การลดขยะเป็นเทรนด์ที่หลายคนกำลังสนใจในช่วงเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นการไม่รับถุงพลาสติก การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการแยกขยะ ในเมืองไทยแค่แยกขยะไม่กี่ประเภท เราก็สับสนงงงวยกันแล้วว่าประเภทไหนเป็นอะไร สิ่งนี้รีไซเคิลได้ไหม หรือเป็นขยะทั่วไป แต่ที่เมืองคามิคัตสึ เมืองเล็กๆ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นพวกเขาแยกขยะถึง 45 ประเภท และนำแนวคิด zero waste หลักการง่ายๆ ที่ทำได้โดย ลดขยะ (reduce) รีไซเคิล (recycle) และการใช้ซ้ำ (reuse) จนทำให้เมืองนี้กลายเป็นต้นแบบของเมืองปลอดขยะ
เมืองคามิคัตสึ เริ่มนำแนวคิด Zero Waste มาใช้ในปี 2003 แต่การเริ่มต้นมักยากเสมอ ในช่วงแรกเลยต้องเน้นไปที่การทำความเข้าใจให้กับชาวบ้าน โดยเริ่มจากการคัดแยกขยะภายในครัวเรือน พร้อมกับการจัดตั้งสถานีแยกขยะไว้ในชุมชน ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำให้เมืองคามิคัตสึกลายเป็นมืองปลอดขยะคือ ศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับขยะ หรือ Zero Waste Academy องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ให้ความรู้และมีระบบบริหารจัดการ
เพื่อลดขยะให้เป็นศูนย์ ชาวเมืองจะแยกขยะที่บ้านตนเองประมาณ 4-5 ประเภท และนำไปคัดแยกต่อที่ Komi Station (สถานีแยกขยะ) โดยแยกประเภทขยะใส่กล่องตามที่จัดไว้ทั้งหมด 45 ประเภท แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะงง เพราะที่สถานีแยกขยะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำอยู่ จากนั้นขยะ 45 ประเภทจะถูกส่งไปที่ Waste Collection Center (ศูนย์รวมขยะ) เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อที่จุดต่างๆ ตามประเภท เช่น ข้าวของเครื่องใช้อาจส่งไปร้านของใช้มือสอง Kuru-Kuru Re-use Shop หรือร้าน Kuru-Kuru Upcycling Craft Center เพื่อนำมาซ่อมหรือดัดแปลง ตอนนี้เมืองคามิคัตสึสามารถจัดการขยะได้กว่า 80 % ที่เหลืออีก 20 % จัดการด้วยการฝังกลบ โดยส่วนที่เป็นขยะเปียกหรือขยะอินทรีย์จะแปรรูปหมักเป็นปุ๋ยหมัก ทั้งแบบหมักในถังพลาสติกและย่อยสลายในถังไฟฟ้า
Zero Waste Academy
องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ให้ความรู้และบริหารจัดการเรื่องขยะในเมืองคามิคัตสึอย่าง Zero Waste Academy ก็มีบทบาทสำคัญในการทำให้เมืองนี้เป็นเมืองปลอดขยะ โดยให้บริการ 3 ขั้นตอน ขั้นแรกคือให้ความรู้ความเข้าใจในหลักการของ zero waste ว่ามีกระบวนการอย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมขั้นต้น บริการต่อมาคือจัดกิจกรรมเพื่อความรู้แบบลงลึก มีการเทรนนิ่งต่างๆ เช่นจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กหรือสำหรับภาคธุรกิจ และบริการที่สามคือการให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติจริง โดยดึงพาร์ตเนอร์ต่างๆ มาเข้าร่วม ขั้นตอนนี้รวมไปถึงการวางแผนหรือนโยบายที่จะทำให้เมืองนี้กลายเป็นเมืองปลอดขยะในที่สุด
งาน Set Zero ที่จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวิร์กช็อปการจัดการขยะโดยเครือข่าย Big Trees ครีเอทีฟเอเจนซี ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ Japan Foundation ซึ่งคุณ Akira Sakano ประธานองค์กร Zero Waste Academy ก็ได้มาร่วมพูดคุยและบอกเล่าความสำเร็จในการทำให้เมืองคามิคัตสึเป็นเมืองปลอดขยะ เธอกล่าวว่าสิ่งสำคัญในการทำให้เมืองปลอดขยะไม่ใช่การแยกขยะถึง 45 ประเภท แต่ต้องคำนึงถึงปลายทาง ว่าสุดท้ายขยะเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน หรือเอาไปทำอะไร พร้อมกับทิ้งท้ายไว้ว่าไม่ใช่เพราะคามิคัตสึเป็นเมืองเล็กจึงทำได้ แต่ความจริงแล้วที่ไหนก็ทำได้ถ้ามีความตั้งใจและร่วมมือกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
infocenter.nationalhealth.or.th
Illustration by Thitaporn Waiudomwut
- CITY CRACKER
Little crack, hack city.