CITY CRACKER

The Makanai: Cooking for the Maiko House รู้จักย่านบุปผา ดินแดนลับกลางเกียวโต กับบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจเมือง

ช่วงนี้เน็ตฟลิกซ์มีซีรีส์ชื่อ The Makanai: Cooking for the Maiko House ด้วยตัวเรื่องที่มีความน่าสนใจ คือเล่าเรื่องราวชีวิตของเด็กสาวที่ไปตามหาความฝันในการเป็นไมโกะย่านโบราณในกรุงเกียวโต

และที่สำคัญคือเป็นผลงานสร้างและกำกับของ ฮิโรกาซุ โคเรเอดะ (Hirokazu Kore-eda) เจ้าพ่อหนังความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ทั้งงดงามและร้าวราน แน่นอนว่าถ้าใครได้ลองดูไปบ้างแล้วก็จะต้องประทับใจกับงานภาพที่นุ่มนวลและเรื่องราวในดินแดนที่เรียกว่าเมืองบุปผา (Hanamachi) พื้นที่ของเหล่าไมโกะที่มีกาลเวลาและกฏเกณฑ์ของตัวเอง

นอกจากความสัมพันธ์ของผู้คน และเรื่องราวของอาหารการครัวชวนน้ำลายสอแล้ว สิ่งที่เรามองเห็นได้จากซีรีส์ชุดนี้ คือการพูดถึงย่านที่เรียกว่าเมืองบุปผา ย่านสำคัญกลางเมืองเกียวโตที่เป็นพื้นที่ให้บริการ อยู่อาศัยและฝึกเหล่าไมโกะ สตรีผู้สืบทอดศิลปะชั้นสูงและการให้บริการเพื่อความบันเทิงแบบโบราณที่ยังสืบทอดมาถึงยุคปัจจุบัน พื้นที่หรือย่านดังกล่าวมีความพิเศษ คือเป็นย่านที่เหมือนกับแช่แข็งอดีตเอาไว้และเป็นพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์และกฏเกณฑ์เฉพาะตัว ในพื้นที่ที่มีความเฉพาะกลุ่ม การให้บริการจึงต้องมีการแนะนำถึงจะสามารถเข้าไปใช้บริการในพื้นที่แห่งนี้ได้ เรียกว่าเป็นย่านลับก็ว่าได้

ใครที่เคยไปเกียวโต ในพื้นที่กลางเมือง คำว่าเมืองบุปผาที่ในเรื่องพูดถึง คือย่านกิออนหรือแถวๆ ศาลเจ้ายาซากะ บริเวณนั้นยังมีย่านชุมชนเล็กๆ อยู่ City Cracker ชวนไปรู้จักนครแห่งบุปผา ดินแดนลึกลับที่เหล่าสตรีฝึกฝนศิลปะการร่ายรำ ย่างเดินไปบนรองเท้าโบราณ ซึ่งยังคงมีความสัมพันธ์และกฏเกณฑ์เก่าแก่เอาไว้ ทว่าย่านเหล่านี้ในยุคสมัยใหม่เอง เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นย้ายเมืองหลวง พื้นที่ดังกล่าวก็ได้เปิดตัวเองและทำให้ศิลปะของตนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์เมืองและช่วยระบบเศรษฐกิจของเมืองเอาไว้

 

5 เขตเมืองบุปผาของเกียวโต

เมืองบุปผาหรือ hanamachi เป็นคำเรียกของเขตหรือพื้นที่ที่เกอิชาและไมโกะให้บริการ โดยทั่วไปแล้วเหล่าเกอิชาและไมโกะจะใช้ชีวิตและให้บริการในเขตที่เรียกว่าฮานามาจิ ซึ่งเขตเหล่านี้มีประวัติศาสตร์เก่าแก่คู่กับความเป็นเมืองของญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน แต่เดิมในช่วงศตวรรษที่ 17 มีการจัดการย่านในลักษณะของย่านเริงรมย์ คือเป็นพื้นที่กินดื่มและหาความบันเทิงของบุรุษระดับสูง ต่อมากลางศตวรรษที่ 18 เกิดกิจการของเกอิชา คือการให้ความบันเทิงของสตรีที่ได้รับการฝึกฝนอย่างพิเศษด้วยศิลปะโบราณ เช่น การร่ายรำ ขับร้อง ศิลปะการสนทนา เกอิชาหรือไมโกะขายความเป็นศิลปะ ไม่ได้ขายเรือนร่าง แต่ทว่าในสมัยก่อนก็มีบางพิธีกรรม เช่น การประมูลพรหมจรรย์ซึ่งปัจจุบันเลิกทำไปแล้ว

โดยรวมเขตพื้นที่ทำงานของเกอิชาเป็นเขตพื้นที่พิเศษ เหล่าเกอิชา ไมโกะและอาชีพที่เกี่ยวข้องจะใช้ชีวิตและให้บริการในพื้นที่ย่านของตนเท่านั้น ซึ่งในพื้นที่จะประกอบด้วยโอกิยะ (okiya) คือบ้านและที่พำนักของเกอิชาและสตรีผู้ดูแล มีโรงน้ำชา (ochaya) เป็นพื้นที่ที่เหล่าไมโกะและเกอิชาให้บริการ ความพิเศษของเมืองบุปผาคือความเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากพื้นที่ที่เป็นทั้งที่อยู่และทำงานแล้ว การฝึกฝนและกระบวนการทำงานของเกอิชายังสัมพันธ์กับพื้นที่อื่นๆ เช่น kaburenjō เป็นพื้นที่ชุมชนของเกอิชาและไมโกะฝึกหัด มีลักษณะเป็นพื้นที่พบปะและฝึกทักษะต่างๆ มีครูฝึกและขั้นตอนของการเลื่อนขั้นตามลำดับของเหล่าไมโกะ ความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่จึงมีความซับซ้อนมากกว่าความเป็นชุมชนโดยทั่วไป คือมีความซ้อนทับกันระหว่างการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์จากหน้าที่การงาน เช่นร้านกิโมโน หรือส่วนบริหารที่ทำหน้าที่บริหารจัดการทั่วไป จัดการเรื่องการจ่ายเงินและจัดระบบต่างๆ ให้กับเหล่าไมโกะและเกอิชา

สำหรับกรุงเกียวโตมีเมืองบุปผา 5 เขตรู้จักในนามเมืองบุปผาทั้งห้า (Gokagai) โดยทั้ง 5 เขตนั้นตั้งอยู่กลางเมืองเกียวโตบริเวณศาลเจ้ายาซากะเรื่อยมาจนถึงรอบๆ แม่น้ำคาโมะ โดยเขตเมืองบุปผามีประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับความเป็นเมืองของกรุงเกียวโต ในแง่ของการเป็นพื้นที่ก่อเกิดย่านกินดื่มตั้งแต่บริเวณศาลเจ้าถึงแม่น้ำ และได้ขยายตัวจนกลายเป็นย่านที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมและเป็นย่านลับสำหรับคนนอกในปัจจุบัน จนมาถึงยุคที่เริ่มเปิดตัวเองและรักษาพื้นที่ไว้ในฐานะสมบัติที่มีชีวิตของญี่ปุ่น โดย 5 เขตนั้นประกอบด้วยเขต Gion Kōbu เขต Gion Higashi เขต Miyagawa-chō เขต Kamishichiken และ Pontochō ซึ่งย่านที่มีชื่อเสียงถูกเรียกรวมว่ากิออน (Gion) ซึ่งนับเป็น 2 ใน 5 เขตบุปผาของเกียวโต

 

ศาลเจ้ายาซากะ กับศูนย์กลางของความเป็นย่าน

พื้นที่เมืองบุปผาทั้ง 5 ของเกียวโตมีประวัติเก่าแก่จนเกือบเรียกได้ว่าเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับพื้นที่เมืองของเกียวโต ย่านเริงรมย์และพื้นที่กินดื่มของเกียวโตนั้นเริ่มมาตั้งแต่สมัยเอโดะ และเฟื่องฟูเมื่อสงครามสงบ จุดสำคัญหนึ่งของเกียวโตคือศาลเจ้ายาซากะ ย่านกิออนเกิดจากการที่สมัยเอโดะผู้คนนิยมเดินทางไปยังศาลเจ้ายาซากะเพื่อสักการะบูชา ทำให้พื้นที่รอบๆ ศาลเจ้าเกิดกิจการร้านอาหารขึ้นเพื่อรองรับผู้มาเยือนและเริ่มจ้างสาวงามเพื่อดึงดูดลูกค้า สำหรับเกียวโตมีประวัติศาสตร์หรือพื้นที่ย่านเริงรมย์เก่าแต่ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 16 คือในสมัยโทโยโตมิ ฮิเดโยชิที่ญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่น ในยุคเอโดะมีเมืองหลวงคือเกียวโต ยุคนั้นเองได้มีการตั้งพื้นที่ย่านเริงรมย์ที่เป็นรูปธรรมขึ้น เริ่มมีการปรับวิธีการให้บริการ เช่นเกิดสำนักเกอิชาในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 แต่ยุคแรกเกอิชาก็ยังมีบริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีอยู่ ต่อมาเริ่มห้ามการแสดงของสตรีในที่สาธารณะ และในยุคเมจิเริ่มห้ามเกี่ยวกับการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเพศ

 

แม่น้ำคาโมะ ความรื่นรมย์ริมน้ำและกิจการกินดื่ม

ถ้าเราดูซีรีส์ หรือเคยไปเกียวโต จะพบว่าพื้นที่หลักๆ ของกิออน และพื้นที่กินดื่มโดยเฉพาะยามราตรีนี้จะมีศาลเจ้ายาซากะและแม่น้ำคาโมะเป็นพื้นที่หลัก เมืองบุปผาของเกียวโตเองตั้งอยู่รอบๆ แม่น้ำเช่นกัน การเติบโตของย่านโดยเฉพาะย่านเศรษฐกิจกลางเมืองของเกียวโตสัมพันธ์กับแม่น้ำคาโมะและการใช้พื้นที่ริมน้ำอย่างน่าสนใจ คือในสมัยโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำคาโมะขึ้นใหม่ 2 สะพานคือสะพานซันโจและสะพานโกโจ ทำให้พื้นที่ริมน้ำคาโมะกลายเป็นพื้นที่ที่ร้านเหล้า ร้านอาหาร และโรงน้ำชาพากันจับจอง ตั้งร้านเป็นที่นั่งเพื่อให้แขกได้หย่อนใจบริเวณริมแม่น้ำคาโมะ

ในสมัยนั้นเองได้มีการสร้างสันเขื่อนหิน Nouryou-Yuka พื้นที่ริมน้ำเป็นศูนย์กลางการให้บริการของโรงน้ำชาและเกอิชา จนช่วงกลางสมัยเอโดะเริ่มมีหลักฐานว่าทางเมืองได้จัดการระบบที่นั่งของพื้นที่ริมน้ำ มีการให้โควต้าและระบุจำนวนที่นั่งสูงสุดของแต่ละร้านที่จะตั้งบริเวณริมน้ำได้ พื้นที่กินดื่มริมน้ำกลายเป็นธรรมเนียมและพื้นที่เศรษฐกิจช่วงฤดูร้อน เป็นพื้นที่สำหรับชมงานเทศกาลกิออน ในสมัยเมจิทางเมืองได้สร้างเฉลียงชั่วคราวขึ้นในช่วงหน้าร้อนคือในเดือนกรกฏาและสิงหาคม ในสมัยเอโดะถึงช่วงปลายยุคเมอิจิริมแม่น้ำคาโมะเป็นพื้นที่หย่อนใจและคลายร้อนให้ผู้คน ในปัจจุบันพื้นที่ริมน้ำคือสันเขื่อนไม่มีการสร้างเฉลียงชั่วคราวหรือถาวรแล้ว แต่เราก็ยังเห็นการสร้างนอกชานหรือเฉลียงของร้านค้ารอบๆ แม่น้ำเพื่อให้ผู้คนรับบรรยากาศและลมเย็นของแม่น้ำได้ ส่วนตัวแม่น้ำก็เป็นพื้นที่พักผ่อนและพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองเกียวโต

 

ย่านบุปผา คือบ้านขนาดใหญ่

ด้วยการสืบทอดขนบธรรมเนียม และการรักษาความเฉพาะตัวของพื้นที่ย่านบุปผาไว้จนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นว่าย่านของเหล่าเกอิชานั้นมีเงื่อนไขของความเป็นชุมชนที่มากำหนดความสัมพันธ์ของผู้คนที่พิเศษและมีความเฉพาะเจาะจง ด้วยความที่ค่อนข้างเป็นย่านที่ปิดและปลีกตัวออกจากโลกภายนอก เบื้องต้นที่สุดเราจะเห็นว่าลักษณะบ้านเรือนซึ่งมักเป็นพื้นที่ทำกิจการด้วยนั้นจะอยู่ติดกัน ไม่มีการล้อมรั้ว ชุมชนเชื่อมต่อกันด้วยตรอกและซอย สามารถไปมาหาสู่กันด้วยการเดินและขี่จักรยานหรือรอมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็ก ความสัมพันธ์ของผู้คนที่ปรากฏในซีรีส์มีลักษณะซ้อนทับ คือซ้อนกันระหว่างความสัมพันธ์จากอาชีพและความเป็นพื้นที่ชุมชนที่มีปฏิสัมพันธ์กัน เช่นเราจะเห็นว่ามีผู้ชายไม่กี่คนที่เข้าบ้านของไมโกะได้ ซึ่งอันที่จริงเป็นเพื่อนบ้านกันและมีอาชีพเป็นช่างกิโมโน โดยช่างกิโมโนจะเข้ามาทำหน้าที่แต่งตัวให้กับไมโกะด้วย ในความสัมพันธ์ที่บ้านใกล้และมีความเชื่อมโยงกันนั้นทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีความเป็นชุมชน พึ่งพิงกันทั้งทางกายภาพและทางใจ

นอกจากนี้ในความสัมพันธ์ของผู้คนกระทั่งในบ้านไมโกะเองก็มีการเน้นย้ำความสัมพันธ์ที่แม้จะไม่ใช่สายเลือด แต่ก็ผูกสัมพันธ์ด้วยลักษณะของความเป็นสายเลือดครอบครัว ในเครือข่ายชุมชนของย่านบุปผาจึงมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างใกล้ชิด คือใกล้กันในเชิงกายภาพ โดยแม้ว่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจะมีมิติของอาชีพการงาน แต่ด้วยเงื่อนไขของการเป็นย่านและชุมชนที่ค่อนข้างปิด ความสัมพันธ์ของผู้คนนั้นมีความใกล้ชิดและพึ่งพากันอย่างซับซ้อน ลักษณะที่สะท้อนหนึ่งคือการที่เบอร์โทรศัพท์ของย่านนับเป็นเบอร์ภายในและประกอบด้วยตัวเลขเพียงสามหลัก โดยตัวละครได้ระบุว่าเพราะย่านบุปผานั้นเป็นเหมือนบ้านขนาดใหญ่และทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกัน

 

ตราทั้งห้าและความสอดประสานของชุมชน

ความเป็นสังกัด การเชื่อมโยงระหว่างบุคคลและย่าน รวมถึงการเป็นภาพสะท้อนของศิลปะที่ตกทอดมาภายในย่าน เราอาจมองเห็นได้จาก ‘ตรา’ (kamon) คือย่านทั้งห้าย่านของเมืองบุปผาแห่งเกียวโตจะมีสัญลักษณ์หรือตราประจำย่านของตัวเอง ไมโกะ เกอิชา หรือร้านชาต่างๆ จะมีการประดับโคมที่ติดตราประจำย่านของตัวเองไว้ บางครั้งยังมีการปักประกอบในลายผ้ากิโมโน ร่มหรือเครื่องประดับอื่นๆ เพื่อบ่งชี้ว่าเป็นเกอิชาหรือไมโกะจากย่านไหน โดยในชื่อย่านและตรานั้นก็สะท้อนถึงตัวตนและบริบทของย่านจากชื่อย่านและตราสัญลักษณ์

สำหรับย่าน Ponto-chō เป็นชื่อย่านที่มาจากคำว่า Ponto หมายถึงสะพาน และ cho คือย่าน ตัวย่านตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำคาโมะระหว่างซอยชิโจและซันโจ ชื่อของย่านจึงสัมพันธ์กับสะพานเก่าแก่ทั้งสองและเป็นย่านที่ก่อตัวขึ้นเป็นย่านการค้าตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 สัญลักษณ์ของย่านเป็นรูปนกชิโดริ (Chidori) ซึ่งเป็นนกที่พบได้ตามชายน้ำและเป็นหนึ่งในภาพสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นที่มักเป็นภาพนกบินฝ่าคลื่นลมและเป็นตัวแทนของความอดทน โดยอีกตราที่มีความน่าสนใจคือตราและชื่อของย่าน Miyagawachō ชื่อย่านหมายถึง เขตแม่น้ำของศาลเจ้า แม่น้ำหมายถึงแม่น้ำคาโมะ ส่วนศาลเจ้าหมายถึงการทำพิธีชำระในแม่น้ำในช่วงเทศกาลกิออน ตราของเขตนี้เป็นห่วงสามวงที่กระหวัดกัน โดยห่วงทั้งสามเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ของสามภาคส่วนคือศาลเจ้า ชาวเมืองและโรงน้ำชา

สำหรับย่านกิออนซึ่งเป็นย่านพักผ่อนเก่าแก่และนับว่าสำคัญที่สุด ย่านกิออนนั้นสัมพันธ์กับเส้นทางที่เรียกว่า Tokaido คือเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างเกียวโตและโตเกียวซึ่งเป็นเส้นทางจาริกแสวงบุญที่มีศาลเจ้ายาซากะเป็นปลายทาง เขตบุปผาของกิออนเป็นรูปเป็นวงกลมแปดวงเชื่อมต่อกัน วงกลมคือลูกดังโงะที่ถูกเสียบไม้ โดยวงกลมที่ล้อมกันเป็นตัวแทนของความไม่สิ้นสุด ตราของกิออนจะเป็นวงกลมสีขาวบนโคมสีแดง มีตัวคันจิ 甲 อยู่ตรงกลาง ในขณะที่ย่าน Kamishichiken จะเป็นวงกลมสีแดงบนพื้นสีขาว โดยย่าน Kamishichiken เป็นย่านเก่าแก่ของเกอิชาที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยชื่อย่านหมายถึงโรงน้ำชาเจ็ดแห่ง

 

เกียวโตในฐานะเมืองหลวงเก่า บทบาทของย่านบุปผาในการร่วมรักษาเศรษฐกิจ

ย่านบุปผาและการสืบทอดศิลปะ วิถีชีวิต รวมถึงระบบระเบียบของศิลปะและกิจการที่เกี่ยวข้องกับศิลปะโบราณของกรุงเกียวโตนั้นดำเนินเรื่อยมา หมุดหมายที่น่าสนใจคือในปี 1872 ที่ญี่ปุ่นย้ายเมืองหลวงจากเกียวโตไปสู่โตเกียว ในช่วงปีนั้นเกียวโตในฐานะเมืองหลวงเก่าประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยพร้อมๆ กับการท่องเที่ยวที่หดตัวลง ทางกรุงเกียวโตจึงแก้ปัญหาด้วยการจัดงานเอ็กซ์โปขึ้น โดยหนึ่งในการแก้ปัญหาคือผู้ว่ากรุงเกียวโตได้เชิญหัวหน้าโรงเรียนเต้นรำ และได้จัดการแสดงร่ายรำของเกอิชาให้สาธารณชนได้ชมเป็นครั้งแรก การร่ายรำของเกอิชาในงานเอ็กซ์โปครั้งนั้นประสบความสำเร็จ และความสำเร็จนั้นทำให้มีการขอให้แบ่งย่านบุปผาออกเป็นพื้นที่เฉพาะจากกิออนโดยรวมและมีการให้โรงเรียนเต้นรำที่แสดงในครั้งนั้นเป็นโรงเรียนหลักที่ฝึกสอนการร่ายรำในย่านนั้นๆ

การเข้ามามีบทบาทของกิจการและศิลปะในย่านปิดจึงสัมพันธ์กับมิติของเมืองและอัตลักษณ์ หลังจากนั้นเหล่าเกอิชาและไมโกะจะมีการเข้าร่วมเทศกาลต่างๆ เช่น การปฏิญาณตนร่วมกันในช่วงปีใหม่ของเกอิชาและไมโกะจากทั้งห้าเขต สำหรับเมืองบุปผาทั้งห้านั้นจะมีการร่วมร่ายรำเป็นการแสดงประจำปี ซึ่งมักจะจัดพิธีชงชาประกอบด้วย โดยจะจัดเป็นระยะเวลาหนึ่งสลับสับเปลี่ยนกันไปในสถานที่ต่างๆ ของเกียวโต ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิ มีหนึ่งเขตคือกิออนฮิกาชิจัดในช่วงใบไม้ร่วง คือจะเป็นชุดการแสดงที่อาจมีการแสดงอื่นๆ ประกอบ

ลำดับการแสดงจะมีชื่อเทศกาลเฉพาะและจัดไล่เดือนกันไปคือ Kitano Odori รับผิดชอบการแสดงโดยเขต Kamishichiken แสดงในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมและสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน Miyako Odori รับผิดชอบโดยเขต Gion Kōbu แสดงตลอดเดือนเมษายน Kyō Odori รับผิดชอบโดยเขต Miyagawa-chō จัดแสดงช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน Kamogawa Odori จัดแสดงโดยเขต Pontochō จัดแสดงในช่วงเดือนพฤษภาคม และ Gion Odori จัดแสดงในช่วงพฤศจิกายน โดยทั้งหมดนั้นเป็นการเปิดการแสดงเพื่อสาธารณชน มีการจำหน่ายตั๋วในราคาไม่แพง จากที่การแสดงเหล่านี้เคยเป็นของกลุ่มชายระดับสูง นอกจากนี้ยังมีการแสดงใหญ่ที่รวมทุกเขตไว้ชื่อ Five Geisha District Combined Public Performance จัดแสดงในช่วงเดือนมิถุนายน ค่าบัตรจะแพงกว่าเล็กน้อย ในชุดการแสดงนี้มี Miyako Odori การแสดงที่มีชื่อเสียงมากที่สุด มีการแสดงร่ายรำชุดระบำของเมืองหลวงเก่า (Dances of The Old Capital) หรือระบำดอกซากุระ (Cherry Blossom Dances) ซึ่งเป็นที่นิยมและนับเป็นเทศกาลการแสดงร่ายรำที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและต่างชาติ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

yuka-kyoto.com

mai-ko.com

mai-ko.com

sharing-kyoto.com

geishaofjapan.com

vogue.com

jas-hou.org

Graphic Designed by Montree Sommut
Share :