ในทศวรรษ 1970 เมืองทั้งหลายกำลังเติบโตขึ้นจากอุตสาหกรรมและการพัฒนาเมืองอย่างก้าวกระโดด ทว่า ในการพัฒนาเมืองในยุคก่อนมักกลายเป็นเมืองที่เติบโตอย่างไร้ทิศทาง กลายเป็นเมืองสีเทาของรถยนต์และมลภาวะ ผู้คนและความแออัด ทว่าที่เมืองคูริบิต้า (Curitiba) เมืองหลวงของรัฐปาราน่า (Parana) เมืองที่มีประชากรสูงที่สุดเมืองหนึ่งของบราซิลตอนใต้ กลับได้เลือกสถาปนิกหนุ่มวัยเพียง 33 ปีในขณะนั้นขึ้นเป็นเทศมนตรีหนุ่ม
หลังจากนั้นนายกเทศมนตรีหนุ่มที่ดูเหมือนว่าจะชนะการการเลือกตั้งได้แบบฟลุคๆ ก็กลายเป็นอีกหนึ่งผู้นำการพัฒนาเมืองระดับตำนาน เปลี่ยนเมืองคูริบิต้าให้กลายเป็นเมืองสีเขียว ปรับถนน ทางเท้า และวางระบบขนส่งสาธารณะแบบ BRT ที่กลายเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆ และได้รับการขนานนามว่าสถาปนิกและนักออกแบบที่ส่งผลและวางรากฐานให้กับการพัฒนาที่ทรงอิทธิพลต่อจากเจน จาคอบส์ (Jane Jacobs) ไอคอนการต่อสู้และออกแบบเมืองเพื่อผู้คนและชุมชนของอเมริกา
โดยตัวเลขสถิติ เมืองคูริบิต้าถือเป็นเมืองที่เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงโดยมีการพัฒนาโดยคำนึงถึงระบบนิเวศและผู้คนเป็นศูนย์กลาง เมืองคูริบิต้ามีตัวเลขปริมาณพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรจาก ‘ครึ่ง’ ตารางเมตรเมื่อ 30 ปีก่อนกระโดดขึ้นมาเป็นกว่า 50 ตารางเมตรต่อหัว ล่าสุดพื้นที่สีเขียวและสวนคิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในห้าของพื้นที่เมือง ในเมืองมีการปลูกต้นไม้ริมทางเพิ่มหนึ่งกว่าล้านต้น เมืองคูริบิต้ายังนับเมืองที่มีระบบรถเมล์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเมืองนิวยอร์ก และด้วยประชากรที่เพิ่มขึ้นสองเท่าจากทศวรรษ 1974 มีอัตราการครอบครองรถยนต์ที่สูงแต่กลับมีอัตราการจราจรติดขัดลดลง 30% และเมืองนี้มีอัตราการรีไซเคิลขยะของประชาชนสูงติดอันดับโลก และมีรายงานว่าขยะราว 70% ของเมือง ได้รับการรีไซเคิล ในภาพรวมคูริบิตามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าโดยเฉลี่ยของทั้งประเทศ และมีอัตรารายได้ต่อหัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของบราซิลในภาพรวม
ทั้งหมดนับเป็นมรดกจากการนำเมืองของเจมย์ เลอร์เนอร์ นายกเทศมนตรีหนุ่มแห่งเมืองคูริบิต้าสามสมัย และผู้ว่ารัฐปาราน่าอีกหนึ่งสมัย ถ้าเรามองว่าการพัฒนาทั้งหมดนี้เริ่มต้นในทศวรรษ 1960-1970 ก็ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ล้ำสมัยที่นำเอาองค์ความรู้ด้านผังเมืองและผู้คนเป็นศูนย์กลางเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งจนกลายเป็นรากฐานของเมืองและสังคมที่ดี แน่นอนว่าเมืองคูริบิต้าในตอนนั้นกำลังเผชิญปัญหาเหมือนกับเมืองอื่นๆ จำนวนประชากรที่ก้าวกระโดดขึ้นสองเท่าในทศวรรษ 1950 และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ในตอนนั้นเมืองคูริบิต้าก็มีแผนการพัฒนาเช่นเมืองอื่นๆ การทุบเมืองเพื่อสร้างถนน สร้างทางด่วน เมืองคูริบิต้าเป็นเมืองที่โชคดีคล้ายกับเมืองเช่นอัมสเตอร์ดัมที่ในตอนนั้น มีกลุ่มนักออกแบบและนักเคลื่อนไหวออกมาคัดค้านกับทุบอาคารประวัติศาสตร์และย่าน โดยประชาชนเองก็เห็นด้วยและออกมาร่วมต่อต้านด้วย โดยเลอเนอร์ในฐานะสถาปนิกและนักผังเมือง หลังจากจบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมในปี 1964 ร่วมก่อตั้งและทำงานในศูนย์วิจัยด้านผังเมืองแห่งคูริบิต้าในปี 1965 ก็เป็นหนึ่งในผู้เคลื่อนไหวระดับแนวหน้าในตอนนั้น
ด้วยเหตุนี้เองเจมย์ เลอร์เนอร์ ได้กลายเป็นผู้สมัคร และได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีด้วยวัยเพียง 33 ปีโดยในมิติการเมืองดูจะเป็นหนึ่งในการชนะแบบส้มหล่นครั้งหนึ่ง การเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองในฐานะมือใหม่ เลอร์เนอร์ในตอนนั้นใช่ว่าจะก้าวเข้าอย่างกลัวเกรง การพัฒนาแรกๆ ที่เขาทำกลับวางหมายด้วยความชาญฉลาด จากแผนพัฒนาที่เดิมรัฐต้องการเปิดพื้นที่เมืองเข้าสู่ย่านดาวน์ทาวน์ด้วยทางด่วน เลอร์เนอร์กลับทำตรงกันข้ามคือแทนที่จะเปิดถนนให้ยนต์ แอคชั่นแรกของเทศมนตรีหนุ่มคือการเปลี่ยนถนนกลางเมืองโดยฟื้นฟูด้วยการทำให้กลายเป็นถนนสำหรับการเดิน- ซึ่งแน่นอนว่าแปลกประหลาด ทางเท้าที่กว้างขึ้น กลุ่มดอกไม้ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงทั้งจากห้างร้านและกลุ่มผู้ใช้มอเตอร์ไซค์
ทว่า 30 ปีผ่านไปรากฐานการพัฒนาเมืองด้วยการเดินนั้นทำให้ย่านเฟื่องฟู พื้นที่ห้างร้านท้องถิ่นขยายตัวขึ้นกว่า 20 บล็อกกลางเมือง ในช่วงวันหยุดเด็กๆ ออกมาวิ่งเล่นโดยมีฉากเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์อันเป็นหัวใจของเมือง
ผลงานการพัฒนาสำคัญทื่ถือว่าเป็นต้นแบบและนวัตกรรม คือระบบขนส่ง BRT (Bus Rapid Transit) ที่ลีเนอร์เสนอการพัฒนาและปรับโฉมระบบขนส่งมวลชนของเมืองในช่วงทศวรรษ 1970 ถ้ามองจากปัจจุบันระบบนั้นก็แสนง่ายและทำได้ทันทีคือการปรับให้รถเมล์มีช่องทางการเดินรถเป็นช่องทางพิเศษ มีการวางระบบโครงข่ายที่มีสถานีแยกต่างหากทำให้ผู้คนสามารถเข้าสู่ระบบขนส่งและเดินทางในโครงข่ายรถเมล์ได้อย่างสะดวกสบายได้อย่างรวดเร็ว ตัวระบบขนส่งนี้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการสร้างรถใต้ดินแต่ประหยัดทั้งเวลาและเงินทุนในการก่อสร้างใหม่ขึ้นอย่างมาก โดยตัวสถาปัตยกรรมและโครงข่าย เช่น สถานีทรงท่อ อาคารรถโดยสารที่กลายเป็นหัวใจการขนส่งของเมืองก็ได้กลายเป็นต้นแบบของเมืองอื่นๆ เช่น โบโกต้าและริโอเดอจาเนโร
