CITY CRACKER

เกษตรในเมือง: เมื่อพื้นที่เมืองควรผลิตอาหารได้เอง

ในปี ค.ศ. 2050 พื้นที่ร้อยละ 50 ในโลกจะกลายเป็นพื้นที่เมือง (United Nation 2018) แล้วพื้นที่เมืองเหล่านี้จะรับอาหารจากไหน?  เนื่องจากเมืองต้องอาศัยการพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกเมือง  เราจึงควรเตรียมความพร้อมให้เมืองมีความสามารถในการผลิตเพื่อความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วยการจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างระบบโครงข่ายของอาหาร (Food system)

 

เตรียมความพร้อมในการผลิตอาหาร การเก็บเกี่ยว การส่งต่อสินค้าและการแปรรูป ให้มีกิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นภายในเมือง เพื่อลดการใช้ทรัพยากรในการขนส่งสินค้าและสร้างอาชีพที่หลากหลายให้เกิดขึ้น มีการจัดสรรพื้นที่และดูแลในเชิงนิเวศควบคู่กัน ซึ่งสอดคล้องกับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food security) คือ อาหารจะต้องมีปริมาณเพียงพอ มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายและสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาแม้ว่าจะมีสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น(FAO 2006)

 

ระบบอาหารที่เกี่ยวโยงกับระบบอื่น ๆ ในเมือง อ้างอิงรูปภาพจาก Pengue, Sukhdev, and May 2018

 

 

การวางแผนเพื่อสร้างเมืองที่ผนวกรวมเอาการเกษตรเข้ามาอยู่ในพื้นที่เมือง จะต้องคำนึงถึงระบบโครงข่ายของอาหารเป็นหลัก เพื่อให้การจัดการทรัพยากรภายในเมืองไม่สูญหายและเกิดประโยชน์แก่เมืองสูงสุด ต้องมีความสอดคล้องและสามารถดำเนินไปกับระบบอื่น ๆ ภายในเมืองได้ โดยระบบเกษตรกรรมในเมืองสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจเพราะเป็นตัวกลางในการเชื่อมระบบเกษตรกรรมและระบบทางสังคมเข้าด้วยกัน โดยมีกลไกทางการเมืองเป็นเครื่องมือควบคุมระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองให้ประสบความสำเร็จ จะต้องคำนึงถึงระบบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

 

 

ระบบเกษตรกรรมที่เข้าไปผนวกกับระบบการกำจัดของเสียของเมือง อ้างอิงรูปภาพจาก United Nations Environment Programme 2019

 

ความท้าทายของเกษตรกรรมในเมือง คือการบริการจัดการทรัพยากร ที่อาจเป็นข้อจำกัดให้แก่การเกษตรกรรมในเมือง ตั้งแต่การปลูกพืช ดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต การรักษาคุณภาพผลผลิตเพื่อการขายและการขนส่งสินค้า การเปลี่ยนพื้นที่ธรรมชาติไปสู่เมือง ทำให้การเพาะปลูกเป็นไปได้ยากขึ้น

การสร้างเกษตรกรรมในเมืองจึงมีความซับซ้อนและต้องอาศัยการวางแผนอย่างถี่ถ้วน รวมถึงยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้ขับเคลื่อนได้ในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งหากพื้นที่เกษตรในเมืองมีกำลังการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้พื้นที่เมืองสามารถพึ่งพิงตนเองได้จากการใช้ทรัพยากรภายในขอบเขตเมืองที่สามารถเข้าถึงได้และมีปริมาณเพียงพอ  โดยต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตำแหน่ง ประเภท ลักษณะของกิจการ วงจรตลาด และขนาดของระบบเกษตรในเมือง  เราถึงจะสามารถจำแนกพื้นที่เกษตรกรรมภายในเมืองออกมาได้ ซึ่งพื้นที่เกษตรกรรมนั้นก็มีตั้งแต่ระดับเล็ก เช่นบริเวณบ้าน ไล่มาจนถึงระดับชุมชน หน่วยงานต่างๆ ทำเป็นการค้าขนาดเล็ก ปศุสัตว์ขนาดเล็ก หรือจะทำเกษตรเฉพาะทาง เกษตรเชิงธุรกิจ ไปจนถึงเกษตรผสมผสานก็ยังได้ สิ่งสำคัญคือพื้นที่เกษตรกรรมนั้นควรสามารถปรับเข้ากับองค์ประกอบต่างๆ ภายในเมือง เช่น พื้นที่อาคาร เส้นถนน และพื้นที่ต่างๆ ได้ด้วย

 

พื้นที่อาคารกับการทำเกษตรกรรม

การปลูกพืชบริเวณดาดฟ้าเป็นที่นิยมแพร่หลาย พื้นที่ภายนอกของอาคารสามารถนำมาปรับใช้เป็นพื้นที่สำหรับการเกษตรกรรมได้ เช่น บริเวณดาดฟ้าอาคาร หรือการปลูกพืชแนวตั้ง สามารถใช้เป็นแผงบังแดดได้ (Zeeuw and Drechsel 2015) แต่แนวทางการสร้างพื้นที่จะต้องคำนึงถึงบริบทของพื้นที่ด้วย หากพื้นที่เป็นกลุ่มชุมชนที่แออัด รายได้น้อย ก็ควรพิจารณาเรื่องงบประมาณในการดูแลรักษาที่ไม่สูงนักและมีช่วยให้พื้นที่ในชุมชนมีบรรยากาศที่ดีขึ้น หากเป็นพื้นที่เมือง อาจใช้การออกแบบที่น่าสนใจและกิจกรรมเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาใช้งาน เช่น Brooklyn Grange Farm ในเมือง New York ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นสวนดาดฟ้าบนอาคาร ออกแบบให้มีทั้งพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและพื้นที่ค้าขาย ซึ่งเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยมชมและซื้อสินค้าได้

 

โครงการ Brooklyn Grange Farm

 

ในช่วงปี 2010  Brooklyn Grange Farm เริ่มต้นทำสัญญาเช่าระยะยาวเพื่อใช้พื้นที่หลังคาในเมืองนิวยอร์กจำนวน 3 อาคาร เพื่อพัฒนาเป็นสวนเกษตรบนดาดฟ้า เป็นพื้นที่โดยประมาณ 23,000 ตารางเมตร โดยเป็นสวนปลอดสารเคมี (Organics) ปลูกและขายให้แก่ชุมชนในพื้นที่ ในแต่ละปีพื้นที่สามารถผลิตอาหารได้มากถึง 36,000 กิโลกรัม ผลผลิตของ Brooklyn Grange Farm ถูกนำไปขายตามตลาดท้องถิ่น ร้านค้าและร้านอาหาร ซึ่งสามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของร้านค้าที่รับผลผลิตไปขาย

สวน Brooklyn Grange Farm ยึดหลักของการสร้างความยั่งยืนให้แก่เมืองผ่านพื้นที่เกษตรกรรมในเมือง พื้นที่สวนใช้ระบบการให้น้ำแบบหยดที่มีอุปกรณ์ตรวจจับฝนและทำการจัดการน้ำบนดาดฟ้า โดยการดักน้ำฝนไว้ในโครงสร้างของสวนดาดฟ้าเพื่อชะลอการไหลไม่ให้เกิดการไหลนอง โดยในหนึ่งปีพื้นที่สามารถควบคุมน้ำที่ไหนนองได้ถึง 19,000 ลบ.ม. ขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หากเป็นขยะประเภทที่สามารถย่อยสลายได้ จะถูกนำไปหมักทำปุ๋ยในพื้นที่ ทั้งนี้พื้นที่เกษตรของ Brooklyn Grange Farm ยังเป็นเกษตรกรรมแบบใช้ดินซึ่งผ่านการคำนวณน้ำหนักกับโครงสร้างอาคารจากวิศวกร ซึ่งการใช้ดินในการเพาะปลูกทำให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เช่น เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ในเมือง เป็นที่อยู่อาศัยของแมลงที่ผสมเกสร ความยั่งยืนนี้ยังรวมถึงด้านสังคมด้วย โดยโครงการเปิดรับอาสาสมัครจากในชุมชนโดยรอบเข้ามาร่วมในการทำการเกษตร

 

