CITY CRACKER

‘พื้นที่ใต้ทางด่วน’ กับการลงขันพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ

‘ทางด่วน’ ผลผลิตของแนวคิดการพัฒนาเมืองที่ใช้รถยนต์เป็นศูนย์กลาง ที่ได้ตัดผ่านทำลายวิถีชุมชน สร้างมลพิษ ตลอดจนสร้างพื้นที่เสี่ยงใจกลางเมือง เป็นเมืองที่ผู้คนยากจะใช้ชีวิต ซึ่งมันได้ชวนตั้งคำถามว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการจริงเหรอ?

พื้นที่ใต้ทางด่วนรามอินทราอาจณรงค์ คือหนึ่งในพื้นที่รกร้างใต้ทางด่วนที่เราเห็นจนชินตาตามจุดต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ประชาคมบนโลกออนไลน์ได้ตั้งต้นจุดประเด็นผ่านคลับเฮ้าส์ (clubhouse) ในหัวข้อ ‘ลมหายใจที่มีคุณภาพของคนเมือง: ใต้ทางด่วนรามอินทราน่าทำอะไร’  และขอระดมความเห็นในการผลักดันให้เกิดพื้นที่รูปธรรม (on ground) ในการเปลี่ยนพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้งานเต็มประสิทธิภาพนี้ ให้เป็นจุดเชื่อมต่อย่านและพื้นที่กิจกรรมใหม่ของเมือง 

ด้วยความท้าทายที่เมืองเผชิญในวันนี้กับอนาคตยิ่งต้องชวนคิดเพื่อลงทุนกับที่ว่าง เพื่อให้เกิดการสร้างประโยชน์กับเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งกลไกการพัฒนาเมืองแบบเดิมที่รอรัฐให้เป็นผู้ริเริ่มและทำพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนอย่างเราไปใช้นั้นมันอาจจะหมดยุคสมัยไปแล้ว ในเมื่อประชาชนทุกวันนี้ใส่ใจต่อคุณภาพชีวิตที่ดีในเมืองเมือง ที่เขาสามารถมาลงมือ ลงแรง ลงสติปัญญา และลงเงินด้วยกันได้ ดังนั้น กลไกรัฐยุคใหม่ต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนกระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมได้รวมตัวและเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาที่รัฐเองอาจทำไม่ได้ทั้งหมด เพราะด้วยวิธีการนี้เราจะไม่ได้แค่สวนหรือพื้นที่สาธารณะ แต่จะได้ประชาคมและพลเมืองที่เข้มแข็งที่จะเป็นพลังของเมืองด้วย

 

พื้นที่ใต้ทางด่วนจะเป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง

พื้นที่ใต้ทางด่วนภายใต้การดูแลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นี้มีระยะทางกว่า  224.59 กม. มีเนื้อที่รวม 1,577 ไร่ ซึ่งมีขนาดเท่ากับพื้นที่สวนลุมพินีถึง 4.5 สวน หากในอนาคตมีการพัฒนาพื้นที่ทิ้งร้างและพื้นที่ว่างตามแนวโครงสร้างพื้นฐานของเมือง พื้นที่ใต้ทางด่วนถือเป็นโอกาสของเมืองในการพัฒนาให้มีพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวในอนาคตเพิ่มขึ้น ด้วยความยาวและขนาดพื้นที่ที่มีมากและพาดผ่านเนื้อเมือง ใจกลางเมือง และย่านสำคัญหลายจุดแล้ว ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายจากตัวชุมชน ตลอดจนสถานที่สำคัญต่างๆ ถ้าเราพลิกวิกฤติเป็นโอกาส สร้างประโยชน์เปลี่ยนพื้นที่เหล่านี้จากหลังบ้านเป็นหน้าบ้าน จากรกร้างเป็นพื้นที่ชีวิตอันช่วยสร้างเสริมสุขภาพ เป็นพื้นที่ดักฝุ่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่รับน้ำ และเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ศิลปะ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ มันคงจะดีไม่น้อย ซึ่งในปัจจุบันหลายเมืองในโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกาผู้เป็นต้นแบบแนวคิดการพัฒนาทางด่วนเป็นศูนย์กลางของรถยนต์ ก็ได้มีแนวคิดใหม่ในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ใต้ทางด่วน ตลอดจนทำลายโครงสร้างขนาดใหญ่เหล่านี้ เพื่อคืนชีวิตให้คนและธรรมชาติกลับมาเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเมืองอีกครั้ง

 

Stitching

พื้นที่ย่านที่เคยถูกแยกขาดจากกันเพราะทางด่วนนี้ อาจเป็นโอกาสที่พื้นที่ใต้ทางด่วนจะทำหน้าที่เชื่อมโหนดพาณิชยกรรมสองฝั่งให้ประสานเป็นหนึ่งอีกครั้ง เพื่อรวมและกระจายผู้คนไปตามสถานที่สำคัญของย่านรอบๆ อีกทั้งยังเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรที่กระตุ้นให้เกิดการเดินทางด้วยจักรยานและทางเท้ามากขึ้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการพัฒนาทางข้ามให้เชื่อมต่อได้สะดวก (ทั้งบนดินและใต้ดิน)

 

Introduce Attractive Program

เมื่อเชื่อมโฟล์วสองฝั่งแล้ว พื้นที่ใต้ทางด่วนนี้จะเป็นโอกาสของแหล่งกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นย่านที่ร่วมสมัยบริเวณนี้ ทั้งลานสเก็ต ลานออกกำลังกาย โคเวิร์กกิ้งสเปซ (co-working space)  พื้นที่ทางวัฒนธรรม ชมรม ห้องสมุด ฯลฯ

 

Green Corridor

ฝุ่นควันจากการจราจรบนถนนและทางด่วนลอยฟ้าที่พาดผ่านใจกลางเมืองทุกวันนี้ สามารถดูดซับได้ด้วยแนวอุโมงค์สีเขียวตลอดสองฝั่งฟากถนน ที่เกิดจากการใช้พันธุ์ไม้ให้เหมาะสมให้ช่วยดูดซับและกรองฝุ่นได้ ซึ่งอุโมงค์สีเขียวเหล่านี้อาจต้องปลูกขึ้นหลายระดับและหลายจุดตามแนวของถนน ทั้งบนทางเท้า บนอาคาร บนเกาะถนน ตามเสาของทางด่วน ไปจนถึงพื้นที่ขอบใต้ทางด่วนที่มีแสงสว่างส่องถึง รวมทั้งรณรงค์ให้สถานที่สองข้างทางมีการเพิ่มขึ้นปริมาณพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น

District Committee

เพื่อให้พื้นที่สาธารณะใต้ทางด่วนนี้ตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ เราต้องร่วมกันสร้างประชาคมย่านที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นและบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน โดยประชาคมย่านนี้อาจประกอบด้วย ตัวแทนรัฐ เอกชน ชุมชน ประชาสังคม และสถาบันการศึกษาในพื้นที่

 

Green Mobility

เพื่อให้เกิดการเข้าถึงพื้นที่ได้สะดวก อาจมีระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานสะอาดนำคนจากจุดต่างๆ สู่พื้นที่โครงการ

 

Participatory Process

การมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของและผูกพันกับพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่สาธารณะไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นของเราทุกคน ดังนั้น ในการคิดโปรแกรมต่างๆ ทุกๆ ฝ่ายจึงต้องร่วมกันระดมความเห็น จัดประกวดแบบ ร่วมระดมทุน ร่วมสร้าง ตลอดจนร่วมจัดกิจกรรม และบริหารพื้นที่ไปด้วยกัน

 

Growing the park

พื้นที่แห่งนี้ไม่จำเป็นต้องเสร็จในทันที แต่มันควรที่จะค่อยๆ สร้าง ให้คนได้มาทดลองใช้ ปรับเปลี่ยนได้ ผ่านการจัดกิจกรรมในพื้นที่ เพื่อดูความเป็นไปได้และสร้างความคุ้นเคย ซึ่งอาจจะค่อยๆ เติม เสริมจากทางข้ามปลอดภัย ทำลานคอนกรีต ติดไฟแสงสว่าง ช่วยกันทาสี ปลูกต้นไม้ ที่ใครมีอะไรก็สามารถมาลงขันช่วยกันได้

 

Funding

การระดมทุนควรเกิดขึ้นจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และแม้แต่ประชาชนทั่วไป บ้างอาจสนับสนุนค่าก่อสร้าง บ้างอาจสนับสนุนค่าน้ำค่าไฟ ค่าดูแลรักษา อาจมีกิจกรรมในการหารายได้ในพื้นที่เพื่อนำเงินตั้งเป็นกองทุนในการบริหารพื้นที่ในระยะยาว ทั้งนี้ทุนอาจมาในรูปแบบของ in kind ที่ใครมีอะไรจะเป็นวัสดุ กำลังคน กำลังความคิดความสามารถก็มาลงได้

ส่วนหนึ่งของความคิดความเห็นจากห้องสนทนาคลับเฮ้าส์ในการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนอย่างมีส่วนร่วมในบริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเราทุกคนต่างอยากเห็นเมืองดีขึ้นและพร้อมจะลงทรัพยากรที่แต่ละคนมี ขอเพียงมีพื้นที่ในการเชื่อมทรัพยากรเหล่านี้ให้มาเจอกันย่อมเปลี่ยนเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้

ถ้าเรามองย้อนไปถึงกรณีสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ เช่นกรณีไฮไลน์ (Highline) โครงการปรับปรุงทางด่วนเก่าให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะ สานรอยแยกของเมืองให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง กรณีเช่นไฮไลน์ที่กลายเป็นโครงการต้นแบบก็คล้ายๆ กับกรณีของ clubhouse คือ Highline เกิดขึ้นได้ทั้งจากการระดมความเห็นและที่สำคัญคือไฮไลน์สำเร็จและพัฒนาเติบโตจนเป็นประโยชน์ได้นี้ ก็เกิดจากการระดมทุนจากภาคเอกชนและสาธารณชน จากระดับความคิดที่เป็นนามธรรม สู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม

ส่วนหนึ่งของความคิดความเห็นจากห้องสนทนาคลับเฮ้าส์ในการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนอย่างมีส่วนร่วมบริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเราทุกคนต่างอยากเห็นเมืองดีขึ้นและพร้อมจะลงทรัพยากรที่แต่ละคนมี ขอเพียงมีพื้นที่ในการเชื่อมทรัพยากรเหล่านี้ให้มาเจอกันย่อมเปลี่ยนเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

exat.co.th

joinclubhouse.com

 

Illustration by Montree Sommut
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :