ฮัลโลวีนก็ต้องว่าด้วยเรื่องผีและเรื่องสยองขวัญ แต่ก่อนจะเป็นผีได้ก็ต้องผ่านความตายกันก่อน ดังนั้นแล้ว พื้นที่สำหรับความตายจึงเป็นอีกหนึ่งงานออกแบบที่เมืองควรให้ความสำคัญ ทั้งในแง่ของความเชื่อ ศาสนา และการระลึกถึง ตลอดจนปลอบประโลมจิตใจของผู้ที่ยังอยู่
เมื่อมองในแง่มิติของเมืองและงานออกแบบ การจัดการศพ พื้นที่ฝัง ตลอดจนวิธีการย่อยสลายร่างที่ไม่ใช้งานแล้ว เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เมืองควรจัดหาพื้นที่หรือวิธีการที่คนในเมืองสามรถเลือกใช้ได้อย่างพึงพอใจ โดยหลายเมืองก็เริ่มปรับวิธีการในการจัดการเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ยั่งยืนกับธรรมชาติ และ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการระลึกถึงคนที่เรารัก เนื่องจากมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการฝัง อีกทั้งการเผาเองก็ทำให้เกิดมลภาวะภายในเมือง นำมาสู่วิธีการทางเลือกต่างๆ ที่ยั่งยืน รักษ์โลก และเรียบง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้เทคโนโลยี หรือพื้นที่ทางเลือกที่ใช้พื้นที่ขนาดเล็กลง ตลอดจนการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อนำมาส่วนที่เหลือของคนที่รักให้อยู่กับเรา ธรรมชาติ ตลอดจนสร้างประโยชน์อื่นๆ หลังความตาย
เพราะความตายเป็นเรื่องที่เราไม่อาจหลีกหนี City Cracker ชวนดูหนทางอีกหลายๆ รูปแบบที่เราสามารถเลือกไว้ได้ก่อนความตายจะมาถึง ว่าท้ายที่สุดแล้วเราอยากพาร่างของเรา หรือเถ้ากระดูกของเราให้ไปอยู่ที่ไหน ผ่านงานออกแบบพื้นที่และงานดีไซน์ เช่น ตายแล้วไปเป็นปุ๋ย ไปเป็นหนึ่งเดียวกับสวนและต้นไม้ ไปอยู่ด้วยกันใต้ท้องทะเล รวมถึงห้วงอวกาศกว้างใหญ่อีกด้วย อีกทั้งชวนไปดูเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้คนที่เรารักยังอยู่กับเราในรูปแบบต่างๆ และมอบประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งให้กับโลกใบนี้
อยู่กับสวน นอนกับพื้นดิน
หลังจากจบการฌาปนกิจ ร่างกายก็เหลือเพียงเถ้ากระดูก ให้นำมาโปรยในแม่น้ำหรือทะเล แต่ก็มีแนวคิดที่ว่าการโปรยเถ้าลงทะเลนั้นเป็นสถานที่ที่เราไม่สามารถหวนกลับไปหาผู้ที่เรารักได้ พื้นที่สวนสาธารณะของเมืองก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในการใช้พื้นที่อย่างสวนสาธารณะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการกับความตาย โดยหลายๆ เมืองได้ปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นพื้นที่สวนให้เป็นมากกว่าสวนสาธารณะสำหรับคนเป็น แต่เป็นที่อยู่ตลอดไปของผู้ที่จากไปด้วย
ตัวอย่างหนึ่งคือ ประเทศสิงคโปร์ กับโปรเจกต์ Garden of peace สวนสาธารณะที่เปิดให้เป็นพื้นที่สำหรับไว้อาลัยและระลึกถึงผู้ที่จากไปโดยไม่ยึดโยงเข้ากับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เป็นพื้นที่บริการจากทางรัฐที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปโปรยเถ้ากระดูกได้และเสียค่าธรรมเนียมราว 7,500 บาท เช่นเดียวกันกับ Takoma park ที่เมืองแมรี่แลนด์ เองก็มีแนวคิดของการโปรยเถ้ากระดูก หรือฝังเถ้ากระดูกไว้ในบริเวณของสวน เพื่อเป็นสถานที่ที่เราสามารถเลือกกลับไปหาได้เมื่อเกิดความคิดถึง
เป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้ ป่าไม้
พื้นที่สุดท้ายที่เราอาจไปอยู่ได้ คือท่ามกลางพื้นที่ในธรรมชาติ เป็นส่วนเดียวกันกับต้นไม้ในป่าใหญ่ เช่นเดียวกันกับ Better places forest หนึ่งในบริการ memorial forest หรือป่าเพื่อการระลึกถึง ที่ร่วมมือกับ One Tree Planted เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2015 ในปัจจุบันมีผืนป่ากว่า 10 ผืนรอบสหรัฐฯ ที่พร้อมจะเป็นที่นอนสุดท้ายและพาร่างของเราไปฝากฝังไว้
หลักการคือการนำเอาขี้เถ้าผสมกับดินและโปรยบริเวณรอบๆ ต้นไม้ เพื่อให้กลายเป็นสว่นหนึ่งของผืนป่า และต้นไม้ โดยผู้ใช้บริการสามารถเลือกได้ว่าอยากเอาตัวเองหรือคนที่รักไปไว้กับต้นไม้ใด หรือกลุ่มต้นไม้ใด รวมถึงการนำเอาเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นของต้นไม้และดอกไม้โปรยบนดิน โดยบริการนี้ยังรวมไปถึงสัตว์เลี้ยงที่เรารักอีกด้วย ต้นไม้พวกนี้จึงเปรียบเสมือนความทรงจำที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต ยามเมื่อหวนนึกถึงคนที่เรารักก็จะสามารถแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียนได้เสมอ อย่างไรก็ตาม ค่าบริการของการโปรยอัฐของต้นไม้หนึ่งต้นจะอยู่ที่ 200,000 แสนบาท รวมประกอบพิธีกรรมและต้นไม้แล้ว นอกจากจะเปลี่ยนพื้นที่ย่างหลุมฝังศพ ก็เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ที่ให้ความร่มรื่นอย่างต้นไม้กลางป่าแทน พร้อมกันนั้นยังช่วยให้อากาศและระบบชีวิตนิเวศของโลกดีขึ้นอีกด้วย
เป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ
ตายแล้วไปเป็นปุ๋ยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต ผ่านเครื่อง Urban Death Core อาคารสูง 3 ชั้นขนาด 7 เมตร บน recomposition center เพื่อคืนร่างเรากลับสู่ธรรมชาติอีกครั้งหลังความตาย โดยเจ้าเครื่องนี้จะพาร่างของเราผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ค่อยๆ ย่อยสลายร่างให้กลายมาเป็นปุ๋ยสำหรับการปลูกพืชต่อไป
ไอเดียย่อยศพให้เป็นปุ๋ยนี้เป็นไอเดียจาก Katrina Spade เจ้าของโปรเจกต์ Urban Death ที่ตั้งใจเปิด พื้นที่อย่าง Recomposition center ที่ซีแอตเทิล โดยคาดว่าจะเปิดให้ใช้บริการได้ในปี 2023 โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง Katrina Spade และนักวิทยาศาสตร์ทางดิน เพื่อสร้าง eco-minded use ผ่านงานศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการดีไซน์อาคาร และระบบการจัดการต่างๆ โดยแรกเริ่มทดลองกับซากปศุสัตว์ก่อนจะเริ่มใช้ร่างมนุษย์จริง โดยกระบวนการเปลี่ยนร่างให้เป็นปุ๋ยนี้คาดว่าจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 6 อาทิตย์ด้วยกัน เมื่อกระบวนการเปลี่ยนให้กลายเป็นปุ๋ยและดินเสร็จสิ้นลง ทางญาติก็สามารถพาปุ๋ยและดินกลับบ้านได้ ซึ่งตรงนี้ทางนักออกแบบก็ตั้งใจจะสื่อสารถึงความตายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการปล่อยวาง นอกจากนี้ทีมนักออกแบบยังปรับให้อาคารและพื้นที่นี้เปิดเป็นพื้นที่สวนสาธารณะอีกด้วย
ไปเป็นปะการังในท้องทะเล
การโปรยเถ้ากระดูกไปกับน้ำ เป็นอีกวิธีที่เรามักคุ้นเคยกัน แต่ยังอีกวิธีหนึ่งคือการเปลี่ยนเถ้ากระดูกให้อยู่กับน้ำได้นานขึ้นพร้อมทั้งยังเกิดประโยชน์แก่ระบบชีวนิเวศใต้น้ำด้วยการเป็น Reef ball burials คือการเปลี่ยนส่วนหนึ่งของเถ้ากระดูกให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของท้องทะเล
ปะการังเทียม หรือ reef ball นี้คือบริการขององค์กรการกุศล Eternal Reef จากฟลอริด้า โดยแนวคิดแรกเริ่มมาจาก Janet Hook ทันตแพทย์และนักดำน้ำที่ผูกพันธ์กับท้องทะเล เธอออกไอเดียถึงความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของท้องทะเลตลอดไป นั่นจึงนำมาสู่การการเปลี่ยนส่วนหนึ่งของเถ้ากระดูกเป็นโครงสร้างของปะการังเทียม ให้กลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ สร้างที่อยู่ให้แก่สิ่งมีชีวิตใต้น้ำอีกต่อไป ปะการังเทียมนี้สามารถสร้างประโยชน์ให้กับโลกใต้น้ำ ช่วยแก้ปัญหาใต้ท้องทะเลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ค่าความเป็นกรด-เบสที่เปลี่ยนไป ตลอดจนปัญหามลภาวะและขยะต่างๆ การเพิ่มปะการังเทียมนี้จะเป็นการเพิ่มที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ ในปัจจุบันมี 3,000 memorial reef ball กว่า 25 พื้นที่ในเท็กซัส
ตายแล้วไปอวกาศ
ถ้ามหาสมุทร ทะเล สวน และป่ายังไม่เพียงพอต่อการตายอย่างยิ่งใหญ่ เราสามารถส่งเถ้ากระดูกไปยังอวกาศได้ โดยบริการนี้สามารถนำพาเถ้ากระดูกของคนที่เรารักไปได้ไกลยันดวงจันทร์ หรือจะอยู่แค่บริเวณชั้นบรรยากาศของโลกก็ได้เช่นกัน
ไอเดียของการลอยอังคารบนอวกาศนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งในงานเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ครั้งแรกเริ่มของการน้ำเถ้ากระดูกไปปล่อยที่นอกโลกเกิดขึ้นจริงๆ คือเมื่อปี 1992 ที่นาซ่าได้พาเถ้ากระดูกของ Roddenbury นักเขียนบทจาก star trek ขึ้นไปยังอวกาศและพากลับมายังโลก หลังจากนั้นจึงเกิดเป็นธุรกิจลอยอังคารในอวกาศตามมาทีหลังในปี 2022 โดยมี 2 บริษัทหลักที่จัดหาบริการนี้ไว้ให้เราได้ คือ Celestis และ Beyond Burials ในแต่ละครั้งเราสามารถนำเถ้ากระดูกขนาดประมาณ 1-3 กรัมใส่เข้าไปกับยานอวกาศ นำส่งขึ้นไปยังนอกโลก เมื่อถึงความสูงที่มากเพียงพอยานอวกาศจะเปิดและปล่อยเถ้ากระดูกกระจายออกมาในห้วงอวกาศ แต่ยังสามารถคงบางส่วนกลับมาสู่โลกได้ สำหรับบริการนี้เปิดเป็นแพคเกจต่างๆ ตามความสูง พื้นที่ หรือสิ่งที่พาขึ้นไปด้วย โดยแต่ละแพคเกจก็จะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป
เป็นกระถางต้นไม้
การเก็บโกศเถ้ากระดูกของคนที่รักไว้ในบ้านเป็นเรื่องที่ปกติ แต่ก็มีอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ช่วยให้การเก็บเถ้ากระดูกในโกศสร้างประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิม นั่นก็คือ Bio Incube ที่เปลี่ยนจากโกศปกติให้กลายเป็นกระถางต้นไม้ ผ่านการผสมเถ้ากระดูกเข้ากับดินที่อยู่ด้านใต้ พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถรดน้ำได้ด้วยตัวเองและติดตามผลการเติบโตผ่านแอพพลิเคชั่นได้
ไอเดียนี้ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1997 จากนักออกแบบชาวสเปน Gerard Moliné ที่ร่วมมือกับน้องชายก่อนจะปล่อยผลิตภัณฑ์อออกมาในช่วงปี 2013 จุดประสงค์ของโปรเจกต์นี้คือต้องการสร้างทางเลือกใหม่ของชีวิตหลังความตายให้แก่ผู้คนในเมือง หลักการทำงานของตัว Bio incube เป็นระบบ built-in self-watering โดยน้ำในโกศสามารถไหลเวียนออกมาเองได้ ผ่านการจับเซ็นเซอร์ของดินที่อยู่ในกระถาง พร้อมทั้งยังสามารถคำนวนปริมาณน้ำ แสงไฟ และระบบอากาศรอบๆ โดยเราสามารถติดตามผลการเติบโตของต้นไม้ได้จากสมาร์ตโฟน
ตัวโปรเจกต์นี้ไม่เพียงแต่ต้องการเปลี่ยนการใช้งานของโกศเถ้ากระดูกให้เกิดประโยชน์ในบ้าน ด้วยแนวคิดของการใส่ใจและดูแลธรรมชาติเท่านั้น แต่ทางทีมนักออกแบบยังต้องการเปลี่ยนความคิดและการรับรู้เกี่ยวกับความตาย ว่าท้ายที่สุดแล้วชีวิตคือการเปลี่ยนแปลงและหวนกลับคืนสู่ธรรมชาติ ตลอดจนเป็นการไม่สร้างความเศร้าที่มากเกินไปและเป็นอีกวิธีหนึ่งในการจดจำชีวิตของคนที่จากไปในอีกรูปแบบหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
dezeen.com/sustainable-coffins-death/
dezeen.com/grams-sex-toy-contains-ashes-of-dead-partner-mark-sturkenboom
dezeen.com/bios-incube-biodegradeable-urn-cremation-ashes-trees/
Graphic Designed by Montree Sommut
- Pharin Opasserepadung
Writer