อยากจะให้ลูกโป่งลอยอยู่นานๆ ตอนนี้ในเน็ตฟลิกซ์มีอนิเมะชื่อ Kotaro Lives Alone การ์ตูนที่ดูสดใสน่ารักที่มีน้องโคทาโร่ เด็กประหลาดที่ย้ายมาใช้ชีวิตตามลำพังในอพาร์ตเมนต์ราคาถูก ภายใต้สไตล์เรื่องที่ดูสดใส ทว่าการ์ตูนเรื่องนี้กำลังพูดเรื่องปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาสังคมเมืองตั้งแต่ความรุนแรงในครอบครัว การใช้ชีวิตในเมือง และการอยู่ตามลำพังได้อย่างถึงแก่นและแสนจะร้าวราน
โคทาโร่ เด็กน้อยวัยสี่ขวบไม่ควรจะต้องมาใช้ชีวิตตามลำพัง แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นการ์ตูน คือฟังดูเป็นไปได้ยากที่เด็กวัยสี่ขวบจะมาผจญโลกตามลำพัง แต่โดยเงื่อนไขของเมืองโดยเฉพาะเมืองในญี่ปุ่นที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเด็ก เป็นเมืองที่เปิดพื้นที่ให้ได้ใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย การใช้ชีวิตของโคทาโร่ในเงื่อนไขของเมือง- ที่ดี ก็เลยทำให้ชีวิตของโคทาโร่ที่แสนจะเจ็บปวดนั้น พอจะใช้ชีวิตที่ดีได้ โดยที่เมืองไม่ได้มาซ้ำเติมให้ยากลำบากมากขึ้นไป
นึกภาพว่าถ้าโคทาโร่ต้องมาอยู่ลำพังในกรุงเทพฯ มาอยู่ในแฟลตราคาประหยัดในซอยซักที่ของกรุงเทพ ชีวิตที่เต็มไปด้วยบาดแผลของโคทาโร่คงจะยิ่งเจ็บปวดและวุ่นวาย หรือกระทั่งคงจะใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยต่อแทบไม่ได้ ถ้าเรามองว่า Kotaro Lives Alone ไม่ได้พูดแค่เรื่องเด็ก แต่กำลังพูดถึงปัญหา เช่น ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้ผู้คนต้องออกมาใช้ชีวิตตามลำพัง ในแง่นี้พื้นที่เมืองที่ดีในระดับหนึ่ง- พื้นที่ที่เป็นสาธารณะและสาธารณูปโภคของเมืองจึงเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ช่วยชุบชูผู้คนให้อยู่รอดผ่านวิกฤติของชีวิตและเติบโตอย่างแข็งแรงต่อไปได้
Danchi อพาร์ตเมนต์ที่ไม่หรูแบบญี่ปุ่น
ที่ญี่ปุ่นถือว่ามีการพัฒนาโครงการบ้านรัฐในลักษณะที่ค่อนข้างเฉพาะตัว ตัว ‘อพาร์ตเมนต์’ ในความหมายทั่วไปหมายถึงโครงการพักอาศัยของรัฐที่ราคาค่อนข้างถูก ตัวอาคารเรียกโดยรวมว่า Danchi หรือโครงการการเคหะที่มักมีรัฐเป็นผู้พัฒนา บ้านแบบ Danchi หลักๆ แล้วเป็นโครงการในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวทศวรรษ 1950 สร้างโดยหน่วยงานการเคหะแห่งญี่ปุ่น (The Japan Housing Corporation (JHC)) ก่อตั้งในปี 1955 โครงบ้านบ้านแบบที่เราเห็นในเรื่องมีลักษณะเป็นอาคารพักอาศัยที่ไม่สูงนัก ตัวอาคารถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้คนที่ไหลเข้าทำงานในเมืองใหญ่ ลักษณะผังและการใช้งานของห้องเป็นการปรับเปลี่ยนลักษณะจากครอบครัวขยายไปสู่ครอบครัวเดี่ยว
ความพิเศษของการพัฒนาที่พักอาศัยยุคสมัยใหม่ของญี่ปุ่นคือได้รับอิทธิพลจากโซเวียต เนื่องด้วยแพ้สงครามให้กับตะวันตก ตัวห้องมีขนาดประมาณ 44 ตารางเมตร ปูด้วยเสื่อตาตามิ มีลักษณะเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ แยกสัดส่วนกับพื้นที่รับประทานอาหารและห้องน้ำขนาดเล็ก ปัจจุบันการพักอาศัยในดันชิค่อนข้างเสื่อมความนิยมลงเนื่องจากโครงการใหม่ๆ ที่เข้ามาแทนที่ เช่น คอนโดมิเนียมหรือแมนชั่นที่เป็นอาคารสูงและมีสาธารณูปโภคครบครันกว่า หรือการบ้านเดี่ยวในพื้นที่ที่ห่างออกไป บ้านพักที่โคทาโร่ไปอยู่ด้านหนึ่งจึงเป็นเหมือนมรดกของยุคก่อนหน้า เป็นบ้านพักอาศัยค่อนข้างประหยัด มีคุณภาพชีวิตระดับปานกลาง
Sento โรงอาบน้ำ พื้นที่ที่เริ่มเสื่อมความนิยม
ลักษณะเฉพาะของบ้านพักที่โคทาโร่ไปอยู่เป็นโครงการบ้านที่น่าจะเป็นของรัฐที่มีราคาถูก ลักษณะเด่นนอกจากตัวผังห้องที่เน้นการจัดพื้นที่อย่างยืดหยุ่น เช่น การนอนและนั่งในที่เดียวกันบนเสื่อตาตามิ คือเป็นโครงการบ้านที่มีแค่ห้องน้ำแต่ไม่มีพื้นที่อาบน้ำในตัว กิจกรรมสำคัญของเรื่องจึงเป็นการเดินทางออกไปใช้บริการโรงอาบน้ำสาธารณะที่เรียกว่า เซนโต ตัวโรงอาบน้ำสาธารณะถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมการอาบน้ำ และมีบริการโรงอาบน้ำร้อนเพื่อให้คนเมืองได้เข้าใช้ทำความสะอาดและแช่น้ำร้อนเพื่อความผ่อนคลาย
ตัวโรงอาบน้ำสาธารณะเป็นคนละลักษณะกับออนเซน คือใช้น้ำประปาและค่อนข้างเป็นบริการพื้นที่อาบน้ำรวมในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็นับว่าเป็นกิจกรรมเพื่อความผ่อนคลายในแต่ละวันได้ทางหนึ่ง โรงอาบน้ำสาธารณะมีประวัติศาสตร์เก่าแก่โดยโรงอาบน้ำสาธารณะของเมืองที่เก่าแก่ที่สุดนับย้อนไปได้ในสมัยเอโดะ และเฟื่องฟูในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่กรุงโตเกียวมีความหนาแน่น คนและบ้านพักอาศัยส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่สำหรับการแช่น้ำเป็นของตัวเอง และถือว่าโรงอาบน้ำเป็นพื้นที่ที่ผู้คนได้พบปะเชื่อมโยงกันในชุมชน
ในปัจจุบันโรงอาบน้ำสาธารณะค่อนข้างค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง เนื่องจากบ้านพักอาศัยรุ่นใหม่เริ่มออกแบบโดยมีพื้นที่แช่น้ำและอาบน้ำส่วนตัว
สวนจิ๋วสนามเด็กเล่น พื้นที่ของเด็กๆ จากยุคหลังแผ่นดินไหว
ถ้าเราดูการ์ตูนญี่ปุ่น เราจะเห็นลานหรือสวนขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่เมือง สนามเด็กเล่นขนาดเล็กเหล่านี่มักกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต เป็นพื้นที่เล่นและพื้นที่พบปะของเด็กๆ ที่ทำให้เด็กๆ ออกมาใช้ชีวิตในเมืองได้ในเวลาว่างและอย่างปลอดภัย ตัวสนามแบบเดียวกับที่โคทาโร่มาใช้เวลา นั่งชิงช้า เล่นไม้ลื่น และพูดคุยเชื่อมต่อกับผู้คนและเพื่อนบ้าน สนามเด็กเล่นขนาดเล็กเป็นผลผลิตจากยุคหลังภัยพิบัติ คือการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในเขตคันโตในปี 1923
ในการสร้างเมืองขึ้นใหม่ กรุงโตเกียวได้ตัดสินใจสร้างสนามเด็กเล่นขนาดเล็ก กระจายตัวโดยให้ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับโรงเรียนประถม ทำให้ทิศทางการพัฒนาพื้นที่สาธารณะหนึ่งคือการสร้างสนามเด็กเล่นขนาดเล็ก 52 แห่งขึ้นทั่วเมือง พื้นที่เหล่านี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาทางสุขภาพและทางสังคมของเด็กๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีสนามเด็กเล่นส่วนกลางให้เด็กๆ ออกมาเรียนรู้และใช้ชีวิตนอกรั้วบ้าน
เมือง 15 นาที? ของโคทาโร่
เมืองที่ดี โดยเฉพาะถ้าดีถึงขนาดเด็กๆ อันเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูเป็นพิเศษ และเมืองที่ต้องเรียบง่าย สำหรับโคทาโร่เอง ในระดับเมือง เด็กสี่ขวบอย่างโคทาโร่ใช้ชีวิตประจำวันตามลำพังได้ ก็ด้วยว่าสาธารณูปโภคและพื้นที่พื้นฐานอยู่ในระยะเดิน ในเรื่องโคทาโร่ไปโรงอาบน้ำได้ ไปซื้อของ และไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมถึงโรงเรียนก็ด้วยการเดินเป็นหลัก พื้นที่เมืองของโคทาโร่เป็นเมืองที่เดินได้และเดินได้อย่างปลอดภัย ในมิติของการออกแบบและเปิดพื้นที่เมืองให้กับเด็กนั้น ญี่ปุ่นจะเน้นการเดินเป็นหลัก เด็กๆ ที่ญี่ปุ่นจะถูกฝึกให้เดินไปโรงเรียน มีการระบุเส้นทางการเดิน นึกภาพว่าถ้าเมืองไม่สามารถเดินได้และระยะของสิ่งต่างๆ อยู่ห่างกัน การใช้ชีวิตของเด็กย่อมทำได้อย่างยากลำบาก เช่น การนั่งรถโดยสาร ขึ้นรถไฟ เรียกวินมอเตอร์ไซค์
ชุมชนเมืองที่มองเห็นเด็กๆ
นอกจากการที่เมืองจะออกแบบโดยมองเห็นและส่งเสริมให้เด็กเดินใช้ชีวิตในเมืองได้อย่างปลอดภัยแล้ว ปัจจัยสำคัญที่เด็กๆ จะเดินได้จริงคือการสร้างวัฒนธรรมและให้ชุมชนเข้ามาร่วมดูแลเด็กๆ เสมือนเป็นลูกเป็นหลาน ในการสอนให้เด็กเดินไปโรงเรียน ญี่ปุ่นจะมีการติดต่อกับผู้สูงอายุ มีการแจ้งชุมชนทั้งการไปขอความร่วมมือและการใช้สัญลักษณ์ เช่น กระเป๋าเพื่อให้ชุมชนรู้ว่านี่คือเด็กๆ ที่กำลังเรียนรู้การเดินใช้ชีวิตในเมือง
ในเรื่องเราจึงจะเห็นว่าผู้ใหญ่และตัวละครอื่นๆ เช่น ร้านค้า ผู้คนที่เดินไปมาเมื่อเห็นเด็กๆ ก็จะปฏิบัติต่อเด็กๆ เหล่านั้นอย่างปรกติธรรมดา ด้วยว่ามองเห็นว่าเด็กในเมืองที่ใช้ชีวิตเป็นขั้นตอนของการฝึกฝน เช่น การช่วยที่บ้านไปซื้อของ และเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งผู้คนเองก็จะค่อนข้างให้ความสนใจทั้งในแง่ของการทักทายอย่างเป็นมิตรและการยื่นมือเข้าช่วยเหลือ
เมืองปลอดภัยของเด็กๆ และปัญหาที่ผู้คนร่วมแก้
อันที่จริงแม้ว่าเมืองของญี่ปุ่นจะเน้นเปิดพื้นที่และออกแบบให้เป็นเมืองของเด็กๆ แต่ว่าญี่ปุ่นเองก็ยังเจอปัญหา เช่น เรื่องก็พูดถึงการลักพาตัวเด็ก แต่ด้วยวัฒนธรรมที่เมืองสร้างวัฒนธรรมการสร้างเมืองเพื่อเด็กๆ ทำให้ชุมชนถือเป็นหัวใจหนึ่งในการสร้างความปลอดภัยให้กับเด็กๆ ในเมือง เราจะเห็นว่านอกจากชาวชุมชนจะให้ความช่วยเหลือเด็กๆ คนเมืองยังจะเน้นการสอดส่องเพื่อเป็นหูเป็นตาว่าเด็กๆ กำลังเจอกับเหตุการณ์ผิดปกติหรือไม่ เช่น ตอนที่โคทาโร่ไปกับเพื่อนบ้านที่ท่าทางเหมือนนักเลง ตำรวจและชาวบ้านก็จะเข้าไปไต่ถามอย่างเปิดเผยว่าเด็กกำลังอยู่ในปัญหาหรือไม่
ป่าและพื้นที่รกในเมือง พื้นที่ผลิตอาหารยามจำเป็นของคนเมือง
พื้นที่เมืองของญี่ปุ่นเองก็ประกอบขึ้นด้วยหลายปัญหา ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนจนเมืองและราคาค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูง สิ่งที่น่าสนใจคือพื้นที่ชานเมืองของญี่ปุ่นมักจะมีพื้นที่สีเขียวที่มีลักษณะรกร้างหรือเป็นกึ่งป่าทั้งพื้นที่ริมน้ำ ชายเขาและพืชพรรณต่างๆ ที่ด้านหนึ่งกลายเป็นแหล่งวัตถุดิบที่คนเมืองสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยววัตถุดิบทำอาหารได้ ในยุคหนึ่งถ้าเราดูรายการ เช่น ใช้ชีวิตอย่างประหยัดก็จะมีคนที่ออกไปเก็บเกาลัด เก็บผักริมน้ำ เห็ดป่าบนภูเขามาประกอบอาหาร ในเรื่องโคทาโร่เองจะมีบางตอนที่โคทาโร่เข้าไปเก็บพืชในป่าและพบกับเด็กที่ยากจนคนอื่นๆ อันที่จริงไม่เชิงว่าเป็นทางออกที่ดี แต่อย่างน้อยน้องก็ไม่ต้องกินทิชชูอะเนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Vanat Putnark
Writer