CITY CRACKER

Architecture’s Soft Power สิงคโปร์กับการใช้พลังสถาปัตยกรรมขับเคลื่อนประเทศ

หากย้อนไปหลาย 10 ปีก่อน สิงคโปร์อาจเป็นประเทศที่หลายคนมองข้ามไป ไม่อยู่ในการรับรู้แฃะเป็นหมุดหมายด้านการเดินทางท่องเที่ยว แล้วสิงคโปร์ทำอย่างไรให้ตัวเองกลายเป็นเมืองชั้นนำด้านสถาปัตยกรรมและใช้มันมาเป็น Soft Power ในการดึงดูดผู้คนให้มาท่องเที่ยวและใช้ชีวิต สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างมหาศาล

ในการจัดอันดับ Global Soft Power Index singapore 2023 ซึ่งเป็นการสำรวจศักยภาพทางด้านซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้จัดอันดับให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีพลังของซอฟต์พาวเวอร์เป็นอันดับที่ 21 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน ในขณะที่บ้านเราเองที่กำลังถกเถียงกันว่า Soft Power คืออะไรกันแน่ ไทยก็อยู่ในอันดับที่ 41 และเป็นอันดับ 3 ของบรรดาชาติอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

Joseph S. Nye, Jr. ได้ให้คำนิยามเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ไว้ว่า เป็นกระบวนการ หรือกลไก ในการสร้างอำนาจต่อรองของประเทศด้วยวิธีการละมุนละม่อมเพื่อสร้างความพึงพอใจ ส่งผลให้ผู้คนยอมทำสิ่งนั้นได้โดยปราศจากการขู่เข็ญ โดยซอฟต์พาวเวอร์นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ด้านวัฒนธรรมเท่านั้น แต่มีทั้งหมด 8 ด้านด้วยกัน คือ 1. ด้านธุรกิจและการค้า 2. การเมืองการปกครอง 3. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 4. วัฒนธรรมและมรดก 5. สื่อและการสื่อสาร 6. การศึกษาและวิทยาศาสตร์ 7. ผู้คนและค่านิยม 8. อนาคตที่ยั่งยืน

City Cracker ชวนมาดูวิธีการขับเคลื่อนประเทศสิงคโปร์ผ่านการผลักดันให้สถาปัตยกรรมกลายเป็นหนึ่งใน Soft Power ของประเทศและมองการออกแบบเป็นหนึ่งในกลไกและเครื่องมือที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนและสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศได้

primeaceslimousine.sg

1. Groom Talent and Knowhow

ก่อนหน้านี้สิงคโปร์เองก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับสร้างบุคลากรด้านการเงิน ด้านธนาคาร ด้านกฎหมาย ฯ แต่ปัจจุบันได้หันมาให้ความสนใจกับด้านการออกแบบมากขึ้น ผ่านการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมนำเอาเมืองมาเป็นโจทย์ในการศึกษา เพื่อให้สามารถนำข้อมูล หรือความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและปรับใช้กับเมืองต่อไป เช่น การทำ Future Cities Lab (FCL)  ศึกษาประเด็นอนาคตต่างๆ อย่างโครงการ Cooling Singapore เพื่อหาทางลดความร้อนในเมือง เป็นต้น

2. Set Up Organization

เพื่อให้แน่ใจว่า องค์ความรู้จะถูกใช้และเกิดการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ ได้จริง ทางสิงคโปร์จึงได้มีการจัดตั้งองค์กรที่มีอำนาจมากำกับดูแล ทั้ง Research institute ที่จะให้ให้คำแนะนำต่อนายกรัฐมนตรี เช่น URA (Urban Redeveloped Authority) ที่มีอำนาจในการวางแผนและกำกับการพัฒนาเมือง Nparks (National Parks Board) ดูแลเรื่องพื้นที่สีเขียวของเมืองทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ PUB (Public Utilities Board) ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ในคูคลองให้ผนวกรวมเป็นพื้นที่สีเขียวที่ใช้ประโยชน์ได้ด้วย HDB (Housing & Development Board) องค์กรที่ดูแลเรื่อง public housing เป็นต้น

3. Attract Talent People

ด้วยความที่สิงคโปร์เป็น hub ทางการลงทุน จึงทำให้สามารถเชื่อมโยงกับโอกาสงานในภูมิภาคได้ง่ายจึงดึงดูด นักออกแบบและบริษัทออกแบบจากทั่วโลกมาทำงาน มาตั้งสำนักงานที่ได้ ทำให้เกิดการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แข่งขัน ผลิตงานที่น่าสนใจ  เมื่อมีตลาดที่ให้คุณค่ากับการออกแบบ ผลิตงานที่มีคุณภาพ เมืองพร้อมซัพพอร์ต ทำให้นักลงทุนหรือสถาปนิกต่างชาติใครๆ ก็อยากมาทำงานที่นี่

4. Set Standard and Norm

รัฐคือคนที่กำกับและเป็นผู้วางแนวทางในการพัฒนา รัฐจึงต้องทำให้เห็นผ่านการตั้งมาตรฐานว่างานที่ดีคืออะไร และที่สำคัญต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าสถาปัตยกรรมที่ดีและการออกแบบเมืองที่ดีนั้นส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจได้จริง ไม่ใช่คำโฆษณา รัฐบาลสิงคโปร์จึงทุ่มงบจำนวนมากสร้างโครงการพัฒนาเมืองภายใต้การวางผังของ URA พร้อมจัดประกวดแบบในระดับนานาชาติ ทั้งสถานีรถไฟใต้ดิน มหาวิทยาลัย โรงละคร สวนสาธารณะ สนามบิน ซึ่งไม่เพียงยกระดับวิชาชีพและอุตสาหกรรมการก่อสร้างให้ตื่นตัวแต่ยังสร้าง awareness ในวงกว้างต่อสังคมให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะเกิดกับเมืองในอนาคต

เมื่อรัฐทำเป็นตัวอย่างก็ต้องเผยแพร่และสร้าง guideline ให้ง่ายต่อการนำไปปรับใช้ ในหลากหลายมิติทั้งเรื่องพื้นที่สีเขียวในโครงการ คุณภาพการออกแบบ เพื่อเป็นตัวอย่างของการพัฒนา ไม่ใช่เฉพาะแก่นักออกแบบอย่างเดียวแต่คืออุตสาหกรรมการก่อสร้างที่ประกอบด้วย ผู้พัฒนาโครงการ ผู้ออกแบบ คนก่อสร้าง คนดูแลรักษาพื้นที่

เมื่องานออกแบบที่ดีกลายเป็นค่านิยมและมาตรฐานของเมือง ซึ่งพิสูจน์ผ่านความต้องการของตลาดจึงทำเกิดการแข่งขันที่มีคุณภาพ ซึ่งผู้ได้ประโยชน์ก็คือประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง

pmo.gov.sg

5. Smart Policy

ถ้าอยากให้งานออกแบบออกมาดี สร้างผลกระทบเชิงบวก และwin-win ไปด้วยกัน ทั้งสิ่งแวดล้อมและนักลงทุน นโยบายจากทางภาครัฐเองก็ต้องเข้ามามีส่วนช่วย ไม่ใช่เป็นเพียงกฏหมายที่ตกยุคทำไม่ได้จริงและไม่สร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับเมือง สิงคโปร์เองได้ออกกกฎหมายผังเมืองที่ทำได้จริง มีกฏหมายเรื่องพื้นที่สีเขียวที่กระตุ้นเอกชนให้เพิ่มพื้นสีเขียวบนอาคารที่หลากหลายเพื่อชดเชยพื้นที่สีเขียวบนดิน (green replacement )  มี incentive ให้เอกชนลงทุนพื้นที่สาธารณะสีเขียวและเปิดเป็นสาธารณะให้กับประชาขนเข้ามาใช้แลกกับ FAR Bonus เป็นต้น

6.Promote and Roadshow

หากเรามองนักออกแบบเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องสร้างตลาด สร้างงานให้อุตสาหกรรมนี้มีโอกาสทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ไม่ใช่เพียงในระดับประเทศแต่มองไกลถึงในระดับสากล ตลาดงานคือโลกที่ต้องการความเชี่ยวชาญในการทำเมืองให้น่าอยู่ สิงคโปร์มองเห็นโอกาสนี้ จึงได้รวบรวมองค์ความรู้ วาง position ตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้นำในการออกแบบเมืองสีเขียวที่ยั่งยืน เพื่อขยายตลาดกับประเทศอื่นๆ ที่อยากได้เมืองแบบสิงคโปร์ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับสถาปนิกและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการก่อสร้างได้เติบโตในระดับโลก

7. Communication

ทุกวันชาติสิงคโปร์นายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารถึงสิ่งที่จะทำในอนาคตผ่านนโยบายและโครงการต่างๆ หลายๆ ครั้งเขาจะเลือกใช้สถานที่ที่ได้รับการออกแบบอย่างดีมาเป็นฉากหลังของการแถลงข่าว เช่น garden by the bay , the jewel เพื่อสื่อให้เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมและสะท้อนถึงความสำคัญของงานออกแบบที่ดี

ส่วนโครงการต่างๆ ในอนาคต จะแสดงให้เห็นผ่านถ้อยแถลงและแผนพัฒนาเมืองในอนาคตที่เป็นรูปธรรมจากผู้เชี่ยวชาญ และสะท้อนให้เห็นว่าวิชาชีพสถาปนิกคือกลไกสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหม่ที่ผสานป่าเป็นส่วนหนึ่งของเมือง การถมทะเลปรับท่าเรือรองรับ housing ใหม่ การขยายสนามบินใหม่ แนวทางการรับมือกับ climate change ผ่านการทำเมืองที่อยู่ร่วมกับน้ำท่วม เป็นต้น

พร้อมทำให้การพูดคุยกันเรื่องการออกแบบเมืองที่ดีเป็นหนึ่งในหัวข้อทั่วไปที่คนเมืองพูดคุยกันเป็นปกติ หรือในภาพยนตร์อย่าง Crazy Rich Asian ก็เป็นหนึ่งในความพยายามที่จะสะท้อนภาพลักษณ์ของเมืองที่ได้รับการออกแบบเป็นฉากต่างๆ ในภาพยนตร์ที่เผยแพร่ไปทั่วโลกที่ไม่ได้มีแค่มุมสะท้อนของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอย่างเดียว รวมถึงมีนิทรรศการโครงการของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นกับเมืองมีอย่างต่อเนื่องเพื่อสื่อสารกับประชาชนและเป็นเวทีในการนับฟังความคิดเห็นไปในตัว การออกแบบเมือง

popcorn.app

8. Accelerated by Event and Festival

เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำในเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมและเมืองที่ดีอย่างยั่งยืนในระดับสากล เขาใช้โอกาสในการเป็น hub ของภูมิภาค จัดงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง จัดงานประชุมสัมมนาระดับโลก อย่าง World City Summit หรือ World Architecture Festival (WAF) เพื่อทำให้คนในอุตสาหกรรมนี้ไม่ใช่เพียงในระดับประเทศหรือภูมิภาคแต่คือทั่วโลกมาเจอกัน แลกเปลี่ยนความรู้ และทำธุรกิจร่วมกัน

9. Evaluate

สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือการประเมินและรายงานผลว่าที่ลงทุนไปทั้งหมด ผ่านการใช้การออกแบบการวิจัยมาพัฒนาเมือง มาทำเมืองให้น่าอยู่นั้น ได้ผลลัพธ์อะไรบ้าง ผ่านการจัดอันดับของเมืองน่าอยู่ น่าลงทุน เมืองที่คนอยากย้ายมาอยู่ ของโลก หรือแม้กระทั่ง ราคาของที่ดิน ราคาของที่อยู่อาศัยดีขึ้นจากการออกแบบเมืองอย่างไร เมืองเย็นลงจากการมีนโยบาย cooling Singapore แค่ไหน เพื่อทำให้เห็นว่ามีวิสัยทัศน์และทำได้จริง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้จริง

ทั้งหมดคือ การใช้ซอฟต์พาวเวอร์ทางสถาปัตยกรรมมาขับเคลื่อนประเทศอย่างเป็นระบบและรอบด้าน ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องให้ความสำคัญต่อคนในวิชาชีพให้สามารถมาขับเคลื่อนงานสถาปัตยกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศผ่านงานรัฐและเอกชนได้เต็มศักยภาพ เราต้องสร้างโอกาสของอาชีพและงานที่หลากหลายและต้องสร้างให้เกิดผลตอบแทนทางธุรกิจที่มั่นคงและยั่งยืน เพื่อให้วิชาชีพตลอดจนอุตสาหกรรมการก่อสร้างเติบโตไปพร้อมกับความเจริญของเมือง (sharing Prosperity) คนที่จะสร้างให้เกิดค่านิยมสร้างตลาดหรือระบบนิเวศของการทำสิ่งนี้ได้ คือ ‘รัฐ’ ที่ต้องเป็นผู้ริเริ่มให้ความสำคัญต่อการใช้วิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ “ถ้ารัฐไม่ทำ ไม่ใช้ ไม่ให้ค่าอย่างเหมาะสม” ก็ยากที่คนอื่นจะทำตามได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

brandfinance.com

cea.or.th

aalep.eu

 

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :