CITY CRACKER

อย่าเสียเวลาทำวิทยานิพนธ์ที่ไม่มีเป้าประสงค์

ในการทำวิทยานิพนธ์ของนิสิตนักศึกษาเช่นสถาปัตย์และการออกแบบ ผมว่าน้องๆ อาจต้องคำนึงและทำวิทยานิพนธ์ที่มีเป้าประสงค์ (purpose) มากขึ้น เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของวิทยานิพนธ์นั้นไม่ได้มุ่งเน้นที่จะวัดแค่เรื่อง ‘ทักษะ’ ของนิสิตนักศึกษาเป็นสำคัญ แต่อีกแง่หนึ่งมันจะช่วยทดสอบ ‘ทัศนคติ’ (แนวความคิดเห็น) ผ่านประเด็นที่คุณนำเสนอในการออกแบบโครงการที่เลือกทำด้วย 

น้องๆ ส่วนใหญ่เวลาจะทำวิทยานิพนธ์มักจะนึกถึงก่อนว่าจะทำ ‘โครงการอะไร’ เช่น รีสอร์ท สนามกีฬา พื้นที่เกษตร บ้านพักคนชรา ฯลฯ และพยายามวิเคราะห์ปัญหา เสนอแนวทางการออกแบบให้โครงการที่ตนเลือกมานั้นเสร็จสมบูรณ์ ถูกต้อง มีฟังก์ชั่นครบถ้วน และถูกหลักการตามเช็คลิสต์ เพื่อจะได้คะแนนตามหลักเกณฑ์ จนบางครั้งก็อาจละเลยประเด็นสำคัญว่า แท้จริงแล้วตัวผู้ทำวิทยานิพนธ์นั้นสนใจประเด็นอะไร ต้องการค้นหาสิ่งใดเพื่อที่คุณจะได้เลือกทำโครงการนั้นๆ ในการเป็นเครื่องพิสูจน์ประเด็นของคุณอย่างมีเป้าประสงค์

สำหรับผม ‘เป้าประสงค์’ คือหัวใจของวิทยานิพนธ์ที่มันจะสะท้อนว่า หลังจากที่ได้ร่ำเรียนมา 5 ปี นิสิตนักศึกษาแต่ละคนนั้นเป็นใคร เพราะในการทำวิทยานิพนธ์ บางครั้งอาจารย์ไม่ได้ต้องการรู้แค่ว่าคุณมีทักษะครบถ้วน หรือคิดวิเคราะห์เป็นเท่านั้น แต่อาจอยากรู้ว่าคุณมีทัศนคติใดด้วย และการมีเป้าประสงค์ (purpose) ในวิทยานิพนธ์ที่ชัดเจนนั้น มันจะสะท้อนทัศนคติของคุณผ่านโครงการที่ทำ เพราะมันเป็นตัวกำหนดทิศทางการศึกษา วิธีการตั้งคำถาม วิธีการออกแบบ เรื่องราวที่นำเสนอ การสื่อสาร รวมทั้งวัตถุดิบที่คุณจะนำมาปรุงงานของคุณให้ออกมา ว่าทำไมถึงเลือกทำสิ่งนี้และไม่ทำสิ่งนั้น ที่ไม่ได้มีเช็คลิสต์มาเป็นตัวกำหนด

งานแต่ละงานนั้นแตกต่างกันเพราะมันคือผลจากการให้น้ำหนักที่แตกต่างกันของคนแต่ละคน ที่มีประสบการณ์และการให้คุณค่ากับเรื่องๆ หนึ่งที่แตกต่างกัน แต่ถ้างานออกมาเหมือนๆ กัน หรือเหมือนที่คนอื่นเคยทำกันมาแล้ว นั่นอาจสะท้อนได้ว่าเราไม่ได้คิดอยากถีถ้วน ไม่ได้ตั้งคำถาม หรือให้ค่ากับสังคมรอบๆ ตัวที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้วิทยานิพนธ์ที่ออกมาอาจกลายเป็นวิทยานิพนธ์ที่ ‘ไร้เป้าประสงค์’ เป็นวิทยานิพนธ์ที่มีเพียงแค่ทักษะแต่ขาดทัศนคติและตัวตนของคนทำ

พึงระลึกไว้เสมอว่าโครงการที่ทำมันคือพาหนะที่จะช่วยสื่อสารเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอ หาใช่ใจความสำคัญไม่ ซึ่งถ้าคิดได้เช่นนี้เราจะเห็นทางเลือกในงานออกแบบที่จะทำสิ่งใดก็ได้เพื่อพิสูจน์ประเด็นของคุณ แต่โดยส่วนใหญ่ นิสิตนักศึกษาจะติดกับดักของการทำให้ครบถ้วน มันจึงเป็นการทำตามกัน และทำเป็นรูปแบบ (pattern) เดียวกันเพื่อให้จบการศึกษา ซึ่งการทำตามรูปแบบเดิมที่เคยมีมานั้น อาจจะหาตัวตนของโครงการ และตัวตนของแต่ละคนที่สะท้อนผ่านงานออกแบบไม่เจอ และที่สำคัญคือมันไม่ได้สะท้อนยุคสมัยที่เปลี่ยน ว่าสังคมกำลังมีพฤติกรรม มีความท้าทาย และให้คุณค่าในสิ่งใดใหม่ ดังนั้น วิทยานิพนธ์ที่ดีจะเป็นเครื่องบ่งชี้อุณหภูมิของสังคมเพื่อที่จะเป็นแนวทางให้สังคมว่าควรจะพัฒนา แก้ไข  ปรับปรุงสภาพแวดล้อม และสังคมไปในทิศทางใด ด้วยแนวคิด องค์ความรู้ ทักษะ และทัศนคติแบบใด


ฉะนั้น นิสิตนักศึกษาอาจต้องคำนึงและทำวิทยานิพนธ์ที่มีเป้าประสงค์มากขึ้น และอาจจะไม่ใช่การทำวิทยานิพนธ์เพียงเพื่อจบการศึกษา แต่คือการทำวิทยานิพนธ์เพื่อสังคม ที่สำคัญกว่าคือการทำเพื่อตัวคุณเอง และจงใช้มันเป็นเครื่องค้นหาตัวตนของคุณ แสดงให้เห็นว่าคุณสนใจสิ่งใด คิดสิ่งใด และคุณเป็นใคร เพื่อที่จะได้ก้าวออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัยอย่างเต็มภาคภูมิ และมีเป้าประสงค์ในการเดินไปข้างหน้า

 

 Graphic Design by Preeyanuch Charoensiritayida
  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :