CITY CRACKER

อีก 20 ปีข้างหน้าเราจะอยู่กันอย่างไร? แผนพัฒนา Chao Phraya Delta 2040

เราจะอยู่อย่างไรในอนาคตอีก 20-50 ปีข้างหน้า ดูจะเป็นคำถามที่ไม่ไกลเกินไปที่จะชวนสังคมคุย เพราะนั่นหมายถึงเราต้องเตรียมการในวันนี้ เพื่อที่จะได้มีชีวิตอยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่ได้อย่างยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความเปราะบางและผันผวน

พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีแม่น้ำสายสำคัญอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไหลผ่านพื้นที่กว่า 10 จังหวัด ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์จนออกสู่อ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรปราการ ที่เชื่อมโยงแม่น้ำท่าจีนและบางปะกง พื้นที่ที่สะสมดินตะกอนจนเกิดความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นสามเหลี่ยมลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือ Chao Phraya Delta ในปัจจุบัน

พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรม วิถีชีวิต และเศรษฐกิจมาตั้งแต่อดีต ด้วยการเป็นแหล่งทรัพยากรของดินและน้ำอันอุดมสมบูรณ์ รวมถึงเป็นตำแหน่งที่ตั้งของจุดเชื่อมต่อกระจายสินค้าที่สำคัญทางการผลิตและคมนาคม ทำให้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการทำลายทรัพยากรในพื้นที่ จากการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับความท้าทายในอนาคต เช่น การขยายตัวของเมืองในพื้นที่ราบลุ่มที่ขวางทางน้ำ มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและเมืองที่ทำลายแหล่งน้ำและดิน การทำเกษตรแบบอุตสาหกรรมที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากร และการบริหารจัดการน้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาอุทกภัยที่สร้างความเสียหายต่อการเติบโตของจีดีพี (GDP) และการดำเนินชีวิต ตลอดจนการพัฒนาที่ทำลายสมดุลของระบบนิเวศ อันเป็นต้นกำเนิดแหล่งอาหารและกลไกชีวิตที่สำคัญ เหล่านี้กลายเป็นปัญหาการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

ทั้งนี้ เราเองก็กำลังเผชิญกับ การเพิ่มขึ้นของประชากรในเขตเมือง สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของแรงงานภาคการเกษตร การถือครองที่ดินมากขึ้นของระบบทุน ตลอดจนความเลวร้ายของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมส่งผลต่อน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเค็ม ในระดับที่รุนแรงต่อการเพาะปลูก วิถีชีวิต และระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่นับรวมถึงกลไกในการบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ไม่ได้มององค์รวมเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม หากแต่มองเพียงการจัดการน้ำมากกว่าการมององค์ประกอบโดยรอบ

 

mekhala.dwr.go.th

 

การพัฒนาเมืองมหานคร เมืองรอง พื้นที่ชนบท และพื้นที่ธรรมชาติ

Chao Phraya Delta Future Settlement คือ การสร้างให้ความเป็นเมือง สภาพสังคม ลักษณะเศรษฐกิจ และกลไกต่างๆ สอดคล้องกับทรัพยากรน้ำ เพื่อให้อยู่ร่วม สร้างมูลค่า และสร้างคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนได้ ดังนั้นการตั้งถิ่นฐาน (Settlement) จึงประกอบด้วยเมืองมหานคร เมืองรอง พื้นที่ชนบท และพื้นที่ธรรมชาติ

เมืองมหานคร เมืองมหานครอย่างกรุงเทพฯ ถูกตั้งคำถามว่า ระบบสาธารณูปโภคจะสามารถรองรับปริมาณคนในอนาคตได้จริงหรือ เรากำลังอยู่ในมหานครที่เปราะบาง ต่อภัยพิบัติอย่างน้ำท่วมและไม่สามารถเป็นเมืองที่พึ่งพาตนเองได้ เนื่องจากการพัฒนาเมืองทำลายสมดุลของพื้นที่รับน้ำ พื้นที่ระบบนิเวศ และพื้นที่ผลิตอาหารจนหมด ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนจากวิธีการ ‘รวม’ เป็น ‘การกระจาย’ ความเป็นมหานครสู่เมืองอื่นๆ

 

 

เมืองรอง การกระจายคน งาน และที่พักอาศัยไปสู่เมืองรอง จะช่วยลดความแออัดของประชากร และสร้างความสมดุลการใช้ชีวิตให้กับผู้คน ตลอดจนการทำเมืองให้เป็นเสมือน ‘ฟองน้ำ’ ผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) หรือพื้นที่สีเขียวและแหล่งเก็บน้ำใต้ดิน ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เมืองสามารถอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างยั่งยืน ทั้งในยามปกติและในยามวิกฤติ

นอกจากนี้ ยังสามารถแปรทรัพยากรน้ำที่มีไปสู่การผลิตและการสร้างมูลค่า ทำเมืองให้ ‘พึ่งตนเอง’ ได้ในทุกมิติ ตั้งแต่มีพื้นที่ผลิตอาหาร เป็นแหล่งพลังงาน การจัดการของเสีย หรือที่เรียกว่า ‘ระบบเศรษกิจหมุนเวียน’ ที่จะช่วยสร้างความสมดุลของการใช้ทรัพยากรให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งหมดนี้คือการทำเมืองให้ ‘ฉลาด’ ผ่านการบริหารทรัพยากรให้ตอบรับกับพฤติกรรมความเป็นเมือง และการใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ

ในอนาคต ‘เมืองรอง’ จะมีบทบาทสำคัญมากในการเป็นแหล่ง ‘พึ่งพิง’ ของเมืองมหานครและพื้นที่ชนบท จะเป็นแหล่งผลิตอาหาร ผลิตพลังงาน พื้นที่คลังสินค้าโลจิสติกส์ และพื้นที่หลบภัย ทั้งในยามปกติและเมื่อเกิดภัยพิบัติ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องทำ คือการพัฒนาที่ยึดโยงกับอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรในเมืองรอง

 

govivigo.com

 

พื้นที่ชนบท พื้นที่ชนบทเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาในเชิงสิ่งปลูกสร้างและความหนาแน่นของประชากรต่ำ มีความสำคัญในการเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งผลิตอาหารที่ต้องรักษาไว้ ซึ่งทั้งหมดเป็นผลผลิตที่ได้จากการใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรรายย่อยสามารถแข่งขันกับการผลิตแบบอุตสาหกรรมได้ เพื่อให้เป็นแหล่งพึ่งพาสำคัญเมื่อต้องเจอกับวิกฤต

ในอนาคต ชนบทอาจไม่จำเป็นต้องคิดแค่การทำการเกษตรให้เป็นอาชีพหลักเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเป็นศูนย์รวมของโอกาส ที่ดึงดูดคนในและคนนอกให้สามารถสร้างงานและอาชีพจากทรัพยากรในพื้นที่ได้ นอกจากนี้เรายังต้องสร้างการเข้าถึงระบบคมนาคม เทคโนโลยีการสื่อสาร และการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้พื้นที่ชนบทมีผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าและ แข่งขันกับโลกอนาคตได้ โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความเป็นเมืองเช่นปัจจุบัน

พื้นที่ธรรมชาติ การพัฒนาที่ผ่านมา เราละเลยการคำนึงถึงพื้นที่ธรรมชาติ เราค่อยๆ ทำลายระบบนิเวศ อันเป็นระบบสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ในโลกดำเนินไปได้ ดังนั้นเราจึงต้องหันมองการพัฒนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เพื่อการแก้ปัญหาและสร้างคุณภาพชีวิต หรือที่เรียกว่า Nature-based Solution เพื่อให้ทุกการพัฒนาเป็นไปอย่างไม่ทำลาย แต่ส่งเสริมและฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมา

แนวทางการพัฒนาเจ้าพระยาเดลต้าในอนาคต

ในการสร้าง Chao Phraya Delta Future Settlement ต้องอาศัย

1) การสร้างโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม ตั้งแต่เรื่องสิทธิพลเมืองที่ควรเป็นสิทธิพื้นฐานในการจัดการ และเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม

2) การสร้างแผนแม่บท กฎเฉพาะ และการบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะเวลาที่กำหนด

3) กระตุ้นทางภาษี กระตุ้นการจัดเก็บภาษีผู้ใช้น้ำอย่างเท่าเทียม เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำเสีย และน้ำแล้ง ให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

4) การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่

5) การกระจายอำนาจ งบประมาณ และองค์ความรู้ เพื่อการจัดการของท้องถิ่นที่คล่องตัว และสอดคล้องกับความต้องการและความท้าทาย

คำตอบของการอยู่อาศัยบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในอนาคตคงไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว อาจแปรเปลี่ยนตามสถานการณ์และความท้าทาย ที่นับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการสร้างบทสนทนาของหลายฝ่าย เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันต่อไป ซึ่งต้องสร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเปลี่ยนจาก ‘ความท้าทาย’ มาเป็น ‘โอกาส’ และต้องเริ่มวันนี้ เพื่อไม่ให้การพัฒนานำไปสู่การทำลายเหมือนหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

วิกฤตที่เราเผชิญครั้งแล้วครั้งเล่าอาจทำให้เราต้องคิดถึงอนาคตของเราในอีก 20-50 ปีข้างหน้า ก่อนที่วิกฤติจะกำหนดอนาคตให้เราเอง

 

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :