บริบทที่ตั้งเมืองของจีนนั้นมีความสัมพันธ์กับน้ำ ทั้งลักษณะภูมิประเทศและลักษณะทางภูมิอากาศ เช่นเดียวกับไทยที่นอกจากพื้นที่ทางภูมิประเทศตั้งอยู่ในเขตมรสุม มีฝนตก และมีปริมาณน้ำฝนสูง การเติบโตของเมืองทั้งของจีนและไทยเองก็สัมพันธ์กับแม่น้ำและมีน้ำเป็นแก่นสำคัญ ยิ่งพื้นที่ธรรมชาติถูกแทนด้วยคอนกรีต ส่งผลให้เมืองไม่มีพื้นที่ในการรับน้ำ เมื่อเข้าสู่ฤดูน้ำหลากปัญหาที่ตามมาจึงเป็นเรื่องน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายในทุกๆ ปี
ต้นศตวรรษที่ 20 โลกเริ่มเข้าสู่ยุครุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ เมืองทั่วโลกได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ชีวิตที่เคยดำเนินอยู่กับธรรมชาติ มีป่าไม้ใบหญ้าห้อมล้อม ก็กลายมาเป็นเมืองคอนกรีตที่เต็มไปด้วยตึกสูงและอุตสาหกรรม ไม่มีพื้นที่สีเขียวช่วยกรองอากาศ ไม่มีพื้นที่ร่มรื่นให้ได้พักพิง ไม่มีตัวช่วยสำหรับรองรับระบบระบายน้ำ หรือชะล้างมลพิษก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่ธรรมชาติ นำมาสู่ปัญหามากมายโดยเฉพาะฝุ่นควัน น้ำท่วม ภัยแล้ง และปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาด ยิ่งช่วงหลังสมดุลของธรรมชาติเริ่มรวน โลกประสบภัยต่างๆ ก็ยิ่งเป็นปัญหาที่ท้าทายความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ
เมื่อเมืองสมัยใหม่ ตึกสูง และป่าคอนกรีตไม่สามารถรับมือกับความเป็นไปของธรรมชาติได้ จึงเป็นภารกิจที่หลายเมืองทั่วโลกพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไป และการนำธรรมชาติกลับเข้ามาอยู่ร่วมกับคน ปรับเมืองให้เป็นพื้นที่ทั้งของคนและธรรมชาติก็อาจเป็นหนทางที่ยังพอมีหวัง ซึ่งประเทศมหาอำนาจเช่นจีนที่มีลักษณะทางภูมิประเทศ และวิถีชีวิตสัมพันธ์กับน้ำคล้ายๆ ไทย ในเชิงนโยบาย จีนได้นำแนวคิดเมืองฟองน้ำ (Sponge City) มาปรับใช้กับการออกแบบเมือง เพื่อให้พื้นที่เช่นสวนสาธารณะในเมืองกลายเป็นฟองน้ำหรือสวนฟองน้ำ (Sponge Park) ที่ทำหน้าที่ดูซับและปรับสภาพ อันเป็นการใช้น้ำเจ้าปัญหาที่เคยสร้างความเสียหายมาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข
‘Sponge Park’ ปรับเมืองเป็นฟองน้ำผ่านสวนสาธารณะสีเขียว
สวนฟองน้ำ (Sponge Park) คือหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวจากแนวคิดเมืองฟองน้ำของจีน เริ่มมาจากหยู กงเจียน (Yu Kongjian) ภูมิสถาปนิกจาก Turenscape ได้มองว่าเมืองสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ จากปัญหาน้ำที่เริ่มท่วมไปยังพื้นที่ต่างๆ ของเมือง หยูจึงได้ทดลองนำแนวคิดโบราณของจีนคือใช้ธรรมชาติเข้าแก้ไขปัญหาเชิงนิเวศ ใช้คุณสมบัติของฟองน้ำมาปรับใช้กับการออกแบบสวนสาธารณะ เพื่อให้สวนทำหน้าที่เป็นทั้งพื้นที่ซับน้ำ และเป็นสถานที่นันทนาการของคนเมือง
หยูได้ก่อตั้งสตูดิโอ Turenscape ขึ้นมาเพื่อโปรโมตโมเดลเมืองฟองน้ำไปทั่วประเทศ จนโมเดลดังกล่าวประสบความสำเร็จและกลายเป็นนโยบายการพัฒนาเมือง ปัจจุบันโครงการเมืองฟองน้ำในจีนเกิดขึ้นกว่า 30 เมือง หนึ่งในนั้นคือเมืองเศรษฐกิจเช่นปักกิ่งและเสินเจิ้น และอีกกว่า 500 โครงการทั่วโลกก็ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปปรับใช้กับบริบทเมืองเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำๆ ที่ได้เผชิญ โมเดลเมืองฟองน้ำนอกจากเป็นการออกแบบภูมิทัศน์เมืองและปรับสวนให้เป็นพื้นที่สำหรับน้ำแล้ว ยังได้ผนวกศาสตร์แขนงอื่นๆ เช่น อุทกวิทยา (Hydrology) และวิศวกรรม (Engineer) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบ แถมยังเป็นแนวคิดการพัฒนาที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดอีกด้วย
‘เมืองคอนกรีตไม่รองรับและไม่บำบัดน้ำ’ เหตุผลที่บอกว่าแนวคิดสวนฟองน้ำสำคัญ
สถานการณ์ความเป็นอยู่ของโลกเริ่มรวนเรผันผวนไป บริบทที่ตั้งของประเทศจีนเองก็สัมพันธ์กับน้ำ เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจหลายๆ เมืองตั้งอยู่บริเวณชายฝั่ง ทำให้เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมระบบรับน้ำของเมืองนั้นไม่สามารถรองรับและระบายน้ำได้ทัน บวกกับผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรม และสิ่งปฏิกูลจากวิถีชีวิตมนุษย์ เมื่อฝนตกลมพายุก็พัดสารปนเปื้อนลงสู่ลำคลอง จนในที่สุดก็กลายเป็นปัญหาโยงใยกันอย่างสลับซับซ้อน และสร้างความเสียหายทั้งต่อเศรษฐกิจและชีวิตผู้คนในเมือง แนวคิดสวนฟองน้ำ (Sponge Park) จึงถูกจัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจากน้ำ ซึ่งแนวคิดนี้ได้กลายเป็นกระแสนิยมของการพัฒนาเมืองที่หลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยได้นำเจ้าสวนฟองน้ำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ และเทรนด์การสร้างเมืองแปลงสวนในปัจจุบัน
จำลองวัฏจักรของน้ำในรูปแบบสวนฟองน้ำสีเขียว
หลักๆ เจ้าสวนฟองน้ำนี้จะทำหน้าที่ตั้งแต่ควบคุมการไหลบ่าของน้ำในเมือง เป็นเครื่องกรองมลพิษและสิ่งปนเปื้อนในน้ำ กักเก็บน้ำไว้เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งทำได้ด้วยการปรับโครงสร้างสวนเดิม และผสานองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเข้าร่วม เพื่อสร้างเป็นที่กักเก็บน้ำใต้ดิน และเน้นให้เกิดการซึมของน้ำลงสู่ดิน ประกอบกำกับนำองค์ประกอบทางธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ เช่น แหล่งน้ำธรรมชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำ บึง หรือใช้พื้นที่สีเขียวเพิ่มเติมเข้าไปในระบบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่หลากหลายในเชิงนิเวศ
แนวคิดสวนฟองน้ำคือการจำลองวัฏจักรน้ำไว้ในสวน เป็นการออกแบบสวนที่เข้าใจวงจรของน้ำเพื่ออยู่ร่วมกับน้ำได้ ซึ่งการออกแบบสวนฟองน้ำนี้คือการใช้น้ำเจ้าปัญหาเข้ามาร่วมแก้ไข ทั้งนี้แนวคิดสวนฟองน้ำจะออกแบบอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่สิ่งสำคัญต้องรู้ก่อนประเทศของตนมีลักษณะอย่างไร หากเข้าใจว่าภูมิประเทศสัมพันธ์กับน้ำ เป็นเขตมรสุม เกิดลมพายุรุนแรง การออกแบบสวนก็ต้องเน้นระบบจัดการที่รับมือกับน้ำจำนวนมากได้ หรือถ้าน้ำฝนปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลและมลพิษก่อนไหลลงสู่แม่น้ำ ก็ต้องออกแบบสวนที่สามารถกรองสิ่งสกปรกเพื่อให้นำน้ำกลับไปใช้ใหม่ได้นั่นเอง
Qunli Stormwater Wetland Park ช่วยเมืองดูดซับน้ำด้วยการเป็นฟองน้ำสีเขียว
