CITY CRACKER

ทลายกรอบคิดเพื่อสร้างสถาปัตยกรรมแห่งอนาคต

การอยู่อาศัยของมนุษย์นั้นสัมพันธ์กับธรรมชาติ ในยุคแรกมนุษย์มีถ้ำและเพิงหินเป็นเหมือนบ้าน หรือที่พักพิงอาศัย แต่เมื่อมนุษย์เริ่มวิวัฒนาการ มีองค์ความรู้ก็เริ่มตั้งถิ่นที่อยู่ เริ่มรู้จักการสร้างบ้านแปลงเมือง กลายมาเป็นสถาปัตยกรรม อาคาร เป็นสิ่งปลูกต่างๆ ขึ้นบนโลก ซึ่งด้านหนึ่งโครงสร้างสถาปัตยกรรมเช่นตึกคอนกรีตนั้นคือที่อยู่อาศัยของมนุษย์ แต่ขณะเดียวก็ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ต่อพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเช่นกัน 

วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา City Cracker ได้จัดงานเสวนา ‘Open to Future’ ภายใต้หัวข้อ ‘Future Architecture’ ขึ้น และได้เชิญสถาปนิกนักออกแบบ  ตั้งแต่ ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล จากสตูดิโอ CHAT Architects ศาวินี บูรณศิลปิน จาก thingsmatter และนิธิศ สถาปิตานนท์ จาก A49 มาร่วมพูดคุย ถึงมุมมองการทำงานด้านออกแบบ ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรื่องของงานออกแบบและสถาปัตยกรรมทั้งในอดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต ว่าในความท้าทายต่อไปเราจะปรับตัว หรือปรับเปลี่ยนวิชาชีพและการงานให้แปรผันไปพร้อมกับโลกได้อย่างไร 

 

pixabay.com

ความท้าทายของการพัฒนาเมืองผ่านการสร้างสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน 

 

มองไปรอบตัวเราจะเห็นเมืองที่ก่อร่างจากตึกสูงและสถาปัตยกรรมรูปแบบต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถาปัตยกรรมมีผลต่อการใช้ชีวิตของเรา ตั้งแต่เช้าจรดเย็น กระทั่งอดีตถึงปัจจุบัน ทั้งส่งผลให้เอื้อต่อปัจจัยพื้นฐานในการปกป้องจากสภาพอากาศ ต่อการทำงาน การใช้ชีวิต และส่งผลต่อเราในเชิงจิตวิทยาคือทำให้เรารู้สึกนึกได้คิดด้วย

แต่ด้วยการพัฒนาที่ผ่านมา เราอาจหลงลืมความสำคัญที่สถาปัตยกรรมนั้นกำหนดชีวิตเรา เราสร้างสิ่งที่คุ้นเคย ตึกสูง กล่องสี่เหลี่ยมจนนานวันเข้ามันกลับเป็นออบเจ็กต์ (object) ที่แยกขาดจากบริบท ที่ยิ่งสร้างยิ่งก่อให้เกิดปัญหาของเมืองที่เต็มไปด้วย มลภาวะอากาศ  มีเกราะความร้อน แออัด อยู่กันแยกส่วน สร้างความเหลื่อมล้ำราวกับอยู่ในภาพยนตร์ดิสโทเปีย แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าแต่คุณภาพชีวิตคนไม่ได้ก้าวตาม

ยิ่งด้วยโซเชียลมีเดียทำให้เราแข่งกันสร้างสิ่งสวยงามในอินสาแกรมด้วยรูปแบบที่ประหลาดดึงดูดความสนใจ มันยิ่งนำพาสถาปัตยกรรมออกจากจุดเริ่มต้นเพื่อการสร้างคุณภาพชีวิตคนเป็นสำคัญไปเรื่อยๆ เกิดอะไรขึ้นกับเทรนด์งานสถาปัตยกรรม และท่ามกลางความท้าทายที่อยู่รายล้อม เราจะมีวิธีที่จะสร้างสถาปัตยกรรมให้กลับมาฟื้นฟูเมืองและผู้คน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือควรจะเป็นได้หรือไม่ หรือการพัฒนาเมืองผ่านสถาปัตกรรมในปัจจุบันติดปัญหาอะไร 

