CITY CRACKER

กับดัก 7 ประการ: ทลายข้อจำกัดและปรับทัศนคติเรื่องการพัฒนา กรณีศึกษาจากมักกะสัน

เรามักติด ‘กับดักความคิด’ แบบเดิมที่ส่งผลให้การพัฒนาเมืองไม่สามารถตอบสนองกับความท้าทายของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ และมันอาจนำมาสู่ความผิดพลาดแบบเดิมๆ ที่เราทุกคนต่างประสบปัญหาจากการพัฒนาเมืองแบบเก่า

อย่างกรณีที่ดินมักกะสันกว่า 500 ไร่ใจกลางกรุงเทพมหานครของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่กำลังมีการขยับเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ในการเปิดประมูลให้เอกชนนำที่ดินแปลงนี้ไปพัฒนา เราจะพบว่าแบบล่าสุดที่ศึกษาโดยนิด้า สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์นั้น มีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปจากแบบที่มีการศึกษาเดิมในยุค ‘มักกะสันคอมเพล็กซ์’ พอสมควร ในการเก็บอาคารโรงงานเก่าและพื้นที่สีเขียวไว้ คิดเป็น 30 % ของพื้นที่ (ต้องยกความดีนี้ให้กับพลังของภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และวิชาชีพที่มีส่วนผลักดันให้รัฐเห็นคุณค่าพื้นที่มักกะสัน) นอกนั้นเราไม่เห็นอะไรใหม่ที่เป็นความหวังของการพัฒนามักกะสันกับอนาคตเมืองเท่าไรนัก อีกทั้งข้อถกเถียงถึงแนวทางการพัฒนาที่ดินผืนนี้ดูเหมือนยังตกอยู่ในวังวนของกับดักการพัฒนาแบบเดิมๆ ที่ยับยั้งการพัฒนาที่ควรจะเป็นกับอนาคตของเมืองเช่นเดิม ‘กับดัก’ เหล่านั้นได้แก่อะไรบ้าง

 

airasiago.com

กับดักที่ว่าที่ดินของรัฐเป็นของรัฐ

ทั้งๆ ที่ที่ดินมักกะสัน คือที่ดินของสาธารณะหรือสมบัติชาติที่รัฐเพียงกำกับดูแล ประชาชนและทุกภาคส่วนควรมีส่วนในการคิดเพื่อประโยชน์สาธารณะสูงสุด รัฐจึงควรเปิดโอกาสให้สังคมเป็น ‘หุ้นส่วน’ ในการพัฒนาตั้งแต่แรก ในการกำหนดโจทย์ ร่วมกำกับ ร่วมลงทุน และบริหารการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน เพื่อสร้างการยอมรับและเพื่อให้แน่ใจว่าการพัฒนาพื้นที่จะสอดคล้องกับความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง

ในกรณีไฮไลน์ (Highline) สวนสาธารณะที่นิวยอร์ก เป็นโครงการร่วมกันระหว่างรัฐเอกชนประชาสังคม โดยการผลักดันของภาคประชาสังคมในการเสนอแนวคิด จัดประกวดแบบ ต่อมารัฐเห็นชอบในการร่วมพัฒนา จากนั้นเกิดการระดมทุนทั้งจากเอกชนและประชาชนทั่วไป และมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อบริหารจัดการพื้นที่

 

กับดักที่ว่าต้องหาเงินใช้หนี้

เราติดกับดักที่ว่าที่ดินมักกะสันเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่การรถไฟมีสิทธิ์นำไปหาประโยชน์เพื่อเอามาใช้หนี้ที่ขาดทุนจากการดำเนินงานของการรถไฟในอดีต กับดักความคิดนี้ ทำให้โมเดลการพัฒนามีข้อจำกัดที่จะต้องหาผลตอบแทนสูงสุดในเชิง ‘กำไรเงิน’ เป็นตัวตั้งจากการพัฒนาที่ดิน 500 กว่าไร่ของมักกะสันเท่านั้น การเริ่มต้นว่ามักกะสันควรพัฒนาเป็นอะไรดี จึงไม่มีตัวเลือกอื่นมากนักด้วยกับดักความคิดดังกล่าว

Shma SoEn

กับดักที่ว่าการพัฒนาแบบ Commercial เท่านั้นที่จะแสวงหากำไรได้

การลงทุนเพื่อให้ได้กำไรนั้นเป็นสิ่งสำคัญเพราะมันทำให้โครงการสามารถเกิดขึ้นและยั่งยืนได้ หากแต่การพัฒนาในยุคปัจจุบันมันสามารถมีทางเลือกของการพัฒนาที่ได้ทั้งกำไรเงินและกำไรด้านอื่นๆ ด้วยโดยที่ไม่ต้องสร้างเมืองคอนกรีตแบบเดิมๆ เสมอไป

อย่างสิงคโปร์เอาที่ดินติดทะเลกว่า 625 ไร่ สร้างเป็นสวนพฤกษศาสตร์การ์เด้นบายเดอะเบย์ (Garden by the Bay) ระดับเวิลด์เดสทิเนชั่น  world destination ที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจได้จำนวนมหาศาล ที่สำคัญพื้นที่สวนยังเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นการพัฒนาเมืองโดยรอบให้มีมูลค่ามากขึ้น หรือแม้แต่ฮ่องกงที่วางแผนที่ดินบริเวณ West Kowloon ติดทะเลเป็นย่านวัฒนธรรม cultural district ที่มีพื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีเขียว มีพื้นที่การแสดง ร้านค้า ที่อยู่อาศัย ผสานอย่างกลมกลืน โดยถนนส่วนใหญ่อยู่ใต้ดินเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

 

กับดักที่ว่าการพัฒนาที่ไม่ทันท่วงทีกับเมืองในยุคอนาคต

กว่าที่ดินจะถูกพัฒนาทั้งหมดก็กินระยะเวลาเกือบ 20 ปี เมืองในวันนั้นย่อมมีความท้าทายเรื่องอื่นที่จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนา ทั้งเรื่องภัยพิบัติ ระบบนิเวศเมือง ที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย สังคมผู้สูงอายุ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ นอกจากผังแม่บทต้องคิดเผื่ออนาคตแล้วยังต้องยืดยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

 

arcadis.com

กับดักที่รัฐมักไม่ชวนสังคมคิดทางเลือกของการพัฒนาอื่นเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด

หากเราคิดในบริบทใหม่โดยเอากับดักความคิดของผลตอบแทน เจ้าของพื้นที่ กลไกของรัฐที่กำกับดูแลออกไปก่อน เราจะพบว่ามันอาจมีตัวเลือกของการพัฒนามากมายที่มักกะสันควรจะเป็นเพื่อตอบสนองการพัฒนาเมืองใน ‘อนาคต’ รัฐควรเปิดโอกาสให้เกิดการศึกษาทางเลือกของ ‘การพัฒนา’ โดยให้สังคมได้มีส่วนในการพิจารณาข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกนั้นๆ โดยแต่ละทางเลือกย่อมมี ‘กำไรสูงสุด’ แต่ละด้านที่แตกต่างกันไป

หากต้องการให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะ เพื่อกำไรสูงสุดทางธรรมชาติและคุณภาพชีวิต ก็ต้องตอบให้ได้ว่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรต่อการพัฒนาที่ดินโดยรอบ ที่อาจมาชดเชยโอกาสการพัฒนาที่ดินมักกะสันที่ต้องสูญเสียไป ซึ่งอาจรวมถึงการจัดรูปที่ดินโดยรอบใหม่ หรือการถ่ายโอนสิทธิ์ในการพัฒนาของที่ดินมักกะสันสู่ที่ดินโดยรอบหรือที่ดินแปลงอื่นของรัฐ หากต้องการให้มักกะสันเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ก็ต้องตอบให้ได้ว่าจะมีนโยบายที่จะให้การพัฒนาสามารถเอื้อต่อการสร้างกำไรทางวัฒนธรรมและธรรมชาติได้อย่างไร

 

กับดักที่ว่าต้องพัฒนาในที่ดินตัวเองเท่านั้น

การพัฒนามักกะสันเพียงลำพังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ได้มาก หากแต่ต้องคิดเชื่อมโยงกับการพัฒนาย่าน โครงข่ายคมนาคม โครงข่ายพื้นที่สีเขียว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินแปลงอื่นของรัฐ ทั้งบริเวณดินแดง จตุจักร คลองเตย และสถานีแม่น้ำ เพื่อให้ที่ดินทุกแปลงและย่านได้ถูกพัฒนาเต็มศักยภาพและเอื้อประโยชน์ต่อกัน

 

paneurotravel.com

กับดักที่ว่า นโยบายหรือกฎเกณฑ์คืออุปสรรคต่อการพัฒนา

หากแต่นโยบาย หรือไกด์ไลน์ที่ฉลาดจะสามารถกำกับและกระตุ้นการลงทุนของเอกชนที่สามารถเอื้อเฟื้อต่อสาธารณะ และสิ่งแวดล้อมแบบได้ประโยชน์ร่วมกันได้ ในขณะเดียวกันก็อยู่ที่ว่าเราต้องการพัฒนาที่ดินมักกะสันไปเพื่ออะไร ถ้าเราอยู่ในกับดักความคิดเดิมๆ ก็ควรเอาที่ดินมักกะสันไปแสวงหา ‘กำไรเงิน’ เยอะๆ เพื่อใช้หนี้ แต่ถ้าเราคิดว่ามันคือโอกาสของการแสวงหากำไรเงินควบคู่กับกำไรทางสังคม กำไรปัญญา และกำไรสิ่งแวดล้อมแล้วละก็ มักกะสันก็คือโอกาส

 

ดังนั้น เราต้องหลุดออกจาก ‘กับดักความคิด’ ที่เราสร้างขึ้นมาพันธนาการอนาคตของเราให้ได้

 

Illustration by Montree Sommut

 

  • Yossapon Boonsom

    ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker

Share :