CITY CRACKER

รู้จักผู้นำคนใหม่ของสิงคโปร์ในรอบ 20 ปี Lawrence Wong กับนโยบายเด่น ทุนอัพสกิลให้คนอายุ 40 ปี

เราพูดถึงสิงคโปร์ในฐานะเมืองที่พัฒนาอย่างก้าวหน้า เป็นผู้นำในการผลักดันงานออกแบบและผสานเมืองเข้าสู่ธรรมชาติ เป็นต้นแบบเมืองในสวนและเมืองที่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ จินตนาการถึงชีวิตร่วมสมัยที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

ที่ผ่านมา วิสัยทัศน์และการพัฒนาแทบทั้งหมดของสิงคโปร์อยู่ภายใต้การนำของตระกูลลี นับจากนายกรัฐมนตรีคนแรกและผู้วางรากฐานของชาติ ‘ลี กวนยู’ ในทศวรรษ 1950 และการบริหารในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาของ ‘ลี เซียนลุง’ ในฐานะรัฐมนตรีคนที่ 3 ทิศทางและตัวตนของสิงคโปร์ค่อนข้างมาจากมรดกและวิสัยทัศน์ที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ยุคร่างสร้างชาติ

ความน่าตื่นเต้นล่าสุดคือสิงคโปร์ได้นายกคนใหม่ ที่เราพอจะนิยามได้ว่าเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ เปลี่ยนผ่านจากอดีตนายกลีผู้ซึ่งปรารถนาจะลงจากตำแหน่งเมื่ออายุ 70 ปี การเปลี่ยนผ่านผู้นำสิงคโปร์จากประวัติศาสตร์การเมือง 65 ปี ในครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งที่ 3 เท่านั้น โดยการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้เป็นการขึ้นสู่อำนาจที่ไม่น่าประหลาดใจ มีการเตรียมการส่งต่อการบริหารสู่นักการเมืองซึ่งก็ได้ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ (Lawrence Wong) รองนายรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น นักการเมืองที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่มผู้นำดาวรุ่ง และมีผลงานโดดเด่นในการบริหารช่วงโควิดที่ผ่านมา

©straitstimes.com.sg

 

ลอว์เรนซ์ หว่อง นักบริหารผู้ฉายแสงในช่วงโรคระบาด

แผนการลงจากตำแหน่งของอดีตนายก ‘ลี เซียนลุง’ ถ้ายึดตามถ้อยคำของลีเซียนลุง กรอบเวลาอายุ 70 ปีของอดีตนายกลีคือปี 2022 แต่ด้วยสถานการณ์ยุ่งเหยิงของโควิดทำให้การลงและส่งต่อการบริหารยืดเยื้อมาจนปัจจุบัน

การวางแผนลงจากตำแหน่งของลีเซียนลุงมีการเตรียมการอย่างเป็นระบบ หนึ่งในนั้นคือการตั้งกลุ่มผู้นำการเมืองรุ่นที่ 4 ของพรรค People’s Action Party เรียกว่ากลุ่ม 4G เป็นชื่อเล่นของ 4th Generation Leaders สิ่งที่น่าสนใจคือในช่วงปลายปี 2018 นาย เฮ็ง สวีเคต (Heng SweeKeat) ผู้ที่มีชื่อเป็นหัวหน้ากลุ่มคือได้รับการคัดเลือกจากเหล่านักการเมืองและผู้นำของกลุ่ม 4G

มีการคาดการณ์ว่านายเฮ็ง สวี เคต นี่แหละคือผู้ที่จะเป็นนายกคนต่อไป ในขณะนั้นยังไม่มีชื่อของลอว์เรนซ์ หว่องอยู่ในกลุ่มนักการเมืองแนวหน้าแต่อย่างใด แต่ในปี 2021 ได้มีการประกาศถอนตัวจากตำแหน่ง การถอนตัวนี้สื่อคาดการณ์ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การลงจากตำแหน่งของนายลีเซียนลุงล่าช้าออกไป

ลอว์เรนซ์ หว่อง ได้ขึ้นมาฉายแสงจากการเป็นผู้นำที่มีบทบาทในการบริหารงานช่วงโควิด ในเดือนมกราคม 2020 หว่องและกัน คิมหยง (Gan KimYong) เป็นผู้นำคณะนำงานร่วมระดับชาติในการบริหารและพาประเทศรับมือกับโควิด โดยในเดือนมีนาคมของปีนั้นเอง หว่องได้แถลงและกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภา ซึ่งถ้อยแถลงของหว่องในครั้งนั้นเป็นการกล่าวขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้คนที่ทำงานแนวหน้าที่พาสิงคโปร์ก้าวผ่านห้วงเวลาอันยากลำบากไปได้ สุนทรพจน์ที่สัมผัสหัวใจและการลงมือบริหารจนผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้ทำให้หว่องขึ้นมามีบทบาท ได้รับคะแนนนิยม และความไว้วางใจ

สำหรับลอว์เรนซ์ หว่อง ถือเป็นนักการเมืองที่อายุไม่มาก หว่องอายุ 51 ปี ขณะที่สาบานตนขึ้นรับตำแหน่งในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หว่องอยู่ในอาชีพทางการเมืองมาอย่างยาวนาน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดำรงตำแหน่งบริหารและตำแหน่งสำคัญในหลายพื้นที่

©cfr.org

 

มือกีตาร์ นักการเมืองที่ใช้ความรุ่มรวยสื่อสารสัมผัสหัวใจ

ความน่าสนใจของหว่องจึงอยู่ที่การเป็นผู้นำรุ่นใหม่ ความสนใจบางส่วนมองไปที่ความสนใจของตัวหว่องเองที่มีความเป็นนักดนตรี ใช้เวลาว่างในการเล่นกีตาร์ประเภทต่างๆ หว่องเองในฐานะนักการเมืองค่อนข้างให้ความสำคัญและผลักดันนโยบายที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมเป็นผู้ที่มองโลกในแง่ดี และเชื่อในความเปิดกว้างและความไว้เนื้อเชื่อใจ

ภาพของหว่องมักเป็นภาพผู้นำที่ดูหนุ่มแน่น อาจปรากฏตัวกับเครื่องดนตรี หว่องเองมักใช้ดนตรคือการเล่นกีตาร์เป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารและเชื่อมต่อกับผู้คนผ่านสื่อสังคม หว่องเป็นผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารศิลปะ Plural Art Mag ได้รับการเสนอชื่อเข้าดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมของสภา

ความสนใจและตัวตนที่ทั้งรุ่มรวยและนุ่มนวลของหว่องนี้ เป็นจุดสนใจเล็กๆ ที่บางสื่อเชื่อว่าเป็นเงื่อนไขที่ทำให้หว่องสามารถสื่อสารเนื้อหาสำคัญโดยสัมผัสเข้ากับหัวใจและความรู้สึกของผู้คนได้ทั้งศักยภาพและความรุ่มรวยหลากหลายนี้ เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่สิงคโปร์อาจมองหาจากผู้นำ ในช่วงเวลาที่ทุกอย่างเต็มไปด้วยความซับซ้อน

ในแง่นี้เอง พื้นที่ทางศิลปะวัฒนธรรมจึงเป็นอีกภาคส่วนสำคัญที่สิงคโปร์อาจกำลังหวังไว้ในการนำของผู้นำผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์และศิลป์ อันที่จริงหว่องเองเคยมีบทบาทสำคัญเช่น ในปี 2013 หว่องที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม สังคมและเยาวชนได้ออกนโยบายเข้าพิพิธภัณฑ์ฟรีให้กับพลเมืองและลงทุนงบ 62 ล้านเหรียญสิงคโปร์ในการสนับสนุนวัตถุจัดแสดงประจำชาติ (national collection) ซึ่งหลังจากรับตำแหน่งนายกแล้วหว่องก็ได้ประกาศเพิ่มวงเงินสนับสนุนด้านศิลปะอีกราว 100 ล้านเหรียญสิงคโปร์ มีทิศทางการนำสิงคโปร์ไปสู่เมืองที่โดดเด่นทางศิลปะ เน้นการเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก สิงคโปร์จะเป็นพื้นที่ฟูมฟักและพาผู้มีความสามารถทะยานไปสู่เวทีโลก

@lawrencewongst

Wishing all a Merry Christmas and happy holidays. Hope you like this collab🎄#christmas2022

♬ original sound – Lawrence Wong – Lawrence Wong

 

นโยบายอัพสกิลให้คนวัย 40 ปี

การเปลี่ยนแปลงจึงนับเป็นหัวใจสำคัญในมุมมองการบริหาร การมองและการพาสิงคโปร์ไปยังอนาคต หนึ่งในนโยบายที่น่าสนใจคือการที่หว่องให้ความสำคัญกับการปรับตัว และการมองเห็นบริบทเงื่อนไขรวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง

หนึ่งในนโยบายที่ถูกกล่าวถึงคือการที่หว่องประกาศให้งบประมาณกับพลเมืองอายุ 40 ปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในขณะนั้นหว่องดำรงตำแหน่งรักษาการนายก แผนของหว่องเรียกว่าเป็น Skills Future credit คือการที่รัฐจะอุดหนุนเงินเครดิตมูลค่าถึง 4,000 เหรียญดอลล่าร์สิงคโปร์หรือประมาณหนึ่งแสนบาทไทยเพื่อให้ในการเข้าฝึกอบรม และอาจมีเงินสนับสนุนรายเดือนให้ได้สูงถึง 3,000 เหรียญดอลล่าร์สิงคโปร์ถ้าพนักงานตัดสินใจเรียนในสาขาเต็มเวลา คือสนับสนุนในส่วนของรายได้จากการจ้างงานประจำที่หายไป ทั้งยังสนับสนุนให้ภาคเอกชนเสนอการฝึกอบรมภายนอก เช่น การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรัฐหรือการสนับสนุนวันหยุด

หว่องให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายให้เงินฝึกทักษะว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ การให้งบฝึกทักษะเน้นความสำคัญไปที่คนทำงานที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงคือคนที่อยู่ในช่วงกลางของเส้นทางอาชีพ (mid-career) การสนับสนุนนี้จึงเป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้คนทำงานได้ฝึกทักษะใหม่เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลง

นอกจากการสนับสนุนการฝึกทักษะแรงงานแล้ว สิงคโปร์ยังเน้นทำงานร่วมกับภาคธุรกิจคือสนับสนุนการส่งต่อเงินทุนรวมถึงการมองเห็นพื้นที่ทักษะการทำงานใหม่ๆ การลงทุนและการทำงานร่วมกันนี้สัมพันธ์กับมิติทางสังคมหลายมิติ ทั้งการสนับสนุนครอบครัวที่มีรายได้น้อย การอัพสกิลและรีเทรนนิ่งใหม่ การปรับนโยบายจากความเข้าใจบริบทสังคมที่อัตราการเกิดต่ำ และคนทำงานอาจมีอายุเฉลี่ยที่มากขึ้น

สำหรับลอว์เรนซ์ หว่อง แม้จะเป็นคนที่ดูหนุ่มแน่นและมีความเป็นศิลปิน แต่ในระดับการบริหาร เช่น การแถลงนโยบายต่างๆ หว่องในฐานะผู้นำใหม่ก็มีความหนักแน่นชัดเจน สำหรับหว่องจากการรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ หลายคำสัมภาษณ์หว่องค่อนข้างพูดถึงการมองใหม่ (relook) การทบทวนนโยบายที่เคยถูกมองข้าม การมองเห็นกลุ่มเปราะบางและการเปิดนโยบายที่สนับสนุนผู้คนให้แข็งแรง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

the101.world
cnalifestyle.channelnewsasia.com
theartnewspaper.com
businesstimes.com.sg
straitstimes.com
todayonline.com

 

 

Share :