นอกจากนี้ การปรับไปสู่เมืองสีเขียวยังเป็นผลงานและการปรับวิสัยทัศน์ในการนำเมืองด้วย เลอเนอร์ปรับระบบการรับน้ำด้วยพื้นที่รับน้ำและระบบท่อที่มีราคาแพง แต่เมืองคูริบิต้าเลือกที่จะทำตรงข้ามคือซื้อพื้นที่รับน้ำ (floodplain) และเปลี่ยนให้พื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นสวนสาธารณะ นอกจากตัวสวนจะช่วยรับน้ำได้แล้ว ปัจจุบันคูริบิต้าจึงกลายเป็นเมืองที่มีสัดส่วนสวนสาธารณะต่อประชากรในระดับแถวหน้าของโลก นอกจากเลอร์เนอร์เองยังร่วมออกแบบถนน สวน และทางเท้า โดยหนึ่งในโปรเจกต์สำคัญคือการสร้าง Rua XV ถนนที่ออกแบบเพื่อการเดินเท่านั้นในย่านดาวน์ทาวน์แห่งแรกของบราซิล
ในแง่ของการจัดการขยะ เลอร์เนอร์มีไอเดียเล็กๆ ในโปรเจกต์ชื่อ ‘Green Exchange’ คือในบางพื้นที่ที่เป็นชุมชนแออัดและเต็มไปด้วยตรอกซอกซอยทำให้เกิดปัญหาขยะและสิ่งสกปรก เลอร์เนอร์ออกนโยบายขยะแลกของชำและตั๋วเดินทางสาธารณะ คนจนเมืองกว่าพันคนจะได้รับถุงของชำสี่ใบที่ประกอบไปด้วยข้าวสาร ถั่ว ไข่ แครอทและกล้วยที่เมืองรับซื้อจากสินค้าส่วนเกินในราคาไม่แพง ผลคือการแลกเปลี่ยนนี้แก้ได้ทั้งปัญหาการสาธารณสุขในหลายด้านทั้งจากขยะและนำไปสู่สุขภาวะที่ดีขึ้นจากทั้งอาหารและเมืองที่สะอาดขึ้น
นอกการปรับมุมมองและลงทุนพัฒนาแล้ว สิ่งที่เลอร์เนอร์ทำคือการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและการทำงานร่วมกัน ความเป็นเจ้าของร่วมกัน เช่นระบบขนส่งสาธารณะก็เน้นร่วมมือกับการเดินรถภาคเอกชน การสร้างสวนก็มีการเปิดให้คนรุ่นใหม่เข้าไปร่วมดูแลรักษา หรือเรื่องการจัดการขยะก็มาจากการวางระบบที่ปลูกฝังแนวคิดเรื่องการรีไซเคิลให้กับผู้คน บางส่วนสัมพันธ์กับการบริหารจัดการจนเมืองเกิดความมั่นคั่ง เช่น การใช้กำไรจากการรีไซเคิลในการสนับสนุนการศึกษา ใช้รถเมล์เก่าไปสู่ห้องเรียนเคลื่อนที่ การบริหารจัดการศูนย์ฝึกอาชีพและสินค้าต่างๆ ที่หมุนเวียนกำไร
ปัจจุบัน เจมย์ เลอร์เนอร์เสียชีวิตลงแล้วเมื่อปี 2021 ด้วยวัย 83 แต่ทว่ามรดกของเลอร์เนอร์ในฐานะของสถาปนิก นักผังเมืองหนุ่ม โมเดลการบริหารจัดการ การควบรวมมุมมองและความรู้ของสถาปัตยกรรมและผังเมือง รวมถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกันเข้าสู่ออฟฟิศของนายกเทศมนตรีที่ลงมือบริหารเมืองด้วยตัวเองก็ได้กลายเป็นโมเดล เป็นความคิดที่ผู้คนกำลังศึกษาจากตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก
คอลัมน์ City Leader เป็นคอลัมน์ที่พาไปรู้จักผู้นำเมืองที่มีที่มาน่าสนใจโดยเฉพาะผู้บริหารเมืองที่มาจากสาขาวิชาด้านผังเมืองและสถาปัตยกรรม ว่าในที่สุดแล้ววิชาชีพและมุมมองจากความรู้และวิสัยทัศน์นำไปสู่การพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงที่เป็นระบบ ประกอบขึ้นด้วยความสร้างสรรค์และการมองเห็นอนาคตในการนำเมืองนั้นๆ ไปสู่เมืองต้นแบบที่เราสามารถเรียนรู้วิชาเมืองจากตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมและเกิดขึ้นจริงแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Vanat Putnark
Writer