CITY CRACKER

Earth Day สำรวจประเทศห่างไกล อยู่อย่างไรในภาวะ COVID-19

วันนี้ วันที่ 22 เมษายนของทุกปีเป็นวัน Earth Day อันเป็นวันที่ทั่วโลกร่วมกันเฉลิมฉลองและกลับไปให้ความสำคัญกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อม ให้ความรักกับโลกอันเป็นแหล่งอันอุดมของสรรพชีวิตที่เราอาศัยอยู่ ความหมายโดยนัยของคำว่า Earth คือผืนแผ่นดินและดาวสีฟ้าดวงกลมๆ ที่เราเติบโตกันขึ้นใบนี้

 

ตามปกติแล้ว Earth Day จะเต็มไปด้วยกิจกรรม เป็นวันที่เราจะออกไปให้ความสำคัญกับธรรมชาติที่รายรอบเรา แต่ปีนี้วัน Earth Day ของเราเป็นเวอร์ชั่นที่โลกกลมๆ อันเป็นที่รักของเรากำลังเผชิญกับภาวะโรคระบาด ประเทศน้อยใหญ่ทั่วโลกต่างกำลังดิ้นรน รับมือกับเชื้อโรค Covid-19 ในสภาวการณ์และสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันไป

นัยหนึ่งวัน Earth Day คือการสำนึกต่อโลก ต่อความเชื่อมโยงกันของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่ต่างดำรงอยู่ในดาวดวงเดียวกันนี้  City Cracker จึงอยากชวนไปสำรวจความเป็นไปของประเทศต่างๆ ในการเผชิญกับ COVID-19 เป็นประเทศที่เราอาจลืมเลือนกันไป ไม่ได้อยู่ในหน้าสื่อ เช่นอเมริกา จีน หรือประเทศใหญ่ๆ ที่เราได้ยินชื่อทุกวัน

 

เพื่อนบ้าน สบายดี

เริ่มจากอัพเดตประเทศรอบๆ บ้าน ส่วนใหญ่ประเทศในกลุ่มอาเซียนต่างได้รับผลกระทบจากไวรัส ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการปรับตัวและการรับมือก่อน-หลัง เพื่อนบ้านใกล้ๆ เราหลายประเทศเป็นปรับตัวรับมือกันได้อย่างรวดเร็ว ประเทศที่ก้าวหน้าและน่าจับตา เช่น เวียดนาม เป็นประเทศที่ระงับการระบาดได้ ล่าสุดมีรายงานการติดเชื้อราว 276 ราย แม้ว่าเวียดนามเองจะอยู่ติดกับจีน แต่ทางการมีการระงับการเดินทางตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม และเริ่มกักกันโรคตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์สำหรับเวียดนามเมื่อรับมือได้อย่างดีแล้วก็ส่งความช่วยเหลือให้ประเทศอาเซียนด้วย

ในทำนองเดียวกันประเทศเมียนมาร์และลาวก็ต่างรับมือการระบาดอย่างทันท่วงที มีการปิดชายแดน จัดการตรวจค้นหาโรค ทำให้ประเทศเพื่อนๆ บ้านของเรามีรายงานการติดเชื้อที่ค่อนข้างต่ำ ตัวเลขจาก WHO เมียนมาร์มีรายงานการติดเชื้อเพียง 85 ราย และลาวมีรายงานการติดเชื้อที่ 19 ราย

ประเทศกลุ่มอาเซียนไกลจากเราหน่อย ส่วนหนึ่งที่อยู่นอกข่าวและความสนใจก็ด้วยว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนค่อนข้างรับมือกับการระบาดได้ดี มีรายงานการติดเชื้อน้อย และยอดผู้ติดเชื้อไม่พุ่งสูงขึ้น ประเทศเช่นบรูไน ติมอร์เลสเตก็ล้วนมีรายงานผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 136 และ 18 กรณีตามลำดับ

 

ชาวเผ่า กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยง

จากประเทศเพื่อนบ้าน ไปสู่กลุ่มประเทศ และกลุ่มสังคมชนเผ่า ทาง UN เองก็ออกมาแสดงความกังวล และประกาศเตือนกลุ่มสังคมชนเผ่า ว่าแม้ว่ากลุ่มสังคมนี้จะค่อนข้างโดดเดี่ยวตัวเองจากโลกภายนอก แต่ด้วยลักษณะสังคมที่อาจห่างไกลจากการสาธารณสุข และการดำเนินชีวิตที่มีความใกล้ชิดซึ่งกันและกัน ตั้งแต่การอยู่แบบสังคมเครือญาติ การเชื่อมต่อกันผ่านระบบพิธีกรรม ไปจนถึงการขาดเครื่องมือทางสาธารณสุขที่จำเป็นในการป้องกันไวรัส เช่น หน้ากากอนามัย สบู่ ตลอดจนเวชภัณฑ์ต่างๆ โดยยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มสังคมชนเผ่ามักจะได้ถูกภาครัฐละเลยและหลายครั้งมองข้ามความเป็นพลเมืองและความเป็นมนุษย์ไป

ชนเผ่าในแถบป่าแอมะซอนถือเป็นกลุ่มชนสำคัญที่ทั่วโลกกำลังจับตาจากการระบาดของโควิด 19 ประเทศบราซิลอันเป็นประเทศสำคัญที่ชนเผ่าลุ่มแม่น้ำแอมะซอนอาศัยเป็นอีกหนึ่งประเทศ และเป็นพื้นที่เสี่ยงของการระบาด สำหรับบราซิลนั้น ลำพังการจัดการก็ค่อนข้างละเลยกับชนเผ่าแถบแอมะซอนอยู่แล้ว แม้ว่าทางผู้นำเผ่าและผู้นำชุมชนจะขยับตัว มีการปิดกั้นการเข้าถึงชุมชน และโดดเดี่ยวตัวเองอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงมีการร่วมมือระหว่างเผ่าเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค แต่ในที่สุดก็ยังมีรายงานการติดเชื้อของกลุ่มชนในแถบอเมซอน และตัวเลขก็ค่อยๆ ขยับสูงขึ้น

ในทำนองเดียวกัน กลุ่มคนพื้นเมืองในประเทศโคลัมเบียเองก็กำลังเผชิญกับภาวะที่ค่อนข้างย่ำแย่ มีการประกาศเตือนอย่างเข้มข้นว่ากลุ่มชนพื้นเมืองในโคลัมเบียเป็นอีกกลุ่มผู้คนที่เสี่ยงทั้งจากภาวะโรคระบาด การเสียชีวิตจากภาวะขาดแคลนอาหาร แน่นอนว่ากลุ่มชนพื้นเมืองในโคลัมเบียนั้นค่อนข้างเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่น้ำสะอาด เวชภัณฑ์และสาธารณูปโภคอยู่แล้ว การระบาดของโรคจึงถือเป็นภาวะซ้ำเติมที่ทำให้เกิดการระบาดได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยในแถบบ้านเรา ด้วยความที่บางส่วนอยู่ห่างไกล และอยู่ในพื้นที่เขตรอยต่อเช่นแถบพม่าที่ยังมีรายงานการระบาดต่ำ และผู้นำชุมชนก็มีการประกาศปิดเส้นทาง ปิดหมู่บ้านกันตั้งแต่ต้นมือ รายงานตัวเลขการระบาดจึงยังไม่เป็นที่น่ากังวล อาจจะพอมีข่าวการป้องกันแบบให้กำลังใจ เช่นการใช้หุ่นฟางตั้งไว้หน้าและในหมู่บ้านของชาวปะหล่องเพื่อไล่เชื้อโรค

 

Remote Country ห่างไกลกัน ห่างไกลโรค

ขยับไปที่ประเทศที่ห่างไกล และค่อนข้างโดดเดี่ยว มีการสัมผัสกับโลกภายนอกไม่มาก เข้าถึงได้ยาก ในแง่นี้โรคระบาดค่อนข้างไปไม่ถึง ประเทศภูฏานมีรายงานผู้ติดเชื้อเพียง 5 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และด้วยปริมาณการเดินทางเข้าออกที่น้อยจึงมีการระงับกักกันโรคได้อย่างทันท่วงที

สำหรับมองโกลเลีย เขตปกครองตนเองที่อยู่กับจีนและรัสเซียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่รับมือกับการระบาดได้อย่างยอดเยี่ยม มีรายงานการติดเชื้อเพียง 31 ราย โดยทางมองโกเลียนั้นถือว่าตอบสนองต่อข่าวการระบาดโดยทันที ทางภาครัฐมีการรับมือด้วยวิธีการสำคัญตั้งแต่การสั่งปิดชายแดน ปิดโรงเรียน สั่งห้ามการรวมตัวในที่สาธารณะ หยุดพิธีสำคัญกระทั่งการฉลองปีใหม่ประจำชาติ

มองมาที่ประเทศหมู่เกาะ ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นหมู่เกาะในแถมแอฟริกาหรือในแถบทะเลแปซิฟิกก็ยังไม่มีรายงานการระบาดอย่างสำคัญ ประเทศหมู่เกาะเช่น ประเทศโคโมรอส ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ ในขณะที่ประเทศใกล้เคียงมาดากัสการ์มีรายการติดเชื้อแล้ว ล่าสุดอยู่ที่ 121 ราย ส่วนหนึ่งเกิดดจากการควบคุมการเข้าประเทศ ปริมาณการเดินทางที่น้อย และการสั่งปิดกิจกรรมในประเทศเช่นเดียวกัน

ส่วนประเทศหมู่เกาะแถบทะเลแปซิฟิกนั้น มีถึง 10 ประเทศที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ 0 เช่นประเทศโซโลมอน ไอซ์แลนด์ ตองก้า วานาอาตู ส่วนใหญ่ประเทศเหล่านี้ ด้วยความที่มีความเสี่ยงจากการเข้าถึงบริการสุขภาพ และการเผชิญภัยธรรมชาติและโรคระบาดอยู่แล้ว จึงมีการปิดการเดินทางจากจีนและระงับการระบาดตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของการระบาด

อย่างไรก็ตาม ประเทศหมู่เกาะบางส่วนก็มีรายงานการติดเชื้ออยู่ในระดับปานกลาง คือมีรายงานการติดเชื้อ เช่นหมู่เกาะเคแมนในแถบแคริเบียนมีรายงานการติดเชื้อ 66 ราย และเสียชีวิต 1 ราย (ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร) ส่วนหนึ่งมีข้อสังเกตว่า ปริมาณผู้ติดเชื้อนั้นอาจสัมพัทธ์กับปริมาณ, ศักยภาพ และความพยายามในการสั่งตรวจของทางภาครัฐด้วย ยิ่งตรวจมากยิ่งพบตัวเลขติดเชื้อมากตาม

 

แน่นอนว่าประเทศโดดเดี่ยวสำคัญ เช่น เกาหลีเหนือที่แม้ว่าจะค่อนข้างใกล้ชิด สนิทชิดเชื้อทั้งกับจีนและมีพรมแดนติดกับเกาหลีใต้ ทางเกาหลีเหนือประกาศอย่างมั่นใจว่าตนเองไม่มีการติดเชื้อใดใดเกิดขึ้น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

who.int

visualcapitalist.com

thediplomat.com

caymancompass.com

un.org

amnesty.org

bloomberg.com

sarakadee.com/

caymancompass.com

lowyinstitute.org

 

Illustration by Montree Sommut

 

 

Share :