แนวคิดการจัดการน้ำในโครงการ Brooklyn Grange Farm

 

บริเวณดาดฟ้าของ Brooklyn Grange Farm มีพื้นที่เกษตร พื้นที่เรือนเพาะชำ ทางเดินและชานกิจกรรมที่จัดสรรให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาใช้งานได้ ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ และสามารถเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อจัดงานส่วนตัวได้ เช่น จัดงานแต่งงานปัจจุบันงานของ Brooklyn Grange Farm ได้ขยายไปสู่งานออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ดาดฟ้า ระเบียงอาคาร พื้นที่หลังบ้านและพื้นที่ว่างภายในเมือง ที่ต้องการปรับเปลี่ยนพื้นที่ของตนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือสวนที่ใช้พืชท้องถิ่นและพืชป่า นอกจากนี้ยังมีบริการให้ความรู้ร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษา จัดโครงการให้ความรู้นอกห้องเรียน ค่ายฤดูร้อนแก่เด็กนักเรียน และจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการแก่บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ (BROOKLYN GRANGE LLC, n.d.)

 

ระบบโครงการ Brooklyn Grange Farm

 

 

นอกจากนี้ภายในอาคารก็สามารถเป็นพื้นที่เกษตรกรรมได้ โดยทำการควบคุมบรรยากาศ (Controlled environment agriculture) ทั้งแสง ความชื้น เพื่อให้สามารถปลูกพืชได้ ซึ่งสามารถปลูกพืชด้วยระบบน้ำหมุนเวียน (Hydroponics) ปลูกพืชด้วยระบบรากอากาศ (Aeroponics) และ การปลูกพืชในน้ำ (Aquaponics) ที่สามารถเลี้ยงปลาควบคู่กันไปได้ ซึ่งเกษตรกรรมที่อยู่ในระบบควบคุมจะปลอดแมลงและทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเพื่อควบคุม รวมถึงไม่กระทบกับมลภาวะที่เป็นพิษภายนอกอาคาร ซึ่งหนึ่งโครงการที่ปลูกพืชในอาคาร คือ Infarm ที่เป็นโครงการตู้ปลูกผักใบเขียวที่สามารถนำไปติดตั้งที่ใดก็ได้ เช่น ในร้านสะดวกซื้อ ให้ผู้ซื้อสามารถเลือกผลผลิตได้เองและได้ผักสดใหม่ไปรับประทาน

 

เครื่องปลูกพืชในร้านสะดวกซื้อของโครงการ Infarm

 

 

เส้นทางสัญจรหรือเส้นทางเชื่อมต่อกับการทำเกษตรกรรม

เส้นทางสัญจรเป็นพื้นที่สำคัญเพราะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ภายในเมือง ผู้คนที่สัญจรไปมาสามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่รอบข้างได้ โดยเฉพาะเส้นทางสัญจรประเภทที่เป็นโครงข่ายภายในเมือง เช่น เส้นทางรถไฟ พื้นที่ทางด่วน การออกแบบอาจมีการออกแบบจุดหยุดพักเป็นระยะในระหว่างเส้นทาง เช่น Mini Farm โครงการแนวคิดของ SOA ที่เสนอการทำพื้นที่เกษตรในพื้นที่สาธารณะตามเส้นทางเดิน โครงการ Growing Underground ที่นำหลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาทำการเกษตร โดยใช้การปลูกพืชด้วยน้ำร่วมกับหลอดไฟแอลอีดี (LED) ซึ่งระบบการปลูกพืชด้วยน้ำนี้เป็นระบบหมุนเวียนสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี เป็นแหล่งอาหารให้แก่ชาวเมืองได้ถึง 8,000 คน

asktheq.org

 

พื้นที่ว่างกับการทำการเกษตร

พื้นที่ว่างภายในเมืองก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถพัฒนาเป็นเกษตรกรรมภายในเมืองได้ เช่น พื้นที่ภายในชุมชน พื้นที่ว่างระหว่างอาคาร ซึ่งพื้นที่ลักษณะนี้จะต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและดูแลพื้นที่ แนวทางในการพัฒนาอาจจะต้องมีการทำให้พื้นที่สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า เช่น มีการผสมผสานการใช้งาน โดยการทำเกษตรหลายชั้นหรือเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปด้วย วิธีการหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้ คือ เพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) หรือวิธีการทำเกษตรยั่งยืน วางแผนการจัดการเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ ไม่สร้างขยะ ไม่ใช้พลังงานเกินความจำเป็นและใช้ระบบธรรมชาติควบคุมกัน ซึ่งสามารถประยุกต์แนวคิดนี้ไปใช้ได้ในทุก ๆ รูปแบบพื้นที่ เช่น โครงการ Bowery ในเมืองโตรอนโต (Toronto) ประเทศแคนาดา (Canada) ส่งเสริมการนำเอาพื้นที่ว่างมาใช้เป็นพื้นที่เกษตรในเมืองผ่านการใช้กระถางปลูกที่เคลื่อนย้ายได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพื้นที่เกษตรสามารถปลูกที่ใดก็ได้และไม่ใช่เรื่องยาก โครงการ Bowery ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้พัฒนาพื้นที่ให้นำเอาอุปกรณ์ปลูกผักไปติดตั้งเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ สำหรับโครงการเพื่อการกุศลยังมีการเปิดรับอาสาสมัครเพื่อปลูกผักและนำไปให้ผู้ที่มีรายได้น้อย (Bowery Project, n.d.)

 

การใช้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่เกษตรในเมืองชั่วคราวของโครงการ Bowery

 

โครงการ Greenery โดย Freight Farms ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ใช้พื้นที่ว่างในเมือง เพียงแต่เป็นการเกษตรในระบบปิด โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุเครื่องเพาะเลี้ยงผักที่ใช้ระบบน้ำหยดและหลอดไฟแอลอีดีในแผงแนวตั้ง เชื่อมต่อกับการควบคุมผลผลิตผ่านแอพพลิเคชั่น Farmhand ที่สามารถใช้การวิเคราะห์การปลูกผักได้และให้ข้อมูลแก่ผู้ปลูกเมื่อผักสามารถเก็บเกี่ยวได้ (Freight farm, n.d.)

 

พื้นที่เกษตรในตู้คอนเทนเนอร์ของโครงการ Greenery freightfarms.com

 

โครงการ Agris Seijo แขวงเซตะกะยะ (Setagaya) เมืองโตเกียว (Tokyo) ปรับเอาพื้นที่ว่างเหนือทางรถไฟใต้ดิน ขนาด 5,000 ตารางเมตร มาพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 300 แปลง เปิดให้เช่าเพื่อปลูกพืชของตนเอง พื้นที่โครงการแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ แปลงให้เช่า ศูนย์อบรม ร้านดอกไม้และคลับเฮ้าส์ (Clubhouse) ส่วนของคลับเฮ้าส์เป็นอาคารบริการสำหรับสมาชิกผู้เช่าพื้นที่ โดยภายในประกอบด้วยห้องรับรอง ล็อกเกอร์ ห้องแต่งตัว ห้องน้ำและห้องอาบน้ำ
หากเช่าแปลงเพื่อปลูกพืช จะมีสตาฟให้คำแนะนำและสามารถจ่ายเงินเพื่อให้สตาฟช่วยงานในช่วงที่ไม่สามารถมาดูแลสวน ผู้เช่าสามารถจัดสรรแปลงปลูกของตนได้ โดยจะมีคำแนะนำการปลูกผักตามฤดูกาล ค่าเช่าพื้นที่แตกต่างกันตามขนาดของพื้นที่เช่า โดยมีพื้นที่ขนาด 3 6 และ 7.5 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้นที่ 2,200 บาท ไปจนถึง 4,500 บาทสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกมาดูแล โครงการยังมีค่าใช้จ่ายสำหรับเหมาตั้งแต่การปลูกจนถึงขั้นเก็บเกี่ยว (Agris Seijo, n.d.)