จากงานเสวนาครั้งนี้สามารถสรุปปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาเมืองผ่านสถาปัตยกรรม 4 ปัจจัย คือ หนึ่ง กระบวนการคิดที่จำกัดการหาแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ๆ สอง ความซับซ้อนของข้อมูลที่ต้องจัดการ สาม ความท้าทายของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อวิธีการใช้พื้นที่ แต่ที่สำคัญคือส่งผลในเชิงจิตวิทยาที่ต้องการอิสระมากขึ้น และสี่คือโครงสร้างเมืองเปลี่ยน และผลักคนจนออกจากเมือง หมายถึงพื้นที่สำหรับกลุ่มคนรายได้น้อยกำลังเปลี่ยเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ และเป็นมิกซ์ยูสมากขึ้น และการต่อต้านการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ทุนชนะฝ่ายเดียว

 

 

กรอบที่ปิดกั้นการพัฒนาสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์สังคม 

1. กรอบภาษาสมัยใหม่นิยม (Modernism) เราควรใช้ภาษาการออกแบบไหนให้ตอบโจทย์ที่ท้าทายและหลากหลายเหล่านั้น เพื่อแปลงออกมาเป็นกายภาพ หรือสถาปัตยกรรมให้เราได้ใช้ชีวิต ซึ่งหากย้อนดูสิ่งที่เกิดขึ้นจากอดีตจนถึงปัจจุบันเราจะพบว่า เรามีภาษาที่จำกัด ที่อยู่ภายใต้แนวคิดในยุคสมัยใหม่นิยม (modernism) มีความเป็นกล่อง เหลี่ยม เสา คาน กระจก ปูน ซึ่งมันไม่ได้เปลี่ยนไปในช่วงเวลา 100 ปีที่ผ่านมา ภาษาสมัยใหม่นิยมได้แพร่หลายทั่วโลกด้วยโซเชียลมีเดียที่เกิดการอ้างอิง หรือนำมาเป็นต้นแบบ กระทั่งคัดลอก ทำซ้ำไปมาจนเป็นภาษาสถาปัตยกรรมหลักที่ตีกรอบแนวทางการออกแบบถิ่นที่อยู่ของเราทุกวันนี้ 

2. กรอบความงาม กรอบค่านิยม การแพร่ขยายของรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่นิยมผ่านโซเชียลมีเดีย และการให้รางวัลจนซึมซับกลายเป็นกรอบของความงาม ที่สร้างเป็นค่านิยมให้กับทั้งนายทุนและผู้คนทั่วโลก จนยากที่ใครจะกล้าหลุดและแหกกฎของอุดมคติที่เราล้วนสร้างขึ้น เพราะมันอาจจะขายไม่ได้หรือไม่ได้รับความนิยมอย่างที่ผ่านมา จนเราลืมความงามที่ยึดโยงกับรากของแต่ละพื้นที่ไป

3. กรอบกระบวนการคิดเองเออเอง สิ่งนี้อาจถูกปลูกฝังมาในการเรียนการสอนในสตูดิโอ มาจนถึงการปฏิบัติวิชาชีที่เราไม่ได้เปิดโอกาสของการสร้างบทสนทนากับคนที่ใช้จริจและลูกค้า เพื่อให้มาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมร่วมกับเรา (สถาปนิกและนักออกแบบ) สุดท้ายเราจึงสร้างค่านิยมตลอดจนคุณค่า คำตอบ และความงาม ที่เราคิดว่าดี (เอาเอง) ในสตูดิโดยมีอาจารย์ และคนในออฟฟิศเป็นคนตัดสิน แล้วจึงมานำเสนอภายหลังกับลูกค้าและผู้ใช้ ซึ่งบ่อยครั้งมันไม่ตอบโจทย์อย่างที่สถาปนิกคิด (เอาเอง) แต่บางครั้งกว่าจะรู้ว่าเป็นงานที่ล้มเหลวก็ตอนที่ได้ทดสอบเมื่อสร้างจริง คือเกิดปัญหาทั้งการใช้งานจนทิ้งร้างและทุบทิ้งในท้ายที่สุด

4. กรอบของทุน ทุนนิยมทำให้เราพัฒนาโครงการที่มุ่งเน้นกำไรเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่เราขาดวิธีคิดโครงการที่ทำให้เราเห็นการสร้างโครงการที่ได้กำไรกับทุกฝ่ายรวมถึงสังคมด้วย สุดท้ายเมื่อการพัฒนาไม่ตอบโจทย์สังคมจึงนำไปสู่ความขัดแย้ง และทำลายเมืองที่เราอยู่ร่วมด้วยกันไปด้วย 

เราเห็นการแทนที่ชุมชนด้วยการพัฒนาขนาดใหญ่ แทนที่ตลาดด้วยห้างสรรพสินค้า แทนที่แหล่งพักอาศัยและแหล่งงานด้วยคอนโดสูง ซึ่งมันกำลังผลักคนชั้นกลางและคนจนเมืองให้ออกไปจากเมือง ซึ่งกรอบของทุนในการพัฒนานี้ได้สร้างความเหลื่อมล้ำให้มีมากขึ้นในสังคม 

5. กรอบของข้อมูล ด้วยความสลับซับซ้อนของสภาพสังคมและความท้าทายที่มีหลายด้าน เราไม่อาจหาคำตอบด้วยการคาดการณ์ หรือใช้ความรู้สึกเป็นตัวนำได้อย่างแต่ก่อน แต่เราต้องการการประมวลข้อมูลและการวิเคราะห์ที่แม่นยำมากขึ้นกว่าเดิม 

 

erasmusplus-egypt.eu

 

ทางออกของการค้นหาสถาปัตยกรรมแห่งอนาคต 

1. สร้างสถาปัตยกรรมที่ตอบไลฟ์สไตล์ สถาปัตยกรรมยังคงต้องตอบความต้องการพื้นฐานของมนุษ ทั้งในเชิงพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ และจิตวิทยา เพื่อให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีอิสระภาพต่อไป แม้โควิด-19 จะทำให้เรากังวลต่อการปฏิสัมพันธ์ และสุขอนามัยมากเพียงใด แต่ก็ไม่อาจยับยั้งความต้องการของมนุษที่ต้องการพบเจอกันและทำกิจกรรมที่คุ้นเคยได้ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีจะเป็นตัวเสริมเพื่อให้เรายังมีไลฟ์สไตล์ที่อยู่ร่วมกับความท้าทายได้มากขึ้น เช่นการประชุมทางไกล

2. สร้างสถาปัตยกรรมที่ตอบเวลา สถาปัตยกรรมนั้นควรที่จะก่อให้เกิดการวิวัฒน์ไปกับช่วงเวลา ให้ผู้คนได้ฝังตัว ได้ปรับเปลี่ยน เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรม ตลอดจนเจนเนอเรชั่นที่เแลี่ยนแปลงไป 

3. สร้างกระบวนการร่วมสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม (co-create) โดยดึงบุคคลที่เป็นหัวใจของงานมาร่วมในกระบวนการตั้งแต่แรก ทั้งผู้ใช้ ลูกค้า ผู้เชี่ยวชาญ รัฐ จนถึงทุน เพื่อสร้างโครงการตลอดจนสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์ โดยไม่มีกรอบของมาตรฐานหรือสิ่งที่ทำตามกันมาเป็นตัวตั้ง พร้อมกันก็เปิดพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) มาเจอกันคุยกัน เพื่อให้เห็นในข้อดีข้อเสีย เห็นความเชื่อมโยงตั้งแต่แรก เพื่อให้การพัฒนาไม่เพียงประสบความสำเร็จแค่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแต่ตอบโจทย์สังคมด้วย ซึ่งก็ถือเป็นหนทางที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ทุกๆ ฝ่าย

สร้างกระบวนการค้นหาภาษาสถาปัตยกรรมใหม่ กระบวนการนี้ผ่านการวิจัยกับวิถีที่อยู่รอบตัวเรา หาบเร่แผงลอย วินมอเตอร์ไซต์ การใช้ห้องแถว การบันทึกและสังเกตพฤติกรรมผู้คน เพราะนั่นคือรากที่เรามีและสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้คนในสังคมนี้ และเพื่อนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องในการสร้างสิ่งใหม่ต่อไป สิ่งนี้คือความร่วมสมัยที่แท้จริง

4. สร้างแนวคิดจากข้อมูล แนวคิดที่จะมาจากแรงบันดาลใจอย่างเดียว หรือความเพ้อฝันนั้นไม่สามารถโน้มน้าวกับลูกค้าได้อีกต่อไป เพราะโลกมันซับซ้อนมากยิ่งขึ้นอุปสงค์ของลูกค้ามากขึ้น ดังนั้น ความคิดต้องยึดโยงกับข้อมูล และการวิเคราะห์มากกว่าแต่เดิม เพื่อให้เราเลือกและตัดสินใจได้แม่นยำมากขึ้น

 

 

5. สร้างมาตรฐานของสถาปัตยกรรมที่ดีให้หลากหลาย สร้างมาตรฐานของสถาปัตยกรรมที่ดีให้หลากหลาย  ที่แม้แต่คนใช้เองสามารถให้คุณค่าได้ ว่าอะไรคือดีคือสวย ในแบบฉบับของตัวเอง เพราะคนใช้งานตลอดจนคนออกแบบในกระบวนการสร้างสถาปัตยกรรมนั้นๆคือคนที่ให้คำจำกัดความที่ดีที่สุดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับเขา ไม่ว่าจะเป็น zero defect ประหยัด  ขายได้  พื้นถิ่นเพื่อสังคม…เพราะทุกๆคุณค่านั้นก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมเพื่อตอบสนองโจทย์ของสังคมได้ทั้งสิ้น  ที่สำคัญเราควรสร้างให้เกิดวัฒนธรรมของการวิพากษ์วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ต่อสถาปัตยกรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาในชีวิตปรจำวันเพื่อทำให้สถาปัตยกรรมเป็นเรื่องใกล้ตัวมากนึ่งขึ้น

6. สร้างสถาปัตยกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง เปลี่ยนการสร้างสถาปัตยกรรมที่เป็นวัตถุสู่การถักทอให้เป็นส่วนหนึ่งของเมือง เพื่อให้สถาปัตยกรรมสอดคล้องกับชุมชน ทั้งในเชิงกายภาพและความสัมพันธ์ของวิถีโดยรอบ

7. สร้างโจทย์ร่วมกัน โดยเฉพาะการสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้าง โจทย์จึงไม่ควรมาจากฝั่งทุนฝ่ายเดียว แต่สังคมควรมีส่วนในการคิดโจทย์ร่วมกัน เพื่อให้โครงการไม่เพียงตอบโจทย์การลงทุน แต่ยังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมขน ย่าน และเมืองไปด้วยกัน เช่น การผสานพื้นที่สีเขียวเข้ากับพื้นที่เชิงพาณิชย์ การมีโปรแกรมเพื่อเด็กและเยาวชน ห้องสมุด co-working space

8. ไม่สร้างใหม่ สถาปนิกไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งใหม่ตลอดเวลา เพราะถ้าสิ่งใหม่นั้นก่อให้เกิดผลกระทบและปัญหาที่ตามมา ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สิ่งใหม่อาจจะไม่ดีเท่าเอาของเก่ามาปรับมารียูสมารีไซเคิล

9. สร้างการวิจัยกับข้อเสนอเชิงรุก เราควรแบ่งทรัพยากรในองค์กรเพื่อใช้ฝึกวิทยายุทธ์ เช่นทำเวิร์กช็อป หรือทำวิจัยต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อเสนอเตรียมไว้นำเสนอกับเจ้าของโครงการ วิธีนี้จะเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างสิ่งที่ดีให้กับเมือง โดยที่ไม่ต้องรอว่าโครงการดีๆ จะมาถึงเราเมื่อไหร่ แต่เราสร้างโอกาสนั้นไว้เอง 

10. สร้างคนรุ่นใหม่ เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมในสตูดิโอ ออกมาเป็นการเรียนการสอนนอกสตูฯ เพื่อร่วมมือกับสังคม ตลอดจนสหสาขาวิชาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากดีไซน์ เพื่อให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย ทั้งด้านนโยบาย สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ และต้องทำงานร่วมกับผู้ที่มีความเป็นมืออาชีพ ที่จะสร้างคนรุ่นใหม่ที่มองสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับโลกจริงๆ

 

CHAT Architects

 

CHAT Architects

 

CHAT Architects

 

CHAT Architects

 

เราทุกคนต่างตระหนักในความท้าทายของโลกที่มีสภาพแย่ลง หากแต่เป้าประสงค์ของสถาปนิกนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง คือการทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น (to improve life) เราจะไม่สามารถหาคำตอบแห่งยุคสมัยได้ เพื่อตอบพันธกิจการสร้างชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น หากเรายังติดอยู่ในกรอบของวิธีคิด กระบวนการ ภาษาการออกแบบ ค่านิยม และทุน ที่กักขังความเป็นไปได้ใหม่ๆ เอาไว้ 

ถึงเวลาที่เราจะต้องทลายกรอบเหล่านั้นเพื่อสร้างอนาคตที่ดีของเราผ่านสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับยุคสมัย และต้องร่วมสร้างสรรค์ไปด้วยกันทั้งรัฐ ทุน ชุมชน นักออกแบบ ฯลฯ เพราะเมืองและโลกที่เต็มไปด้วยปัญหาทนั้นเกิดจากการที่เราต่างคิดแยกส่วน และคิดเองเออเองว่ามันดี ทั้งนี้คำตอบของอนาคตที่ดีนั้นไม่ได้อยู่ไกล หรือมาจากที่อื่นใด แต่อยู่รอบตัวเรา อยู่ที่เราจะใช้เลนส์ใดในการมองนั่นเอง

Illustration by Supatsorn Boontumma
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :