CITY CRACKER

Urban Resilience เมืองยืดหยุ่นคืออะไร ทำไมเมืองถึงต้องยืดหยุ่น

คำว่า Resilience เป็นคำที่กำลังฮิตอยู่ในช่วงนี้ ถ้าแปลเป็นภาษาไทย Resilience ก็อาจจะแปลเป็นคำว่า ‘ความยืดหยุ่น’ เจ้าความยืดหยุ่นนี้ดูเป็นคำที่ต่อเนื่องจากกระแสเรื่องความยั่งยืน แต่ในยุคปัจจุบันที่ความเปลี่ยนแปลงและวิกฤติต่างๆ ถาโถมเข้าสู่อารยธรรมมนุษย์ ความยืดหยุ่นจึงกำลังกลายเป็นแนวคิดและคุณสมบัติสำคัญที่ทั้งเรา ทั้งเมือง รวมถึงวิถีปฏิบัติต่างๆ จะต้องรับความยืดหยุ่นเข้าไว้กับตัวเพื่อรับมือ ปรับตัว และฟื้นฟูขึ้นจากวิกฤติและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ถ้าถามว่าทำไมความยืดหยุ่นถึงสำคัญ จริงๆ ข้อเขียนในปี 2020 ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เราเองก็คงพอจะมองเห็นว่าความเปลี่ยนแปลง- วิกฤติต่างๆ ที่เข้ามากระทบกับมนุษย์เรานั้น คราวนี้วิกฤติทั้งภัยธรรมชาติ โรคระบาด ไปจนถึงปัญหาอื่นๆ ที่ ‘ถาโถม’ เข้ากับพวกเราอย่างจัง ทุกวันนี้เราทุกคนทั้งปรับตัวและนับมาจนถึงปลายปีนี้ก็เรียกได้ว่าเราเอง ค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นจากวิกฤติที่เข้ามากระทบเราอย่างช้าๆ

ดังนั้นเอง เมืองและระบบระเบียบต่างๆ ที่เรารู้สึกว่าเข้มแข็งมั่นคง อาคารคอนกรีต ระบบเศรษฐกิจ ตึกระฟ้า และอีกสารพัดวิทยาการ พอถึงจุดหนึ่งความมั่นคงยั่งยืนที่เราเคยพูดถึง เมื่อเราเจอวิกฤติในนามทั้งความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ พายุ น้ำท่วม ความเจริญเติบโตที่เราเคยยืนหยัดขึ้น ที่บางครั้งเราก็เอา ‘ธรรมชาติ’ และ ‘ความเป็นธรรมชาติ’ ออกไปจากสมการความเจริญนั้น ความแข็งแรงอันอาจรวมไปถึงความไม่โอนอ่อนผ่อนตาม ก็อาจทำให้เราขาดความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว อันเป็นคุณสมบัติที่จริงๆ แล้วไม่ได้ห่างไกลจากธรรมชาติของเราสักเท่าไหร่

 

Weather, global warming, and climate change
climate.nasa.gov

 

เมื่อเมืองก็ยืดหยุ่นได้ และควรต้องยืดหยุ่นเพื่อฟื้นฟูและปรับตัวกับสิ่งที่กำลังจะมาถึง

ถ้ามีคนถามว่าคุณเป็นคนยืดหยุ่นหรือเปล่า จริงๆ ก็เป็นคำถามที่เราใช้ประเมินเพื่อทำความเข้าใจคุณสมบัติของคนๆ หนึ่งที่พอจะเข้าใจได้ ด้านหนึ่งคำว่ายืดหยุ่นในภาษาไทยอาจค่อนไปทางคำว่า flexible แต่โดยนัยก็สัมพันธ์กับคำว่า resilience และคาบเกี่ยวกันอยู่ ทีนี้คำว่าความยืดหยุ่นอย่างหลังนั้นมีคำอธิบายที่ค่อนไปทางความสามารถในการเผชิญกับปัญหาและวิกฤติ ซึ่งก็จะเป็นมาตรวัดว่าคนๆ นั้นเวลาเจอปัญหาจะสามารถรับมือ ปรับตัวและปรับใจให้เป็นไปตามสิ่งที่มากระทบได้ดีแค่ไหน กระทั่งว่าสามารถแข็งแรงขึ้นเพื่อรับมือกับวิกฤติอื่นๆ ที่ตามเข้ามาได้หรือไม่

ในแง่นี้คำว่า resilience ในความหมายทั่วไปก็เลยฟังดูจะเป็นคุณสมบัติที่ปรากฏอยู่ในธรรมชาติของเราอยู่แล้ว อาจมากบ้างน้อยบ้างในแต่ละคน เวลาที่พูดถึงคำว่า resilience เรามักเห็นภาพใบไม้เล็กๆ ที่ผลิอยู่บนพื้นที่แปลกประหลาด หรือเห็นเป็นภาพของคนที่มีความสุขุมคัมภีรภาพ จะอกหักหรือเจอเรื่องร้ายๆ ในชีวิตก็สามารถรับมือได้ และยิ่งรับมือเรื่องที่เข้มข้นขึ้นได้ เป็นการเติบโตขึ้นทั้งทางกายและใจอย่างแข็งแรงท่ามกลางลมพายุที่พัดเข้ามา ทั้งในระดับรูปธรรมและนามธรรม

 

indesignlive.sg

ในแง่การพัฒนา ในมิติการออกแบบและการบริหารจัดการของเมือง แนวคิดเรื่องความยืดหยุ่นเริ่มกลายมาเป็นกระแส นับอย่างคร่าวๆ ก็จะเริ่มเป็นรูปธรรมปี 2012 ในตอนนั้นนักวิชาการเริ่มเสนอแนวคิดเรื่อง ‘เมืองยืดหยุ่น’ resilient city ซึ่งก่อนหน้านั้นเราอาจจะได้ยินคำว่าความยั่งยืน (sustainability) เป็นกระแสการพัฒนาหลัก แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลง ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่นอกจากจะกระทบเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกอย่างรุนแรง แทบไม่มีเมืองไหนไม่เจอกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม เราเจอกับเฮอริเคน เจอกับอุณหภูมิที่ผันผวน ธารน้ำแข็งที่ไม่เคยละลายก็เริ่มละลาย บ้านเราเองก็เจอกับสารพัดปัญหาทั้งฝุ่นควัน น้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน พฤติกรรมฝนที่เปลี่ยนแปลงไป ไปจนถึงพื้นที่ธรรมชาติอื่นๆ ที่เสียหายอย่างน่าตกใจ ทำให้เมืองใหญ่ทั้งหมดทั่วโลกเริ่มตระหนัก และออกมายอมรับว่ากิจกรรมจากวัฒนธรรมมนุษย์ โดยเฉพาะพื้นที่เมืองกำลังส่งผลกระทบต่อโลกอย่างเป็นรูปธรรม วิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นและผลักให้เราต้องปรับตัวจึงไม่ใช่แค่การปรับตัวในระดับกายภาพ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนในระดับวิธีคิด ในระดับมุมมองที่เรามองสังคมและพื้นที่ของมนุษย์ในฐานะส่วนหนึ่งของธรรมชาติและระบบนิเวศด้วย

ในห้วงเวลาของวิกฤติ คำว่ายืดหยุ่นจึงค่อยๆ มาผนวกเข้ากับคำว่ายั่งยืน ในมิติทางความหมายคำว่ายั่งยืนหมายถึงการทนทาน (to endure) คือเราค่อนข้างมองว่าเราจะจัดการทรัพยากรที่มีจำกัดให้สังคมเราเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็งได้อย่างไร แต่ด้วยมุมมองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่คราวนี้เริ่มมองว่า เฮ้ย จริงๆ เราเองก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ยิ่งใหญ่ และเราปรากฏอยู่ในโลก (planet) ที่ใหญ่โตนี้

คำว่าการยืดหยุ่นปรับตัวจึงค่อนข้างเปลี่ยนนัยของมุมมอง จากจุดยืนที่มีความยั่งยืนของมนุษย์เป็นศูนย์กลาง กลายเป็นมองตัวเราโดยวางเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลก ของธรรมชาติ ที่แน่นอนว่าธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ย่อมเข้ามากระทบกับตัวเรา เมือง หรืออาจหมายถึงทิศทางการเติบโตของมนุษย์ เราจึงต้องเริ่มจากความเข้าใจความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลง คาดคะเนและมองว่าเราจะออกแบบ หรือสร้างพื้นที่ของเราให้รับกับบริบทนั้นๆ ได้อย่างไร

 

ahbelab.com

 

เมืองยืดหยุ่น’ ภาคปฏิบัติ และความเข้าใจเรื่องบริบทเป็นสิ่งสำคัญ

แน่นอนว่าคำว่าเมืองยืดหยุ่นแม้ว่าจะเป็นคำป็อบๆ แต่ก็ถูกวิจารณ์เป็นแนวคิดที่ค่อนไปในทางนามธรรม เช่นที่ข้างต้นกล่าวว่าแนวคิดเรื่องเมืองยืดหยุ่นเป็นคอนเซปต์ที่เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญหลังโลกเผชิญวิกฤติสิ่งแวดล้อม ในปี 2012 ทาง UN (United Nations) เองก็มีโครงการเอาเรื่องเมืองยืดหยุ่นเข้ามาใช้ ภายใต้โครงการชื่อ ‘UN Habitat’s Urban Resilience Programme’ ตัวโครงการนี้นอกจากแสดงให้เห็นว่าทิศทางการพัฒนาของเมืองใหญ่สัมพันธ์กับความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังนำไปสู่การพัฒนาภาคปฏิบัติคือกรอบความคิด และเกณฑ์การประเมินความยืดหยุ่นของเมืองๆ หนึ่ง (City Resilience Profiling Programme (CRPP)

โครงการของ UN Habitat ภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเริ่มมองว่าเมืองหรือพื้นที่อยู่อาศัยที่เราเติบโตขึ้นมาก่อนหน้านี้อาจไม่ตอบโจทย์ และนำไปสู่ความขัดแย้งและภาวะขาดแคลนในท้ายที่สุด  ผลคือทางโครงการมีทั้งการวางกรอบการประเมินซึ่งก็วัดประเมินจากว่าเมืองๆ หนึ่งสามารถรับมือและปรับตัวจากวิกฤติต่างๆ ได้ดีมากน้อยแค่ไหน ในระดับเมืองจะเน้นไปที่การปรับแนวทางการพัฒนาเมือง สามารถบอกได้ว่าตัวเองมีจุดอ่อนตรงไหนและสามารถปรับตัวรับเข้ากับความเสี่ยงนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

ข้อค้นพบสำคัญจากการประชุมเรื่องเมืองยืดหยุ่น ทาง UN ได้ข้อสรุปสำคัญคือ เมืองในทศตวรรษที่ผ่านมาไม่ตอบโจทย์กับวิกฤติและความเปลี่ยนแปลง เมืองส่วนใหญ่ไม่มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นพื้นที่สะสมความเสี่ยง ซึ่งจากปี 2012 จนถึงปี 2020 เราเองก็ประจักษ์แก่สายตาแล้วว่า เมืองของเรากลับกลายเป็นพื้นที่ที่บ่มเพาะและส่งเสริมให้ภัยพิบัติต่างๆ หนักหนาขึ้น การออกแบบเมืองที่ไม่ดีทำให้โรคระบาดแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น กิจกรรมของเมืองที่เต็มไปด้วยความเปราะบาง น้ำท่วมบ่อยครั้งขึ้น และเมื่อท่วมแล้วทำให้กิจกรรมต่างๆ หยุดชะงัก เกิดความเสียหายทั้งในทางเศรษฐกิจและในระดับความรู้สึก ก่อความตึงเครียดและความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยมั่นคง

