เวลาเราพูดถึงความจน อาจต้องวัดที่รายได้ต่อคนต่อเดือนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต จากตัวเลขรายได้ต่อเดือนต่อครัวเรือนพบว่า กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อเดือนต่อครัวเรือน 39,459 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงสุดที่สุดของประเทศไทย จึงเป็นที่มาของการอพยพย้ายถิ่นจากชนบทมาสู่เมืองเพื่อหาเงินและคุณภาพชีวิต
แม้กรุงเทพฯ จะเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อเดือนสูงที่สุดของไทย แต่ถ้าเรามองลึกๆ จะพบว่าคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วจนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความจนจากค่าครองชีพที่สูง จนคุณภาพการอยู่อาศัยในห้องแคบๆ และราคาแพง จนการเดินทางที่แย่ของขนส่งสาธารณะ จนพื้นที่สาธารณะคุณภาพดี จนอากาศบริสุทธิ์ จนอาหารปลอดภัย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเทียบไม่ได้กับชีวิตในชนบท ที่แม้รายได้ต่อประชากรจะไม่สูง แต่ร่ำรวยทรัพยากรและคุณภาพชีวิตกว่ามาก และที่สำคัญยังร่ำรวยความสัมพันธ์เชิงสังคมที่นับวันจะหาได้ยากในเมืองใหญ่
ยิ่งในสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ก็ยิ่งส่งผลให้ความจนมาเยือนเราอย่างฉับพลัน และทำให้คนเมืองทุกชนชั้นตระหนักถึงความเปราะบางของการอยู่อาศัยในมหานครที่เราไม่สามารถพึ่งตนเองได้ในทุกๆ อย่าง ซึ่งวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นภาพของปัญหาและสภาพของเพื่อนร่วมสังคมที่เป็นคนจนเมือง หรือกลุ่มคนที่เป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนเมืองให้ดำเนินไป ไม่ว่าจะเป็นพนักงานกวาดถนน พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานห้างสรรพสินค้า วินมอเตอร์ไมค์ พ่อค้าแม่ขาย รวมถึงผู้ที่ประสบปัญหากับการอยู่อาศัยในเมือง ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งการขาดที่อยู่อาศัยคุณภาพดีในเมือง คุณภาพชีวิตต่ำกว่ามาตรฐาน ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสและทรัพยากร ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด จนถึงการศึกษา อันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและไม่สามารถแก้ไขอย่างยั่งยืนด้วยการบริจาค
เมืองและสังคมจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ถ้าสมาชิกที่เป็นกลไกเดียวกันประสบปัญหาก็ย่อมส่งผลถึงเราทุกคนเช่นกัน ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเริ่มจากการมองอนาคตว่าเราจะอยู่อย่างไรท่ามกลางหลายปัญหาที่รุมเร้า ทั้งเศรษฐกิจ สังคม โลกร้อน การเมือง และโรคระบาด ความท้าทายที่พร้อมจะผลักให้เราทุกคนจนลงทั้งรายได้และคุณภาพชีวิต อาจถึงเวลาในแล้วที่จะต้องมีทิศทางใหม่ สมมติฐานใหม่ รวมถึงวิธีการที่ต่างไปจากเดิม เพื่อแก้ไขปัญหาในฉากทัศน์ใหม่ต่อจากนี้
ถึงเวลาในการมองปัญหานี้ร่วมกัน
ตั้งต้นที่การมองอนาคตว่าเราจะอยู่อย่างไรท่ามกลางหลายปัญหาที่รุมเร้า ทั้งเศรษฐกิจ สังคม โลกร้อน การเมือง และโรคระบาด ความท้าทายที่พร้อมจะผลักให้เราทุกคนจนลงทั้งรายได้และคุณภาพชีวิต และต้องการทิศทางใหม่ สมมติฐานใหม่ รวมถึงวิธีการที่ต่างไปจากเดิม ในฉากทัศน์ใหม่ต่อจากนี้
เปลี่ยนทัศนคติว่า เป็นปัญหาของเรา
การแก้ปัญหาคนจนเมืองจึงไม่อาจมองอย่างแยกส่วนแต่มันคือปัญหาและความท้าทายที่เราทุกคนในสังคมเผชิญร่วมกัน ซึ่งต้องมีบทบาทและหน้าที่ที่เกื้อหนุนต่อกัน ไม่ว่าจะรวยหรือจนในทรัพยากร เราต้องร่วมมือเพื่อแก้ปัญหานี้ไปด้วยกัน ร่วมกันไม่ว่าจะรวยหรือจนในทรัพยากร
เปลี่ยน ‘การให้’ เป็น ‘การ empower’
เราต้องเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาแบบให้เปล่าเป็นการ empower หรือการเสริมกำลังให้กับพี่น้องคนจนเมือง เพื่อให้เขาสามารถเป็นกลไกที่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสอดคล้องกับวิถีและการพัฒนาเมืองในยุคปัจจุบันจนถึงอนาคต ผ่านองค์ความรู้ การรวมกลุ่ม และเทคโนโลยี เช่น การสร้างวิสาหกิจชุมชน การสร้างแพลตฟอร์ม ขายสินค้าออนไลน์ การสร้างผู้ประกอบการ ฯลฯ
เปลี่ยนจากพัฒนาแบบ CSR เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา
การพัฒนาขนาดใหญ่ของเอกชนที่สร้างผลกระทบต่อเมืองไม่อาจมองในแง่การของเยียวยา หรือทำโครงการ CSR (Corporate Social Responsibility) ได้ เพราะ CSR เป็นเพียงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้ชุมชนในระยะสั้น ไม่ได้รับผิดชอบต่อวิถีของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น มาตรการทางภาษีที่เอกชนต้องจ่ายเงินเพื่อสร้างกองทุนในการพัฒนาชุมชนและเมืองโดยรอบอาจเป็นสิ่งที่จำเป็น และรัฐควรเป็นตัวกลางในการสร้างพลังเพื่อต่อรองให้ชุมชนสามารถเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาได้ อีกทั้งยังได้ประโยชน์ร่วมกันกับการพัฒนาขนาดใหญ่ด้วยได้
พื้นที่ว่างในเมืองคือทรัพยากรร่วมที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้
พื้นที่ว่างในเมือง คือทรัพยากรร่วมที่สามารถพัฒนาเพื่อปรับสมดุลให้คนทุกคนสามารถใช้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยเฉพาะคนจนเมือง พื้นที่ว่างคือพื้นที่เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในการประกอบอาชีพมากกว่าการสร้างสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีที่ดินรอการพัฒนาอยู่มาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสมควรในการมีมาตรการสร้างการพัฒนาชั่วคราว เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพจากพื้นที่ว่าง มากกว่าการปล่อยทิ้งร้างหรือทำเกษตรเพื่อเลี่ยงภาษีเป็นสำคัญ
Incentive Policy
รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตในเมืองนี้ได้เพียงลำพัง การสร้างมาตรการทางภาษีและผังเมืองจึงเป็นหนึ่งในกลไกในการสร้างสมดุลของการพัฒนาที่จะไม่ผลักคนจนเมืองออกไป เช่น การกำหนดให้มีสัดส่วนของที่พักผู้มีรายได้น้อยกับการพัฒนาขนาดใหญ่ การให้ FAR Bonus กับการเปิดพื้นที่เอกชนเพื่อสาธารณะประโยชน์ การมีภาษีที่ดินสำหรับที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ เป็นต้น ทั้งนี้ ด้วยความท้าทายที่ทวีความรุนแรงขึ้นของปัญหา อาจต้องกำหนดมาตรการของนโยบายและเครื่องมือที่เท่าทันสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงเข้มข้นมากขึ้น
สร้างการพัฒนาแบบอินคลูซีฟ
เราไม่อยากอยู่ในเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ มีตึกสูงข้างชุมชนแออัด หรือคนมีรายได้น้อยต้องอยู่นอกเมือง ไม่สามารถจ่ายค่าครองชีพในเมืองได้ และเมืองที่ดีคือการอยู่อย่างผสมผสาน มีความหลากหลายของอาชีพและกลุ่มคนบนคุณภาพชีวิตที่ดีเสมอกัน มีความฝันและโอกาสในการจะสร้างครอบครัว สร้างอนาคตที่ไม่ต่างกัน ดังนั้น เมืองที่ดีจึงต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่ ที่ไม่ไม่ใช่เพราะบ้านเมืองสวย แต่เพราะเป็นสังคมที่งดงาม
ความสุขของมนุษย์ไม่ได้วัดจากการได้เงินมาก
ความสุขของมนุษย์ไม่ได้วัดว่าเราได้เงินมากเท่าไรเป็นสำคัญ แต่สำคัญที่ว่าเราถูกให้ค่าหรือมีศักดิ์ศรีเพียงใดที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมด้วย เมื่อทิศทางของสังคมเป็นเช่นนี้ เราจะตระหนักว่าการแก้ปัญหาของคนจนเมืองไม่ใช่การมองในฐานะผู้ให้และผู้รับ แต่คือการมองปัญหาที่เราทุกคนมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน เราต้องดึงศักยภาพของทุกคนออกมา ดังนั้น การมีกลไกในการให้คนที่มีศักยภาพมากสามารถเกื้อหนุนคนที่มีศักยภาพน้อย จึงเป็นเรื่องดีที่จะได้สร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืนไปด้วยกัน
หากเราตระหนักในความจนที่เราต่างมีร่วมกัน ทั้งความจนจากค่าครองชีพที่สูง จนคุณภาพการอยู่อาศัยในห้องแคบๆ และราคาแพง จนการเดินทางที่แย่ของขนส่งสาธารณะ จนพื้นที่สาธารณะ จนอากาศบริสุทธิ์ จนอาหารปลอดภัย เราจะมองการแก้ปัญหาคนจนเมืองเปลี่ยนไป ทั้งนี้เพื่อสร้างสังคมที่รวยคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกคนเป็นสำคัญ เงินอาจไม่ได้เป็นหลักประกันของสังคมที่ดีเสมอไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://mistran.otp.go.th/mis/TT3_Average.aspx
Illustration by Montree Sommut
- Yossapon Boonsom
ภูมิสถาปนิกและนักรณรงค์เพื่อแม่น้ำ พื้นที่สาธารณะและเมืองสำหรับทุกคน ที่ปัจจุบันหันมาทำสื่อที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการพัฒนาเมืองร่วมกัน ในบทบาทของบรรณาธิการบริหาร เพจ City Cracker