CITY CRACKER

พื้นที่สาธารณะที่ผลิตพลังงานได้ 6 โปรเจกต์ล้ำสมัยจากทั่วโลก

แม้หน้าร้อนกำลังจะหมดไป และประเทศไทยกำลังจะเข้าสู้หน้าฝน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปีนี้ฤดูร้อนรุนแรงขึ้น

นอกจากประเด็นเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว ปัญหาทั่วไปของครัวเรือนคือราคาพลังงานหรือค่าไฟที่แพงขึ้น ในภาพที่ใหญ่ขึ้นราคาพลังงานเองก็สัมพันธ์กับปัญหาความแปรปรวนของสภาวะอากาศเหมือนกับงูกินหาง การผลิตพลังงานแบบเดิมนำไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอน ดังนั้นกระแสสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือประเด็นเรื่องความยั่งยืน โดยเฉพาะการที่พื้นที่หนึ่งสามารถผลิตและบริหารจัดการพลังงานของตนเองได้ มีความมั่นคงทางพลังงาน รวมถึงใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

ในกระแสความยั่งยืนและความมั่นคงทางพลังงานทำให้พื้นที่สำคัญเช่นพื้นที่สาธารณะกลายเป็นอีกหนึ่งการพัฒนาที่มีแนวคิดเรื่องพลังงานยั่งยืนเข้าไปเป็นหัวใจด้วย บทบาทใหม่ๆ ของพื้นที่สาธารณะเริ่มมีหลายมิติ หลายบทบาทต่อสังคมและต่อพื้นที่ ความเป็นสาธารณะของพื้นที่อาจไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นพื้นที่สุขภาพหรือพื้นที่ชุมชน แต่รวมไปถึงการสนับสนุนความยืดหยุ่นในแง่มุมอื่นๆ ในที่นี้คือความมั่นคงด้านพลังงาน 

City Cracker ชวนไปรู้จัก 6 พื้นที่สาธารณะที่มีตีมและมีบทบาทเกี่ยวกับพลังงานอาจเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีสามารถผลิตพลังงานเลี้ยงตัวเองได้ เป็นพื้นที่สาธารณะแบบใหม่ เช่น โคเปนฮิล เป็นโรงไฟฟ้าจากการเผาขยะที่มีหลังคาเป็นหน้าผาจำลอง อาคารที่มีองศาประหลาดแต่ออกแบบเพื่อรับแสงอาทิตย์ที่เฉพาะตัวของประเทศในแถบแสกนดิเนเวียน ไปจนถึงการปรับพื้นที่ผลิตพลังงานไปสู่พื้นที่สาธารณะ ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นมิติและบทบาทของพื้นที่สาธารณะ รวมถึงความพยายามและความสำคัญของความยั่งยืนด้านพลังงานผ่านการพัฒนาโปรเจกต์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

 

Copenhill, Bjarke Ingels

 

Copenhil เป็นโปรเจกต์ที่สร้างความฮือฮาและเป็นโปรเจกต์ระดับหมุดหมายของ Bjarke Ingels หรือ BIG ในการใช้สถาปัตยกรรมและการออกแบบในฐานะนวัตกรรมและความยั่งยืนในมิติต่างๆ Copenhil ด้วยตัวเองเป็นโรงไฟฟ้าจากการเผาขยะ ตัวโรงไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีเตาเผาและกังหันหมุนวนสามารถสร้างพลังงานสะอาดจากการเผาทำลายขยะได้ 44,000 ตันต่อปี หรือคือสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนให้กับชุมชนรอบๆ ได้ 150,000 หลังคาเรือน นอกจากการเป็นอาคารที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับพื้นที่เมืองแล้ว หลังคาของอาคารยังได้รับการออกแบบเป็นหลังคาสีเขียวตามชื่อโคเปนฮิล หลังคาโรงไฟฟ้าทำหน้าที่เป็นพื้นที่สันทนาการให้กับผู้คน เป็นที่ๆ ผู้คนจะมาเดินเล่น ปีนเขา และเล่นสกีได้

 

Solar Rock, MVRDV 

 

Solar Rock เป็นโปรเจกต์ที่ไต้หวันจาก MVRDV อาคารทรงโดมที่หน้าตาเหมือนหินนี้เป็นอาคารของบริษัทพลังงาน ตัวอาคารเป็นอาคารสำนักงานที่มีบางส่วนเป็นพื้นที่สาธารณะเช่นพื้นที่เวิร์คชอปและแกลลอรี่ศิลปะ ความพิเศษของอาคารคือการคลุมอาคารด้วยแผ่นโซลาร์เซลจำนวนมาก และการออกแบบสำคัญคือการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อทำให้แผ่นโซลาร์เซลถูกปรับเพื่อให้รับแสงอาทิตย์และผลิตพลังงานด้วยประสิทธิภาพสูงสุด อาคารแห่งนี้ถูกวางให้ใช้พลังงานทั้งหมดจากเปลือกอาคารทั้งยังวางให้สามารถพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่มากจนสามารถเลี้ยงพื้นที่รอบๆ ได้ด้วย ความสำคัญของอาคารนี้ทางไต้หวันระบุว่าตัวมันเองจะทำหน้าที่เป็นเหมือนคำประกาศหรือหมุดหมายของไต้หวันในการก้าวไปสู่ประเทศพลังงานสะอาดและอนาคตของประเทศคาร์บอนเป็นศูนย์

 

Greenwich Peninsula Low Carbon Energy Centre, C.F. Møller

 

