CITY CRACKER

ปันกันกิน โครงการที่อยากเปลี่ยนความหมายของการบริจาคให้ยั่งยืนทั้งชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ในวิกฤติโควิด-19 นี้ แม้ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบ แต่เราก็ได้เห็นน้ำใจ ได้เห็นความพยายามแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็นตู้ปันสุขที่กำลังเป็นที่พูดถึง หรือการแจกอาหาร ที่ดูจะเป็นความช่วยเหลือขั้นแรกๆ ที่สามารถทำได้ ที่ช่วยให้คนที่เดือดร้อนในภาวะนี้ได้อยู่รอดไปอีกหนึ่งมื้อ

 

‘ปันกันกิน’ โดยกลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อนกินที่สนับสนุนการปลูกข้าวหอมมะลิแบบอินทรีย์ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เข้าช่วยเหลือ ด้วยการระดมทุนและ เน้นไปที่การแบ่งปันกัน มากกว่าการเป็นผู้ให้หรือผู้รับฝ่ายเดียว เช่นการทำประโยชน์แลกข้าว  และส่งเสริมให้คนในชุมชนรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่เพิ่มขยะ โดยในระยะแรกปันกันกินได้ระดมทุนและบริจาคข้าวจำนวน 3,500 กิโลกรัม ให้กับครัวกลาง 19 ครัว ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  ที่ผลิตข้าวกล่องแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในกรุงเทพ 15 เขต 208 ชุมชน โดยคาดว่าครัวกลางนี้จะผลิตอาหารไปจนถึงกลางเดือนมิถุนายนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงนี้

แต่ในระยะยาวทางพอช. เองก็พยามยามสร้างความมั่นคงทางอาหารขึ้นภายในชุมชน ให้ชุมชนสามารถผลิตอาหารเองได้ผ่านการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา ก็เริ่มมีชุมชนที่ปลูกผักบ้างแล้ว แต่ปัญหาหลักๆ สำคัญคือเรื่องของพื้นที่ องค์ความรู้ในการปฏิบัติการ และคนที่จะเข้ามาช่วยกันดูแลในระยะยาว  ซึ่งตรงนี้เองโครงการปันกันกินและ We! park ก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร

photo by facebook.com/khonkinkhao

 

ไม่ใช่แค่ข้าว แต่คือการส่งต่อความรู้สึก

ด้วยความที่กลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อนกินนั้นเป็นรูปแบบของการช่วยเหลือกันระหว่างคนกินข้าวในเมืองกับกลุ่มชาวนาเกษตรอินทรีย์ ที่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ที่มีมาตั้งแต่ ปี 2557 ช่วยให้การซื้อ-ขายนั้นไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อนปลูกได้เงินเต็มๆ เพื่อนกินก็ได้ข้าวในราคาที่เหมาะสม และไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีข้าวกินหรือลืมซื้อข้าวเพราะกลุ่มเพื่อนปลูกจะส่งข้าวให้เพื่อนกินถึงที่ตลอดทั้งปี ในราคากิโลละ 80 บาท แต่เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น  ‘กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล’ ผู้ก่อตั้งโครงการปันกันกิน และหัวหน้ากลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อนกิน จึงพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อหาทางช่วยเหลือคนเมืองที่กำลังประสบปัญหา ก็ได้ข้อสรุปออกมาว่าทางเพื่อนปลูกจะขายให้ในราคา 3 กิโลกรัม 100 บาท  และยินดีขับรถจากยโสธรเข้ามาส่งในกรุงเทพฯ  ให้ฟรี เพียงแต่ขอให้ข้าวที่เขาต้องเข้ามาส่งนั้นเต็มคันรถจะได้ไม่เสียเที่ยว  โดย 1 คันรถมี 4,500 กิโลกรัม เป็นเงิน 150,000 บาท

photo by facebook.com/khonkinkhao

 

วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จึงมีการนำส่งข้าวจากกลุ่มเพื่อนปลูกไปลงที่ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา 3,500 กิโลกรัม ก่อนจะกระจายไปยังครัวกลางต่างๆ ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล โดยข้าวปริมาณนี้ก็คาดว่าจะทำอาหารแจกจ่ายได้ประมาณ 2 อาทิตย์ หลังจากบริจาคข้าวแล้วจึงเป็นช่วงเวลาของการระดมทุน จากวันที่ 2 พฤษภาคมจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ตอนนี้โครงการปันกันกินมียอดบริจาคอยู่ที่ 356,834 บาท

“เรายังไม่มีอะไรพิสูจน์ให้เห็น เราเลยเอาเงินตัวเองลงไปก่อน ถ้าได้เงินมาสมทบทุนก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร พอวันที่ 1 เขาเอาข้าวมาส่ง หลังจากนั้นอาจารย์ก็โพสต์เลย พยายามทำให้โปร่งใสที่สุดด้วยการโพสต์บัญชี โชว์ให้เห็นว่าข้าวมาถึงแล้วก็ขอรับบริจาค ตอนนี้ลอตแรก 150,000 บาท เราได้แล้ว ลอตที่สองก็กำลังจะมา ส่วนที่เหลืออีก 50,000-60,000 บาท รวมกับข้าวอีก 1,000 กิโลที่เราเก็บไว้ ก็จะเอาไปทำประโยชน์อื่นๆ ต่อ

“ในระยะยาว ก็จะมีการ การทำประโยชน์แลกข้าว คือการบริจาคต้องมีความหมายกับคนรับที่จะทำให้เขาไม่เสียความภาคภูมิใจในตัวเอง ถ้าเอาคำว่าบริจาคออกเปลี่ยนเป็นการแบ่งปันเพื่อนกัน ใครมีอะไรก็ช่วยกัน เรามีแล้วเราเหลือ เราก็ช่วยคนอื่นต่อ โดยที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง ส่งต่อความรู้สึกไม่ใช่แค่ข้าว เราจะทำยังไงให้จากสถานการณ์ตรงนั้นมีความรู้สึกแบบนี้ได้ในที่สุด ค่อยๆ หารูปแบบที่จะส่งต่อได้ เดี๋ยวอีกหน่อยจะมีโครงการแปลงผักในชุมชน เราก็เลยคุยกับทางพอช. ว่าอยากให้ข้าวของเพื่อนปลูกเพื่อนกินนี้ เข้าไปสนับสนุนกับเรื่องแปลงผักในชุมชน เป็นกำลังใจให้กับคนทำโครงการด้วย”

 

photo by facebook.com/khonkinkhao

 

จากครัวกลางสู่ความมั่นคงทางอาหาร

อย่างที่บอกว่าการบริจาคหรือการแจกข้าวกล่องจากครัวกลางนั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่รวดเร็วที่สุด และช่วยเหลือผู้คนได้ทันท่วงที แต่ในระยะยาว สิ่งสำคัญที่ ระยะยาวสถาบันพัฒนาพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จะผลักดันต่อไปในแต่ละชุมชนคือความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ที่สามารถผลิตอาหารเองได้ นายอัมพร แก้วหนู รองผู้อํานวยการ สถาบันพัฒนาพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า food security คือเรื่องแรกที่ต้องคำนึงถึง

“เรื่องครัวกลางเราให้ชุมชนชุมชนเป็นคนจัดการตามความพร้อมและตามความเดือดร้อน แต่นี่เป็นเพียงระยะแรก การทำแจกคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในระยะยาว ก็ต้องมาเริ่มคิดหาทางออกกัน สิ่งที่เครือข่ายชุมชนคิดกันคือ เรื่องความมั่นคงด้านอาหาร หรือ food security ว่าจะทำยังไงให้ทุกครอบครัวมีข้าวกิน ต้องคิดหลายต่อ

“ขั้นแรกแจกอาหาร เราก็เลี้ยงได้ไม่เกินเดือนหรอก จังหวะต่อๆ ไป ซึ่งหลายชุมชนก็เริ่มทำแล้ว เริ่มปลูกผัก ขอใช้ที่ว่างมาปลูกผัก เลี้ยงไก่ ลี้ยงปลา เพื่อเป็นหลักประกันว่าทุกคนจะมีข้าวกิน สุดท้ายแล้วครัวกลางมันต้องนำไปสู่เรื่องความมั่นคงทางอาหารของชุมชน พอโควิดมามันทำให้เราคิดได้ ว่าเราพึ่งคนอื่นมานานเหลือเกิน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องพึ่งตัวเอง”

 

อัมพร แก้วหนู รองผู้อํานวยการ สถาบันพัฒนาพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) photo by Napon Jaturapuchapornpong

 

ทางด้านชุมชนเอง เช่นชุมชนรุ่งมณีพัฒนา และชุมชนนำร่องอื่นๆ ก็มีการปลูกผัก ปลูกพืชสมุนไพร ปลูกเห็ด เลี้ยงปลาดุกบ้างกันบ้างแล้ว แต่ในส่วนของแปลงผักในชุมชนก็จะมี We! park กลุ่มภูมิสถาปนิกที่สนใจด้านการพัฒนาพื้นที่ว่างในเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เข้ามาช่วยวางแผน จัดการพื้นที่มองเห็นโอกาสของแต่ละบ้าน เช่นระเบียง รั้วบ้าน แปลงผักขนาดเล็กจากอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้แปลงผักนี้มีความสมบูรณ์ และอาจเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไปด้วย

“จริงๆ เขาก็มีองค์ความรู้ แต่ยังขาดการสื่อสาร และการเชื่อมโยงต่างๆ  วิกฤตนี้ทำให้เราหันมามองทรัพยากรที่เรามี ทุกคนก็พยายามเอาทรัพยากรเหล่านี้มาทำอะไรบางอย่างร่วมกัน เมื่อก่อนถ้าเราพูดถึงเรื่องความมั่นคงอาหารมันดูจะไกลตัว แต่พอมีวิกฤติเราก็เห็นภาพชัดขึ้น ซึ่งจากวิกฤตนี้เราก็เห็นเลยว่าถ้าพึ่งพาจากภายนอกอย่างเดียวมันก็ลำบาก ถ้ามีพื้นที่ผลิตอาหารภายในชุมชนเองจะยิ่งประหยัด และถ้าจะให้ยั่งยืนจริงๆ ชุมชนก็ต้องช่วยกันดูแล” ยศพล บุญสม ผู้จัดการโครงการ We! park กล่าว

photo by Napon Jaturapuchapornpong

 

ตรงนี้เองที่สอดคล้องกับแนวคิดของโครงการปันกันกินที่ต้องการให้เกิดการทำประโยชน์แลกข้าวส่งเสริมให้คนในชุมชนช่วยกันทำในสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ “เราก็คุยกับทาง พอช. ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง อย่างตอนนี้เขาจะทำแปลงผักในชุมชน ก็ยังมีปัญหากันอยู่ว่าใครจะเป็นคนมาดูแลแปลงผักในระยะยยาว คือในตอนลงปลูกทุกคนอาจจะช่วยกันได้ แต่ในระยะยาวใครจะดูแล เราก็อยากให้ข้าวจากเพื่อนปลูกเพื่อนกินนี้กับคนที่มาดูแล  เพราะเรารู้ว่าการดูแลแปลงผัก มันไม่ใช่แค่แป๊บเดียวจบ ต้องดูแลกันไปเป็นปี เราอยากให้มันอยู่ไปตลอด ก็เลยอยากจะส่งข้าวให้คนเหล่านี้ทั้งปี

“แต่การให้นี้ทางคณะที่ทำงานกับชุมชนก็บอกว่าคงไม่ได้ให้เป๊ะๆ เลยว่า 1 เดือนได้กี่ถุง แต่อาจจะให้ชาวบ้านลองดูว่าเขาอยากจะเอาข้าวไปกระจายเพื่อสร้างแรงจูงใจ หรือเป็นสินน้ำใจกันเล็กๆ น้อยๆ ด้วยวิธีของแต่ละชุมชนเอง ซึ่งเราเองก็ไม่ได้อยากให้เป็นตัวเงินขนาดนั้น เพราะในที่สุดแล้วก็อยากให้มันมีความหมายของการแบ่งปันมากขึ้น” กรรณิการ์กล่าว

กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล’ ผู้ก่อตั้งโครงการปันกันกิน และหัวหน้ากลุ่มเพื่อนปลูกเพื่อนกิน photo by Napon Jaturapuchapornpong

 

ดูแลชีวิตไปพร้อมๆ กับสิ่งแวดล้อม

นอกจากแนวคิดเรื่องการทำประโยชน์แลกข้าวแล้ว โครงการปันกันกิน ยังให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยความพยายามที่จะไม่เพิ่มขยะและขยายผลไปสู่ zero waste ในชุมชนได้ในอนาคต

ในการจัดการครัวกลางทางผู้ดูแลครัวกลางจึงพยายามที่จะให้คนในชุมชนนำภาชนะมาจากบ้านและตักแบ่งกันไป หลีกเลี่ยงการใช้กล่อง หรือช้อนพลาสติก ที่เป็น single use แต่ในกรณีจำเป็นเช่นแจกคนไร้บ้านที่เขาไม่มีภาชนะ ก็ยังคงต้องใช้อยู่ ซึ่งก็พยายามที่จะเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลกแต่ติดปัญหาที่ราคาค่อนข้างสูง ทางโครงการและ พอช. เองก็พยายามติดต่อหาสปอนเซอร์เพื่อที่จะจ่ายในราคาที่ถูกลง รวมถึงในการทำแปลงผักก็อยากให้เกิดการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

photo by facebook.com/khonkinkhao

 

“เราให้ความสำคัญเรื่องการพึ่งตัวเองมาเป็นอันดับหนึ่ง ต่อมาคือการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพราะในบางช่วงเราก็ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นไม่ว่าจะรูปแบบไหน และสุดท้ายคือการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรารู้สึกว่ามันแยกมไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องคุยไปด้วยกัน

“ในการทำงานนี้ ตั้งแต่ครัวกลาง เราก็พยายามไม่เพิ่มขยะ ปัญหาส่วนใหญ่ถ้าต้องใช้กล่องรักษ์โลกคือเรื่องราคา เราก็พยายามไปคุยกับผู้ขาย เราก็พยายามจะช่วยเขาเต็มที่ เขาก็จะได้เห็นด้วยว่าเราเข้าใจปัญหานะ ทางพอช.เขาก็พยายามหาสปอนเซอร์ เพราะเขาเองก็อยากทำเรื่องชุมชนสีเขียว ซึ่งนี่ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราจะได้ทำกัน เพราะอย่างที่บอกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมมันต้องทำควบคู่กันไป อย่างเรื่องแปลงผัก เราก็อยากให้ทำเรื่อง waste management ไปด้วย เพราะในกระบวนการที่เราไปช่วยกัน หรือการทำอะไรสักอย่างของมนุษย์มันย่อมมีของเสียเกิดขึ้นอยู่แล้ว”

 

จากการให้บริจาคสู่การแบ่งปัน พึ่งพาตัวเอง และพึ่งพิงซึ่งกันและกัน วิกฤติครั้งนี้ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผลักดันเรื่องการผลิตอาหารภายในชุมชนที่เราต่างก็เห็นแล้วว่าความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญ และสามารถทำควบคู่ไปได้กับรักษาสิ่งแวดล้อม

ร่วมสมทบทุนในโรงการปันกันกินที่บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย 007-1-95763-2 กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล

 

Illustration by Montree Sommut
Share :