CITY CRACKER

สวนควรเป็นของคนทุกชนชั้น เมื่อพื้นที่สีเขียวช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน

เวลาเรานึกถึงพื้นที่สีเขียว พื้นที่สวนสาธารณะ ส่วนใหญ่เรามักนึกถึงพื้นที่หย่อนใจ พอพูดแบบนี้สวนก็เลยฟังดูเป็นเครื่องประดับของเมือง แน่นอนเราต่างเข้าใจว่าสวนคือพื้นที่ของสุขภาพ เป็นพื้นที่ที่ดีต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ

 

ด้วยความที่สวนดีต่อ ‘สุขภาพ’ นี่แหละ สวนและพื้นที่สีเขียวก็เลยดูจะขยับความสำคัญจากของประดับ มาสู่สิ่งจำเป็นของเมือง พอสวนส่งผลดีต่อสุขภาพก็จะนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีด้านอื่นเป็นทอดๆ  ไป มีการศึกษาวิจัยอำนาจของสวน ธรรมชาติ พื้นที่สีเขียวว่า เอ้อ มันมีพลัง และมีผลกับสังคม สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เด็กที่มีรายได้น้อย เติบโตได้อย่างแข็งแรง ทำมาหากินได้ดีกว่า

คือก็ไม่ถึงขนาดว่าพอมีสวนลงไปปุ๊บ โอโห จะมั่งคั่งร่ำรวยกันไปเลย ไม่ใช่ว่าสวนจะเป็นยาวิเศษที่แก้ไขได้ทุกอย่าง แต่พื้นที่สีเขียวเองก็ถือว่ามีความสำคัญเพียงพอที่เราจะพิจารณาเป็นปัจจัยพื้นฐานหนึ่งที่ประชาชนคนเดินดินควรจะเข้าถึงได้ ทีนี้ในมิติของความยากจน การเข้าถึงพื้นที่สีเขียวถือเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าถึงพื้นที่ทางสุขภาพ ถือเป็นความเสมอภาคอย่างหนึ่งเนอะ ลองนึกภาพว่า เอ้อ เรานี่รายได้ก็น้อย ชุมชนรอบๆ ก็ยากจน จะเข้าถึงบริการทางสุขภาพก็ลำบาก ถ้าสิ่งแวดล้อมมาบั่นทอนอีก ฝุ่นเยอะ บรรยากาศแย่ สุขภาพกายสุขภาพจิตย่อมแย่ลงทุกวัน การที่เรามีสวนอยู่ใกล้ๆ หรือพื้นที่เขียวๆ รอบๆ ก็ช่วยทำให้บรรยากาศดีขึ้นได้ ทำให้เรามีแรงกายแรงใจในการสู้ชีวิตต่อไป

 

hiclasssociety.com

 

พื้นที่สีเขียวกับการเยียวยาความยากจน

จริงอยู่ว่าความยากจนเป็นประเด็นที่ยุ่งขิงกับหลายเรื่อง ทั้งโอกาสในชีวิต การศึกษา สภาพแวดล้อม ทีนี้สวนจะเข้ามามีบทบาทในการเยียวยา หรือฉุดคนให้พ้นจากความยากจนได้อย่างไร- จริงๆ ก็คือตามนั้นเลยว่า การมีอยู่ของสวนส่งผลกับมิติทางสุขภาพ กระทั่งมีงานศึกษาว่า เด็กจากครอบครัวรายได้น้อย่ที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติได้ เมื่อโตขึ้นมีแนวโน้มจะทำรายได้ได้มากกว่า

งานศึกษาในปี 2008 จาก University of Glasgow พยายามศึกษาผลกระทบที่เป็นรูปธรรมของพื้นที่สีเขียวที่สัมพันธ์กับชุมชนผู้มีรายได้น้อย ผลโดยสรุปคือพบว่าการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ส่งผลกับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นรูปธรรม ตัวรายละเอียดการวิจัยพบว่า กลุ่มประชากรรายได้น้อยในพื้นที่ที่มีพื้นที่สีเขียวมีอัตราการตายต่ำกว่า พื้นที่ที่มีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่าหรือไม่มีเลย อีกทั้งการตายจากโรคปอด หรือระบบไหลเวียนของโลกไปจนถึงการฆ่าตัวตายก็มีน้อยกว่า (ในกลุ่มที่เข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้) อย่างมีนัยสำคัญ ผู้วิจัยสรุปว่าการมีพื้นที่สีเขียวทำให้ความไม่เสมอภาคทางสุขภาพ- แม้จะมีความยากจนเป็นปัจจัยเดียวกันลดลง การมีพื้นที่ทำให้เกิดการไลฟ์สไตล์ที่แอคทีฟขึ้น พร้อมทั้งช่วยชุบชูใจซึ่งส่งผลกับสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม

 

การเข้าถึงธรรมชาติทำให้ก้าวหน้าในอาชีพมากขึ้น

ในทำนองเดียวกันนักวิจัยจาก University of Illinois at Urbana-Champaign เองตั้งคำถามว่าไอ้เจ้าสวนหรือการเข้าถึงธรรมชาติส่งผลกระทบกับสถานะทางเศรษฐกิจ ทำให้เราก้าวพ้นจากความยากจนได้จริงแค่ไหน ผลของการศึกษาเมื่อปีที่แล้ว (2019) รายงานว่าการเติบโตขึ้นในพื้นที่ที่เข้าถึงธรรมชาติได้ ส่งผลกับฐานะในอนาคต ความก้าวหน้าทางอาชีพ และความสามารถในการทำมาหากินด้วย- สุดยอด

จากการศึกษาและประเมินเด็กๆ ในพื้นที่ยากจนที่มีต้นไม้ใบหญ้า มีพื้นที่ธรรมชาติกับที่ที่ไม่มี พบว่าการเติบโตทางอาชีพในระยะ 30 ปีของการทำงาน เด็กที่โตขึ้นในพื้นที่ที่มีพื้นที่ธรรมชาติมากกว่าค่าเฉลี่ยนั้น ทำรายได้สะสมมากกว่าพวกที่โตในพื้นที่ที่มีพื้นที่ธรรมชาติน้อยกว่าเฉลี่ยถึง 28,000 เหรียญสหรัฐ คือตรงนี้ก็เข้าใจเนอะว่าเรื่องความก้าวหน้า รายได้เฉลี่ยสะสม มีปัจจัยหลายอย่าง แต่ผู้วิจัยก็พยายามใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์มาคำนวณและชี้ให้เห็นว่า การเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติมันส่งผลกับคนอย่างเป็นรูปธรรม ประเมินออกมาเป็นรายได้สะสมกันเลยทีเดียว

การเข้าถึงธรรมชาติที่ครอบคลุมกว่านี้ ก็อาจจะตีความผลได้หลากหลายเนอะ ว่าคนที่โตขึ้นในภาวะแวดล้อมที่เขียวขจีกว่านั้นอาจมีสุขภาพที่ดีกว่า พื้นที่เขียวๆ อาจจะส่งผลต่อจิตใจและทัศนคติ เป็นคนที่เฮลตี้ทั้งกาย ใจและการมองโลก ทั้งหมดนั้นก็ทำให้คนๆ หนึ่งแข็งแรงและเติบโตขึ้นมาอย่างมีสุขภาพในทุกๆ ด้าน

 

มีหรือไม่มี ได้ใช้หรือไม่ สำคัญพอๆ กัน

ทีนี้ เรื่องความยากจน กับสวนในฐานะส่วนประกอบที่ควรจะเป็นหนึ่งในสาธารณูปโภคพื้นฐานก็เลยดูจะเป็นวงจรที่ไม่รู้จบ คือพื้นที่ของกลุ่มที่มีรายได้น้อยมักจะขาดพื้นที่สีเขียว คุณภาพชีวิตโดยรวมและโอกาสในชีวิตก็ยากที่จะพัฒนาก้าวหน้าต่อไป- สิ่งแวดล้อมคือทุกอย่างที่ส่งผลว่าชีวิตคนๆ หนึ่งจะไปได้แค่ไหน

เราอาจบอกว่า สวนเราก็มีไง กรุงเทพส่วนใหญ่เป็นสวนใหญ่ๆ เนอะ แน่ล่ะว่าถ้าวาดระยะทางแล้ว เอาจริงๆ ก็เข้าถึงได้ยากแหละ มีงานศึกษาจากทางอเมริกาที่สนใจว่าพื้นที่สีเขียวส่งผลกับความยากจน หรือกลุ่มคนชายขอบในทางลบ เช่นคนผิวสี ผู้มีรายได้น้อย เข้าไม่ถึงพื้นที่สีเขียว ทำให้มีไลฟ์สไตล์ที่ไม่ค่อยแอคทีฟอันส่งผลทางสุขภาพต่อไป

ผลที่น่าสนใจคือ จากการสำรวจพื้นที่สีเขียว กับชุมชนคนผิวดำ กลุ่มฮิสปานิกและชุมชนยากจนแล้ว สำหรับสหรัฐพบว่า ในเชิงระยะทาง สวนไม่ได้ห่างจากชุมชนอย่างมีนัยสำคัญ พูดง่ายๆ คือของเขาก็มีสวนกระจายตัวอยู่แหละ แต่ปัญหาดันอยู่ที่ว่า สวนเหล่านั้นกลับเป็นสวนที่ใช้ไม่ได้

กรณีของอเมริกาเอง นึกภาพสวนในบางย่าน คือมันมีไปงั้นๆ แต่สภาพอาจจะแย่ มีรายงานทำนองว่าสวนที่ออกแบบไม่ดี สุดท้ายแล้วคนแถวนั้นก็บอกว่าไม่กล้าเข้าไปใช้ หรือในกรณีเช่นไฮไลน์ระยะแรก ที่โอเคตัวโครงการดูไอเดียดี สวยงาม แต่ผลการศึกษาจาก St. Joseph’s College ที่ไปดูว่าเฮ้ยไฮไลน์ที่ดูจะเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นประชาธิปไตย โผล่ขึ้นกลางนิวยอร์ก ดินแดนแห่งความหลากหลายนี่ มันส่งผลกับชุมชน กับผู้คนจริงไหม

ผลการศึกษาในปี 2016 กลับไม่เป็นไปอย่างคาด กลุ่มคนที่ใช้งานไฮไลน์กลับเป็นคนผิวขาว และกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก การมีสวนสุดเท่ที่ทั่วโลกชื่นชมอาจกลายเป็นว่า สวนนั้นไม่ใช่สวนของทุกคน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอันหลากหลายของนิวยอร์ก

ผลคือทางผู้ออกแบบก็หันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบที่เชื่อมโยงไฮไลน์เข้าสู่ความเป็นย่าน ออกแบบโดยคิดเผื่อและรวมคนทั้งหมด เช่นคนผิวสีเข้าไว้ในงานออกแบบ จุดเล็กๆ เช่นการมีพื้นที่เปิดโล่งมากขึ้น มีการเดินเข้าถึงที่ง่ายขึ้น เช่นการเชื่อมต่อจากขนส่งมวลชน อาจจะได้ข้อคำนึงตรงนี้ทำให้ไฮไลน์ช่วงสุดท้ายที่ The Spur มีประติมากรรมหญิงผิวสียืนทอดสายตาสู่ท้องถนนอันคับคั่งของนิวยอร์ก

thehighline.org

 

ดังนั้นเอง ประเด็นเรื่องพื้นที่สีเขียวจึงเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและส่งกระทบกับผู้คน และคุณภาพชีวิตอย่างลึกซึ้ง ย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำว่าความซับซ้อนนี้จึงหมายถึงการต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่การมีหรือไม่มีพื้นที่สีเขียว สวนเหล่านั้นออกแบบเพื่อใคร ใครคือผู้ใช้งาน นึกภาพสวนในเมืองที่หรูหราและแม้ว่าอาจจะใกล้ แต่การไป ‘จอกกิ้ง’ ก็อาจไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ของชนทุกชั้น

 

การจะย้ายสวนจากการเป็นเครื่องประดับ ให้กลายเป็นหัวใจ และการทำให้พื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่ของคนทุกคนอย่างแท้จริง จึงดูจะเป็นเส้นทางที่เราต้องถกเถียงและขบคิดอย่างจริงจังต่อไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

thelancet.com

sciencedirect.com

activelivingresearch.org

link.springer.com

citylab.com

tandfonline.com

203.155.220.118

 

Illustration by Napadon Wongcharoensawad

Share :