CITY CRACKER

Sponge City: ดูแนวคิดเมืองฟองน้ำของไทเป เมืองที่ฝนตก (เกือบ) ตลอดเวลา

ข้อสังเกตหนึ่งของผู้เขียนหลังจากมาอาศัยอยู่ที่เมืองไทเป ประเทศไต้หวันกว่าครึ่งปี คือการพบว่าฤดูกาลและสภาพอากาศในแต่ละวันส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้พบบ่อยนักตอนอยู่ที่กรุงเทพฯ อากาศที่ไทเปเปลี่ยนแปลงบ่อย ในระดับที่เราต้องคอยหมั่นเช็คพยากรณ์อากาศทุกวันหรือทุกชั่วโมง เพื่อจะได้วางแผนว่าวันไหนเราควรจะซักผ้า หรือวันไหนเหมาะจะออกจากบ้าน

สิ่งที่น่าสนใจ คือต่อให้แดดจะจ้าหรือพายุมา คนไทเปก็ยังรับมือกับสภาพอากาศทุกรูปแบบได้โดยไม่ต้องปรับตัวอะไรมากนัก เพราะฤดูฝนของไทเปกินระยะเวลานานกว่า 5 เดือน (พฤษภาคม – กันยายน) บวกกับพายุไต้ฝุ่นที่มักจะพัดเข้ามาทักทายเกาะไต้หวันไม่ต่ำกว่าปีละ 3 ลูก สิ่งนี้จึงส่งผลต่อการออกแบบกายภาพเมือง และนโยบายการพัฒนาเมืองไทเปให้สามารถต้านทานน้ำท่วม (Flood Resilience) อย่างแยกไม่ออก

 

windowseat.ph

ดูดซับน้ำตามหลักการ Sponge City

ในเมื่อฝนตกกับไทเปเป็นของคู่กัน สิ่งที่เทศบาลนครไทเป (Taipei City Government) ทำร่วมกับภาคเอกชนเลยไม่ใช่แค่การออกแบบอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างตามหลักการป้องกันอุทกภัย (Flood Protection) ที่มุ่งป้องกันไม่ให้น้ำเข้ามาในพื้นที่เมือง แต่เน้นรับมือในรูปแบบการปรับตัวต่ออุทกภัย (Flood Adaptation) ด้วยการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวในเมือง ต้นไม้ใหญ่ และปรับกายภาพเมืองเพียงเล็กน้อยตามหลักการ ‘Sponge City’ ที่ผลักดันให้เป็นนโยบายเมืองมาตั้งแต่ปี 2015 ตอบรับกับแนวทาง Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งหลายเมืองทั่วโลกก็เริ่มใช้แนวคิดเดียวกันนี้กับการจัดการน้ำท่วมในเมืองแล้วเช่นกัน

ในแง่ภูมิศาสตร์ ไทเปมีลักษณะคล้ายคลึงกรุงเทพฯ 2 อย่าง คือมีพื้นที่ใจกลางเมืองเป็นพื้นที่ต่ำ ความสูงแค่ 5-10 เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีแม่น้ำตั้นสุย (Tamsui) ที่ไหลจากมหาสมุทรแปซิฟิกทางเหนือของเมือง คั่นเมืองออกเป็นสองฝั่ง บวกกับเมืองทางฝั่งตะวันตกยังตั้งเลียบไปกับแม่น้ำจี้หลง (Keelung) และแม่น้ำซินเตี้ยน (Xindian) ซึ่งทำให้พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำในไทเปต้องทำหน้าที่รองรับน้ำที่เอ่อล้นจากแม่น้ำ และช่วยป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ใจกลางเมืองด้วยเช่นกัน เทศบาลนครไทเปจึงเริ่มต้นจัดการน้ำท่วมในเมืองด้วยแนวคิดการป้องกันอุทกภัย อย่างการสร้างกำแพงกั้นน้ำความสูงหลายเมตรริมแม่น้ำทั้ง 3 สาย การผันน้ำฝนลงอุโมงค์ใต้ดิน และการจัดสรรพื้นที่ริมแม่น้ำให้เป็นแหล่งรองรับน้ำ (Detention Pond) อย่างที่ทุกเมืองทำกัน

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่พายุไต้ฝุ่น Nari พัดเข้าไทเปเมื่อปี 2001 จนสร้างความเสียหายกว่า 40 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวัน ได้พิสูจน์ว่าการพึ่งพาแค่โครงสร้างป้องกันน้ำอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ หากเมืองต้องเผชิญกับพายุไต้ฝุ่น หรือฝนตกหนักเฉียบพลันจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาส (Climate Change) ที่โลกกำลังเผชิญอยู่

blockdit.com

 

เปลี่ยนพื้นถนนให้น้ำสามารถซึมผ่านได้

Sponge City Taipei คือนโยบายที่เทศบาลนครไทเปผลักดันเพื่อใช้สำหรับจัดการน้ำในเมืองด้วยสามแนวคิดหลัก คือการปรับตัวและอยู่ร่วมกับน้ำ (Resilient Water Adaptation) การใช้น้ำอย่างยั่งยืน (Sustainable Water Usage) และการส่งเสริมคุณภาพของสิ่งแวดล้อมน้ำ (A Vibrant Water Environment) โดยโจทย์ใหญ่คือการคิดว่าจะทำอย่างไรให้เมืองไทเปชั้นในมีศักยภาพในการต้านทานน้ำท่วมในฤดูฝนหรือฤดูมรสุม ทั้งยังสามารถดึงน้ำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ (absorb, drain and purify water) โดยไม่ต้องสร้างโครงสร้างกั้นน้ำใหญ่โต หรือปรับพื้นที่ใจกลางเมืองให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ

หนึ่งในวิธีการที่ลงทุนน้อย แต่ได้ผลดีมากคือการเปลี่ยนพื้นถนน และทางเท้าในเมืองให้มีพื้นผิวเป็นรูพรุน หรือพื้นที่สามารถให้น้ำซึมผ่าน (Permeable Pavement) ด้วยการใช้วัสดุอย่าง PAC (Porous Asphalt Concrete) ที่สามารถซึมซับน้ำฝนลงไปยังใต้ดินได้ ซึ่งหลายครั้งที่ฝนตกในไทเปเราจะไม่เห็นน้ำท่วมขังในเมืองเลย วิธีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แถมยังเป็นหลักการจัดการน้ำฝนในเมือง (Urban Stormwater Management) ที่ยั่งยืนมากอีกด้วย

ในปี 2015 – 2018 เทศบาลนครไทเปเปลี่ยนพื้นถนน ทางเท้า เลนจักรยาน สนามกีฬาโรงเรียน ไปจนถึงพื้นลานจอดรถสาธารณะทั่วเมืองกว่า 173,819 ตารางเมตร หรือขนาดเท่ากับสนามบาสเกตบอล 417 สนามให้เป็นเหมือนฟองน้ำคอยดูดซึมน้ำ ซึ่งพื้นเหล่านี้สามารถช่วยลดปริมาณน้ำฝนที่เอ่อล้นในเมืองได้ถึง 7.3-17.85% ในวันที่ฝนตก โดยน้ำฝนที่ดูดซึมได้จากในสวนสาธารณะยังถูกนำไปหมุนเวียนใช้ต่อในระบบน้ำของสวน และบางส่วนก็ถูกนำไปใช้ในโรงเรียนประถมหลายแห่งทั่วไทเป นอกจากนี้ในฤดูร้อนที่อุณหภูมิอาจแตะไปสูงกว่า 36 องศาเซลเซียส พื้นฟองน้ำยังช่วยลดอุณหภูมิพื้นผิวถนนลงได้ถึง 2.05 – 3.53 องศาเซลเซียส การออกแบบนี้จึงเป็นระบบจัดการน้ำในเมืองที่เหมาะสมมากสำหรับเมืองที่ต้องเผชิญทั้งแดดแรงจ้าและพายุฝนอย่างไทเป

 

medium.com

 

เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง เพิ่มพื้นที่ดูดซับน้ำฝน

Garden City หรือการเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวในเมือง เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เทศบาลนครไทเปผลักดันอย่างจริงจัง เพราะสวนสาธารณะหรือต้นไม้ ไม่เพียงให้ร่มเงาและเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่ยังช่วยดูดซับน้ำฝนลงใต้ดิน และมีประโยชน์ต่อการลดมลภาวะทางอากาศและทางเสียง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ชาวไทเปขยันออกมาใช้ชีวิตสาธารณะนอกบ้านกันอย่างน่าชื่นชม นอกจากกายภาพของอาคารที่มักออกแบบให้มี Cover Way หรือชานหลังคายื่นออกมาปกคลุมตลอดทางเดินแล้ว ทางเดินใต้ร่มไม้เขียวครึ้มยังช่วยให้อุณหภูมิในเมืองลดลง แม้บางวันในไทเปจะอากาศร้อนใกล้ 40 องศาเซลเซียส แต่เราก็ยังรู้สึกว่าการเดินเท้าไม่ร้อนและเหนื่อยเกินไป

พื้นที่สีเขียวในไทเปมีมากมาย ตั้งแต่สวนป่าใจกลางเมืองอย่างสวนสาธารณะต้าอัน (Daan Forest Park) สวนขนาดเล็กใต้พื้นที่ทางด่วน ไปจนถึงภูเขาลูกเล็กลูกใหญ่สำหรับให้คนเมืองนั่งรถไฟใต้ดินปีนเขาขึ้นไปสัมผัสธรรมชาติ นอกจากนี้พื้นที่สีเขียวริมแม่น้ำบางแห่งยังเป็นแหล่งเรียนรูธรรมชาติชั้นดีให้กับเด็กๆ อย่างที่อุทยานธรรมชาติกวนตู้ (Guandu Nature Park) หรือ Tamsui River Mangrove Nature Reserve ป่าโกงกางทางเหนือริมแม่น้ำตั้นสุ่ย ที่ปลูกฝังให้เด็กไต้หวันเข้าใจคุณค่าของพื้นที่สีเขียว และเชื่อมโยงตัวเขาเข้ากับธรรมชาติและเมืองที่อาศัยอยู่

ไทเปจึงเป็นเมืองที่ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้าและความเท่าเทียมกันกับธรรมชาติ และสิ่งนี้เองที่จะพาไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

Batica, Jelena & Hu, Fang-yu & Gourbesville, Philippe. (2012). Flood resilience and urban systems: Nice and Taipei case studies.https://www.researchgate.net/publication/257343508.

Taipei City Government. (2018). 臺北市年鑑 2017 (Taipei Yearbook 2017).http://ebook.taipei.gov.tw/yearbook/2017/.

Taipei City Government. (2019). 2019 Taipei City Voluntary Local Review.http://sdg.gov.taipei/page_en/eng_area3/40.

 

Illustration by Montree Sommut
  • Phanuphan Veeravaphusit

    นักศึกษาปริญญาโทด้าน Urban Governance ที่ประเทศไต้หวัน สนใจเรื่องพื้นที่สาธารณะและการออกแบบเมืองเพื่อสนับสนุนศิลปะและวัฒนธรรม

Share :