ทำไมเราถึงชอบเปิดเสียงธรรมชาติคลอเวลาพักผ่อน ทำไมการไปท่องเที่ยวตามป่าเขาหรือทะเลแล้วทำให้เรารู้สึกมีพลัง หรือเวลาไปเดินตามสวนสาธารณะแล้วได้ยินเสียงใบไม้เสียดสี เสียงนก แล้วจิตใจเรารู้สึกชุ่มชื่นขึ้นมา นั่นเป็นเพราะว่าจิตใต้สำนึกเราผูกพันและโหยหาธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา การได้พบเจอสักเสี้ยวหนึ่งของธรรมชาติก็ช่วยบรรเทาความเครียดลงและทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้
ทุกวันนี้รูปแบบการใช้ชีวิตของเรา พาเราห่างไกลจากธรรมชาติออกไปทุกที เราเลยอยากชวนคุณมาลองเปิดบ้านต้อนรับนก ให้มาเยี่ยมเราใกล้ ๆ พาเอาธรรมชาติกลับเข้ามาให้มันชุ่มชื่นหัวใจสักหน่อย มาดูกันว่าเราจะสร้างพื้นที่ในบ้านเราให้เป็นพื้นที่ที่นกก็สามารถอาศัยได้อย่างไร
บ้านเราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ
มนุษย์เราเองก็ถือเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในระบบนิเวศ เราต่างต้องพึ่งพาประโยชน์จากระบบนิเวศเพื่อมีชีวิตอยู่ ไม่น่าแปลกใจที่ในบ้านของเรามีเหล่าสัตว์และแมลงที่เราไม่ค่อยจะพิศมัยนักมาคอยเก็บกินซากอาหารของเรา ในเมื่อเราเองก็เป็นผู้บริโภค จากผู้ผลิตอาหารที่เดินทางมาไกลจนจบลงในจานอาหารของเรา การที่เราจะแปลงพื้นที่ของเราให้เกิดความเชื่อมโยงกับนิเวศ คงต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่า บ้านของเราจะมีบทบาทต่อระบบนิเวศได้อย่างไรบ้าง ซึ่งประโยชน์อย่างง่ายที่สุด อย่างการเป็นแหล่งอาหาร เป็นสิ่งที่เราจะมาแนะนำให้ลองทำกัน
หากเรานึกดูว่าพื้นที่แบบไหนบ้างที่เราจะเจอนก แน่ละว่าอย่างน้อยจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้ มีน้ำ เพราะว่าพื้นที่เหล่านี้กำลังทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหาร เป็นที่อยู่อาศัยให้กับนก แต่หากเราลองพิจารณาดูการใช้งานพื้นที่ให้ละเอียดลงไปจะพบว่า สัตว์ทุกชนิดมีความต้องการพื้นฐานเพื่อดำรงชีพ 4 อย่างด้วยกัน คือ แหล่งอาหาร แหล่งอาศัย แหล่งหลบภัย และพื้นที่สำหรับสืบพันธุ์
เรามาลองพิจารณาขนาดพื้นที่ที่เรามี สำหรับสวนน้อย ๆ อย่างพื้นที่ระเบียงอาคาร เราอาจจะเน้นให้สวนของเราเป็นแหล่งอาหาร มากกว่าที่จะเป็นแหล่งอาศัย แหล่งหลบภัยหรือพื้นที่สืบพันธุ์ที่ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า หากเรามีพื้นที่สวนบ้าน นั่นเป็นโอกาสดีที่จะเสริมความสามารถของสวนเราให้เป็นที่อยู่อาศัยของนกได้ด้วย
เราจะปลูกอะไรดี
เมื่อได้ความคิดแล้วว่าสวนของเราจะมีทำหน้าที่อะไร มาสู่ขั้นตอนการเลือกเอาพืชพรรณมาใช้ให้เหมาะสมกับการชวนนกเข้าบ้าน แต่ว่าการจะชวนนกเข้าบ้านนั้น มีกฎสำคัญนั่นก็คือ เราจะต้องไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช แต่ศัตรูพืชก็อาจไม่ใช่ปัญหากวนใจ เหตุผลว่าทำไมเราจะเล่าให้ฟังในลำดับถัดไป
แล้วพืชพรรณที่เราจะเลือกมาเป็นอาหารให้แก่นก จะเป็นต้นอะไรดี จะมีดอกดีไหม คำตอบอยู่ที่ลักษณะปากของนก เราจะขอยกตัวอย่างลักษณะจะงอยปาก 3 แบบที่น่าจะพบเจอได้ง่ายในเมือง ตัวอย่างแรกที่เราจะยกมาเล่าให้ฟัง คือ นกที่จะงอยปากหนา เป็นที่จะงอยต้องมีความแข็งแรงเพราะนกประเภทนี้จะกินเมล็ดพืชเป็นส่วนใหญ่ เช่น นกกระจอก นกกระติ๊ด
ต่อมาที่นกที่จะงอยปากแหลมเพรียว จะเป็นนกที่กินแมลงหรือผลไม้ เช่น นกกางเขน นกเขาชวา นกปรอดสวน
ส่วนตัวอย่างสุดท้ายคือ นกที่จะงอยปากเรียวยาว เพื่อให้สามารถกินน้ำหวานได้ถนัด เช่น นกกินปลี นกสีชมพูสวน เป็นต้น
เมื่อเรารู้แล้วว่าพืชแบบไหนที่จะดึงดูดนกอะไร เราก็มาเริ่มดูกันว่าพืชอะไรที่ให้อาหารแต่ละแบบ โดยพืชที่เราควรให้ความสำคัญก่อนคือ ไม้ท้องถิ่น แต่หากไม่มีทางเลือกจริงๆ ด้วยเงื่อนไขทางพื้นที่ เช่น ระเบียงห้องร้อนมาก ก็อาจจะต้องใช้พืชต่างถิ่นที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศแทน หรือระเบียงค่อนข้างร่มก็จะต้องลองหาพืชที่ไม่ชอบแสงแดดจัด ตัวอย่างพืชที่ให้ดอกให้เมล็ด เช่น พืชสวนครัวต่างๆ กะเพรา อัญชัน แมงลัก ผักบุ้งไทย เล็บมือนาง หรือไม้ดอกสวย อย่าง โมก ชบา พืชต่างถิ่นที่ให้ดอก เช่น บานไม่รู้โรย ต้อยติ่ง ผกากรอง ไมยราบ แต่พืชกลุ่มนี้สุดแสนจะถึกทน เวลาจะรื้อออกเพื่อเปลี่ยนต้นก็ต้องเหนื่อยหน่อย หรือจะกลุ่มพืชที่ให้ผล เช่น กล้วย หว้า ไทร ตำลึง มะละกอ อันนี้แนะนำสำหรับคนที่พอมีที่ทางเพราะค่อนข้างใช้พื้นที่ปลูก
ถ้าสงสัยว่าแล้วพืชอะไรคือพืชต่างถิ่น ลองไปดูตัวอย่างพืชต่างถิ่นที่ สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวบรวมมาไว้แล้วได้เลย chm-thai.onep.go.th
รูปแบบการปลูกเราขอแนะนำให้ปลูกผสมผสานกันจำลองความหลากหลายของสายพันธุ์ในพื้นที่ โดยอาจปลูกพืชดอกผสมกับพืชใบ เพื่อให้พืชดอกช่วยล่อแมลงออกจากพืชใบ ซึ่งจะช่วยให้ลดการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืชได้ ส่วนตัวได้ทดลองแล้วพบว่าถ้าปล่อยให้ดูรก ๆ ฟู ๆ แล้วนกจะยิ่งชอบ เพราะมีที่ซ่อนตัวจากสายตาเรา ให้ตัดแต่งเพื่อควบคุมความสูงให้ได้แดดทั่วถึงกันก็เพียงพอแล้ว
นอกจากนี้เรายังมีวิธีการปลูกก็มีเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างลองปลูกพืชหลาย ๆ แบบในกระถางใหญ่กระถางเดียว โดยอาจมีการปรับระดับดินในพื้นที่ปลูกให้มีระดับสูงต่ำต่างกัน เพื่อให้พืชที่มีระบบรากแตกต่างกันได้มีพื้นที่ของตนเองและช่วยควบคุมไม่ให้พืชชนิดใดชนิดหนึ่งที่โตไวยึดครองพื้นที่ไปจนหมด
นกที่มีโอกาสมาเยี่ยมเยียนเรา
ชนิดนกในเมืองที่เราอาจจะได้เจอมาแวะเวียนหาอาหาร สำหรับนักดูนกมือใหม่ ลองสังเกตลวดลายและสีสัน ตามจุดสังเกตที่สำคัญ เช่น หัว ปีก อก หรือสะโพก เพื่อช่วยในการจำแนกสายพันธุ์
นอกจากนี้เรายังมีโอกาสได้เจอกับผีเสื้อที่บินมาหาน้ำหวานกินอีกด้วย แต่ว่าพื้นที่ใกล้บ้านอาจจะต้องมีสวนหรือต้นไม้ที่ผีเสื้อชอบอยู่บ้างถึงจะมีโอกาสได้เจอ หากได้เจอแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเราได้เจอผีเสื้ออะไร เราก็สามารถเข้าไปเปรียบเทียบสีและลวดลายของผีเสื้อที่เจอที่ได้ที่นี่
เป็นส่วนหนึ่ง(เล็กๆ)ของการสร้างความเชื่อมต่อทางนิเวศ
เมืองทุกวันนี้มีการพัฒนาและขยายตัว ซึ่งทำให้เรามีพื้นที่ดาดแข็งเพิ่มมากขึ้นว่าแต่ก่อนรวมไปถึงพื้นที่สีเขียวในพื้นที่เมืองลดลงด้วย แม้ว่าการลดลงของพื้นที่สีเขียวอาจจะยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่ามีการลดลงของพื้นที่ธรรมชาติไปเท่าไหร่ แต่ถ้าเราลองสังเกตดูก็จะเห็นว่าพื้นที่สีเขียวใหม่ที่เกิดขึ้นในเมือง บางพื้นที่เป็นสนามหญ้า หรือพื้นที่สีเขียวที่ไม่ค่อยมีความหลากหลายของพืชพรรณ ซึ่งทำให้พื้นที่สีเขียวเหล่านั้นขาดคุณสมบัติในการส่งเสริมระบบนิเวศของเมือง
การปรับเปลี่ยนรูปแบบสวนของเราให้จำลองความเป็นธรรมชาติได้มีบทบาทในนิเวศระดับย่านบ้าน ให้ได้เป็นแหล่งผลิตอาหารแก่สัตว์และมนุษย์ นอกจากนี้ยังได้มีคุณประโยชน์ทางอ้อมอีกด้วย อย่างการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ การช่วยดูดซับน้ำฝน หากเราถอยออกมามองพื้นที่สวนเล็ก ๆ ของเราว่ามีพื้นที่สีเขียวอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ก็อาจได้เป็นหนึ่งในการเชื่อมต่อทางนิเวศ ในลักษณะของเส้นทางสีเขียว Corridor หรือ ผืนพืชพรรณแบบ Stepping Stone
บทความวิจัยเรื่อง The Matrix Enhances The Effectiveness Of Corridors And Stepping stones ได้ทำการจำลองถิ่นที่อยู่ของเพลี้ยกระโดดขึ้น เพื่อทดลองว่าเพลี้ยกระโดดจะสามารถเดินทางจากจุดอาศัยตั้งต้นไปสู่พื้นที่พืชพรรณที่อยู่ห่างออกไปได้หรือไม่ จากการทดลองพบว่าเพลี้ยกระโดดสามารถเดินทางไปสู่อีกพื้นที่หนึ่งได้ดี โดยการมีแนวพืชพรรณที่เป็นพุ่ม หรือกลุ่มพุ่มไม้ที่ปลูกเป็นระยะ ทำให้เพลี้ยกระโดดไปได้ ซึ่งในกรณีของสัตว์อื่น ๆ แล้ว แนวหรือกลุ่มพืชพรรณที่กระจายอยู่จะเป็นเส้นทางการเดินทางจากแหล่งที่อยู่อาศัยหนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งทำให้สัตว์มีความสามารถในการเดินทางไปหาอาหารและหลบภัยในพื้นที่ที่มีความเป็นธรรมชาติสูงกว่าได้
จะเห็นได้ว่าการมีเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อมีส่วนช่วยในการกระจายพันธุ์ของสัตว์ แต่ระบบการเชื่อมต่อจะต้องมีผืนพื้นที่ธรรมชาติเพื่อให้สัตว์ได้หยุดพักหากินก่อนเดินทางต่อ อาจเป็นหย่อมพื้นที่สีเขียวที่มีขนาดใหญ่หรือสวนสาธารณะก็ได้ ซึ่งหากยิ่งมีขนาดที่ใหญ่ก็จะยิ่งมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ภายในมากยิ่งขึ้น
เมื่อมาถึงในระดับเมือง ถ้าหากจะสร้างการเชื่อมต่อให้เกิดขึ้น ย่อมจะต้องอาศัยข้อมูลและการศึกษาเพื่อสนับสนุนการวางแผน ให้เกิดการวางพื้นที่เพื่อสร้างการเชื่อมต่ออย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีกลยุทธ์ในระยะยาว รวมไปถึงการกำหนดรูปแบบการใช้งานพื้นที่เมืองโดยมีตัวชี้วัดที่การคำนึงถึงคุณค่าในเชิงนิเวศให้ปรากฎอยู่ในผังการพัฒนาเมือง สิ่งที่เราต้องการจากภาครัฐคือวิสัยทัศน์ การสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมในระดับเมืองเพื่อให้เห็นทิศทางที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อมเมืองในอนาคตต่อไป
วันนี้เรามาเตรียมตัวเรียกนกให้มาเที่ยวบ้านเรา ถ้าในอนาคตสถานการณ์เป็นใจ เราคงได้มีโอกาสชวนใครต่อใครมาเที่ยว “เธอ ๆ มาดูนกที่ห้องเรามั้ย” ให้มันรู้กันไปว่า เราชอบดูนก แต่เราไม่นกนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www2.ca.uky.edu/agcomm/pubs/for/for74/for74.pdf
https://www.stockholmresilience.org/research/research-news/
https://www.researchgate.net/publication/
https://www.seub.or.th/bloging/
https://doi.org/10.1890/04-0500
http://natres.psu.ac.th/Department/PlantScience/weed/weedsspp.htm
https://www.earth.com/news/urban-areas-stepping-stones-risk-species/
https://www.stockholmresilience.org/research/research-news/
https://ec.europa.eu/environment/integration/research/newsalert/pdf/368na5_en.pdf
https://landscapewpstorage01.blob.core.windows.net/www-landscapeinstitute-org/
http://chm-thai.onep.go.th/chm/alien/document/Alienplant/plant_alien.pdf
Illustration by Montree Sommut