 

โครงสร้างของระบบเกษตรในเมือง ควรมีผลผลิตและบริการที่หลากหลาย เช่น นอกจากจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ยังให้ความรู้และบริการเรื่องการทำเกษตรกรรมในเมือง รวมถึงต้องเปิดช่องทางในการนำผลผลิตส่งออกสู่ตลาดที่หลากหลายตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งหมายถึงการเกษตรภายในเมืองจะต้องวางแผนในการทำงานให้สอดคล้องกับระบบอาหารภายในเมืองเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

เกษตรกรรมในเมืองให้คุณค่าแก่พื้นที่เมืองในด้านสิ่งแวดล้อมโดยการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในเมือง มีส่วนในการรับน้ำ ชะลอปริมาณน้ำไหลนองและช่วยลดอุณภูมิพื้นผิวอาคารได้ ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารให้แก่สัตว์และแมลงในเมือง นอกจากนี้ยังให้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ คือ เป็นตลาดการค้าใหม่ สร้างรายได้และอาชีพให้แก่คนในเมือง ในเชิงสังคม สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานและคนในชุมชน รวมถึงได้มีการพัฒนาแนวทางและเทคโนโลยีในการทำการเกษตรให้เกิดความคุ้มค่ากับทรัพยากรที่ใช้ จากความสามารถในการให้คุณค่าในหลายมิติของเกษตรกรรมดังเนื้อหาข้างต้น พื้นที่เกษตรกรรมยุคต่อไปอาจถูกนำมาปรับใช้เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูเมืองในอนาคตได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

Agris Seijo. n.d. “Agris Seijo.” http://www.agris-seijo.jp/garden/.
Bowery Project. n.d. “Bowery Project.” https://www.boweryproject.ca/.
Breewood, Helen. 2019. “Spotlight on Urban, Vertical and Indoor Agriculture.” https://www.resilience.org/stories/2019-01-22/spotlight-on-urban-vertical-and-indoor-agriculture/.
BROOKLYN GRANGE LLC. n.d. “BROOKLYN GRANGE ROOFTOP FARMS.” https://www.brooklyngrangefarm.com/.
FAO. n.d. “Urban Agriculture.” http://www.fao.org/urban-agriculture/en/.
———. 2006. “Food Security.” Journal of Nutrition Education and Behavior.
Freight farm. n.d. “Greenery.” https://www.freightfarms.com/.
Infarm. n.d. “Infarm.” https://www.infarm.com/.
Kante, Pia, Katja Mali, and Vid Bogovič. n.d. “Productive Dynamic Landscape.” http://futurearchitectureplatform.org/projects/70d2bbb1-1f89-4935-a216-a4f3227c5eae/.
Kerzner, Roni. 2019. “The Agriculture Cloud.” http://e.forbes.co.il/the-agriculture-cloud/.
Neild, Barry. 2017. “Underground London Farm Uses WWII Bomb Shelter.” https://edition.cnn.com/travel/article/growing-underground-london-bomb-shelter-farm/index.html.
Pengue, Walter Alberto, Pavan Sukhdev, and Peter H May. 2018. TEEB for Agriculture & Food: Scientific and Economic Foundations. Geneva: UN Environment.
RUAF. n.d. “URBAN AGRICULTURE AND CITY REGION FOOD SYSTEMS: WHAT AND WHY.” https://ruaf.org/urban-agriculture-and-city-region-food-systems/#urban-and-peri-urban-agriculture.
SOA. n.d. “Mini Farm.” https://soa.archi/fr/urbanisme-agricole/article/mini-ferme.
Suteethorn, Kanokwalee. 2009. “Urban Agriculture: Ecological Functions for Urban Landscape.” Urban Agriculture: Ecological Functions for Urban Landscape, 1–9.
United Nation. 2018. “68% of the World Population Projected to Live in Urban Areas by 2050, Says UN.” https://www.un.org/development/desa/en/news/population/2018-revision-of-world-urbanization-prospects.html.
United Nations Environment Programme. 2019. Collaborative Framework for Food Systems Transformation: A Multi-Stakeholder Pathway for Sustainable Food Systems. http://www.oneplanetnetwork.org/initiative/setting-table-our-children-improving-governance-food-systems-.
Zeeuw, Henk De, and Pay Drechsel. 2015. Cities and Agriculture. Cities and Agriculture. doi:10.4324/9781315716312.

 

Content by Onkamon Nilanon
Illustration by Napon Jaturapuchapornpong
Share :