CITY CRACKER

4 เมือง 4 นโยบาย จากงานเสวนา ‘New Green Possibilities’ หัวข้อ Green City Shape

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาสภาวะโลกร้อนและสถานการณ์ภัยพิบัติได้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศเมือง รวมถึงส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คน สุขภาพ และสร้างความผันผวนต่อระบบเศรษฐกิจไปทั่วโลก โดยหนึ่งในวิธีรับมือและบรรเทาผลกระทบทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่หลายๆ ประเทศเห็นพ้องต้องกัน คือการเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเมือง

เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะสำหรับพูดคุย แลกเปลี่ยน ทั้งบทสนทนา กรณีศึกษา และค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ สู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม International Urban and Regional Cooperation (IURC) ของสหภาพยุโรป (EU) และ we!park แพลตฟอร์มภายใต้โครงการ Green Bangkok 2030 ของกรุงเทพมหานคร (BMA) จึงร่วมกันจัดกิจกรรม ‘New Green Possibilities’ International Online Forum ขึ้นมาโดยกิจกรรมเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2564 หรือ Bangkok Design Week 2021

หัวข้อแรกของกิจกรรมคือ ‘Green City Shape’ กิจกรรมเสวนาในระดับนโยบายที่ได้เชิญนักพัฒนาเมืองทั้ง 5 ท่าน อาทิ Thomas Jacob, Patrick Maurelli, Young-Chang Cho และวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ที่มีส่วนร่วมในการทำงานระดับนโยบายเพื่อผลักดันในการสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและนโยบายในเมืองของตน ซึ่งเราได้สรุปและคัดเลือกประเด็นที่น่าสนใจมาดังนี้

 

 

พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกิจกรรมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมของชาวเมือง

ในช่วงต้นของการเสวนา คุณ Thomas Jacob ในฐานะ Head of International Project, Senate Chancellery และคุณ Brigitte Köhnlein จาก Ministry for Environment, Climate, Energy and Agriculture ของหน่วยงานภาครัฐระดับเมือง Senate of the Free and Hanseatic City of Hamburg ได้เล่าถึงนโยบายการพัฒนาของเมืองฮัมบูร์ก เมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศเยอรมนีซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างสีเขียว (Green Infrastructure) และการขับเคลื่อนนโยบายด้วย Digital Transition

เมืองฮัมบูร์กเป็นอีกหนึ่งเมืองที่กำลังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการคมนาคมและที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของประชากร หน่วยงานส่วนกลางของเมืองได้เข้ามาพัฒนาในจุดนี้ เช่น การมองว่าระบบการคมนาคมของเมืองต้องมอบทางเลือกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมให้ผู้คนได้อย่างเป็นระบบ ทั้งในระดับใหญ่ และระดับชุมชน เกิดเป็นโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมถึงต่อกันทั้งเมืองผ่านรถเมล์และรถไฟฟ้า ในขณะที่การเดินทางในระดับชุมชน ก็ลดการใช้รถส่วนตัวของชาวเมืองด้วยการเพิ่มทางจักรยานอย่างทั่วถึงและทำระบบ Bike-Sharing System ก่อสร้างถนนใหม่ให้ถนนมีแค่ 2 เลน ทำให้มีพื้นที่เหลือสำหรับทางจักรยาน ทางเดินเท้า และพื้นที่ต้นไม้อย่างมีคุณภาพด้วย

อีกตัวอย่างที่คุณ Thomas และคุณ Brigitte นำเสนอคือนโยบายเรื่องหลังคาในเขตที่พักอาศัย ที่ทางภาครัฐต้องการให้คนหันมาผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ใช้เองมากขึ้น จึงมีการทำเว็บไซต์สำหรับประเมินความเหมาะสมในการติดแผงโซล่าเซลล์ โดยจะคำนวณจากความลาดชัน ตำแหน่งและทิศทางการวางตัวของหลังคาจากบ้านแต่ละหลัง ว่าหากติดแผงโซล่าเซลล์แล้ว จะผลิตพลังงานได้มากน้อยเพียงใด สำหรับบ้านที่กำลังจะก่อสร้าง ภาครัฐได้วางนโยบายเพื่อสนับสนุนระบบหลังคาสีเขียว (Green Roof) โดยมีการกำหนดอัตราความลาดชันและหลักการสำหรับก่อสร้างหลังคาบ้านใหม่ร่วมกับบริษัทเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หลังคาบ้านที่มีความลาดชันน้อยลงนั้นเหมาะสมกับการปลูกพืชมากขึ้น และยังทำงานคู่กับระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ดีอีกด้วย

การเป็น Green City ของฮัมบูร์กคือการทำให้ทุกๆ กิจกรรมของชาวเมืองดีต่อสิ่งแวดล้อมและตัวชาวเมืองมากขึ้น เป็นเมืองที่มอบทางเลือกการดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้คน ผ่านโครงสร้างพื้นฐานหลายภาคส่วนที่เชื่อมต่อกันเป็นระบบ ซึ่งต้องอาศัยการวางนโยบายในระยะยาวในการค่อยๆ สร้างขึ้นมา พวกเขาผลักดันการพัฒนาเมืองในด้านการอยู่อาศัยอย่างจริงจังเพื่อให้ชาวเมืองอาศัยอยู่ในเมืองได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องโยกย้ายหรือมีการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยบ่อยๆ ซึ่งทำให้ชาวเมืองรู้สึกปลอดภัย และยินดีที่จะมีส่วนร่วมในเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่จริงๆ

 

เมืองที่ยั่งยืนด้วยความมั่นคงทางอาหารและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ช่วงที่สองของการเสวนา คุณ Patrick Maurelli ที่ปรึกษา Risorse per Roma SpA ตัวแทนจากโครงการ Rome Smart City ประเทศอิตาลี ได้เล่าถึงนโยบายการพัฒนาเมืองของโรมว่า จากการทำระบบเก็บข้อมูลต้นไม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาปริมาณพื้นที่สีเขียวต่อประชากรของโรมนั้นเป็นที่น่าพอใจ แต่สิ่งที่พวกเขากำลังพยายามพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอยู่คือคุณภาพในการดูแลรักษาพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ ในปี 2019 ที่ผ่านมาก็มีการปลูกต้นไม้เพิ่มกว่า 5000 ต้น แต่ก็มีมากกว่า 1300 ต้นที่ต้องถูกคัดออก โดยนโยบายสำหรับการดูแลรักษาพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนของโรมคือการเปลี่ยนพื้นที่ที่เสื่อมโทรมให้กลายเป็นพื้นที่สวนชุมชนเมือง Urban Garden เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและเกื้อหนุนกันในระดับท้องถิ่น

แม้โรมอาจจะไม่ได้ถูกจดจำในทางนี้มากนัก แต่จริงๆ แล้วโรมเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเมือง (Urban Agriculture) ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป และผลจากการดูแลอย่างไม่ทั่วถึงทำให้มีหลายพื้นที่กลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม โรมจึงมีการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนโครงการทางการเกษตรมากมาย เช่น ระบบ Smart Farming และโครงการ Sharing Community Gardens ที่มีการจัดสรรพื้นที่เล็กๆ ในเขตชุมชนให้คนในพื้นที่ได้มาใช้เพาะปลูกพืชผักปลอดสารพิษกินเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม และเมื่อเมืองสามารถผลิตอาหารเองได้มากขึ้น การนำเข้าอาหารก็จะน้อยลง ซึ่งหมายถึง ของเสียและมลพิษต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้ก็จะน้อยลงด้วยเช่นกัน พื้นที่สวนชุมชนเหล่านี้ยังเป็นพื้นที่ทางสังคมสำหรับชาวเมืองโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และผู้สูงอายุอีกด้วย

อีกด้านที่โรมกำลังผลักดันคือการพัฒนาเขตที่พักอาศัยให้ใช้พลังงานน้อยลงผ่านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การติดตั้งฉนวนกันความร้อน และระบบระบายอากาศ ไปพร้อมๆ กับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนเพื่อลดอุณหภูมิโดยรวมของเมือง โดยมีโครงการนำร่องชื่อว่า Positive Energy Block ซึ่งพัฒนาที่พักอาศัยเดิมให้เป็น Smart House และเชื่อมต่อย่านที่อยู่อาศัย 3 ย่านเข้าด้วยกันเป็น 1 บล็อก ในแต่ละบล็อกจะมีแหล่งสาธารณูปโภคสำหรับใช้ร่วมกัน ทั้งสถานศึกษา สนามกีฬา โรงพยาบาล และตลาด ทำให้แต่ละบล็อกกลายเป็นชุมชนที่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ลดการเดินทางไกลโดยไม่จำเป็น สร้างความเป็นอยู่ที่ดีไปพร้อมๆ กับลดการใช้พลังงาน

 

นโยบายส่งเสริมการเดินเท้าเพื่อฟื้นฟูเมือง

ในช่วงที่สามของการเสวนา คุณ Young-Chang Cho ตัวแทนภาครัฐจากประเทศเกาหลีใต้ ได้ชวนเราเปลี่ยนบรรยากาศจากการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในภาพกว้าง มาเป็นการถอดบทเรียนจากกรณีศึกษา Seoullo 7017 โครงการฟื้นฟูทางยกระดับเก่าของเมืองให้กลายเป็นทางเท้าและสวนลอยฟ้า

ทางยกระดับแห่งนี้เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 1970 และเสื่อมโทรมลงตามอายุการใช้งาน รัฐบาลเกาหลีใต้ในขณะนั้นเห็นกรณีศึกษาจากโครงการ High Line Park ของนครนิวยอร์ก จึงมีความคิดที่จะฟื้นฟูทางยกระดับเก่านี้ให้กลายเป็นทางเดินเท้าสำหรับเชื่อมต่อย่านต่างๆ ของเมือง ฟื้นฟูย่านการค้า และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองไปพร้อมๆ กัน ในช่วงแรกของการดำเนินโครงการ มีประชาชนจำนวนมากออกมาคัดค้าน จัดชุมนุมประท้วงต่อต้านโครงการนี้ซึ่ง คุณ Young-Chang Cho อธิบายว่าเกิดจากปัญหาการขาดการสื่อสารและขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งรัฐบาลก็รับฟังเสียงของประชาชนเหล่านั้น และได้ปรับนโยบายใหม่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ภายหลังการลงพื้นที่ เยี่ยมบ้าน ถามความคิดเห็น จัดเวิร์คชอป รวมกว่า 600 ครั้ง จึงได้ออกมาเป็นแผนงานที่จะสร้างการเชื่อมต่อระหว่างตลาดนัมแดมุนกับอาคารโดยรอบ ฟื้นฟูให้เป็นย่านการค้าแห่งใหม่ของเมือง

โครงสร้างทางยกระดับเดิมได้รับการฟื้นฟูใหม่ให้แข็งแรงทนทาน สามารถรองรับคนจำนวนมาก และทนทานต่อแผ่นดินไหว มีการออกแบบที่ยึดหลัก ‘สร้างพื้นที่ทางเท้าที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน’ (user friendly) โดยตลอดแนวจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดและปุ่มแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินสำหรับขอความช่วยเหลือเพื่อดูแลความปลอดภัย มีทางขึ้นลงเชื่อมต่อกับอาคารและถนนด้านล่างอย่างทั่วถึงตามความเหมาะสม เช่น ในบางจุดมีการติดตั้งลิฟต์ที่เชื่อมต่อไปยังระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน บางจุดมีบันไดเลื่อนเชื่อมต่อกับห้างสรรพสินค้า อีกหนึ่งจุดเด่นของ Seoullo 7017 คือการเป็นพื้นที่สีเขียวลอยฟ้าของเมืองด้วยจำนวนต้นไม้กว่า 24,000 ต้น พื้นที่สีเขียวเหล่านี้สร้างทัศนียภาพที่ดีให้กับพื้นที่ ดีกับสิ่งแวดล้อม เป็นพื้นที่รองรับน้ำฝนของเมือง และกลายเป็นพื้นที่กิจกรรมแห่งใหม่ของเมือง ตั้งแต่กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจและการท่องเที่ยวทั่วไป งานฉายภาพยนตร์ งานวิ่ง แสดงงานศิลปะ ไปจนถึงกิจกรรมร่วมกับสถานทูต

Seoullo 7017 ไม่ใช่แค่พื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ที่มีชีวิตชีวา แต่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในเมือง เส้นทางเดินเท้าที่ปลอดภัย สะดวกสบาย ช่วยปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการเดินเท้าแก่ชาวเมือง และวัฒนธรรมการเดินเท้าก็ช่วยทำให้ย่านการค้าตลอดเส้นทางเติบโตอย่างก้าวกระโดด

 

นโยบายเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว

ช่วงที่สี่ของการเสวนา คุณวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ตัวแทนโครงการ Green Bangkok 2030 จากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้มาเล่าถึงแนวทางและนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจากการชวนเราย้อนดูการเติบโตของเมือง ว่าแต่เดิมนั้น กรุงเทพมีพื้นที่สีเขียวจำนวนมากในรูปแบบของพื้นที่การเกษตร แต่ผลจากการขยายตัวของเมืองทำให้รูปแบบการใช้ที่ดินในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบค่อยๆ เปลี่ยนไป เมืองมีคนมากขึ้น เขตที่อยู่อาศัย อาคารสาธารณูปโภคต่างๆ ต้องขยายตาม ทำให้พื้นที่สีเขียวที่มีอยู่เดิมนั้นลดลงอย่างรวดเร็ว

Green Bangkok 2030 จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสายงาน เพื่อเปลี่ยนที่ดินว่างเปล่า พื้นที่รกร้าง พื้นที่เศษเหลือจากการพัฒนา ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวสำหรับประชาชน เพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางสังคม พื้นที่ที่ดีต่อสุขภาพกายใจ ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในเมือง ลดอุณหภูมิและมลพิษ รวมถึงเป็นพื้นที่รองรับน้ำฝนด้วย

โดยเจ้าของที่ดินสามารถเข้ามาแสดงความประสงค์บริจาคที่ดินเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่สังคมได้ การบริจาคแบบนี้มีทั้งแบบถาวร และแบบชั่วคราว มีการตกลงว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะในระยะเวลาที่ตกลงกัน และเมื่อครบจำนวนปีที่กำหนด ที่ดินดังกล่าวก็จะกลับคืนสู่เจ้าของที่ดินดังเดิม กลไกนี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับกลไกภาษีที่ดิน ซึ่งเก็บภาษีที่ดินเปล่าที่ไม่มีการใช้งานสูงกว่าการใช้ที่ดินประเภทอื่นๆ ป้องกันการซื้อที่ดินกักตุนไว้เก็งกำไรในอนาคต เพราะการมีที่ดินเปล่าในเมืองนั้นนอกจากจะเป็นการใช้งานที่ดินที่ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังเสี่ยงต่อการกลายเป็นพื้นที่อโคจร เป็นพื้นที่รกร้าง และอาจสร้างผลเสียต่อชุมชนโดยรอบในที่สุด

โครงการ BANGKOK 2030 นั้นเป็นโครงการระยะยาว และตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่เน้นการสำรวจหาพื้นที่ ประเมินศักยภาพและความเหมาะสม ตลอดจนวางแผนการจัดการและการมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่สาธารณะสีเขียวดังกล่าวตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนได้อย่างยั่งยืน แต่ในอนาคต ไม่กี่ปีต่อจากนี้ พวกเขาจะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในระดับนโยบายที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองของเราอย่างแน่นอน

โควิด โลกร้อน กับ นโยบายสู่การพัฒนาเมืองสีเขียว

ในช่วง Q&A ได้มีบทสนทนาที่น่าสนใจว่า โควิดทำให้ทุกคนตระหนักว่าเมืองของเรานั้นเปราะบางเพียงใด ทั้งการขาดโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียงพอ พื้นที่กิจกรรมที่ปลอดภัย ความมั่นคงทางอาหาร ความต้องการใช้พลังงาน รวมถึงการหยุดชะงักของระบบเศรษฐกิจ การวางนโยบายเพื่อพัฒนาเมืองนั้นเป็นการวางแผนในระยะยาว นักพัฒนาในระดับนโยบายจึงต้องตื่นตัวให้มากขึ้นเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงของโลก และวางแผนเพื่อรับมือภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

หนึ่งในหนทางที่น่าจะเหมาะสมในการรับมือสิ่งนี้คือการสร้างเมืองสีเขียวที่ยืดหยุ่น พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ก็คือการเป็นเมืองที่ผลิตอาหารเองได้ ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งก็จะเกิดขึ้นโดยการวางนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ ชัดเจน ทำจริง และรับฟังเสียงของประชาชนเป็นกลไกสำคัญ

 

Illustration by  Supatsorn Boontumma
Share :