CITY CRACKER

Blossom Tree in the City ไม้ดอก ความหวังและตัวตนของเมือง

ฤดูร้อน นอกจากอากาศที่ร้อนแล้ว สำหรับเขตร้อน ฤดูนี้ถือเป็นช่วงเวลาของความกระตือรือร้น และบรรยากาศของพืชพรรณเขตร้อนที่เต็มไปด้วยสีสัน ดอกผลของต้นไม้ที่ทั้งฉูดฉาดและรสชาติจัดจ้าน

ช่วงหน้าร้อนนี้เองหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ และหลายพื้นที่ทั่วประเทศก็เริ่มปกคลุมไปด้วยสีสัน เรามีสีชมพูจากต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ สีเหลืองสดของต้นคูน สีม่วงของตะแบก สีแดงสดของดอกหางนกยูง เรียกได้ว่าถ้าญี่ปุ่นมีเทศกาลชมดอกไม้ บ้านเราในช่วงหน้าร้อนก็น่าจะมีเทศกาลชมดอกไม้ของตัวเองได้

ส่วนใหญ่ไม้ดอกที่บานสะพรั่งอยู่ขณะนี้ มักเป็นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นอยู่ในเมืองมาอย่างเนิ่นนาน ช่วงก่อนหน้านี้พื้นที่เมืองมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับไม้ใหญ่ เรามักได้ข่าวการตัดหรือขุดรากถอนโคนต้นไม้ผู้เป็นเหมือนผู้อาวุโส เป็นอีกสมาชิกที่อยู่และให้คุณกับเมืองมาอย่างยาวนาน จนในช่วงหลังที่เราเริ่มมองเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ มองเห็นประโยชน์ของพืชพรรณที่ส่งเสริมแทบจะทุกแง่มุมให้กับเมืองทั้งด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษ สุขภาวะ ร่วมชะลอน้ำ หรือกระทั่งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่

ในวันที่เราออกไปชมดอกไม้ และเป็นช่วงที่เราเผชิญกับปัญหาฝุ่น City Cracker ชวนกลับไปมองเห็นความสำคัญของเหล่าไม้ใหญ่คือเหล่าต้นไม้ของเมือง นอกจากพลังและความสำคัญของไม้ใหญ่เหล่านี้แล้ว พวกมันยังมีประโยชน์ในแง่เอกลักษณ์และบรรยากาศที่เฉพาะเจาะจงของเมืองนั้นๆ ในแง่แผนการพัฒนาเมืองที่เมืองต่างๆ เลือกทำ เช่น ลอนดอนวางแผนปลูกไม้ดอกเป็นระบบเพื่อให้เมืองมีเทศกาลชมดอกไม้ ซึ่งในสีสันสดใสนั้น เมืองเองก็ตั้งใจใช้ดอกไม้เพื่อสร้างความหวังให้กับผู้คนด้วย

© thairath.co.th

 

ต้นไม้คือสินทรัพย์ของเมือง

ในระดับความรู้สึก เราในฐานะมนุษย์ ก็มักจะรักต้นไม้เป็นความรู้สึกพื้นฐาน และเมื่อเห็นการโค่นต้นไม้ใหญ่ก็มักเกิดความรู้สึกแย่ แต่ปัจจุบันความคิดของการพัฒนาที่มีต่อต้นไม้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป เราเริ่มมองเห็นประโยชน์และรับรู้ว่าต้นไม้ใหญ่เป็นสิ่งที่มีค่า

เบื้องต้น ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่เมืองเองก็มีคุณูปการต่อเมืองในแทบทุกด้าน ทั้งช่วยลดมลพิษ รากของพวกมันช่วยชะลอน้ำเวลาเกิดพายุหรือเมื่อมีปริมาณน้ำฝนมากเกินไป ร่มเงาช่วยดักกรองฝุ่นพร้อมลดอุณหภูมิให้กับเมือง สีเขียวและสีสันอื่นๆ ของพวกมันส่งเสริมสุขภาพของผู้คน แต่ทว่า ไม้ใหญ่เหล่านี้ก็ต้องการการดูแลที่เฉพาะตัว การเติบโตของกิ่ง ปริมาณดอกและใบที่ร่วงหล่น ทั้งหมดนั้นนับเป็นสิ่งที่เมืองเองต้องมีการบริหารจัดการต้นไม้ในเมืองอย่างใกล้ชิด

ในระดับเมือง แทบทุกเมืองใหญ่และในประเทศสำคัญมักจะมองต้นไม้ใหญ่เป็นสินทรัพย์สำคัญของเมือง สหรัฐเองก็มีการระบุว่าต้นไม้นั้นนับเป็นสินทรัพย์พื้นฐานที่อยู่คู่เมืองนั้นๆ เรานึกภาพเมือง เช่น โตเกียวหรือเมืองอื่นๆ ไม้ใหญ่และไม้ดอกย่อมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เมืองนั้นๆ มีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเอง

© Jonathan Lin

เรานึกถึงแนวต้นแปะก๊วย นึกถึงทิวต้นซากุระ แน่นอนว่ากรุงเทพฯ เองก็มีทั้งชมพูพันธุ์ทิพย์ไปจนถึงไม้ที่อาจเป็นที่ถกเถียงกัน เช่น พญาสัตบรรณ ที่สุดท้ายเราเองก็รับรู้ฤดูกาลและความรู้สึกของเมืองผ่านกลิ่นสีของพวกมัน กรุงเทพฯ ที่ไม่มีกลิ่นตีนเป็ดหรือไร้สีสันในหน้าร้อนคงเป็นกรุงเทพฯ ที่ชืดชาจนเกินไป

การให้ความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ในฐานะสมาชิกของเมืองมีให้เห็นทั่วโลก ผ่านการออกกฏหมายคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ หรือมองต้นไม้ในแง่ประวัติศาสตร์และตัวตนของเมืองด้วย เช่น ลอนดอนมีการขึ้นทะเบียน ‘ต้นไม้สำคัญแห่งเมืองลอนดอน’ (Great Trees of London) การขึ้นทะเบียนนี้เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ของการดูแลรักษาต้นไม้ การรักษาประวัติศาสตร์ของเมืองที่มีพืชพรรณเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเมือง เรื่องเล่าที่รายล้อมต้นไม้เก่าแก่เหล่านี้ทำให้เราและชาวลอนดอนเอง มองเห็นอดีตผ่านรากที่หยั่งลงดิน กรุงเทพฯ เองก็เต็มไปด้วยชื่อของพื้นที่ที่สัมพันธ์กับพืชพรรณ การเก็บและเล่าเรื่องราว รวมถึงการอนุรักษ์ต้นไม้ในฐานะพยานของประวัติศาสตร์ จึงดูจะเป็นอีกวิธีที่เราเรียนรู้จากเมืองใหญ่อื่นๆ ได้

foundland.com

 

ลอนดอนกับโครงการดอกไม้แห่งความหวัง

ลอนดอนนอกจากการรักษาและขึ้นทะเบียนไม้สำคัญ ลอนดอนยังมีโครงการที่น่าสนใจในช่วงหลังโควิด คือในช่วงปี 2021 ทางองค์การอนุรักษ์สถานที่เพื่อประโยชน์ทางประวัติศาสตร์หรือความสวยงามแห่งชาติ (National Trust) ได้ออกโครงการว่า ลอนดอน และในอีกหลายพื้นที่ทั่วสหราชอาณาจักรนั้น จะมีการปลูกไม้ใหญ่ที่ให้ดอกในพื้นที่ทั้งในอังกฤษ รวมถึงเวลส์และสกอตแลนด์ เพิ่มขึ้นในระยะห้าปีนับจากนั้น

โดยรวม แผนการพัฒนาด้วยการเพิ่มไม้ดอกให้กับเมืองสัมพันธ์กับการฟื้นฟูเมืองและจิตใจของผู้คนจากช่วงโรคระบาด เบื้องต้นทางองค์กรรายงานว่าในอังกฤษยังมีปัญหาการเข้าถึงพื้นที่สีเขียว ชาวเมืองส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สีเทาของตึกอาคารและคอนกรีต การเพิ่มต้นไม้ให้กับเมืองจึงเป็นกลยุทธ์พื้นฐานและพันธกิจสำคัญที่ยังคงต้องทำต่อไป

แต่การเลือกไม้ใหญ่ให้ดอกนั้น อังกฤษเองก็มองว่า อังกฤษอยากจะสร้างบรรยากาศการชมดอกไม้ เหมือนที่ญี่ปุ่น มีบรรยากาศและเทศกาลชมดอกไม้ที่ช่วยสร้างบรรยากาศและความรู้สึกดีๆ ให้กับเมือง ในช่วงหลังบรรยากาศอันอึมครึม ดอกไม้สีสันสดใสที่จะเบ่งบานต่อไปนี้ พวกมันจะทำหน้าที่เป็นสัญญาณของความหวังในการใช้ชีวิตต่อไปที่เมืองกำลังบอกกับผู้อยู่อาศัย

นอกจากการเป็นตัวแทนของความหวังแล้ว โปรเจกต์การปลูกต้นไม้ให้ดอกก็ยังมีความหมายลึกซึ้งต่อผู้คนและการสูญเสียที่ผ่านมา เช่น โปรเจกต์ที่อังกฤษกำลังทำคือการปลูกไม้ดอก 33 ต้นในสวน Queen Elizabeth Olympic Park ในกรุงลอนดอน ไม้ 33 ต้น เป็นตัวแทนของเขตทั้ง 33 ของเมืองลอนดอน โดยกลุ่มไม้ดอกที่จะประกอบด้วต้นเชอร์รี่ ต้นพลัม ฮอว์ธอร์น และแอปเปิ้ลป่า (crab apple) กลุ่มไม้นี้จะเป็นตัวแทนของเหล่าคนทำงานและผู้ที่ล่วงลับไปจากภาวะโรคระบาด กลุ่มไม้ดอกใหม่นี้จึงทำหน้าที่เป็นพื้นที่แห่งการจดจำและรำลึกถึง

timeout.com

นอกจากนี้ ทางลอนดอนก็มีแผนสร้างสวนสาธารณะที่เป็นสวนดอกไม้คือ The London Blossom Garden ขึ้นในเขตของโรงพยาบาล NHS Nightingale Hospital พื้นที่ดูแลรับมือสำคัญในช่วงโรคระบาด ความน่าสนใจของแผนนี้คือการที่ลอนดอนจะมีสีสันสดใสจากไม้ดอกมากขึ้น ดอกไม้ที่ผลิบานเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจถึงช่วงเวลาอันยากลำบากที่ชาวลอนดอนได้ยืนหยัดและช่วยเหลือจนผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากและการสูญเสียนั้นมาได้ นอกจากนี้ยังมีแผนการสร้างอุโมงค์ไม้ดอกด้วยการปลูกพืชให้ผลนับร้อยเป็นวงแหวนใหญ่ในเบอร์มิงแฮม รวมถึงการปลูกไม้ยืนต้นให้ดอกในหลายเมืองน้อยใหญ่ทั้งในและนอกเกาะอังกฤษเอง

ไม้ดอกและไม้ใหญ่ รวมถึงพืชพรรณต่างๆ ของเมืองนั้น ในด้านหนึ่งจึงไม่ได้เป็นแค่สิ่งประดับของเมือง ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้เก็บงำเรื่องเล่า กิ่ง ใบ ราก และร่มเงาของพวกมันสร้างประโยชน์ให้กับเมืองและผู้คน ทว่าพวกมันเองก็ต้องการการดูแลในฐานะสมาชิกของเมือง ในหลายเมืองใหญ่ทำให้เราเห็นว่าไม้ใหญ่เหล่านี้เต็มไปด้วยเรื่องราว

 

ใต้ร่มเงาและดอกใบของพวกมันอาจมีความหมายต่อความรู้สึก ความหวัง การเติบโตขึ้นของมนุษย์ภายในพื้นที่เมือง เมืองที่ไม่ได้มีแค่สีเทาของคอนกรีต แต่เต็มไปด้วยสีสันและเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก
scfc.gov
frontiersin.org
bbc.com
positive.news
dailymail.co.uk

Share :