CITY CRACKER

วัตถุดิบแพง ความมั่นคงทางอาหารจึงสำคัญ กับ 8 Urban Farm จากทั่วโลก

หมูแพง ผักแพง หรือกระทั่งสัดส่วนของราคาวัตถุดิบและราคาที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของบ้านเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความมั่นคงทางอาหาร โดยประเด็นความมั่นคงทางอาหารนั้นเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังพยายามจัดการ คืออย่างน้อยผู้คนในทุกระดับชั้นจะต้องเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต

ในการร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่นแนวคิดเรื่องพื้นที่เมืองที่มีความหลากหลายมากขึ้น ภาวะโลกร้อนที่ทำให้เราหันมาสนใจเรื่องปัญหาการขนส่งอาหาร แนวคิดการออกแบบพื้นที่สีเขียวและการใช้พื้นที่ที่สามารถผลิตอาหารและเป็นพื้นที่กิจกรรมอื่นๆ ของเมือง ไปจนถึงปรัชญาในการดึงผู้คนให้ใกล้ชิดกับการผลิตอาหารโดยตรง ทำให้กระแสเรื่องฟาร์มในเมือง หรือ Urban Farm เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย

สำหรับ Urban Farm นั้น แน่นอนว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาเรื่องการผลิตอาหารทั้งระบบ รวมไปถึงปัญหาหมูแพงและการควบคุมราคาอาหารและวัตถุดิบนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่ แต่ว่าฟาร์มในเมืองนั้นก็ถือเป็นแนวคิดสำคัญ และค่อนข้างเป็นการใช้นวัตกรรมและการออกแบบในการปรับเปลี่ยนหรือจัดการทั้งตัวพื้นที่และวิธีการทำเกษตรกรรมในรูปแบบที่ต่างออกไป โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมด้านการออกแบบทั้งในแง่ของพื้นที่กายภาพและการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมในการผลิตอาหารของคนเมือง

เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร City Cracker จึงชวนไปนวัตกรรมฟาร์มในเมืองที่น่าสนใจจากทั่วโลก ตั้งแต่พื้นที่ปลูกผักในที่รกร้างใต้ดินจากลอนดอน สวนส่วนกลางของพื้นที่สาธารณะต่างๆ ของอเมริกาหรือกระทั่งนึกภาพการอยู่ในออฟฟิศที่รอบๆ ตัวเราเป็นพืชผักผลไม้จากโตเกียว สวนสำหรับเด็กที่จำลองแนวคิดเกษตรกรรมดั้งเดิมแต่ตีความออกมาใหม่จากเวียดนาม สวนผักน้ำที่ออกแบบเป็นสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนและเรียนรู้ล้ำสมัยจากฮ่องกง และส่งท้ายโมดูลเล็กๆ ที่อาจใช้เพื่อสอดแทรกพื้นที่ผลิตอาหารในทุกๆ พื้นที่

 

 

Pasona, Tokyo

นี่คือออฟฟิศบนสี่แยกที่คับคั่งของเมืองโตเกียว นึกภาพการทำงานในพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ ประชุมงานกลางแปลงผักในร่ม นั่งพักผ่อนไปชมผักออกผลไป บริษัท Pasona เป็นบริษัทด้านการจัดหางานของญี่ปุ่น ในการปรับปรุงอาคารสำนักงานใหญ่อายุ 50 ปีนั้นทางสตูดิโอ Kono Designs ได้จัดการเปลี่ยนพื้นที่การทำงาน โดยนอกจากจะเน้นการปกคลุมอาคารไปด้วยพืชผักกว่าสองร้อยชนิดแล้ว ออฟฟิศแห่งนี้ยังเน้นออกแบบให้เป็นฟาร์มผักที่สามารถผลิตอาหารในรูปแบบที่หลากหลาย สอดแทรกไปกับพื้นทำงานในชีวิตประจำวัน ทั้งยังส่งเสริมให้พนักงานดูแลและเก็บเกี่ยวพืชผักสดๆ ไปรับประทานกันอีกด้วย

ตัวพืชพรรณที่เป็นผัก ผลไม้ และข้าวนั้นจะได้รับการออกแบบให้ปลูกไว้ในหลายรูปแบบคือเป็นทั้งเครื่องประดับพื้นที่ พร้อมทั้งมีฟังก์ชันที่ผลิตอาหารได้ เราจะเห็นทั้งแปลงผักเล็กๆ บนพื้น เห็นโรงเพาะพืชเถาที่ทำให้พื้นที่พักผ่อนเล็กๆ มีเถามะเขือเทศเลื้อยข้ามเราไป และที่จริงจังไปกว่านั้นคือการมีแปลงข้าวในร่ม ทั้งหมดนั้นบริษัทจะส่งเสริมให้พนักงานช่วยกันดูแล กระทั่งร่วมกันเกี่ยวข้าว โดยมีทีมด้านเกษตรกรรมช่วยสนับสนุนพร้อมด้วยอาคารที่ออกแบบเพื่อการระบายอากาศและระบบควบคุมสภาพอากาศภายในที่เหมาะสม

ความพิเศษของฟาร์มผักในออฟฟิศที่โตเกียวแห่งนี้ นอกจากจะเป็นฟาร์มผักที่ผลิตอาหารบนจานของเหล่าพนักงานที่ใหญ่ที่สุดของโตเกียวแล้ว เราจะเห็นว่างานออกแบบนี้ยังเน้นสื่อสารกับคนภายนอก ด้วยความที่อาคารตั้งอยู่บนสี่แยกที่คนผ่านไปผ่านมา ตัวผนังอาคารนั้นจะได้รับการออกแบบให้มีพืชพรรณสลับกันออกดอกผลิใบตามฤดูกาล ความเปลี่ยนแปลงของอาคารไปตามฤดูกาลนี้ทำให้คนเมืองที่เดินผ่านไปผ่านมาสนใจ และเริ่มเห็นความพิเศษของธรรมชาติได้ แม้จะอยู่กลางป่าคอนกรีตก็ตาม

 

Growing Underground Project

โครงการ Growing Underground Project เป็นอีกโครงการด้านฟาร์มในเมือง รวมไปถึงการใช้พื้นที่รกร้างและการใช้นวัตกรรมเพื่อผลิตอาหารที่โดดเด่น ตัวโครงการเป็นการสร้างฟาร์มผักขึ้นในพื้นที่ใต้ดินคือเป็นหลุมหลบภัยเก่า ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่ใช้เทคโนโลยีในการปลูกผักเช่นดาต้าและความรู้ต่างๆ ทำให้สามารถปลูกผักในร่มและผลิตผักป้อนให้พื้นเมืองได้ ความพิเศษของโครงการนี้คือด้วยองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมและการใช้ข้อมูล ฟาร์มผักแห่งนี้จึงใช้เวลาการปลูกผลผลิตบางประเภทได้ถึง 50% และโดยเฉลี่ยลดเวลาปลูกได้ 7% เพิ่มผลผลิตได้ 24% โดยที่ใช้น้ำและพื้นที่น้อยกว่าการปลูกในเรือนกระจกทั่วไป ที่สำคัญคือตัวระบบยังใช้พลังงานหมุนเวียน 100% และเป็นโครงการที่เป็น zero carbon อีกด้วย

ตัวฟาร์มแห่งนี้สร้างในพื้นที่หลุมหลบภัยเก่า บริเวณถนน Clapham High Street ในกรุงลอนดอน แน่นอนว่าเป็นอุโมงค์ทรงโค้งที่ใช้หลอด LED ในการปลูกแทนและตัวอุโมงค์ไม่ต้องใช้ระบบทำความร้อน ฟาร์มผักใต้ดินนี้ของลอนดอนในความร่วมมือกับเคมบริจน์ถือเป็นฟาร์มใต้ดินแห่งแรก โดยในปีนี้ทางฟาร์มวางเป้าหมายไว้ว่าฟาร์มที่มีขนาดเท่าสนามเทนนิสนี้จะผลิตพืชผักได้ราว 60 ตัวต่อปี เท่ากับการบริโภคผักกาดหอมของคนราวหนึ่งหมื่นคน

 

VAC Library

สวน บ่อ และคอก เป็นสามแนวคิดของการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมของเวียดนาม และพื้นที่เปิดโล่งที่เต็มไปด้วยโครงสร้างสี่เหลี่ยมล้ำสมัยนี้ก็คือการตีความ และทำให้การเกษตรดั้งเดิมของเวียดนามเข้ามาอยู่ในพื้นที่เมืองได้ VAC Library ตามชื่อตัวโปรเจกต์เป็นเหมือนห้องสมุดเล็กๆ พื้นที่สาธารณะส่วนกลางในย่านพักอาศัยที่ฮานอย ตัวฟาร์มเล็กๆ แห่งนี้ส่วนหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนและเรียนรู้ของเด็กๆ ทั้งในฐานะห้องสมุดที่จะบริการหนังสือเด็ก เฟรมสี่เหลี่ยมสำหรับปีนป่าย พร้อมกันนั้นฟาร์มจิ๋วแห่งนี้ก็จะสอนเด็กๆ เรื่องอาหารและการเกษตรหมุนเวียน รวมถึงวงจรธรรมชาติของการผลิตอาหาร

VAC จากชื่อโครงการนั้นก็สัมพันธ์กับคำของเวียนนามคือสวน (Vườn) บ่อ (Ao) และคอก (Chuồng) คือเป็นคล้ายๆ การจัดการพื้นที่เพื่อการเกษตรแบบดั้งเดิมที่มีทั้งพื้นที่เพาะปลูก สระน้ำ และพื้นที่เลี้ยงสัตว์ คล้ายๆ บ้านเราเหมือนกัน ทีนี้ตัวสวน บ่อและคอกในรูปลักษณ์ใหม่ก็จะเป็นลักษณะของสวนผักแบบใช้น้ำ มีบ่อเรื่องปลา และมีเล้าเลี้ยงไก่ ตัวระบบจะเน้นการหมุนเวียนทั้งการดึงน้ำจากบ่อขึ้นไปเลี้ยงพืชผัก การหมุนเวียนเป็นการใช้ของเสีย- ที่จริงๆ คือธาตุอาหารขึ้นไปกรอง ในขณะเดียวกันขี้ไก่ก็กลายเป็นอาหารปลา ทั้งนี้ระบบหมุนเวียนจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการหมุนเวียนน้ำและให้กระแสไฟฟ้าในส่วนอื่นๆ ห้องสมุดแห่งนี้จึงเป็นห้องสมุดที่เด็กๆ จะได้วิ่งเล่น มองเห็นพืชผักและวงจรชีวิตของธรรมชาติที่กลายมาเป็นอาหารของพวกเขา

 

growUP box

คอนเซปต์นี้คล้ายๆ กับแนวคิดเรื่องเกษตรดั้งเดิมแบบเอเชียคือเน้นการหมุนเวียนของผลผลิต แต่โปรเจกต์ growUP box เป็นโปรเจกต์สตาร์ทอัปจากอังกฤษ ตัวโปรเจกต์เสนอแนวทางการสร้างฟาร์มในเมืองด้วยการดัดแปลงตู้คอนเทนเนอร์ให้กลายเป็นฟาร์มผักที่เลี้ยงด้วยน้ำ พร้อมด้วยบ่อเลี้ยงปลานิลขนาดกะทัดรัด ตัวโปรเจกต์เริ่มเปิดตัวราวปี 2013 และเปิดตู้คอนเทเนอร์แรกคือเปิดฟาร์มจริง เลี้ยงปลาจริงไปในงาน chelsea fringe festival ตัวคอนเทเนอร์นอกจากจะเป็นฟาร์มแล้วยังมีหน้าตาที่ทันสมัย สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ เปิดพื้นที่กินดื่มได้จากสีสันของการเป็นฟาร์มพร้อมทั้งเลี้ยงปลาไปด้วยได้

ตัวระบบก็เรียบง่ายคือเป็นเรือนกระจกในชั้นสองของตู้คอนเทนเนอร์ ใช้ระบบปั๊มน้ำเพื่อปั๊มน้ำขึ้นไปเลี้ยงผักด้านบน ส่วนด้านล่างก็จะเลี้ยงปลาและใช้น้ำจากการเลี้ยงปลาหมุนเวียนขึ้นไปทั้งฟอกทำความสะอาดและใช้สารอาหารจากของเสียของปลาขึ้นไปเลี้ยงผักไปในตัว ในตัวต้นแบบนั้นบริษัทได้เลือกปลานิลเป็นปลาต้นแบบ โดยด้วยพื้นที่ราว 14 ตารางเมตรนี้สามารถผลิตผักใบได้ราว 400 กิโลกรัมต่อปีและปลาราว 100 กิโลกรัม

 

 

Sky Greens, Singapore

ว่าด้วยเรื่องพื้นที่สีเขียว ความรักในต้นไม้พืชพรรณ ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องพื้นที่ที่จำกัดเราต้องพูดถึงสิงคโปร์ สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศขนาดเล็กที่เต็มไปด้วยพื้นที่เมือง และได้กลับวิธีการพัฒนาด้วยการใส่ป่าเข้าไปหาเมือง สำหรับการผลิตอาหารในนามของฟาร์มในเมือง สิงคโปร์เองก็มีนวัตกรรมและตัวฟาร์มขนาดมหึมาในชื่อ Sky Green ฟาร์มแนวตั้งอัตโนมัติที่ถือว่าเป็นฟาร์มไฮโดรลิกที่เปิดเพื่อผลิตผักขายแห่งแรกของโลก

ตัว Sky Green เป็นโรงเรือนยักษ์ที่ด้านในมีหอคอยแปลงผักสูงสามสิบฟุตจำนวน 120 หอคอย แต่ละหอคอยจะมีถาดเพาะพืชราว 32 ถาด ตัวหอคอยจะควบคุมด้วยระบบไฮโดรลิกหมือนกับชิงช้าสวรรค์ที่จะค่อยๆ หมุนไปในแต่ละวัน โดยแต่ละหอคอยใช้พลังงานเพียง 60 วัตต์ หรือเท่าหลอดไฟหนึ่งหลอด ตัวถาดและดินจะผลิตจากแคปซูลกาแฟและกากกาแฟของเนสเปรสโซ่ ผักที่ปลูกก็จะมีทั้งผักตะวันตก เช่น ผักกาดหอม ผักโขม รวมถึงผักเอเชีย เช่น ผักกะหล่ำจีน ปวยเล้ง แม้ว่าราคาผักจากฟาร์มแนวตั้งนี้จะมีราคาสูงกว่าราคาตลาดราว 10-20 เซ็นต์ แต่ด้วยความสดใหม่ทำให้ผักจากสวนนวัตกรรมนี้ได้รับความนิยม อย่างไรก็ตามตัวเลขการลงทุนฟาร์มค่อนข้างสูงที่ราว 21 ล้านเหรียญ กับการสร้างหอคอยราว 300 หอ

 

Prinzessinnengarten, Berlin

สำหรับสวนผักเมืองของเบอร์ลินนี้อาจไม่ได้เน้นไปที่นวัตกรรมเหมือนที่อื่นๆ แต่โมเดลของการปรับพื้นที่ร้างๆ หรือเปิดพื้นที่สาธารณะโดยมีแนวคิดเป็นสวนผักส่วนกลาง เป็นพื้นที่ให้คนเมืองเข้ามาทำกิจกรรม ปลูกผัก และเก็บเกี่ยวผลผลิตร่วมกัน ถือเป็นกระแสหนึ่งที่หลายเมือง และหลายระดับคือทั้งรัฐ ทั้งเอกชน พื้นที่ขนาดใหญ่ไปจนถึงเล็กๆ รวมถึงบ้านเราก็เริ่มมีทั้งกรุงเทพและเชียงใหม่ Prinzessinnengarten ถือเป็นโปรเจกต์สำคัญจากเยอรมัน เริ่มต้นในปี 2009 เป็นการพัฒนาที่ร้างบริเวณย่าน Moritzplatz ในกรุงเบอร์ลิน ตัวพื้นที่เดิมเป็นเหมือนจุดบอดจากการพัฒนา เป็นพื้นที่เคยได้รับผลกระทบจากกำแพงเบอร์ลิน มีป้ายรถใต้รถใต้ดินที่ไม่เคยเปิดใช้ กำแพงสูงของอพาร์ตเมนต์

สวน Prinzessinnengarten หมายถึงสวนของเจ้าหญิง (princess garden) แนวคิดหลักคือการเปิดพื้นที่ให้กลายเป็นสวนผักของเมือง เน้นการนำพื้นที่เพาะปลูกเข้ามาสู่คนเมืองที่ห่างไกลธรรมชาติและการผลิตอาหาร พื้นที่แห่งนี้จะตอบสนองสิ่งที่ขาดหายไปของคนเมือง คือจะเป็นพื้นที่ของการกิน การใช้ชีวิต และการขยับตัวที่มีความยั่งยืนมากขึ้น สิ่งของและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะปลูกจะเน้นไปที่วัสดุรีไซเคิล ผู้มาเยือนสามารถที่ลงมือเก็บเกี่ยวทั้งผักและเรียนรู้การเก็บเมล็ด ได้รับประทานผักสดๆ และมีคาเฟ่ที่ใช้วัตถุดิบสดใหม่จากสวนของตัวเอง

 

K-Farm, Hongkong

มาที่โปรเจกต์เท่ๆ คือเป็นทั้งฟาร์ม ทั้งพื้นที่สาธารณะ และเป็นพื้นที่การเรียนรู้เรื่องเกษตรกรรมโดยเน้นไปที่มิติทางวิทยาศาสตร์ หรือ STEM education ตัวฟาร์มล้ำสมัยที่หน้าตาเหมือนแล็บนี้ตั้งอยู่ที่อ่าววิคตอเรียของฮ่องกง พื้นที่ที่ถือว่ามีความยากลำบากในการผลิตอาหารเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ฟาร์มแห่งนี้จึงเน้นเป็นพื้นที่เรียนรู้และแสดงการใช้นวัตกรรมของการปลูกผักด้วยน้ำ เพื่อทั้งวิจัยและแสดงผลของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการปลูกพืชในทุกเงื่อนไข รวมถึงการศึกษาและแสดงการทำเกษตรกรรมร่วมระหว่างประมงและกสิกรรม การอยู่ร่วมกันของปลาและการปลูกผัก

ตัว K-Farm เป็นถือเป็นสวนสาธารณะรูปแบบใหม่ที่ทั้งสร้างองค์ความรู้ด้วยการทดลองและการเป็นฟาร์มผัก พื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะมีลักษณะสวนเพื่อการหย่อนใจ มีสระน้ำ แปลงผัก บ่อปลา สำหรับไฮไลต์ของพื้นที่คือโรงเรือนทรงกลมนั้นก็เป็นพื้นที่พิเศษที่สามารถเยี่ยมชมและเป็นที่เรียนรู้เรื่องอนาคตของการเกษตรกรรมและการผลิตอาหารภายในเมือง รวมไปถึงการได้เรียนรู้มิติที่สัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน นอกจากนี้ตัวฟาร์มยังมีพื้นที่บริการเช่นคาเฟ่ ร้านอาหารและพื้นที่จัดกิจกรรมของชุมชน ตลาดผลผลิตไว้ให้บริการด้วย

 

Growmore

โจทย์อย่างหนึ่งของนักออกแบบและนักพัฒนาที่สนใจส่งเสริมการผลิตอาหารในเมือง คือการหาทางออกและบอกกับคนเมืองว่าการผลิตอาหารเป็นเรื่องใกล้ตัว ทำได้ไม่ยาก และทำได้จริง Growmore เป็นหนึ่งโปรเจกต์ที่พยายามเสนอทางออกที่จะสอดแทรงลงไปในพื้นที่เล็กๆ ไปจนถึงพื้นที่ใหญ่ๆ ในบริบทเมืองไม่ว่าริมถนน พื้นที่หน้าบ้าน จัตุรัสหรือลาน เราเองสามารถออกแบบพื้นที่เพื่อทำฟาร์มเล็กๆ ของเราเองได้

อันที่ Growmore อธิบายอย่างง่ายๆ คือเป็นระบบฟาร์ม ที่ออกแบบเป็นระบบโมดูลาร์ที่มีความยืดหยุ่นและประกอบขึ้นได้ด้วยไม้อัดเพียงหกชิ้น ตัวโครงสร้างของฟาร์ม- เป็นเหมือนระบบชั้นวางที่หมุนได้และปรับได้อย่างอิสระสามาระวางลงพื้นที่หลากหลายตั้งแต่แนวยาว ไปจนถึงการประกอบกันเป็นฟาร์มทรงกลม ความพิเศษของงานออกแบบจาก Husum & Lindholm Architects สตูดิโอในเนเธอร์แลนด์นี้เป็นการเสนอโมเดลและเปิดให้นำไปใช้ได้ในลักษณะ open source โดยการออกแบบพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็ก ในทำนองเดียวกันอีเกียก็มีการออกแบบแปลนสำหรับปลูกพืชในเมืองทรงกลมไว้ในชื่อ Growroom และแจกเป็น Open Source เช่นเดียวกัน

.

ผู้สนใจสามารถดูแปลนการสร้าง Growmore ได้ที่นี่ https://www.husumandlindholm.com/growmore-a-modular-building-system-for-a-greener-urban-environment

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

dezeen.com

cam.ac.uk

designboom.com

dezeen.com

worldkings.org

archdaily.com

dezeen.com

prinzessinnengarten.net

 

Share :