที่ร่วมกันในเมืองนี้ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมีเมืองที่ดีบางส่วนใน gated community เป็นพื้นที่สงบส่วนตัว เป็นความสวยงามในการอยู่อาศัยของชนชั้นกลางขึ้นไป แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีส่วนอื่นๆ ของเมืองที่ยังผุพัง ซึ่งในบางเมืองจะกำหนดให้เอกชนต้องสร้าง social housing หรือบ้านสำหรับมีผู้มีรายได้น้อยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาด้วย

หันกลับมามองบ้านเรา เรายังไม่เห็นแนวนโยบาย กฏเกณฑ์ที่จะมาทำให้กระแสของการพัฒนาเมืองที่สมดุลแบบนี้เป็นกระแสหลัก กฏหมายไม่ได้ยืนอยู่เพื่อให้แนวคิดนี้พิงได้ และมันทำให้การทำงานของคนตัวเล็กๆ หรือใครก็ตามที่พยายามผลักดันเรื่องการทำเมืองที่ดีที่สมดุล ก็ยืนระยะไม่ได้นาน นี่คือปัญหาในเชิงระบบที่ทำให้เราจมอยู่ในปัญหาและความท้าทายในทุกวันทั้งๆที่เราเองก็มีsolution ที่ดีแต่มันอ่อนแรงที่จะยืนท่ามกลางกระแสการพัฒนาเมืองแบบเดิมที่ทำลาย

ผมมีโอกาสได้พูดที่รัฐสภาไทย ในการเสวนา ‘วาระมหานคร’ ผมจึงอยากส่งเสียงว่าเราจะทำอย่างไรท่ามกลางปัญหาและความท้าทายที่มีมากขึ้น แต่เวลาและทรัพยากรของเราน้อยลงทุกวัน ถึงเวลาแล้วที่จะมีนโยบายเพื่อเป็นหลักพิงและสนับสนุนให้แนวคิดต่อการสร้างเมืองที่ดีของทุกคนและสมดุลต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการปลดปล่อยพลังให้สมาชิกทุกคนในเมือง ในสังคมได้มีส่วนในการใช้ทรัพยากรและความสามารถ เสริมพลังเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกันก่อนที่จะสายไป

 

ชมการเสวนา ‘วาระมหานคร’ ย้อนหลัง

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :