CITY CRACKER

พลังของการออกแบบคืออะไร สรุปแนวคิดการออกแบบเมืองจากเสวนาออนไลน์ Green City Design

ในวันที่ความท้าทายนั้นมีมากทั้งปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และการเมืองที่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เราจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ในฐานะนักออกแบบคนหนึ่งและพลเมืองคนหนึ่ง หากเราลองคิดให้ดีก็จะเห็นว่าการออกแบบนั้นเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งการออกแบบไม่ได้มีแค่เรื่องกายภาพและความสวยงามเท่านั้นที่จะได้รับการออกแบบ แต่ยังรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่นธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวด้วย

จากงานเสวนาออนไลน์ ‘New Green Possibilities’ ภายใต้หัวข้อ Green City Design เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 นั้น จากกิจกรรมเสวนาครั้งนี้ที่ได้เชิญสถาปนิกและนักพัฒนาเมืองจาก 5 เมืองทั้งยุโรปและเอเชีย มาร่วมพูดคุยพร้อมนำเสนอไอเดียและแนวคิดการพัฒนาเมืองด้วยการใช้พื้นที่สีเขียว และนำธรรมชาติกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนั้น สามารถสรุปแนวคิดการพัฒนาเมืองได้ดังนี้

Singapore green city (elegraphindia.com)

จีนกับออกแบบเมืองด้วยแนวคิด sponge city

สำหรับประเทศจีนนั้นได้วางแนวนโยบายการใช้ธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวในการจัดการภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำที่นับวันเริ่มรุนแรงขึ้นด้วยสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change โดยจีนได้วางแผนผ่านนโยบาย sponge city หรือเมืองซับน้ำ ความน่าสนใจของแนวคิดนี้อยู่ที่การปรับองค์ประกอบของเมืองทุกอย่างตั้งแต่ทางเท้า สวนสาธารณะ คลอง รางระบายน้ำ จัสตุรัส ฯลฯ ให้สามารถกัก ชะลอ และบำบัดน้ำเพื่อช่วยบรรเทาและลดผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่น่าสนใจคือ การวางนโยบายที่กำหนดไปในผังเมืองว่า พื้นที่เมืองตรงจุดไหนจะต้องปรับ จะรับน้ำได้เท่าไหร่ให้การบริหารจัดการน้ำท่วมมีประสิทธิภาพ ออกแนวปฏิบัติสำหรับผู้พัฒนาโครงการและนักออกแบบ พร้อมทั้งยังมีมาตรการติดตามการดำเนินการต่างๆ อย่างใกล้ชิด

Sponge Cities (radiichina.com)

 

บิโตรีกัสเตอิกับการกระจายพื้นที่สีเขียวให้โอบล้อมเมือง

เมืองบิโตรีกัสเตอิซ (Vitoria Gasteiz) จากสเปน ได้วางแนวทางการใช้ nature based solution หรือการแก้ปัญหาที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานเพื่อปรับเมืองให้รับมือและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของ EU (European Union) ผ่านการปรับอาคารให้ลดการใช้พลังงานด้วยการเพิ่มสวนหลังคาและผนังสีเขียว ไปจนถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามจุดต่างๆ ของเมือง สิ่งที่น่าสนใจของนโยบายของเมืองนี้ คือการขับเคลื่อนครั้งนี้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ (stakeholder) จะมีส่วนร่วมในการเลือกแผน (scenario) ของเมืองที่อยากจะให้เป็น ซึ่งแต่ละแผนจะมีการวิเคราะห์ผลดีผลเสียของสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากเมืองที่เราไม่ทำอะไร ซึ่งจะได้รับผลกระทบมากจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จนไปถึงการลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงเมืองร่วมกัน จากนั้นจะถูกกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติที่ต้องอาศัย งบประมาณ กฎหมาย งานวิจัย ตลอดจนความร่วมมือและการสนับสนุนทางการเมืองเพื่อขับเคลื่อนสู่รูปธรรม

vitoria-gasteiz.org

 

