CITY CRACKER

เพราะทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด: Circular Economy ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน

ปัจจุบันเราอยู่ในยุค Anthropocene หรือยุคที่มนุษย์ครองโลก ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ รวมทั้งการสูญพันธ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ ที่ 6  (The sixth mass extinction)   ล้วนมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดก็ถูกมนุษย์อย่างเราใช้ไปแบบฟุ่มเฟือย ยิ่งเศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้นเท่านั้น ความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่ปี 1972

 

ที่ผ่านมาเราใช้ระบบเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) มีการนำทรัพยากรมาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภค บริโภค แล้วทิ้ง (Make-Use-Dispose)  ทำให้เกิดขยะจำนวนมาก ทั้งขยะที่เกิดหลังจากการใช้สินค้า และขยะที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตนอกจากนี้ระบบเศรษฐกิจเส้นตรงยังมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมากตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงกระบวนการกำจัด

ในยุคที่เราต้องรักษาอุณหภูมิโลก และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จึงมีแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เพื่อแก้วิกฤติที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบัน แนวคิดนี้คือการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด มีการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่รวมทั้งรักษาต้นทุนทางธรรมชาติ โดยการอิงแนวความคิดมาจากระบบของธรรมชาติ ที่มีกลไกในการหมุนเวียนทรัพยากร แร่ธาตุ พลังงาน กลับมาใช้อย่างสมบูรณ์

esearchgate.net

วัฏจักรของการหมุนเวียน

หนึ่งในหลักการที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด ก็คือการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ จนเกิดเป็นวัฏจักรหมุนเวียนของวัตถุดิบ ที่แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือวัฏจักรของวัตถุดิบทางชีวภาพ (Biological materials) ที่นำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ใช้แล้วมาย่อยสลายคืนสู่ธรรมชาติโดยไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมแถมบางครั้งยังนำพลังงานจากการย่อยสลายมาใช้ผลิตสินค้าใหม่ได้ด้วย ส่วนอีกหนึ่งแบบคือวัฏจักรของวัตถุดิบทางเทคนิค (Technical material) ที่ต้องจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อลดปริมาณขยะและภาระในการกำจัด เช่น การรีไซเคิล การนำไปขายเป็นสินค้ามือสอง หรือซ่อมสินค้าเพื่อยืดอายุการใช้งาน เรื่องนี้ทางยุโรปเองทำกันจริงจัง มีการออกกฎหมายให้ผู้ผลิต ผลิตชิ้นส่วนที่มีราคาสมเหตุสมผลเพื่อใช้ประชาชนสามารถซื้อชิ้นส่วนมาเปลี่ยนเองได้

Ellen MacArthur Foundation

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

หลักการของระบเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่แค่การนำผลิตภัณฑ์ที่หมดค่าแล้วกลับมาใช้ใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมถึงกระบวนการออกแบบ การเลือกใช้ทรัพยากร และการบริหารจัดการด้วย

  1. การออกแบบผลิตภัณฑ์ (product design)

ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะให้ความสำคัญกับความทนทาน เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น เน้นการซ่อมแซมมากกว่าซื้อใหม่ เราสามารถหาชิ้นส่วนที่พังมาเปลี่ยนได้ง่าย หรือสามารถแยกผลิตภัณฑ์นั้นออกมารีไซเคิลได้ และนอกจากความทนทานแล้วยังออกแบบให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงแต่คุณภาพคงเดิมด้วย

  1. การจัดหาและใช้ทรัพยากร (resource)

วางแผนการใช้ทรัพยากร เช่น การใช้ทรัพยากรป่าไม้ อาจมีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ในการใช้ทรัพยากร หรือแบ่งเวลาในการใช้เพื่อให้ธรรมชาติมีช่วงพักตัว และยังคงนิเวศบริการ (ecological service) ด้านการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร ควรเลือกใช้ทรัพยากรที่ทดแทนได้ (renewable material) เช่น ไม้ไผ่ หรือวัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลและการใช้ซ้ำเป็นวัตถุดิบเริ่มต้นในการผลิตสินค้าและควรสร้างทรัพยากรทดแทนหลังจากนำไปใช้ด้วยเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

  1. การผลิต (manufacturing)

นอกจากจะใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างคุ้มค่า ใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างคุ้มค่า พร้อมทั้งใช้พลังงานทดแทน (renewable resources) ในกระบวนการผลิต เช่น พลังงานชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม แทนทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป

  1. การขาย การตลาด และการขนส่ง (sale and distribution)

ส่งเสริมระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจวางแผนการขนส่งโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน (carbon footprint) ที่เกิดจากการเดินทาง มีการใช้ระบบเช่าสินค้า (leasing) แทนการครอบครองในกรณีที่ใช้สินค้าเพียงไม่กี่ครั้ง เช่น การเช่าชุดราตรี รวมถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (sharing platform) เช่น ทางเดียวกันไปด้วยกัน

  1. การใช้งานผลิตภัณฑ์ (product use)

เราควรใช้งานผลิตภัณฑ์ให้ยาวนานและเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด เลือกการซ่อมแทนการซื้อใหม่ รวมทั้งเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัตถุดิบทางชีวภาพแทนในกรณีที่ทดแทนกันได้ เช่น เลือกกระถางเพาะชำต้นไม้ที่ทำจากกาบมะพร้าวแทนพลาสติก เพื่อลดการสร้างขยะและภาระในการจัดการหลังการใช้งาน

  1. การกำจัด (recovery)

มีการหมุนเวียนวัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในวงจรการผลิตและบริโภคให้นานที่สุด หมดอายุเมื่อไหร่ก็จะผ่านกระบวนการจัดการที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งของเสียไปยังหลุมฝังกลบ ขยะแต่ละประเภทก็จะมีรูปแบบการจัดการที่แตกต่างกัน การคัดแยกขยะจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้กระบวนการจัดการขยะทำได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น โดยสามารถแบ่งประเภทขยะเพื่อการจัดการได้อย่างคร่าวๆดังนี้

  • ขยะที่เผาไหม้ได้ จะถูกนำไปเผาเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า
  • ขยะอินทรีย์สาร ได้แก่ ขยะจำพวกเศษอาหาร จะถูกนำไปหมักเป็นปุ๋ย หรือนำไปเป็นอาหารสัตว์
  • ขยะรีไซเคิล จะถูกนำไปผ่านกระบวนการต่างๆเพื่อนำกลับมาเป็นใช้ใหม่
  • ขยะอันตราย ต้องการคัดแยกและทิ้งอย่างเหมาะสมเนื่องจากจัดเป็นขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

 

 

Circular Economy กับงานออกแบบ

จากสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้นักออกแบบจำนวนมากหันมาให้ความสนใจในประเด็นของการออกแบบอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติและลดปัญหาสภาพแวดล้อม ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ร่วมทั้งอาคารสิ่งก่อสร้างล้วนมีอายุการใช้งานที่จำกัดชัดเจน เมื่อหมดอายุก็จะถูกนำไปทิ้ง (from cradle to grave) นอกจากนี้การหมุนเวียนของทรัพยากรภายในระบบยังช่วยลดข้อจำกัดของการบริโภคด้วย

ธรรมชาติเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับแนวทางการออกแบบอย่างยั่งยืน ที่จะช่วยให้กระบวนการออกแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เจนีน เบนยัส (Janine Benyus) ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันชีวลอกเลียน (Biomimicry Institute) กล่าวว่าในงานออกแบบนเราสามารถลอกเลียนแบบธรรมชาติได้ 3 ประเด็น คือ รูปแบบ รูปทรง (shape and form) กระบวนการทำงาน (process) และระบบนิเวศ (ecosystem)

Eastgate Mall ,Harare: hararenews.co.zw

 

ตัวอย่างการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เลียนแบบธรรมชาติ ได้แก่ การผลิตซีเมนต์ของบริษัท Calera ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการสร้างหินปูนของปะการัง โดยเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นแคลเซียมคาร์บอนเนต เพื่อลดการระเบิดภูเขามาใช้ในการผลิตซีเมนต์ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบงานสถาปัตยกรรม อาคารอีสต์เกต ที่เมืองฮาแรร์ (Harare) ประเทศซิมบับเว โดย มิก เพียรซ์ (Mick Pearce) ที่ได้ต้นแบบการออกแบบระบบระบายอากาศมาจากจอมปลวก ทำให้ไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศภายในอาคารเลย จึงเป็นอาคารที่ใช้พลังงานเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นเมื่อเทียบกับอาคารทั่วไป

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

ec.europa.eu

ellenmacarthurfoundation.org

activesustainability.com

re-fti.org

iswa.org

allaroundplastics.com

tisi.go.th

the101.world

biomimicry.org

Share :