การมีพื้นที่เพื่อกระจายความมั่นคงทางพลังงานและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดคาร์บอน นับเป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญและน่าสนใจของการพัฒนา Greenwich Peninsula Low Carbon Energy Centre เป็นอาคารที่หน้าตาเหมือนประติมากรรมเป็นศูนย์พลังงานความร้อน คือเป็นสถานีผลิตความร้อนเพื่อป้อนให้กับโครงข่ายการพัฒนาเมือง Greenwich Peninsula หนึ่งในการพัฒนาเมืองขนาดยักษ์ของกรุงลอนดอน โครงการพัฒนาที่ประกอบด้วยที่พักอาศัย 15,000 หลังคาเรือน และพื้นที่สำนักงานกว่า 300,000 ตารางเมตร สถานีพลังงานแห่งนี้อีกหนึ่งสาธารณูปโภคของเมืองที่ผลิตพลังงานความร้อนสะอาด สามารถลดคาร์บอนลงได้ราว 20,000 ตันต่อปี 

 

Powerhouse Brattørkaia, Snøhetta 

 

Powerhouse Brattørkaia เป็นอีกหนึ่งอาคารนวัตกรรมพลังงานผลงานของ Snøhetta สร้างบนประเทศนวัตกรรมและสถาปัตยกรรมคือนอร์เวย์ อาคารแห่งเป็นอาคารสำนักงานที่หน้าตาล้ำสมัย มีช่องวงกลมที่โดดเด่นตรงกลาง โดยทั่วไปแล้วอาคารเน้นการออกแบบเพื่อหมุนเวียนพลังงานอย่างเป็นระบบโดยอาคารหน้าตาประหลาดนี้ส่วนหนึ่งออกแบบเพื่อให้ผิวอาคารที่เป็นแผงโซลาร์เซลสามารถเก็บเกี่ยวพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีมุมแสงที่เปลี่ยนแปลงไปมาตามฤดูกาลของประเทศสแกนดิเนเวียได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรวมแล้วอาคารแห่งนี้สามารถใช้และหมุนเวียนพลังงานด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งพลังงานภายนอก ทั้งพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นนั้นยังมากกว่าตัวอาคารใช้ถึงสองเท่า รูปทรงของอาคารจึงสะท้อนคำกล่าวเก่าแก่ที่ถูกปรับไปคือ form follow environment  

 

The Brewery Yard,  Tzannes Associates

 

The Brewery Yard เป็นส่วนหนึ่งโปรเจกต์พัฒนาขนาดใหญ่ที่ปรับอาคารโรงเบียร์เก่าให้เป็นอพาธเมนต์พักอาศัยสำหรับนักศึกษา พื้นที่สาธารณะ โดยด้านบนของโรงเบียร์ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่นั้น ทางผู้พัฒนาและนักออกแบบได้ปรับให้เป็นพื้นที่ผลิตพลังงานโดยใช้ปล่องของโรงงานเดิมและปรับให้เป็นพื้นที่เพื่อผลิตไฟฟ้าและทำหน้าที่อุ่นและผลิตน้ำเย็นให้โครงการ ความโดดเด่นของการรีโนเวตตัวปล่องด้านบนนี้ทำให้โครงการพัฒนามีปล่องโลหะสามปล่องที่สะดุดตาคู่กับปล่องอิฐแดงเดิม เจ้าปล่องทั้งสามนี้เป็นเหมือนตัวแทนสาธารณูปโภคที่เปลี่ยนไปจากการใช้งานเดิมไปสู่บทบาทใหม่ ความน่าสนใจคือการพัฒนาโปรเจกต์อสังหาริมทรัพย์และพื้นที่ที่มีพื้นที่ผลิตพลังงานและใช้พื้นที่นั้นๆ เป็นหน้าตาที่สดใหม่ของอาคารที่ไม่ละทิ้งบริบทเดิม

 

Solar Pavilion,  V8 Architects และ Marjan van Aubel Studio

 

ส่งท้ายด้วยโปรเจกต์พื้นที่สาธารณะที่เกิดขึ้นจากพาวินเลียนชั่วคราวในงานเทศกาลออกแบบ Dutch Design Week อาคาร Solar Pavilion เป็นอาคารชั่วคราวที่ถ้าเรามองจากด้านบนจะมีหน้าตาเหมือนเก้าอี้ชายหาด บริเวณผ้าใบทรงโค้งประกอบขึ้นจากแผ่นโซลาร์เซลสีน้ำเงินและแดงทำให้เก้าอี้ชายหาดยักษ์มีสีสันสดใสทั้งยังทำหน้าที่เก็บเกี่ยวแสงแดดได้ด้วย ตัวอาคารออกแบบเป็นอาคารชั่วคราว ถอดประกอบง่ายและนำวัสดุไปใช้ในงานอื่นได้เมื่องานเทศกาลจบ พลังงานที่ผลิตได้จะถูกเก็บไว้ในแบตตารีและใช้เลี้ยงหลอดไฟและระบบให้ความอบอุ่นในอาคารต่อไปในช่วงกลางคืน ทำให้ในพาวินเลียนจำลองในเมืองหนาวมีความอบอุ่นเหมือนกับนั่งอยู่ใต้แสงอาทิตย์ เป็นที่พักผ่อนรวมตัวที่มีความอบอุ่น ในพาวินเลียนถูกใช้เป็นพื้นที่สันทนาการ เป็นที่นั่งเล่นรวมตัว โปรเจกต์นี้เป็นตัวอย่างของการสร้างพื้นที่และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบชั่วคราว สร้างบรรยากาศและเปิดความเป็นไปได้ของพื้นที่สาธารณะชั่วคราว

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

archdaily.com/copenhill

dezeen.com/solar-pavilion

archdaily.com/mvrdvs

archdaily.com/greenwich

dezeen.com/snohetta

dezeen.com/tzannes

 

 

Share :