CITY CRACKER

ความเชื่อกับธรรมชาติ การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

มนุษย์กับธรรมชาติมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การเกิดขึ้นของมนุษย์ การตั้งถิ่นฐาน ข้าวปลาอาหาร การดำรงชีวิตทั้งหมดของมนุษย์ล้วนสัมพันธ์กับธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นเหมือนพื้นฐานของการคงอยู่ของมนุษย์ ถ้าไม่มีธรรมชาติก็ไม่มีมนุษย์ ธรรมชาติกับมนุษย์จึงเหมือนการพึ่งพาอาศัยกันแบบฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ และธรรมชาติคือความต้องการของมนุษย์โดยตรง โดยที่มนุษย์ไม่เคยนึกถึงหรือเห็นความสำคัญของธรรมชาติ

แนวคิดของการจัดการธรรมชาติเกิดขึ้นพร้อมๆ กับวิกฤติสิ่งแวดล้อมของโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างเฉียบพลัน ภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ เป็นต้น วิกฤติเหล่านี้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติที่ล้นเกินขีดความสามารถของธรรมชาติ แม้ผลของการกระทำจะไม่กระทบทันที แต่สิ่งเหล่านั้นล้วนเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่ง และการศึกษาเพื่อป้องกัน จัดการ หรือฟื้นฟูธรรมชาติเหล่านั้นล้วนให้ความสำคัญกับด้านวิทยาศาสตร์ของธรรมชาติ ระบบนิเวศนั้นๆ จนกระทั่งมีนักคิดด้านนิเวศวิทยา ปรัชญา และศาสนา ได้แสดงให้เห็นการจัดการธรรมชาติในรูปแบบของความเชื่อ และจิตวิญญาณที่มนุษย์เชื่อมโยงกับธรรมชาติ จึงเกิดเป็นแนวทางหนึ่งต่อการอนุรักษ์ จัดการธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ช่วยให้เข้าใจ และหาแนวทางของการอยู่ร่วมกันของคนและธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

greennews.agency

ธรรมชาติ กับความเชื่อ ศาสนา และจิตวิญญาณ

เดวิด คินส์ลีย์ (David Kinsley) ผู้เขียนหนังสือ นิเวศวิทยากับศาสนา (Ecology and religion) จิตวิญญาณเชิงนิเวศในมุมมองต่างวัฒนธรรม ได้นำเสนอมุมมองต่อธรรมชาติใหม่ ด้วยมิติทางด้านศาสนา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น (Indigenous Culture) ที่หลากหลาย มองธรรมชาติผ่านความเชื่อของชนเผ่า ชนพื้นเมือง และศาสนาหลักๆ ของโลกว่ามีการให้ความสำคัญ มีความสัมพันธ์ และอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างไรบ้าง ชาวอะบอริจิน ชนพื้นเมืองในประเทศออสเตรเลีย เชื่อว่ามนุษย์ สัตว์ และพืช มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติต่อกัน ชาวไอนุ ชนพื้นเมืองในประเทศญี่ปุ่น เชื่อว่าธรรมชาติมีพลังอำนาจในการให้พรแก่ผู้ที่เชื่อมั่น เคารพในธรรมชาตินั้น โดยการแสดงความนับถือ ความเคารพต่อธรรมชาติของชนพื้นเมืองต่างๆ ล้วนกระทำผ่านพิธีกรรมบางอย่าง ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งที่ผู้คนเชื่อว่าเป็นกระบวนการของการเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์

นอกจากแนวคิดความเชื่อของชนพื้นเมืองแล้ว คินส์ลีย์ยังยกตัวอย่างสำคัญของความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อธรรมชาติอย่างมาก นั่นคือความเชื่อของศาสนาหลักๆ ในโลกนี้ ศาสนาของชาวเอเชีย เช่นศาสนาฮินดู มองว่าโลกหรือจักรวาลนี้มีชีวิต การสร้างโลก การสร้างแผ่นดิน โดยมีเทพหรือเทพีปกป้อง รักษา คุ้มครองสิ่งเหล่านั้นไว้ เพื่อให้ศาสนิกชนบูชา เทพ/เทพีด้วยการรักษาโลกนี้ไว้และยังเชื่อว่าการเข้าใจตนเอง คือการเข้าใจโลก ศาสนาในประเทศจีน มองว่าจักรวาลประกอบไปด้วยความต่อเนื่อง การเป็นองค์รวม และการมีพลวัต ที่ผสานกลมกลืนกัน ศาสนาพุทธมักเน้นหลักการของการไม่เบียดเบียน การไม่ทำร้าย การไม่ทำลาย และสร้างความเสียหายต่อสรรพสิ่ง และหลักของการพึ่งพาอาศัยกัน มีนัยยะของการแสดงความรับผิดชอบต่อชีวิตผู้อื่น และเชื่อว่าในทุกการกระทำส่งผลกระทบต่อผู้อื่น/สิ่งอื่นเสมอ

ebay.com

 

ส่วนศาสนาคริสต์ คินส์ลีย์ได้เสนอความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติว่า เน้นการยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มนุษย์เป็นผู้ครอบครองและควบคุมธรรมชาติได้ และการเพิ่มขึ้นของผู้นับถือศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่อยู่ในโลกตะวันตกที่เป็นศูนย์กลางของความเจริญ มีพัฒนาการ และมีอิทธิพลต่อโลกใบนี้เกือบจะทุกด้าน ความเชื่อเรื่องของมนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งจึงถูกขับเคลื่อนมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 19 ที่เริ่มมีนักคิดนักปรัชญาที่ศึกษาธรรมชาติ นิเวศวิทยา นั่นคือ เฮนรี่ เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) จอห์น มูร์ (John Muir) และอัลโด ลีโอโปลด์ (Aldo Leopold) ทั้งสามได้ให้ความสำคัญของจิตวิญญาณและความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติในฐานะสิ่งมีชีวิต มีองคาพยพ และสมควรได้รับการเคารพเช่นเดียวกับมนุษย์ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ได้ส่งผลให้เกิดกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และพูดแทนสรรพสิ่งต่างๆ ที่ไม่สามารถโต้แย้งกับมนุษย์ได้ เช่น กลุ่มกรีนพีซ (Greenpeace) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1971 กลุ่มเอิร์ธเฟิร์ส (Earth First Movement) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1980 ฯลฯ

ทำไมมนุษย์ถึงเชื่อในธรรมชาติ ?

การนับถือธรรมชาติ การเชื่อในธรรมชาติ การเคารพธรรมชาติ จะพบได้ส่วนใหญ่ในชนพื้นเมืองในแต่ละทวีปที่มีความผูกพัน และพึ่งพาอาศัยธรรมชาติโดยตรง โดยเฉพาะในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความเชื่อในธรรมชาติเป็นทุนเดิม ทั้งด้วยลักษณะของการตั้งถิ่นฐานที่กระจัดกระจายบนภูมินิเวศที่แตกต่างกัน ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ เกิดศาสนาความเชื่อท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ รวมถึงการเข้ามาของศาสนาฮินดูและพุทธ ที่ยึดโยงแนวคิดความเชื่อท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา ทำให้การนับถือธรรมชาติเป็นสิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันโดยที่เราไม่รู้ตัว

การนับถือธรรมชาติจึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของผู้คนในภูมิภาคนี้ เช่น การทำบุญประเทศเพื่อสะเดาะเคราะห์ครั้งใหญ่ เพราะเชื่อว่ามีผีบ้านผีเมือง เทวดาที่ปกปักษ์รักษาบ้านเมืองนี้ไว้ และไม่ได้รับการดูแลจากผู้คนในบ้านเมืองนั้น จึงทำให้เกิดเหตุเภทภัยขึ้น การทำพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นเริ่มต้นฤดูกาลของการทำนาในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง เพื่อเป็นสิริมงคล และขอให้พระแม่โพสพ พระภูมิเจ้าที่ที่ดูแลรักษาท้องนา ปกป้องภยันตรายที่จะเกิดต่อข้าวในนา การทำพิธีเลี้ยงผีเหมืองฝายเพื่อให้ช่วยปกปักษ์รักษาพื้นที่ชลประทานในพื้นที่เกษตรที่สูงให้มีน้ำใช้เพียงพอในฤดูกาลของการทำเกษตรนี้ เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการนับถือธรรมชาติในพื้นที่ประเทศไทยที่ยกตัวอย่างเพื่อให้การนับถือธรรมชาติแบบง่ายๆ เท่านั้น แต่ความเชื่อเหล่านี้มีความยาก ซับซ้อน และซ้อนทับอยู่กับความเชื่อที่หลากหลายอยู่ด้วย และยากจะอธิบายในบทความนี้

ผู้คนจึงเชื่อว่าธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น คาดเดาและสัมผัสไม่ได้ จึงเรียกกันว่า ผี ที่เป็นความเชื่อท้องถิ่นในภูมิภาคนี้ เพื่อเชื่อมโยงผีกับผู้คน จึงเกิดพิธีกรรมบางอย่างเพื่อบูชา ขอขมา ขอความช่วยเหลือ ขอพร เกิดเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น และผูกโยงกับวิถีการดำเนินชีวิต แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่เราก็ยังขอพรจากต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีผีคอยดูแลอยู่ เห็นได้ว่า ความเชื่อ และการนับถือธรรมชาตินั้น แสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นความกลัวของมนุษย์โดยเฉพาะการกลัวตาย การขอฝนเพื่อให้มีน้ำใช้ในการเกษตร เพื่อให้มีผลผลิตในการกิน และการขายเพื่อได้เงินมาดำรงชีวิต การให้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ การขอให้น้ำไม่ท่วม สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาในการกระทำของผู้คนที่มีความหวาดกลัวในธรรมชาติ

 จากความกลัวนี้เอง นำไปสู่การทำพิธีกรรมการขอให้คุ้มครอง ขอพรให้โชคดี ล้วนเป็นการกระทำเพื่อความสบายใจของมนุษย์ เมื่ออนาคตคาดการณ์ไม่ได้ การขอพรจากสิ่งที่ไม่รู้เช่นกันย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจ รวมถึงการขอขมา การสะเดาะเคราะห์ เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้นในทางที่ไม่ดี จึงทำพิธีกรรมเพื่อขอโทษต่อสิ่งที่มองไม่เห็นนั้นเช่นกัน

พิธีไหว้พระแม่ธรณี และพระแม่โพสพก่อนการเก็บเกี่ยวข้าว (siamrath.co.th)

ความเชื่อสู่แนวคิดอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

จากวิกฤติสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน การพยายามหาแนวทางการอนุรักษ์ ดูแล ฟื้นฟูธรรมชาติมีหลากหลายรูปแบบและแนวทาง ศาสนาและความเชื่อจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ได้รับการศึกษาเพื่อเติมเต็มความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถสื่อสารกับผู้คนได้เข้าใจในธรรมชาติมากยิ่งขึ้น การสื่อสารด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อาจทำให้ผู้คนเข้าใจได้ยาก การสื่อสารด้วยเรื่องจิตวิญญาณ ความเชื่อที่เป็นเรื่องราวที่มนุษย์สร้างขึ้นอาจจะมีความใกล้ชิดกับผู้คนมากกว่า และเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นนั่นเอง แนวทางการใช้ความเชื่อในธรรมชาติในการอนุรักษ์ดูแลธรรมชาติ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เกิดการตระหนัก เห็นความสำคัญ และหาวิธีการจัดการธรรมชาติที่ดีขึ้นได้ เช่น แนวคิดการบวชต้นไม้ ที่ใช้แนวคิดความเชื่อทางศาสนา และจิตวิญญาณมาช่วยในการปกป้อง ดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ ฯลฯ

การบวชต้นไม้เพื่ออนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ (bdkkec.blogspot.com)

 

การผลักผู้คนออกจากธรรมชาติเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่ทำให้ธรรมชาติอยู่ได้อย่างยั่งยืนที่สุด แต่ในเมื่อมีมนุษย์เกิดขึ้นมาในโลกนี้ มีการดำรงอยู่ และใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติไปเรื่อยๆ นั้น เราจะทำอย่างไรได้บ้าง นอกจากการอยู่ร่วมกัน และในการอยู่ร่วมกันก็ต้องให้คุณค่าของทุกสรรพสิ่งในระนาบเดียวกัน สร้างความเท่าเทียมกันของมนุษย์และธรรมชาติ การอยู่ร่วมกันจึงจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.sac.or.th/databases/southeastasia/subject.php?c_id=9&sj_id=80

https://www.m-culture.go.th/tak/ewt_news.php?nid=553&filename=index

https://so05.tci-thaijo.org/index.php/panidhana/article/download/151707/110823/

 

Illustration by Montree Sommut
Share :