CITY CRACKER

Pocket Park เมื่อการเปลี่ยนพื้นที่ร้างเป็นสวนเล็กๆ ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้เมือง

เมืองเป็นดินแดนที่แห้งแล้ง แม้ว่าเมืองจะเต็มไปด้วยกิจกรรมและความเคลื่อนไหวในยามค่ำคืน แต่หลายครั้งเราสัมผัสถึงความเย็นเยียบและชืดชาของป่าคอนกรีต ของเหล็กเส้น ผู้คนจำนวนมหาศาลเดินสวนกันไปมา ทิ้งไว้เพียงความรู้สึกเวิ้งว้างและว่างเปล่าให้กับเราคนเมือง

 

ฟังดูเวอร์ไปหน่อย แต่เอาจริงๆ เราก็รับรู้ถึงความแล้งภายในเมืองได้ในหลายระดับเนอะ กลางวันก็แห้ง กลางคืนก็แห้งไปอีกแบบ ในหลายเมืองใหญ่พอเมืองแห้งแล้งก็นำมาด้วยปัญหาต่างๆ มากมาย สุขภาพกายและใจของผู้คนก็ไม่ดี พอแล้งเข้ามากๆ มีแต่ตึก มีแต่ซอกมุมและซอกซอยก็เกิดปัญหาปล้นชิงตามมา ในเมืองที่มีพื้นที่แสนจะน้อย แล้วยังถูกปล่อยร้างก็เป็นปัญหา หลายประเทศจึงเริ่มเสนอแนวคิดเรื่อง pocket park สวนจิ๋วๆ ที่ใช้พื้นที่เมืองไปสู่สวน สู่การออกแบบพื้นที่ใช้งานเล็กๆ ภายในเมือง เป็นพื้นที่แห่งความอบอุ่นให้กับคนเมืองทั้งกายและใจ

เจ้า pocket park แนวคิดของมันก็เรียบง่ายตามชื่อคือสวนขนาดกะทัดรัด เป็นการใช้พื้นที่ว่างๆ เช่นมุมตึก ซอกซอย ไปจนถึงหลังคา ออกแบบเป็นพื้นที่ส่วนรวมให้คนเข้าดูและใช้งานขึ้นใหม่ ตัวสวนสีเขียวนี้ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง ทำให้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กันในพื้นที่ แถมช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้พื้นที่โดยรอบ แถมคำอธิบายด้านหนึ่งของ Pocket Park ก็ฟังดูน่ารัก เพราะชวนเรานึกถึงการซุกมือเข้ากระเป๋า นึกภาพเวลาเราเดินในเมืองแล้งๆ สวนเล็กๆ แสงไฟ และผู้คนที่มารวมตัวกัน แค่นี้เราก็รู้สึกอบอุ่นหัวใจ สวนและพื้นที่สาธารณะจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองที่แข็งกระด้างทั้งหลายนุ่มนวลลง

 

Pocket park สวนที่ทำหน้าที่เหมือนกระเป๋าอุ่นใจให้คนเมือง

นอกจากความหมายของ pocket park ที่เน้นคำว่า pocket ที่หมายถึงสวนเล็กๆ ที่ไปโผล่อยู่ในพื้นที่จิ๋วๆ ภายในเมือง เช่นซอกตึก พื้นที่ว่างระหว่างอาคาร ในหนังสือ pocket park (1988) ของ Hajime Iwashita ยังนิยามความหมายของ pocket park ในมุมน่ารักๆ คือ pocket หมายถึงกระเป๋ากางเกงที่เรามักจะซุกมือของเราเข้าไปเพื่อรับความอบอุ่น สวนกระเป๋าในเมืองใหญ่นี้จึงเป็นพื้นที่แห่งความอบอุ่น ความปลอดภัยและเป็นพื้นที่พิเศษของเขตเมืองนั้นๆ ตัวพ็อกเก็ตพาร์กจึงเป็น ‘พื้นที่ทำมือเพื่อความอบอุ่น’

 

Paley Park สวนกระเป๋าแห่งแรกจากนิวยอร์ก

คำอธิบายที่เฉพาะเจาะจงของ pocket park นอกจากเป็นสวนในระดับความรู้สึกแล้ว คำนี้มักใช้พูดถึงการออกแบบพื้นที่ว่างๆ ท่ามกลางตึกสูงที่ไมได้ใช้งานให้เป็นสวนสำหรับสาธารณะชนคนทั่วไปเข้าไปใช้งานได้ Paley Park ในนิวยอร์กถือกันว่าเป็นพ็อกเก็ตพาร์กแห่งแรก ตัวสวนนี้ตั้งอยู่ย่านกลางเมืองในแมนฮัตตัน ได้รับการออกแบบโดย Zion Breen Richardson Associates เป็นสวนจิ๋วที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนโอเอซิสกลางเมืองใหญ่ มีน้ำตก ต้นไม้ และเก้าอี้ให้คนผ่านไปผ่านมาเข้ามาใช้งาน

 

เล็ก-ใหญ่ก็ใช้ได้

พ็อกเก็ตพาร์กจะอยู่ในเมือง ชานเมือง หรือชนบทก็ได้ จะเป็นที่ดินของใครก็ได้ สวนขนาดเล็กนี้จะอยู่ที่มุมเล็กๆ ของตึก ของที่ร้างที่ใหญ่ขึ้น หรือกระทั่งเป็นพื้นที่บนหลังคาที่เปิดให้สาธารณะเข้าใช้งานได้ ด้วยความที่พื้นที่เล็กอาจไม่ได้นำไปสู่กิจกรรมแบบสวนขนาดใหญ่ หน้าที่หลักของพ็อกเก็ตพาร์ก คือการมีพื้นที่ให้เราได้นั่งนอกอาคารบ้าง มีต้นไม้ใบหญ้า หรือบางแห่งอาจออกแบบเป็นสนามเด็กเล่นขนาดเล็กก็ได้

 

ยิ่งเดินใกล้ ยิ่งมีประโยชน์

มาสู่เรื่องธรรมดาของการมีพื้นที่สีเขียว เรามองสีเขียวๆ เราก็รู้สึกผ่อนคลาย ในปี 2003 มีงานศึกษาพบว่าคนที่อาศัยอยู่ในระยะ 300 เมตรของพื้นที่สีเขียวมีแนวโน้มจะมีความเครียดน้อยกว่า และยิ่งไปกว่านั้นถ้าอยู่ไกลจากพื้นที่สีเขียวเกิน 1 กิโลเมตร คนหรือ ครอบครัวนั้นๆ ก็มีแนวโน้มจะมีสุขภาพโดยรวมแย่กว่า เราอนุมานได้ว่าคนเมืองเมื่อเริ่มมีความเครียดก็จะเริ่มแวะไปหย่อนใจที่สวน ในงานสำรวจของเนเธอแลนด์รายงานว่าการเข้าถึงสวนส่งผลกับการรับมือความเครียดและภาวะอ้วนมากกว่ากลุ่มที่เข้าถึงพื้นที่สีเขียวไม่ได้ ดังนั้นด้วยความที่เมืองคับแคบ ราคาที่ก็แพง การหยอดสวนเล็กๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงจึงเป็นอีกหนทางในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวพร้อมเพิ่มสุขภาพของผู้คนและเมืองใหญ่นั้นๆ

 

ผู้คนในพื้นที่เล็กๆ ช่วยลดความเงียบและความเหงาของเมืองใหญ่

การออกแบบพ็อกเก็ตพาร์ก อาจไม่ได้เป็นแค่สวนอย่างที่เรานึกภาพอย่างเดียว บางครั้งพ็อกเก็ตพาร์คคือการออกแบบพื้นที่หย่อนใจเล็กๆ เช่นการวางเก้าอี้ งานออกแบบ วางโขดหิน หรือของเล่นเด็ก ประกอบกับสนามหญ้าและความร่มรื่น ปลายทางหนึ่งของพ็อกเก็ตพาร์คคือการสร้างพื้นที่ที่คนเมืองเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน เมืองเช่นนิวยอร์กเองก็เริ่มไปสร้างคาเฟ่เล็กๆ ไว้ในที่จอดรถร้าง ในอังกฤษเองก็จัดจุดทานข้าวไว้ที่ริมถนน หรือที่ปักกิ่งมีลานและอุปกรณ์สำหรับออกกำลังและเต้นแอโรบิคให้กับผู้ใหญ่ในเมือง ดังนั้นเอง สวนจิ๋วเหล่านี้จึงทำหน้าที่รวมคนเมืองเข้าหากัน ช่วยลดความเหงาในเมืองลงได้บ้าง

 

ไม่รก ไม่ร้าง ไม่มีปัญหา

คิดอย่างง่ายๆ ถ้าที่ที่เคยร้างๆ มืดๆ กลายเป็นสวน อย่างน้อยก็ย่อมทำให้บรรยากาศเมืองดีขึ้น เป็นพื้นที่ที่เอื้อกับอาชญากรรมได้น้อยลง ที่รัฐเพนซิลเวอร์เนียมีโครงการทำพื้นที่ร้างๆ ให้เขียวสดใสขึ้นตั้งแต่ปี 1999 ตัวโครงการนี้เป็นการลงพื้นที่และทำสวนขึ้นจากที่ร้างแบบง่ายๆ งบน้อยๆ เริ่มจากการเคลียขยะ ปูหญ้า ล้อมรั้วไม้แบบบ้านๆ เป็นพื้นที่สร้างและดูแลรักษาแบบง่ายๆ ภายหลังมีการศึกษาโดยใช้ข้อมูลจากกรมตำรวจฟิลาเดลเฟียพบว่าพื้นที่ร้างที่ถูกทำให้สดใสขึ้น ส่งผลต่ออาชญกรรม เช่นการยิงกันไปจนถึงการทำลายข้าวของน้อยกว่าพื้นที่ร้าง และแน่นอนว่าพื้นที่ที่มีสวนเขียวเพิ่มขึ้นส่งผลบวกต่อความเครียดและสุขภาพของคนเมือง

 

สวนกระเป๋าที่เป็นกระเป๋าเงิน

สุดท้ายปลายทาง การมีสวนเขียวๆ มีคนที่หัวใจเบิกบาน มีการรวมตัว ทำกิจกรรมของผู้คน แถมอาชญกรรมก็ลดลง แน่นอนว่าด้วยกิจกรรมคึกคักแบบนี้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของมูลค่าที่ดิน ช่วงก่อนนี้ที่สหรัฐฯ เผชิญวิกฤติซับไพร์ม นักวางผังเมืองที่ลอสแอนเจลิส จัดการเอาอสังหาฯ พังๆ ถูกปิดตายและกลายสภาพให้กลายเป็นพ็อกเก็ตพาร์ก ผลคือทำให้ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ใกล้ๆ มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

researchgate.net

smartcitiesdive.com

ayresassociates.com

smh.com.au

npr.org

 

Illustration Thitaporn Waiudomwut

 

Share :