สิงคโปร์กับการสร้างพื้นที่สีเขียวผ่านมีส่วนรวมของทุกภาคส่วน

แม้สิงคโปร์จะมีแนวทางการพัฒนาเรื่องพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อต้องเปลี่ยนแนวทางการทำงานและออกแบบเมืองใหม่ที่เน้นให้เมืองใช้สีเขียวรับมือกับภัยพิบัติมากกว่าการเป็นพื้นที่สำหรับนันทนาการ (recreation space) อย่างที่ผ่านมา ดังเห็นจากโครงการ Bishan Park ที่ได้เปลี่ยนคลองคอนกรีตมาเป็นสวนสาธารณะรับน้ำนี้ นอกจากสร้างประโยชน์ด้านการะบายน้ำแล้วนั้น ขณะเดียวกันก็เป็นที่พักผ่อนเรียนรู้และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสวนแห่งนี้ได้เปลี่ยนจาก mono use เป็น multiple use ที่ต้องอาศัยการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานและการเปลี่ยน mindset ที่อาจไม่ใช่เฉพาะข้าราชการแต่รวมถึงประชาชนด้วย

creativemove.com

 

บทเรียนจากเมืองเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การออกแบบที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมได้จริงต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุน จากเสวนาออนไลน์ครั้งนี้สามารถสรุปได้ 8 ปัจจัย ดังนี้

  1. วิสัยทัศน์เกี่ยวกับการสร้างแนวนโยบาย คือการมีเป้าหมายที่ชัดเจนโดยให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดี (wellbeing) ของคนและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
  2. การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของหน่วยงาน
  3. กฎหมายที่จะรองรับ
  4. การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่เริ่มพัฒนา
  5. การสื่อสารสร้างความเข้าใจในสังคม
  6. ความรู้ งานวิจัย และข้อมูล
  7. การออกแบบกายภาพที่มีประสิทธิภาพ
  8. การเมืองที่เข้มแข็งและสนับสนุน

 

ภาคการเมืองคือกลไกสำคัญ หากเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง เพราะนักการเมืองหรือผู้แทนคือคนที่จะรับไม้ต่อนำข้อเสนอจากประชาชน จากเคลื่อนไหวต่างๆ ในสังคมไปผลักดันเป็นนโยบายและกฎหมาย แต่กับดักที่เรามักจะติดแล้วทำให้การออกแบบไม่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง คือเราขาดการเชื่อมโยงว่าสิ่งที่เราออกแบบนั้นสนับสนุนประเด็นการเคลื่อนไหว หรือเพื่อสิ่งใดที่มากกว่า showcase ที่ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เฉพาะจุด

หากเราสามารถสร้าง ‘why’ ที่ชัดและเป็นประเด็นร่วมของสังคม ผลของการออกแบบที่ประจักษ์พร้อมกับการสื่อสารที่ดีนั้นจะมีพลังทางสังคมสนับสนุนให้เกิด ‘สัญญาประชาคม’ นำไปสู่การสร้างแผนงาน (roadmap) ให้ผู้กำหนดนโยบายและนักการเมืองนำไปปฏิบัติ และเราเองต้องติดตามการประเมินเพื่อให้นักการเมืองและหน่วยราชการทำหน้าที่ร่วมด้วย และเมื่อนั้นการออกแบบจะสามารถเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้ ที่สำคัญเราต้องการการเมืองที่เข้มแข็ง และนักการเมืองที่มองการพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและโลกใบนี้อย่างแท้จริง

ดังนั้น งานออกแบบจะไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญ หากไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและทัศนคติของสังคม สุดท้ายก็จะเป็นโครงการที่ดี หรือ showcase เฉพาะโครงการนั้นๆ แต่หากเราใช้การออกแบบกายภาพอย่างมีกลยุทธ์นั้นมันจะเป็นเหมือนการนำร่องเพื่อเป็นตัวอย่าง เป็นข้อพิสูจน์งานวิจัยและนวัตกรรม เป็นการตั้งคำถาม และที่สำคัญคือเป็นการสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่เป็นประเด็นร่วมของสังคม เพื่อขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายเพื่อให้เมืองและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นและยั่งยืนขึ้น

 

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :