ความขัดแย้งทางความคิดไม่ว่าจะยุคสมัยใดสุดท้ายก็ต้องการพื้นที่แสดงออกรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้อง หรือแสดงสัญลักษณ์บางอย่าง ว่าสิ่งที่เขาคิดเขาเชื่อนั้นมีผู้คนในสังคมคิดเห็นเช่นเดียวกันมากน้อยเพียงใด เพื่อรวมเป็นพลังสู่การเปลี่ยนแปลงในท้ายที่สุด
แม้ในยุคของโซเชียลมีเดียที่สามารถรวมกลุ่มและสร้างแคมเปญในออนไลน์ได้ ก็ไม่อาจหลีกหนีความต้องการของพื้นที่กายภาพเพื่อการรวมกลุ่มเช่นกัน พื้นที่สาธารณะจึงมีบทบาทสำคัญต่อการรวมกลุ่มและแสดงออก อันเป็นการสร้างเสริมวิถีประชาธิปไตย หรือวิถีที่เคารพในสิทธิและเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ที่มีในทุกสังคม แม้หลายเมืองในโลกจะไม่ได้เอื้อต่อการกระทำเช่นนั้น หรือแม้แต่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ การรวมกลุ่มเรียกร้องความต้องการของประชาชนเพื่อจะมีชีวิตที่ดีขึ้นก็ไม่อาจกีดกั้นได้ แม้เมืองและพื้นที่สาธารณะจะถูกออกแบบเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวก็ตาม
การเรียกร้องประชาธิปไตยที่ไคโร ยูเครน ลิเบีย กระทั่งสาธารณรัฐประชาชนจีนล้วนเกิดขึ้นบนลานสาธารณะ (Public Square) เป็นส่วนใหญ่ เพราะทุกคนทราบดีว่าลานหรือพื้นที่สาธารณะคือพื้นที่ที่ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกชนชั้น ไม่ว่าจะยากดีมีจนสามารถมาพบปะ พูดคุย แสดงออก แลกเปลี่ยนได้ และนั่นคือต้นกำเนิดของวิถีประชาธิปไตย ผู้ปกครองเองก็ทราบในหลักการและพลวัตของพื้นที่สาธารณะนี้ดี จึงทำให้ในรัฐที่ปกครองด้วยเผด็จการหรือรัฐที่ต้องการควบคุมประชาชน ได้จำกัดและไม่จัดสรร รวมถึงอาจทำลายความเป็นสาธารณะของพื้นที่เมือง ซึ่งนั่นอาจหมายรวมถึงทำลายโอกาสที่วิถีประชาธิปไตยจะงอกเงยและงอกงามด้วย
ครั้งหนึ่งในราวปี 1960 จัสตุรัสตะหุรีร์ (Tahrir Square) ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ได้ถูกออกแบบให้เป็นลานสาธารณะเมืองสำหรับผู้คนเฉกเช่นเดียวกับมหาครปารีส คือมีสนามหญ้าและบ่อน้ำพุที่ให้ผู้คนได้มาพบปะ พักผ่อนพูดคุยกันได้ จนเมื่อประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัคขึ้นครองอำนาจปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการ ลานสาธารณะแห่งนี้จึงถูกแบ่งย่อยเพื่อลดโอกาสในการรวมกลุ่มของมวลชน จนถึงขั้นปิดล้อมรั้วด้วยอ้างเหตุผลของการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เมื่อเกิดการเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงอาหรับสปริง (Arab Spring) ในปี 2010 ผู้คนได้ทลายรั้วเพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมและค้นพบว่าการก่อสร้างปรับปรุงลานเป็นเพียงคำโกหกของผู้ปกครองเพื่อกันไม่ให้พื้นที่ถูกใช้ในการชุมนุม
การออกแบบเมืองเพื่อทำลายประชาธิปไตย
สภาพแวดล้อมเมืองจริงๆ แล้วคือสิ่งที่จะกำหนดวิถี พฤติกรรม และแนวคิดของคนในเมืองนั้นๆ ซึ่งนักออกแบบเมืองทราบถึงสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างดี และได้ใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองด้วย เช่นปารีสในราวต้นศตวรรษที่ 19 ที่เมืองมีความแออัดมาก จึงได้มีแนวคิดจะขยายเมืองออกไปยังชานเมือง มีสร้างเส้นทางรถไฟและสวนสาธารณะดีๆ ขึ้นในชานเมือง ซึ่งการขยายเมืองดังกล่าวคือการย้าย (ทำลาย) ชุมชนชั้นล่างในเมืองที่แออัดให้ไปตั้งรกรากใหม่ และถือโอกาสขยายถนนที่เรียกว่า boulevard haussmann ให้กว้างโออ่าสวยงามมากขึ้น ซึ่งในความจริงแล้วคือเครื่องมือทางปกครองในการมาทำลายเมืองที่เป็นแคมป์ หรือกลุ่มก้อนที่คนจะรวมตัวได้ง่าย และด้วยความกว้างถนนใหม่นี้ก็ยากที่คนจะรวมกลุ่มแถมยังง่ายต่อการใช้กำลังทหารเข้าจัดการเมื่อเกิดการชุมนุมหรือจราจล ดังนั้น การทำเมืองให้โล่งให้กว้างกว่าที่คนจะรวมตัวจึงดูเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้จนถึงปัจจุบันนี้
นอกจากนี้ ในเนปิดอว์เมืองหลวงใหม่ของเมียนมา ที่ย้ายจากย่างกุ้งไปสร้างใจกลางประเทศด้วยเหตุผลทางความมั่นคง ทำให้ที่นั่นมีแต่ที่ทำการของรัฐบาล ทหาร และข้าราชการ และแทบไม่มีประชากรใช้ชีวิตอยู่จริง หรือต่อให้มีประชากรเพิ่มขึ้นในอนาคตก็คงเป็นการยากที่จะรวมตัวแสดงการเรียกร้อง เพราะที่นั่นแทบไม่มีพื้นที่สาธารณะ หรือถ้ามีก็ไม่ใช่ในสเกลที่ผู้คนจะได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ถนนขนาด 20 เลน และลานคอนกรีตโล่งกว้างที่ถูกสร้างมานั้นเป็นไปเพื่อการสวนสนามแสดงแสนยานุภาพ ซึ่งนี่อาจเป็นการสร้างเมืองสุดขั้วที่ใช้เพื่อการปกครองและลดทอนความเป็นชุมชนและคน กระทั่งลดโอกาสทางการรวมกลุ่ม เช่นเดียวกับนครเปียงยาง เมืองหลวงของเกาหลีเหนือ ที่พื้นที่เมืองเต็มไปด้วยลานคอนกรีตขนาดใหญ่ อนุสาวรีย์ และถนนกว้างแบบ boulevard haussmann แต่มันไม่ได้มีเพื่อการใช้ชีวิตของผู้คนแต่เป็นไปเพื่อสร้างความเกรงขาม ยกย่องท่านผู้นำเป็นสำคัญ นอกจากนั้นคนที่จะอยู่ในนครเปียงยางได้ก็ล้วนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความจงรักภักดีต่อท่านผู้นำ และผู้คนถูกจับใส่ตึกคอนกรีตเป็นที่พัก ซึ่งไม่ต่างอะไรกับค่ายกักกันเพื่อควบคุมความประพฤติ
สร้างเมืองให้เรารู้สึกด้อยค่า เช่นจัตุรัสเทียนอันเหมินที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ถูกออกแบบให้มีขนาดที่โล่งกว้างยิ่งใหญ่น่าเกรงขามด้วยองค์ประกอบของแนวแกน ขนาดอาคารที่รายล้อม ส่งผลให้เมื่อคนอยู่ในพื้นที่นั้นจะรู้สึกตัวเล็ก ถูกกดข่ม เพราะแท้จริงแล้วพื้นที่นี้ถูกใช้เพื่อการสวนสนามแสดงแสนยานุภาพ ไม่ใช่เพื่อการใช้ในชีวิตประจำวัน ถึงแม้จะมีการรวมตัวก็ยากที่จะเต็มพื้นที่ กระนั้นพื้นที่นี้ก็ถูกใช้เป็นที่รวมตัวของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1989
สร้างพื้นที่สาธารณะไว้ดูแต่ไม่ได้ใช้ พื้นที่สาธารณะหลายแห่งในเมืองเป็นผลจากการพัฒนาในยุคก่อนที่ลดทอนความสำคัญของประชาชนหรือชีวิตของผู้คน เนื่องจากพื้นที่สาธารณะที่ถูกพัฒนาในยุคนั้นให้ค่าในเชิงสัญลักษณ์ ภาพลักษณ์ และความภาคภูมิของความเป็นชาติ พื้นที่สาธารณะที่เกิดขึ้นจึงเป็นลานโล่งล้อมอนุสาวรีย์ และล้อมด้วยถนนที่ยากต่อการเข้าถึง-ยากต่อการใช้งาน ดังนั้น เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนพื้นที่สาธารณะประเภทนี้ จึงถึงเวลาของการตั้งคำถามและทบทวนสู่บริบทใหม่ที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนและสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เป็นอยู่
เมืองประชาธิปไตยกับการแสดงออกภายใต้กฎระเบียบ
แต่ใช่ว่าการมีพื้นที่สาธารณะในสังคมประชาธิปไตยจะสามารถทำให้เกิดการรวมกลุ่มได้ง่าย โดยเฉพาะในยุคที่ความขัดแย้งสามารถปะทุและรวมกลุ่มกันได้ง่ายขึ้นจากโลกออนไลน์ที่ส่งผลต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ซึ่งดูจะเป็นความท้าทายสำคัญในยุคนี้ กฎเกณฑ์และการขอใช้พื้นที่สาธารณะกลับมีขั้นตอนมากขึ้น แม้จะเป็นการแจกใบปลิวหรือทำกิจกรรมอะไรก็ต้องได้รับการอนุญาต ดังนั้นแล้วยิ่งทำให้วิถีประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติในชีวิตประจำวัน แม้เมืองจะมีพื้นที่สาธารณะมากเพียงใด แต่ก็ยังยากที่จะบ่มเพาะให้เกิดวิถีประชาธิปไตยในพื้นที่สาธารณะ สิ่งเหล่านี้จึงไม่เป็นผลดีต่อสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน เพราะมันยิ่งผลักคนคิดต่างให้อยู่รวมกันในมุมของแต่ละฝ่ายขาดโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างสังคมร่วมกัน
สิงคโปร์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบอบประชาธิปไตยแบบสังคมยิยมที่เข้มงวด ในปี 2000 สิงคโปร์ได้จัดให้มี Speakers‘ Corner ขึ้นในสวนสาธารณะใจกลางเมืองเฉกเช่นเดียวกับที่ไฮด์ปาร์ค (Hyde Park) ในลอนดอน โดยผู้ที่จะมาพูดในที่สาธารณะหรือทำการรณรงค์นั้นต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล และห้ามพูดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติและศาสนา อันเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในประเทศสิงคโปร์ เรื่ิองที่พูดส่วนใหญ่จึงเน้นเกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล ในระยะหลังกฎระเบียบมีการผ่อนปรนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มและรณรงค์ในประเด็นที่กว้างขวางอย่างความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของรัฐต่อยุคสมัย และผู้คนเองก็เรียกร้องต่อการแสดงออกมากขึ้น ทำให้ยากที่รัฐจะควบคุมได้เหมือนก่อน
พื้นที่สาธารณะที่แย่สะท้อนการปกครองที่เหลื่อมล้ำ
สำหรับเมืองที่ไม่ให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะที่มีน้อยและด้อยคุณภาพ ยิ่งสะท้อนถึงการที่รัฐไม่ให้ความสำคัญต่อการคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน กระทั่งคนในสังคมส่วนหนึ่งสามารถเข้าถึงบริการหรือคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าได้ภายใต้ระบบทุนนิยม ชีวิตในห้าง คอนโดหรู ฟิตเนส ในขณะที่คนจำนวนมากยังขาดแคลนบ้านและระบบสาธารณูปโภคและพื้นที่สาธารณะ สิ่งเหล่านี้ยิ่งสร้างระยะห่างและบรรยายกาศของสังคมชนชั้นที่ไม่มีส่วนร่วมและไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อกลไกและอำนาจในการกำหนดความเป็นไปในการสร้างเมืองขึ้นอยู่กับรัฐและทุน จึงยากที่ประชาชนจะเสนอ คิด ตัดสิน กำหนด และสร้างเมืองที่ดี ตลอดจนพื้นที่สาธารณะที่ดีเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปได้
การสร้างสังคมประชาธิปไตยผ่านการสร้างพื้นที่สาธารณะ
1. สิ่งสำคัญคือรัฐต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อการเป็นผู้สร้าง และให้ประชาชนได้มาอาศัยในเมืองเฉกเช่นแนวคิดในยุคก่อน ควรตระหนักในแนวคิดประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เสรีภาพที่จะร่วมกำหนด ตัดสินใจในการสร้างพื้นที่สาธารณะและเมืองที่เขาอยู่ได้ในฐานะหุ้น ส่วนของการพัฒนา นี่คือกุญแจที่จะไขประตูบานแรกเพื่อการกระจายอำนาจและสร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมอันเป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย
2. เราต้องออกแบบกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนให้พลเมืองได้มีส่วนในการให้ความเห็น ระบุปัญหา แสวงหาโอกาสรวมถึงแนวทางการออกแบบที่สังคมอยากให้เป็น เพื่อให้พื้นที่สาธารณะนั้นตอบสนองความต้องการของทุกรุ่นทุกกลุ่ม
3. กระบวนการมีส่วนร่วมนี้เองคือการบ่มเพาะวิถีประชาธิปไตยระหว่างรัฐกับพลเมือง ตลอดจนสมาชิกต่างๆ ในสังคม เพื่อให้เกิดการต่อรอง แลกเปลี่ยน สะท้อนปัญหาและข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าคุณจะเป็นรัฐ เอกชน กลุ่มทุน หรือชุมชน การมีส่วนร่วมที่ดีจะสร้างความโปร่งใสให้สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนของการดำเนินโครงการลดข้อขัดแย้งและความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน ที่สำคัญคือกระบวนการพูดคุยมันทำให้เห็นกันและกัน และเกิดความเข้าใจ หรือ (empathy) ระหว่างกัน
4. เราควรสร้างกลไกที่พลเมืองจะสามารถมีส่วนในการบริหารจัดการพื้นที่ด้วยตัวเขาเองหรือร่วมกับรัฐ ผ่านการให้อำนาจ เครื่องมือ องค์ความรู้ และทุนสนับสนุน ทั้งนี้เพื่อให้พื้นที่สาธารณะนั่นมีความยั่งยืนด้วยแรงสนับสนุนจากคนในสังคมเป็นสำคัญ อันนำมาสู่ความรู้สึกเป็นเจ้าของสังคมนี้ร่วมกัน
5. ตระหนักในความต้องการของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในระบบคุณค่า ค่านิยม พฤติกรรม ตลอดจนความต้องการของคนในสังคมที่จะส่งผลให้วิธีการ นโยบาย กฏเกณฑ์ ตลอดจนรูปแบบของเมืองและพื้นที่สาธารณะต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นไม่ยึดติด แทนที่พื้นที่สาธารณะจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อการสร้างเสริมพลวัตทางสังคมกลับเป็นอุปสรรคในการสร้างสังคมร่วมกัน
สังคมประชาธิปไตยไม่ได้สร้างได้ชั่วข้ามคืน แต่ต้องอาศัยเวลาการเรียนรู้ร่วมกันของทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือพลเมือง พื้นที่สาธารณะคือที่ที่สามารถบ่มเพาะวิถีประชาธิปไตยไ ด้ไม่ใช่แค่กายภาพที่มันเอื้อต่อการที่ทุกคนสามารถแสดงออก และทำกิจกกรมร่วมกันได้อย่างเสรีและหลากหลายเพียงเท่านั้น แต่รวมถึงกระบวนการในการสร้างพื้นที่สาธารณะอย่างมีส่วนร่วมโดยประขาขนเพื่อประชาชน ซึ่งคือสนามทดลองเพื่อเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน
สุดท้ายแล้วพื้นที่สาธารณะคงเป็นได้แค่เครื่องมือและโอกาส ให้คนในสังคมได้มาแลกเปลี่ยนและบ่มเพาะอุดมคติที่เราแสวงหาร่วมกัน แต่สังคมประชาธิปไตยมันจะไม่เกิดขึ้นถ้าเราไม่ยอมรับในความเห็นต่างและเปิดใจที่จะอยู่ร่วมเฉกเช่นสังคมเดียวกันเป็นพื้นฐาน ต่อให้มีพื้นที่สาธารณะมากเพียงใดก็ไม่สามารถสร้างสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.theatlantic.com/international/archive/2014/02/a-dictators-guide-to-urban-design/283953/
https://www.bloomberg.com/news/articles/2012-08-13/what-makes-a-public-space-good-for-democracy
https://www.theguardian.com/cities/2017/jul/28/our-public-spaces-are-crucial-for-democracyhttps://www.nytimes.com/2021/01/23/world/middleeast/egypt-arab-spring-tahrir.html
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker