CITY CRACKER

พื้นที่สาธารณะของบางคน: เมื่อพื้นที่สาธารณะอาจไม่ตอบโจทย์ต่อสาธารณชน

พื้นที่สาธารณะ คือที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์โดยปราศจากกำแพงทางเศรษฐกิจหรือค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่ที่รัฐเป็นเจ้าของเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงพื้นที่สาธารณะของเอกชน หรือที่เรียกกันว่า Private Own Public Space (POPS) ที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ และบริหารจัดการโดยเอกชนเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกับสาธารณะ

 

ในการพัฒนาเมืองยุคใหม่ รัฐมักออกมาตรการทางผังเมืองที่กระตุ้นให้เอกชนเปิดพื้นที่ว่างหน้าอาคารเป็นระยะถอยร่น เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อการเป็นพื้นที่สาธารณะ หากจะให้รัฐสร้างพื้นที่สาธารณะฝ่ายเดียวคงเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเอกชนสามารถเปิดพื้นที่หน้าอาคารให้เป็นสาธารณะ เอกชนเองจะได้ประโยชน์ต่อปริมาณของคนที่เข้ามาใช้โครงการ หรือบางกรณียังได้แลกกับ FAR Bonus ที่เอกชนสามารถก่อสร้างพื้นที่ได้มากขึ้นอีกด้วย

ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ คือนวัตกรรมทางผังเมืองและการออกแบบภูมิทัศน์เมือง ที่มีเจตนารมณ์ในการสร้างที่ว่างหน้าอาคารให้เป็น ‘ลานเมือง’ โดยเอกชน เพื่อรองรับกับกิจกรรมขนาดใหญ่ย่านธุรกิจการค้าสำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่งพื้นที่ว่างตรงนี้ได้แสดงบทบาทในเชิงพื้นที่กิจกรรมทางวัฒนธรรมและนันทนาการ อย่างการจัดเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ การจัดงานเทศกาลอาหาร การแสดงดนตรี และการจัดต้นคริสต์มาสยักษ์ ไปจนถึงกิจกรรมทางการเมืองที่ได้สร้างความทรงจำร่วมให้กับสังคม หรืออาจกล่าวได้ว่าลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นเหมือนพื้นที่สาธารณะของเมืองนั่นเอง

 

mgronline.com

 

วันนี้ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์กำลังเปลี่ยนบริบทไปเป็นที่ตั้งของแอปเปิลสโตร์แห่งใหม่ ด้วยแนวคิด ‘ลานเมือง’ (Town Square) อันเป็นแนวคิดที่แอปเปิลใช้ในการทำ Flagship Store ทั่วโลก เพื่อผสานการค้าเข้ากับชีวิตสาธารณะ และทำให้แอปเปิลกลายเป็นสถานที่สำหรับอยู่ร่วมกันมากกว่าเป็นร้านค้า

apple.com

ตามที่ Angela Ahrendts หัวหน้าฝ่ายสูงสุดร้านค้าปลีกของแอปเปิลบอกว่า แอปเปิลสโตร์จะกลายเป็น Town Squares ที่ไม่ได้เป็นแค่ร้านค้า แต่เป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะที่คนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้พื้นที่นี้ได้ ดังจะเห็นได้จากแอปเปิลสโตร์ในหลายๆ เมือง ที่ช่วยเติมเต็มองค์ประกอบของกิจกรรมเมืองให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่นที่ Grand Central New York และ Carnegie Library ที่มีการจัดพื้นที่กิจกรรมทั้งในและนอกอาคาร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้พื้นที่ตรงนี้เป็นเสมือนพื้นที่สาธารณะของชุมชน อีกทั้งยังช่วยชุบชีวิตอาคารห้องสมุดเก่าอายุ 116 ปี ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เช่น Liberty Square ได้ผสานแอปเปิลสโตร์เป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมของพื้นที่จตุรัส โดยซ่อนตัวอยู่ภายใต้ลานเมือง Piazza Liberty มีผนังกระจกผสานน้ำพุเต้นรำเป็นจุดเด่น และมีอัฒจันทร์เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับเชื่อมคนไปยังร้านด้านล่างอีกด้วย

Carnegie Library Apple Store By thedcpi.com

 

แม้จะมีตัวอย่างที่สำเร็จ แต่ก็ยังมีอีกหลายเมืองที่ไม่แน่ใจว่าแนวคิดในการเป็น Town Square ของแอปเปิลจะช่วยเติมเต็มพื้นที่สาธารณะ มีการต่อต้านเกิดขึ้นเนื่องจากแอปเปิลได้เข้าไปทำลายบรรยากาศความเป็นสาธารณะ จากที่เคยเป็นพื้นที่ของทุกคน ก็แสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่นั้นและผูกขาดด้านธุรกิจมากเกินไป  อีกหนึ่งกรณี คือ Kungsträdgården ที่เมืองสต็อกโฮม ชาวเมืองมองว่าการมีแอปเปิลสโตร์ในสวนที่เป็นสถานที่สำหรับทำกิจกรรมของทุกคน อาจทำให้พื้นที่ที่เคยมีบรรยากาศผ่อนคลายเปลี่ยนไปสู่การเป็นสวนของแอปเปิลสโตร์ที่ชาวเมืองไม่ต้องการ

Kungsträdgården Apple Store by Fred Kent

 

การปรากฏของแอปเปิลสโตร์ ณ ลานเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ได้เกิดคำถามชวนคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะ ว่าแอปเปิ้ลสโตร์แห่งนี้ได้เปลี่ยนพื้นที่สาธารณะที่เคยใช้ประโยชน์ร่วมกัน ให้กลายเป็นที่สำหรับคนเฉพาะกลุ่มหรือไม่ ซึ่งนั่นย่อมผิดเจตนารมณ์ของความเป็นพื้นที่สาธารณะ (public space)-ที่นับรวมผู้คนเข้าไปเป็นหนึ่งในพื้นที่ (include) ไม่ใช่การแยกคนบางกลุ่มออกไป (exclude)  ทั้งในมิติของที่ว่างหน้าอาคาร และความเป็นสาธารณะของพื้นที่ที่มีมากับเมือง

ถึงแม้แอปเปิลอยากจะพิสูจน์ตัวเองต่อการเป็น Town Square หรือพื้นที่สาธารณะของเมืองที่เป็นมากกว่าแคมเปญ เพื่อให้สมกับการนำพื้นที่สาธารณะมาทำร้าน แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่แอปเปิลต้องคำนึงถึง มากกว่าการลงทุนกับนวัตกรรมในการก่อสร้าง นั่นคือการใช้ร้านที่มีตำแหน่งใจกลางเมืองเป็นตัวสร้าง ‘นวัตกรรมทางสังคม’ เพื่อให้มีพื้นที่และกิจกรรมสำหรับสาธารณะ เช่น ที่จอดจักรยาน ห้องน้ำสาธารณะ ห้องสมุด ห้องประชุม พื้นที่ Co-Working พื้นที่จัดเวิร์กช็อป ไปจนถึงการปรับปรุงลานกิจกรรมโดยรอบให้ตอบโจทย์ต่อกิจกรรมสาธารณะมากยิ่งขึ้น ทำให้ร้านเข้าถึงผู้คน และพื้นที่ลานโดยรอบของเมืองอย่างมีส่วนร่วมมากกว่าที่เป็น

Apple Store Central World by apple.com

 

สำหรับรัฐเองก็อาจสร้างแนวทางในการเพิ่มพื้นที่สาธารณะโดยเอกชน ผ่านนโยบายกระตุ้น (Incentive Policy) ที่เท่าทันและรัดกุม เพื่อผสานประโยชน์เอกชนกับสาธารณะอย่างสมดุลในยุคที่เมืองต้องการการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืนกว่าที่ผ่านมา ความตั้งใจในการสร้างพื้นที่สาธารณะให้กับเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่แค่เงินหรือการออกแบบที่สวย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถสร้างพื้นที่สาธารณะของทุกคนได้เสมอไป เพราะพื้นที่สาธารณะนั้นเป็นมากกว่าเรื่องกายภาพ

การสร้างพื้นที่สาธารณะที่ดีต้องอาศัยวิธีการที่เหมาะสม ผสานเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเมือง สร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน การวางองค์ประกอบของโปรแกรมที่ผสมผสานอย่างเหมาะสม และการออกแบบที่เอื้อต่อการเชื้อเชิญผู้คนมาร่วมกันทำให้เกิดกิจกรรมนั้นๆ ซึ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์  ดังนั้นพื้นที่จึงควรประกอบด้วยคน องค์ประกอบ และกิจกรรมที่หลากหลาย ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้สถานที่นั้นเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง หากนั่นคือเป้าหมายเดียวกันของแอปเปิลสโตร์ นั่นจึงไม่ใช่แค่การสร้าง ​Town Square แต่คือการเข้าไปอย่างเปิดกว้าง และรับฟัง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและเมือง พร้อมเติมเต็มสิ่งที่สถานที่นั้นขาดไป

 

เมื่อประโยชน์สาธารณะถูกท้าทายด้วยอำนาจและเงิน เราควรร่วมกันตั้งคำถามเพื่อให้แน่ใจว่า ทรัพยากรของชาติที่เป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ หรือ ‘ที่ว่าง’ จะได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นประโยชน์กับทุกคนอย่างแท้จริง เพราะเมืองที่ดีคือเมืองที่ออกแบบสำหรับทุกคน

 

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :