CITY CRACKER

สรุป 5 มุมมองจากเวทีความคิด ‘ปกป้องภูมินิเวศ จะนะปลอดเขตอุตสาหกรรม’

โครงการเมืองต้นแบบเป็นโครงการพัฒนาที่รัฐบาลวางไว้เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ เป็นความพยายามในการวางกลยุทธ์ที่พ้นไปจากการใช้มาตรการทางทหาร ไปสู่การออกแบบเมืองที่ภาครัฐมองว่าจะเป็นสร้างอาชีพและความเข้มแข็งยั่งยืนต่อไป

ทว่าจะนะในฐานะเมืองต้นแบบที่จะได้รับการวางให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม โครงการพัฒนาขนานใหญ่ตั้งแต่ท่าเรือน้ำลึกไปจนถึงการปรับผังเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นเมืองอุตสาหกรรม ก็นำมาซึ่งความวิตกกังวลและการต่อต้านของภาคประชาชน ทั้งคนในพื้นที่และผู้เชี่ยวชาญสนใจด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เห็นว่าในมุมมองการพัฒนาร่วมสมัย การทำเขตอุตสาหกรรม การสร้างตลาดแรงงาน โรงงานอุตสาหกรรม จะยังเป็นแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะกระทบตั้งแต่วิถีชีวิต ชุมชนและภูมิปัญญาที่จะเกิดต่อไปในวงกว้าง ทั้งยังรวมถึงปัญหาการมีส่วนร่วมและการรับฟังผู้คนอาจไม่เพียงพอ

แน่นอนว่าทั้งจากปัญหาความรุนแรงรวมไปถึงปัญหาร่วมสมัยทั้งสิ่งแวดล้อมและโรคระบาดทำให้พื้นที่สามจังหวัดจำเป็นต้องได้รับการดูแลและพัฒนาต่อไป แต่จะพัฒนาอย่างไร อะไรคือจุดกึ่งกลางระหว่างพื้นถิ่นชุมชนและการก้าวไปข้างหน้าต้องมีความเข้าใจและมองเห็นสภาวะปัจจุบัน ปัญหาทั้งจากพื้ที่จะนะเองไปจนถึงความขัดแย้งและมุมมองที่กำลังพิพาทกันอยู่ ด้วยเหตุนี้เองทางเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดงานปกป้องภูมินิเวศ จะนะปลอดเขตอุตสาหกรรมเวทีรับฟังและเสนอความคิดว่าด้วยจะนะ การพัฒนา อุตสาหกรรมและชุมชนอย่างรอบด้านขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา เวทีเสนอความเห็นนี้เน้นสร้างความเข้าใจและมองอนาคตของจะนะอย่างลุ่มลึกและซับซ้อนด้วยความเห็นจากหลายมุมมองของผู้เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน ที่เป็นการใช้องค์ความรู้และวิชาการโดยเฉพาะจากมิติทางสถาปัตยกรรมเพื่อร่วมรับฟัง เข้าใจพื้นที่และออกแบบเมืองจะนะอย่างสอดคล้องยั่งยืนต่อไป

ความคิดเห็นจากเวที ปกป้องภูมินิเวศ จะนะปลอดเขตอุตสาหกรรม ทั้ง 5 เสนอการมองทั้งภาพปัจจุบันและร่วมมองอนาคตของจะนะในหลายมิติ เริ่มต้นด้วยประเด็นร้อนเรื่องการปรับสีผังเมืองให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมก็มีเสียงของ ภารนี สวัสดิรักษ์ นักผังเมืองอิสระ ที่แสดงความกังวลถึงผลกระทบต่อพื้นที่ธรรมชาติ ในมิติความขัดแย้งระหว่างมุมองของรัฐและเอกชน ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ นักวิชาการจากศูนย์วิจัยบูรณาการภาพพื้นที่และสังคม (CISR) ก็ชวนมองจะนะในฐานะพื้นที่ที่ไม่ได้มีเส้นทางที่ต้องเลือกเพียงสองด้าน แต่ชี้ให้เห็นมิติ 5 ด้านที่ซ้อนทับและล้วนสัมพันธ์กับการพัฒนาตอไปอย่างซับซ้อน

ด้าน ผศ.ดร.ปูรณ์ ขวัญสุวรรณ ก็ได้ชี้ให้เห็นบริบทเฉพาะโดยเฉพาะมิติทางชุมชนและระบบนิเวศอันเฉพาะที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่มองข้ามความเฉพาะเจาะจงและความอุดมสมบูรณ์ดั้งเดิมไป พร้อมกันนั้นกิตติภพ สุทธิสว่าง   ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นก็ได้ร่วมชี้ให้เห็นถึงทรัพยากรเฉพาะในบริบทจะนะและภาคใต้ ในฐานะคนในท้องที่และคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของจะนะต่อไป และสุดท้ายคือเสียงของ ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกชุมชนที่ชวนตั้งคำถามถึง smart city และชี้ให้เห็นปัญหาใหม่ๆ ที่กำลังถาโถมทำให้แผนที่เคยวางไว้อาจไม่ตอบโจทย์เงื่อนไขที่กำลังกระทบโลกทั้งใบนี้อยู่

ภารนี สวัสดิรักษ์ ‘การใช้ประโยชน์ที่ดินจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม’

บนเวทีแสดงความคิด ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง ได้นำเสนอให้เห็นว่ากระบวนการเปลี่ยนผังเมืองรวมของจังหวัดสงขลาจากสีเขียวเป็นสีม่วงนั้น คือการจะเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวอันอุดมสมบูรณ์ไปเป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อนิเวศจะนะ เนื่องจากพื้นที่บริเวณอำเภอจะนะเป็นสิ่งที่เอื้อต่อประโยชน์ต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน แม้แต่ครั้งที่มีการระบาดของโควิด-19 พื้นที่ตรงนี้พิสูจน์ให้เห็นว่ากิจกรรมขนาดใหญ่ หรืออุตสาหกรรมไม่สามารถรับมือกับภาวะวิกฤตได้ แต่สิ่งที่ช่วยให้รอดพ้นไปได้คือเกษตรกรรมและการประมง ที่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลคนในชุมชนให้อยู่รอดในยามภัยมา แต่ไม่ได้บอกว่าการทำอุตสาหกรรมไม่มีประโยชน์ เพียงแต่ต้องไม่ใช่การทำในบริเวณพื้นที่สีเขียว หรืออำเภอจะนะที่มีนิเวศอันอุดมสมบูรณ์

“ผังเมืองจังหวัดสงขลาที่ประกาศใช้เมื่อ 2559 บริเวณอำเภอจะนะประกาศเอาไว้ว่าเป็นพื้นที่ชนบทเกษตรกรรม ห้ามอุตสาหกรรมหนักบางประเภท ห้ามจัดสรรเพื่ออุตสาหกรรม หลักการผังเมืองที่เขากำหนดการใช้ประโยชน์ว่าจะเป็นสีเขียวหรือม่วงนั้น มันมีหลักเกณฑ์มาตรฐานผังเมืองว่าสีเขียวคือด้านเกษตรเป็นหลัก อะไรที่อยู่กับเกษตรได้ถือเป็นการใช้ประโยชน์รอง และนิคมอุตสาหกรรมถือเป็นการใช้ประโยชน์ที่ต้องห้าม การห้ามไม่ได้ห้ามด้วยความรู้สึกว่าไม่เอาสีม่วง แต่ห้ามด้วยการศึกษาที่ผ่านความคิดเห็นของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

 

ในปี 2561 ก็เริ่มที่จะมีการปรับปรุงผังเมือง ตรงนี้แม้ว่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง แต่ว่าสาระสำคัญคือบริเวณจะนะ ได้แก่ นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่การตั้งถิ่นฐานทางเกษตรกรรม ยังคงห้ามนิคมอุตสาหกรรมอยู่เช่นเดิม การวิเคราะห์ตั้งแต่ปี 2559 มาจนถึงปี 2561 ในการศึกษาวิเคราะห์ที่ผ่านความเห็นชอบ การศึกษาระบุชัดว่าหากนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมีผลกระทบต่อเกษตรกรรมแน่นอน และต่อมาในปี 2562 มีการทำผังเมืองรวมจะนะ ซึ่งก็เป็นสีเขียว และห้ามอุตสาหกรรมเช่นเดิม

มาตรา 35 ของพระราชบัญญัติผังเมือง เขียนเอาไว้ว่าผังเมืองรวมแก้ไขได้เพราะสภาพพื้นที่แต่ละพื้นที่มันมีความเปลี่ยนแปลงไป แต่การเปลี่ยนแปลงไปนั้นมันไม่ใช่แบบนี้ มันต้องเปลี่ยนแปลงแบบทำไม่ได้แล้ว ปนเปื้อนมลพิษทั้งหมด ปลูกอะไรไม่ขึ้นเลยจึงต้องไปทำอย่างอื่น การเปลี่ยนแปลงตามเจตนา คือถ้าพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นสีเขียว แล้วมีการขอแก้ว่าพื้นที่สีเขียวตรงนี้ คุณห้ามไม่ให้มีบ้านจัดสรรที่เป็นอาคารเรือนแถว ทำให้พี่น้องที่อยู่บ้านมั่นคงไม่สามารถจะก่อนสร้างบ้านเรือนได้ เพราะไม่มีที่ดินเยอะ มันก็จะมีการผ่อนผันว่าพื้นที่สีเขียวนี้ยังเป็นพื้นที่เกษตร ประชาชนสามารถไปอยู่ได้ ไม่ได้เปลี่ยนการใช้ประโยชน์หลัก แต่เป็นการใช้ประโยชน์รองที่ไม่ขัดแย้งกัน

อุตสาหกรรมก็แก้ไขได้ กรณีมาบตาพุดก็ขอเปลี่ยนเป็นสีม่วง แต่ไม่ได้เปลี่ยนสีม่วงไปเป็นหุ้นอื่น หรือการเปลี่ยนสีเขียวจากสีเขียวอนุรักษ์มาเป็นสีเขียวชนบท เพื่อที่จะให้ผ่อนผันและสามารถสร้างบ้านเรือนที่ไม่มีความหนาแน่นมากได้ เช่นนี้จึงเป็นการเปลี่ยนในประโยชน์หลักและประโยชน์รอง แต่ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนที่เอาประโยชน์อันเป็นสิ่งที่ต้องห้ามมาแทนสิ่งที่ถูก” ภารนีกล่าว

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ‘พัฒนาจะนะด้วยองค์ประกอบ 5 ข้อ’

อีกหนึ่งข้อเถียงของจะนะคือการที่รัฐและประชาชนมองกันคนละมุม ผศ.ดร. ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ศูนย์วิจัยบูรณาการภาพพื้นที่และสังคม (CISR) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงชี้ให้เห็นจุดตรงการในการที่จะแก้ไขปัญหา โดยผศ.ดร. ณัฐวุฒิ กล่าวว่า หลักคิดการมองจะนะเป็นการมองคนละแว่น มันอาจเป็นไปได้ที่เราจะต้องถอยมาก้าวหนึ่งก่อนที่จะบอกว่ามันควรจะเป็นแบบนี้ หรือไม่ควรจะเป็นแบบนี้ เราให้ภาพเร็วเกินไปจากการเห็นพื้นที่ แล้วก็เห็นสายตาของการมองที่เราอาจจะต้องการการสื่อสาร หรือความเข้าใจในลักษณะที่ว่า จะนะมันถูกมองในฐานะที่เป็นยุทธการอะไรบางอย่างของการพัฒนาประเทศ หรือว่ามันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย ตรงนี้เป็นจุดที่ต้องกลับมาทบทวน เราต้องถอยออกมาถึงจะเดินหน้าต่อไปได้ ว่าระหว่างการเติบโตกับความยั่งยืนเราเลือกไปพร้อมกันได้ไหม

จากปัญหาดังกล่าว ผศ.ดร.ณัฐวุฒิยังได้สรุปให้เห็นแนวทางการเติบโตที่ควบคู่ไปกับความยั่งยืนว่า มีตัวชี้วัดจากเมืองซานต้าโมนิก้าที่บอกได้ว่าเมืองที่ดี (City Wellness) หรือลักษณะของเวลบีอิ้งไม่ใช่แค่การทำนิคมที่สร้างงานสร้างรายได้ แต่หมายถึงการมีองค์ประกอบ 5 อย่าง ได้แก่ โอกาส (Opportunity) สุขภาพ (Health) สังคม (Community) สิ่งแวดล้อม (Environment ) และการเรียนรู้ (Leaning)

ในส่วนแรกคือเรื่องของโอกาส ที่หากเปลี่ยนเมืองเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมจะมีการจ้างงานมากขึ้น คนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคน เพราะคนที่รายได้เพิ่มขึ้นคือคนถูกจ้างงาน ส่วนที่ไม่ถูกจ้างก็จะไม่มีรายได้ รวมถึงการเข้าถึงที่อยู่อาศัย เมื่อที่อยู่อาศัยในผังเปลี่ยนเป็นสีแดง และรายล้อมไปด้วยสีม่วง เราจะเห็นความเป็นไปได้ที่จะปั่นราคาที่ดิน ทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงที่อยู่อาศัย และคนในชุมชนอาจเสียที่ดินที่เปลี่ยนไปเป็นสีแดงและสีม่วง และสุดท้ายคือโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร ที่จากเดิมคนในชุมชนเคยมีนาข้าว มีเกษตรกรรม มีประมง และธุรกิจเกี่ยวกับนกเขา ทั้งหมดนี้คือความมั่นคงในอาชีพ แต่ถ้ามีท่าเรือ หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ เข้ามาโอกาสตรงนี้อาจหายไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีดั้งเดิมของคนในชุมชน

ถ้าต้องมีนิคม สุขภาพของคนในชุมชนอาจจะเปลี่ยนไป การเกิดโรคเรื้อรัง พฤติกรรมการกิน กิจกรรมทางกาย สมดุลงานและชีวิตที่ไม่บาลานซ์ ต้องตอกบัตรเข้างาน 8 โมงเช้า และเลิกงาน 6 โมงเย็น วิถีชีวิตอาจต้องเปลี่ยนไปอย่างมาก อย่างเรื่องของสังคมที่อาจหายไป ซึ่งต่างประเทศเขาได้วัดด้วยการมองถึงความปลอดภัยสาธารณะ เมื่อมีนิคมเกิดขึ้น แรงงานเป็นที่ต้องการ เกิดการโยกย้ายถิ่นฐาน ความปลอดภัยในชีวิตอาจจะหายไป วิถีชีวิตที่พบปะกันอาจไม่เหมือนเดิม เพราะทุกคนมีตารางชีวิตที่เป็นแบบแผนมากขึ้น

ด้านสิ่งแวดล้อมหลังจากมีนิคม การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ หรือหาดที่เคยใช้เป็นพื้นที่สาธารณะอาจไม่มีเช่นเดิม รวมไปถึงระบบนิเวศของต่างๆ จะยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่หรือไม่ น้ำอาจไม่สะอาดเหมือนก่อน ยกตัวอย่างระยองที่ค่ามะเร็งพุ่งสูง หรืออาหารปนเปื้อน เมื่อมองดูคุณภาพชีวิตปัจจุบันกับคุณภาพชีวิตหลังจากมีนิคมอาจมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และสุดท้ายคือเรื่องของการเรียนรู้ เด็กๆ ในชุมชนอาจจะต้องขาดทักษะการเรียนรู้แบบบท้องถิ่น เช่นการออกหาปลา การทประมง ความรู้เกี่ยวกับต้นน้ำ ไปจนถึงพันธ์พืชต่างๆ อาจไม่มีให้เรียนรู้เมื่อต้องเข้าสู่นิเวศการอยู่อาศัยแบบเมือง

 

ผศ.ดร.ปูรณ์ ขวัญสุวรรณ ‘บริบทของจะนะที่อาจถูกทำลาย’

เมื่อจะนะอาจถูกเปลี่ยนไปเป็นนิคมอุตสาหกรรม การทำผังภูมินิเวศจึงได้เข้ามามีบทบาทช่วยให้เราเห็นภาพว่า ภูมินิเวศของจะนะมีความอุดมสมบูรณ์อย่างแท้จริง และตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงจากอนาคตที่ท้าทาย ซึ่งการทำผังภูมินิเวศจะนะในครั้งนี้ ผศ.ดร.ปูรณ์ ขวัญสุวรรณ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และคณะนักศึกษา ได้ลงชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลมาทำผังภูมินิเวศและพบว่า พื้นที่ตรงนี้คือสีเขียวชนบทและเกษตรกรรม ที่สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง และความั่งคั่งให้กกับคนในชุมชน ทั้งในเรื่องความยั่งยืนทางอาหาร จนถึงการอยู่อาศัย เนื่องจากจะนะสามารถผลิตข้าวได้ในปริมาณมาก มีพันธุ์ข้าวหายาก  และมีหุบเขาล้อมรอบ เป็นชุดนิเวศที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ในการใช้ประโยชน์ คนในชุมชนเองก็ได้ใช้ประโยชน์จากนิเวศตรงนี้

“ผมเชื่อว่าลักษณะนิเวศของจะนะ ถ้าตัวพื้นที่มันยังไม่ถูกทำลายไป การเกษตรมันอาจเปลี่ยนเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกปาล์มน้ำมัน ปลูกยางพารา แต่เรายังเห็นโอกาสของการทำเกษตรแบบนี้ว่ามันเอื้อต่อนิเวศโดยรวม ต้นน้ำก็จะมีทางน้ำหลากที่แตกแขนงมากจากลุ่มน้ำนาทวี ไปทางนาทับ สะกอม แล้วออกทะเล พื้นที่ชายฝั่งตรงกลางก็จะเป็นที่ราบลุ่ม มีภูมิปัญญา เรื่องการทำนาข้าว มันก็เป็นโอกาสที่เราเห็นกันว่าอนาคตเรื่องข้าวของจะนะ ยิ่งเป็นพันธุ์ข้าวพิเศษ พันธุ์หายากของเขา มันมีความต้องการ มันมีอะไรหลายอย่าง มันคืออนาคตทั้งนั้นเลย ตอนนี้มันยังเป็นพื้นที่เกษตรอยู่ แต่ถ้ามันเปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรมเมื่อไหร่มันไม่เหลือแล้ว” ผศ.ดร.ปูรณ์กล่าว

 

‘กิตติภพ สุทธิสว่าง’ วิถีชีวิต ต้นทุนอันแข็งแรง และความสามารถของจะนะ

กิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า พื้นที่ตรงนี้มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว โอกาสของจะนะคือการมีวิชาลูกทะเล มีหาดทรายที่มีอายุ 6-7 พันปี เราก็ไปทำเป็นพื้นที่เรียนรู้ ตอนนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคใต้ และเยาวชนก็ไปเรียนรู้ที่บ้านเรา นี่คือโอกาสที่สามารถต่อยอดจากทรัพยากรนั้นได้ ถัดมาเป็นเรื่องของนกเขาชวา ตั้งแต่ปี 2540 จนปัจจุบัน รายได้ตรงนี้เฉลี่ยวันละ 300 – 600 บาท นี่คือการสร้างงานของเรา เฉพาะที่ป่าราเมงมีนกเขากว่า 2000 ตัว คิดเป็นเงิน 50 ล้านบาท แต่นักผังเมืองที่รับผิดชอบเขามองไม่เห็นเรื่องเศรษฐกิจของพื้นที่ตรงนี้ นกเขาชวาที่ส่งไปสิงคโปร์ อินโดนิเซีย มาเลเซีย รายได้ตรงนี้ไม่ได้อยู่ในสาระบบที่เขาพูดถึง การจ้างงาน 16 อาชีพ ในตรงนี้ก็ไม่พูดถึง รู้เพียงอย่างเดียวว่าต้องทำนิคมอุตสาหกรรม

ถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์ จะนะเป็นเมืองที่มีภูมิคุ้มกันด้านเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแข็งแรง มันคือความแข็งแรงจากภูมิปัญญาของเขาที่อยู่ได้ด้วยองค์ความรู้ เรื่องการหาปลารูปแบบต่างๆ มันแข็งแรงของตัวมันเอง แต่ภาครัฐเขามองไม่เห็น เขามองเพียงว่าให้คนที่มีรายได้วันละพันมาทำงานวันละสามร้อย ชาวบ้านที่นี่เขาพยายามที่จะให้ระบบนิเวศนี้มันเอื้อให้เขาพึ่งตนเองได้ พอพึ่งตนเองได้มันก็มีรายได้ มันก็จะส่งต่อเรื่องวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของเขา

จากผังเมืองตรงนี้ทำให้เห็นว่าโอกาสที่เราจะยกระดับได้ไปไกลมาก ตอนนี้เรามั่นใจมากที่จะลงไปทำ เพราะว่าวิกฤตที่เกิดขึ้น เราไม่สามารถไปฝากชีวิตกับหน่วยงาน หรือทุนใหญ่ได้ วิถีชีวิตของคนจะนะคือการออกทะเลที่ไม่ต้องซื้อกับข้าว เรื่องทางมั่นคงทางอาหารเราทำสำเร็จไปแล้ว เราทำความั่นคงทางพลังงาน เรื่องแสงอาทิตย์ เราทำเรื่องนาอินทรีย์ เราแก้ปัญหาราคายางที่รัฐบาลบอกว่าให้กิโลละ 115 บาท แก้ไม่ได้ เราก็ออกแบบการทำสวนยางที่ไม่ต้องใช้ปุ๋ยที่ลดต้นทุน ที่แม้รายได้จะลดลงแต่เราก็มีต้นทุนที่ไม่แพง เราทำเรื่องสมุนไพร เราทำหลายเรื่องมาก ซึ่งมันคือภูมินิเวศที่เรามี และที่น้องๆ นักศึกษาทำก็คือการเชื่อมโยง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าวิกฤตที่มันเกิดขึ้นตอนนี้มันคือชุดความคิดของรัฐบาลที่ไม่มีวิสัยทัศน์ที่จะแก้ปัญหา

สุดท้ายกระบวนการที่มันทำให้เราเชื่อมรายได้ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ได้ มันทำให้เปลี่ยนตรงนี้ของจะนะไป หลังจากที่เริ่มรวมตัว เริ่มขยายแนวคิดมากขึ้น และที่สำคัญคือตอนนี้เขามีทางรอดของเขาแล้ว เขามีทิศทางของเขา สุดท้ายคือเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาวิกฤตของโลก ซึ่งถ้าเอาโครงการนี้มา จะเห็นได้ว่ามันเป็นการแก้ที่มองเห็นแค่ตัวเงิน และหายนะมาเยือนแน่นอนถ้าเราไม่ทำอะไร

 

‘ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง’ อุตสาหกรรมอาจไม่ตอบโจทย์โลกอนาคต เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้วยข้อคิดเห็นจากสถาปนิกชุมชน

ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกชุมชน กล่าวว่า เราอาจต้องตั้งคำถามกับคำว่า ‘Smart City’ หรือเมืองอัจฉริยะกันใหม่ ถ้าไฟดับอาคารนี้เป็นอย่างไรครับ อยู่ไม่ได้แน่นอน มันเหมือนกับเมืองหลายๆ เมือง ถ้าไฟฟ้าดับเทคโนโลยีอะไรที่เราคิดว่ามันสมาร์ตมันก็ทำงานไม่ได้ แต่ว่าจะนะเขาสมาร์ตของเขาอยู่แล้ว ประวัติศาสตร์ที่คนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ เขาทำให้เกิดนวัตกรรมการอยู่กับภูมินิเวศที่หลากหลาย ทำให้เกิดการกระจายรายได้ เพราะฉะนั้นโควิดไม่ได้ส่งผลกระทบกับเขา มันเหมือนกับว่าเขามี Small Business มากมายตามภูมินิเวศ ทีนี้อยากให้ถอยออกมาจากจะนะเพื่อมองว่าแผนนิคมอุตสาหกรรมมันมีความเหมาะสมกับโลกในอนาคตจริงๆ หรือเปล่า

ผมมีโอกาสทำงานกับนักผังเมืองระดับโลกที่เขาศึกษาเรื่อง Global Warming มันมีรายงานจาก WBGU เขาศึกษาเรื่อง Global Warming และบอกว่าทุกวันนี้โลกกำลังจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศา เหมือนคนที่ถ้ามีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเราก็จะป่วย โลกก็เช่นเดียวกัน ผมเลยถามนักผังเมืองที่เราทำงานด้วยว่าอีกกี่ปีอุณหภูมิมันถึงจะ 1.5 ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต รูปแบบผังเมือง และระบบการบริโภค เขาบอกว่าแค่ 5 ปีเท่านั้น เท่ากับว่าเรามีกรอบเวลาแค่ 5 ปีที่จะหยุด 1.5 องศา ฉะนั้นวิธีคิดแบบผังเมืองอุตสาหกรรมคือลืมไปได้เลย เพราะว่ามันไม่อัจฉริยะและทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น แล้วก็ทำลายระบบเศรษฐกิจรากหญ้าภูมิปัญญาของแผ่นดินไปหมดเลย ถ้าเอาความจริงของโลกมาตั้งกัน แล้วมาดูว่าจะพัฒนาให้มันสอดคล้องไปได้อย่างไรมันน่าจะยั่งยืนกว่า

นอกจากนี้ ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง ยังได้ชี้ให้เห็นแนวทางการพัฒนาแบบยั่งยืนที่สอดคล้องกับปัญหาที่โลกเผชิญอยู่ ว่าเราต้องตามเทรนด์ อย่างเรื่องการปลูกต้นไม้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลก อันจะช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ช่วยกรองอากาศ และช่วยซับน้ำ ซึ่งจะนะเองมีนิเวศของพื้นที่สีเขียวเป็นต้นทุนเดิม และหากจะนะมาพัฒนาต่อให้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ยั่งยืนก็ย่อมตอบรับกับสิ่งที่มีอยู่ แต่ถ้าเราจะพัฒนาด้วยเทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรมหนัก อาจไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตที่ต้องเผชิญกับปัญหา Global Warming ซึ่งการศึกษาของ WBGU จากนักวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าที่สุดทั่วโลก บอกว่าการที่จะทำให้โลกลดอุณหภูมิลงได้ คุณต้องทำ 3 อย่างในทุกเมือง หนึ่งคือ Inclusive Planning ที่เป็นการเข้าไปแก้ไขผ่านการมีส่วนร่วมในทุกระดับอย่างเท่าเทียมกัน สองคือ Natural เป็นการรักษานิเวศเอาไว้ และสามเป็นเรื่องอัตลักษณ์ของจะนะที่เป็นภูมิปัญญา และวัฒนธรรมดั้งเดิมของพื้นที่ ซึ่งหลักการทั้ง 3 อย่างนี้คือสิ่งที่จะต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงของอนาคตได้

Share :