ในภาคปฏิบัติ แนวคิดเรื่องเมืองยืดหยุ่นที่แม้ว่าจะเริ่มมีการนิยาม อธิบาย และถกเถียงกันเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว แต่จริงๆ แนวคิดเรื่องเมืองยืดหยุ่นเป็นกลยุทธ์ที่หลายเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเมืองที่เผชิญกับวิกฤติมาก่อนมีการปรับตัวและประยุกต์ใช้เข้ากับพื้นที่ทางกายภาพกันมาหลายแห่ง เช่นเมืองรอตเตอร์ดาม (Rotterdam) ด้วยความเข้าใจพื้นที่ว่าอยู่พื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำติดกับชายฝั่งจึงมีการพัฒนาแนวคิด Water Sensitive Urban Design เข้ามาปรับปรุงเมือง หรือจีนเองก็มีการใช้แนวคิด Sponge City อันเป็นการออกแบบและใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อรับมือกับมรสุมที่พัดเข้าสู่พื้นที่ในทุกๆ ปี

 

Yanweizhou Park by Turenscape
Yanweizhou Park Credit: dezeen.com

 

ตัวอย่างสำคัญจากยุโรปและเอเชียนั้น ส่วนหนึ่งคือความเข้าใจบริบทและวัฏจักรทางธรรมชาติของพื้นที่ รอตเตอร์ดามเข้าใจผลกระทบของน้ำที่มาทั้งจากแม่น้ำ ฝน และทะเล ทำให้การระบายน้ำทำได้ยาก เมืองจึงเน้นออกแบบโดยใช้การชะลอน้ำที่ใช้ทั้งระบบ ตั้งแต่ระบบย่อยภายในบ้าน พื้นที่อาคารของรัฐ และเอกชนเพื่อช่วยชะลอน้ำ ทั้งการพัฒนาสวนหลังคาไปจนถึงการเก็บกักน้ำใต้ดิน ในขณะที่ที่ประเทศจีนมองเห็นวัฏจักรของภูมิอากาศจึงมีการออกแบบสวน และพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ เช่น สวนสาธารณะ Yanweizhou ในเมืองจินหัว (Jinhua) ฟื้นฟูปรับปรุงพื้นที่ที่ระบบนิเวศเสียไปให้กลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถร่วมรับน้ำ เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมทั้งสุขภาพของระบบนิเวศและสุขภาพของผู้คนไปพร้อมกัน

ดังกล่าวว่าแนวคิดเรื่องความยืดหยุ่นอาจไม่ใช่แนวคิดที่ใหม่จนเราไม่คุ้นเคยขนาดนั้น ถ้าย้อนไปในยุคก่อนหน้าเราเองมักจะพูดถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมที่หลายพื้นที่มีการออกแบบและดำเนินวิถีชีวิตไปตามบริบทดั้งเดิมของพื้นที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านยกสูง การสัญจรด้วยเรือ จนถึงการทำเกษตรกรรมตามคาบของฤดูกาล

แต่แน่นอนว่าการจะย้อนกลับไปสู่วิถีดั้งเดิมในบริบทร่วมสมัย ในวิถีสมัยใหม่ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการปรับตัว หรือเมืองยืดหยุ่นจึงเป็นการออกแบบที่เริ่มจากวิธีคิดเรื่องการปรับตัวให้สอดคล้องเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและวิกฤติ ซึ่งในการออกแบบนั้นต้องสัมพันธ์กับบริบทเฉพาะของพื้นที่ และบริบทของสังคมร่วมสมัย ส่วนหนึ่งอาจเป็นทั้งการเข้าใจรักษาระบบนิเวศและพื้นที่ทางธรรมชาติเดิม ผสมผสานเข้ากับงานออกแบบ ความรู้ และนวัตกรรมร่วมสมัย อันนำไปสู่เมืองและวิถีชีวิตที่เรามีความยืดหยุ่น พริ้วไหวไปตามแรงลมและสายฝนได้อย่างแข็งแรง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

nature.com

sciencedirect.com

sciencedirect.com

urbanet.infoent

ugecviewpoints.wordpress.com

inhabitat.com

citycracker.co

 

Illustration by Montree Sommut
Share :