ก่อนเราจะกลายมาเป็นมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในเมืองคอนกรีต ดำรงชีวิตใต้ร่มเงาของตึกสูง แน่นอนว่าอดีตเราเคยเป็นมนุษย์ถ้ำที่อยู่อาศัยร่วมกับธรรมชาติ ที่ตั้งเมืองที่เราอาศัยในปัจจุบันเองก็เคยเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติมาก่อน กระทั่งยุคหนึ่งเทรนด์การพัฒนาเมืองได้นำธรรมชาติแยกขาดจากชีวิตมนุษย์ คือนำเอาคอนกรีตเข้ามาแทนที่ป่าไม้ใบเขียว จนในที่สุดวิถีชีวิตของผู้คนก็เริ่มถอยห่างจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่สำหรับประเทศจีนที่ได้พยายามนำธรรมชาติให้กลับมาอยู่ร่วมกับผู้คนอย่างกลมกลืน เพราะนอกจากการนำพืชพรรณสีเขียวมาแก้ไขปัญหาฝุ่น อีกสิ่งที่จีนทำก็คือการใช้สวนที่เต็มไปด้วยสีเขียวๆ มาแก้ไขปัญหาน้ำนั่นเอง
เมื่อภูมิประเทศของจีนสัมพันธ์กับแม่น้ำ เพื่อให้เมืองอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างราบรื่น และให้น้ำสร้างความเสียหายแก่เมืองน้อยที่สุด เจ้า Qunli Stormwater Wetland Park จึงเป็นงานที่ทาง Turenscape ได้ร่วมกับรัฐบาลจีนใช้ความรู้ด้านภูมิสถาปัตกรรมมาเปลี่ยนพื้นที่เมืองฮันลี (Qunli) เมืองใหม่ในเขตฮาร์บิน ที่เคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ไม่ได้รับการใช้งาน และมีสภาพเสื่อมโทรม มาเป็นสวนสาธารณะใจกลางเมืองที่ทำหน้าที่ทั้งรองรับ จัดการน้ำ และเป็นพื้นที่นันทนาการสาธารณะของประชาชน
พื้นที่ตั้งของตัวโครงการ Qunli Stormwater Wetland Park ถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่พัฒนาที่มีความหนาแน่นและถนนสายหลัก 4 ด้าน ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการใช้งาน ถูกปล่อยทิ้งไว้จนเสื่อมสภาพ ทางรัฐบาลจีนและ Turenscape ได้รักษาและฟื้นฟูพื้นที่เดิมให้เข้ากับเมืองมากขึ้น คือออกแบบให้เป็นสวนพืชชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ที่ทำหน้าที่รับน้ำฝน กักเก็บน้ำ และเป็นฟองน้ำดูดซับน้ำ นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบพื้นที่ด้วยการเลือกพืชพรรณที่สามารถลดการไหลบ่าของน้ำ และเป็นตัวกรองมลพิษ/ทำให้น้ำสะอาด เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงต้นไม้ใบหญ้าต่อไปอีกด้วย
ในด้านการนำธรรมชาติและคนให้กลับมาอยู่ร่วมกัน ทางผู้ออกแบบได้จัดทำให้พื้นที่ภายในสวนอันเต็มไปด้วยธรรมชาติ ให้เป็นพื้นที่ที่มีทั้งทางเดินลอยฟ้า ที่ออกกำลังกาย และสาธารณูปโภคมากมาย ที่ช่วยให้ผู้คนได้สัมผัสและเดินชมธรรมชาติได้
จากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุ่มน้ำที่กำลังจะเสื่อมสภาพลงไป เจ้า Qunli Stormwater Wetland Park กลายเป็นสถานที่หย่อนใจ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและชาวเมือง จนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นสวนสาธารณะบนพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งชาติ และได้รับรางวัลจากสมาคมภูมิสถาปัตยกรรมอเมริกัน (ASLA) ในปี 2012 ซึ่งโครงการนี้ได้แสดงให้เห็นถึงทั้งแนวทางการบริหารจัดการระบบนิเวศ ที่มุ่งไปที่การออกแบบสวนสาธารณะในเมือง และวิถีชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกับน้ำได้เป็นอย่างดี
อ้างอิงข้อมูลจาก