CITY CRACKER

ไฟป่าเชียงใหม่ยังไม่ดับ เสียงสะท้อนผ่านม่านควันจากเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และคนในพื้นที่

“ดอยสุเทพเปลี่ยนสี ประเพณีเผาป่า ไปทางไหนก็แสบตา บะไหวละก้านครพิงค์”

 

เมื่อ 4 ปีก่อน เมืองเชียงใหม่ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 1 ของโลกจากชาว Digital Nomad ทั่วโลก ปัจจุบันเมืองเชียงใหม่ก็ยังคงครองอันดับ 1 ของโลกเช่นเดิม แต่เป็นการจัดอันดับเมืองที่มีค่าของฝุ่น PM2.5 มากที่สุดในโลกค่าของฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่ได้พุ่งสูงขึ้นไปถึง 1,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และต้นตอการเกิดฝุ่นที่หลากหลายชีวิตได้รับผลกระทบนั้นคือ ไฟป่า

 

ทีมโดรนอาสาบินสำรวจแนวไฟป่าบ้านปง อ. หางดง จ. เชียงใหม่

 

ปัญหาเรื่องไฟป่าก็ลุกลามและหนักมากขึ้นทุกปี “ตั้งแต่จำความได้ พอถึงฤดูร้อนกลิ่นควันก็ลอยมาพร้อมกลิ่นอายความร้อนเสมอ สาเหตุในอดีตเกิดจากควันรถ โรงงาน การเผาขยะ เผาพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ป่าเพื่อหาของป่า เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ยังเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ปริมาณฝุ่นควันในอดีตกลับเทียบกับปัจจุบันไม่ได้เลย อาจด้วยการขยายตัวของเมืองและปัยจัยอื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามา ปัญหามลพิษทางอากาศจึงเพิ่มไปด้วย แต่สาเหตุหลักในปัจจุบันและลุกลามมากขึ้นทุกปี นั้นคือ การเผาป่า แต่ก่อนเรามองไปยังเห็นภูเขา ต้นไม้ พระธาตุดอยสุเทพ นั้นคือจุดเด่นของเชียงใหม่ แต่ตอนนี้แม้แต่รถคันที่สามข้างหน้าเรายังแทบมองไม่เห็นเลย เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่มาก แต่แปลกที่เรื่องราวกลับเงียบ” คำบอกเล่าจาก ภัทรวรรณ ณ เชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่โดยกำเนิด

 

facebook: Checkin Chiangmai

 

ป่ายอดดอยปุย จุดเริ่มต้นของไฟป่าที่ลุกลาม

ด้วยความที่ลักษณะภูมิประเทศของเชียงใหม่ เป็นเหมือนแอ่งกระทะ ที่อุดมไปด้วยป่าเขาลำเนาไพร และสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็นตลอดปี แต่เมื่อ ‘ไฟ’ มา กระทะที่เคยเย็นเฉียบก็กลับกลายเป็นกระทะทองแดงที่มีไฟร้อนแรงจนเผาทำลายพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 8,600 ไร่ อาสาสมัครดับไฟป่าที่ขึ้นปฏิบัติหน้าที่ทุกวันเล่าว่าปกติพอถึงฤดูเผาไหม้ จะมีการทำแนวกันไฟ แต่ครั้งนี้ยังทำไม่ทันครบจุดก็เกิดไฟป่าขึ้นแล้ว แถมครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่ได้เกิดไฟป่ามานาน จึงทำให้มีเชื้อเพลิงสะสมจำนวนมาก

“พอถึงช่วงฤดูเผาไหม้ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจะมาร่วมกันทำแนวกันไฟ แต่เนื่องด้วยปีนี้มีสถานการณ์โรคระบาดไวรัส Covid-19 ทำให้อาสาสมัครช่วงแรกลดน้อยลง การทำแนวกันไฟให้ครบทุกจุดของพื้นที่ป่าจึงต้องใช้เวลามากขึ้น แต่ยังไม่ทันจะทำได้ครบทุกจุด ไฟป่าจุดแรกก็เกิดขึ้นในบริเวณป่ายอดดอยปุย ซึ่งเป็นเขตป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ของอุทยานดอยสุเทพ-ปุย เป็นจุดที่ไม่เกิดไฟป่ามานาน จึงมีเชื้อเพลิงสะสมจำนวนมาก ผนวกกับความแห้งแล้งจึงได้เกิดการเผาไหม้ที่รุนแรง และด้วยสภาพพื้นที่ป่ามีความลาดชันไฟจึงได้ลุกล่ามลงใกล้สู่พื้นที่เมืองอย่างรวดเร็ว สาเหตุต่อมาคือปัยจัยทางภูมิอากาศที่มีลมพัดแรง ทำให้กิ่งไม้ ใบไม้ที่ติดเปลวไฟถูกลมพัดปลิว ไฟป่าจึงเกิดการกระจายตัวหลายจุดมากขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น และปัจจัยหลักสุดท้าย คือ การไม่หยุดเผาป่าของคนเราเอง เผาจุดหนึ่งแล้ว เราไปดับมาแล้ว ก็โผล่มาเผาอีกจุด เราก็ต้องตามไปดับอีก วนอยู่แบบนี้ จับตัวได้เพียงบางครั้ง ไฟป่าจึงไม่หมดเสียที ตอนนี้เราควบคุมพื้นที่ได้ทั้งหมดแล้ว แต่ก็ยังต้องคอยเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง”

 

chiangmainews.co.th

 

ดับไฟป่า แล้วต้องดับอีกกี่ชีวิต?

การทำงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครไม่มีกำหนดการว่าจะได้หยุดเมื่อไร เราสูญเสียทั้งป่าไม้ พืชพรรณ ชีวิตของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ภาพของเหล่าสรรพสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บกลายเป็นภาพเศร้าสลดใจ

“ซากสัตว์ป่าที่พบเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เพราะสัตว์ป่าส่วนมากจะตายหลบ (คือการหมุดหนีลงดิน หนีเข้าถ้ำ และตายเองในเวลาต่อมา) นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการอพยพของสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก สัตว์ป่าที่หนีทันและบางตัวที่เจ้าหน้าที่ได้ช่วยเหลือไว้ถือว่าโชคดี” อาสามัครท่านหนึ่งกล่าว

 

ภาพจาก เฟซบุ๊กอธิบดีกรมป่าไม้

 

ในขณะที่ภาพของสัตว์ป่าที่บาดเจ็บถูกเผยแพร่ ข่าวการสูญเสียเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่าจำนวน 4 ราย ในขณะปฏิบัติหน้าที่ก็ยิ่งสร้างความเศร้าสลดให้กับทุกคน   รวมไปถึงข่าวการผูกคอตายของเจ้าหน้าที่หัวหน้าชุดดับไฟป่าเชียงใหม่ โดยทิ้งจดหมายตัดพ้อไว้ว่า “เกิดเป็นมนุษย์ ต่างคนต่างความคิด มันเศร้า เราถูกแต่ไม่ถูก เราใช่แต่ไม่ใช่ ที่ตัดสินใจทำแบบนี้ ไม่ได้ขัดแย้งกับใคร หน่วยงานราชการเป็นแบบนี้เสมอ แก้อะไรไม่ได้ มีทั้งเด็กนาย เด็กกู เสมอ ขอเพื่อนไฟป่า เจริญในหน้าที่ทุกคน อย่ามาให้ใครตำหนิ” ขอให้(ชื่อภรรยา)อย่าคิดมาก และ(ชื่อลูกคนที่1) และ(ชื่อลูกคนที่2) เป็นคนดีให้แม่ ช่วยเหลือแม่ จะได้มีตางค์ พ่อไม่ได้กินข้าวเป็นอาทิตย์ พ่อเครียดตลอด พ่อตัดสินใจเอง”  แม้ข้อความในจดหมายจะแสดงถึงความน้อยใจในการทำงานของภาครัฐ แต่กรมอุทยานได้ออกมาแถลงข่าวว่าการฆ่าตัวตายนี้เกิดจากเหตุผลส่วนตัว

 

prachatai.com

 

ไฟป่ายังไม่ดับ ทุกชีวิตยังต้องดำเนินต่อ

การดับไฟป่าครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่ได้รับการแก้ปัญหาจากทางภาครัฐ แถมข่าวก็ยังเงียบหายจนเหมือนไฟดับแล้ว ทั้งที่ความจริง ไฟยังไม่ดับ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครยังคงต้องการความช่วยเหลืออยู่มาก

“ด้านบนเขาสั่งไม่ให้ประกาศขอรับบริจาค เพราะจะเป็นการสร้างความแตกตื่นให้ประชาชนเพิ่มขึ้น แต่งบประมาณส่วนกลางไม่มีลงมาให้เลย มีแต่เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ประชาชน และองค์กรอิสระเท่านั้นที่ช่วยเหลือกันเอง หลังๆ มาไม่ได้กินข้าวเลย เพราะข่าวเงียบหาย ประชาชนก็เข้าใจว่าไฟป่าดับลงแล้ว จริงๆ ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนและอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานอยู่ด่านหน้ายังคงต้องการน้ำ อาหารแห้ง และอุปกรณ์ช่วยดับไฟป่าจำนวนมาก” คำบอกเล่าจากอาสาสมัครดับไฟป่าท่านหนึ่ง

แม้จะมีคนสนใจช่วยนำเสนอเรื่องนี้ แต่ก็ถูกปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ “เราถูกปฏิเสธการขอสัมภาษณ์องค์กรอิสระแห่งหนึ่ง เหตุผลคือพวกเขาไม่สามารถให้ข่าวได้แล้ว พวกเขาถูกเรียกพบบ่อยมาก นอกจากนี้หน่วยงานรัฐบาลแห่งหนึ่งยังไม่สามารถให้ข่าวโดยตรงได้ เนื่องจากข้อมูลบางส่วนต้องถูกการคัดกรองและพวกเขาไม่ได้รับอนุญาต”

 

“ไม่รู้จะตายเพราะโควิท หรือตายเพราะฝุ่นควันก่อนกัน”

      

ตอนนี้ทุกคนต่างเฝ้าระวังโรคระบาดไวรัส Covid-19  แต่นอกจากโรคแล้ว ชาวเชียงใหม่ยังต้องเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 ที่มีต้นเหตุหลักมาจากการเผาไหม้ป่า ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรก็มีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว มีงานวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่า ฝุ่นมลพิษ PM2.5 เพียงแค่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็สามารถกระตุ้นการอักเสบของผิวหนังได้ แต่จังหวัดเชียงใหม่มีค่า PM2.5 สูงถึง 1,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพขั้นรุนแรง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจของจังหวัดอีกด้วย

 

thairath.co.th

 

“การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป เราจะตื่นเช้ามาสูดอากาศดูสายหมอกแบบเดิมไม่มีแล้ว เราต้องพยายามเก็บตัวอยู่ในพื้นที่ปิด อยู่ในห้องปรับอากาศ หลายคนซื้อเครื่องฟอกอากาศ เพราะกลิ่นควันลอยเข้าไปอยู่ทุกพื้นที่ ไปที่ไหนก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา พยายามออกไปอยู่ในที่โล่งให้น้อยที่สุด ส่งผลมาสู่ธุรกิจหรือร้านค้าที่มีรูปแบบเปิดซึ่งลูกค้าเข้าไปใช้บริการน้อยลงมาก ร้านที่ทุกคนเลือกไปคือร้านที่มีเครื่องปรับอากาศ และเครื่องฟอกอากาศภายในร้าน และอีกช่องทางการใช้บริการของลูกค้าคือการสั่งเดลิเวอรี่ เป็นรูปแบบที่สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องออกมาเสี่ยงโรค จึงเป็นที่นิยมมากของชาวเชียงใหม่ แต่เมื่อผู้คนไม่ยอมออกจากบ้านก็ทำให้สภาพบ้านเมืองดูซบเซาลง นักท่องเที่ยวไม่ออกมาเดินเล่น อีกทั้งยังมีจำนวนน้อยลงจากเดิม ภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดเงียบเหงาลงมาก ก็อยากให้เชียงใหม่กลับมาเป็นเชียงใหม่ที่อากาศดีเหมือนดังแต่ก่อน” ยุวดี ศรีนุช ผู้ประกอบการร้านกาแฟในจังหวัดเชียงใหม่

 

อากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นของทุกชีวิต อากาศดี ก็ช่วยให้มีชีวิตที่ดี ถ้าวันนี้ไฟป่าเชียงใหม่ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ค่าฝุ่น PM2.5 ที่อยู่ในอากาศก็คงไม่มีวันลดลง กลับกันปัญหาด้านต่างๆก็จะยิ่งมีมากขึ้น และกระทบกับทุกชีวิต มาร่วมส่งกำลังใจและบริจาคสิ่งของให้กับสัตว์ป่า เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครดับไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่กันเถอะ #SAVEAUSTRALIA ยังสำเร็จได้ #SAVECHIANGMAI ก็ต้องสำเร็จเช่นกัน สู้ๆเน้อจ้าวจาวเชียงใหม่

 

 

ขอขอบคุณ

คุณภัทรวรรณ ณ เชียงใหม่

อาสาสมัครดับไฟป่า

นางสาวยุวดี ศรีนุช

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

TVB Nature

 

Illustration by Montree Sommut

 

 

  • Papitchaya Tesamoot

    บุคคลผู้หลงรักเชียงใหม่ แต่แอบปันใจให้ทะเล ชอบการดื่มกาแฟ มองท้องฟ้า และดอกทานตะวัน

Share :