CITY CRACKER

‘บางกระเจ้า’ ปอดกรุงเทพฯ ความยืดหยุ่นในสายพระเนตรที่ทรงมีมาก่อนกาลของรัชกาลที่ 9

ความจริงเราก็รู้อยู่แล้วว่า กรุงเทพฯ น้ำท่วม แต่เขาบอกว่าน้ำจะท่วมจากทะเล เพราะว่าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เขาว่าเพราะมีสารคาร์บอนขึ้นไปในอากาศมาก จะทำให้เหมือนเป็นตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้น เมื่อโลกนี้ร้อนขึ้น มีหวังว่าน้ำแข็งจะละลายลงทะเล และรวมทั้งน้ำในทะเลนั้นจะพองขึ้น เพราะสิ่งของที่ร้อนขึ้นย่อมมีการพองขึ้น

 

พระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อปี 2532 ณ ศาลาดุสิดาลัย

ทุกวันนี้เรามีแนวคิดเรื่องความยืดหยุ่น (Resilience) ซึ่งมักหมายรวมถึงการปรับรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ คำว่าความยืดหยุ่นเป็นคำที่มีความสำคัญในช่วงหลัง โดยเฉพาะเมื่อเราเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ เผชิญกับภาวะโลกร้อน และเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม ที่เริ่มเข้มข้นและรุนแรงขึ้น จนเราต้องเริ่มเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิถี และวิธีคิดเพื่ออยู่ร่วมและอยู่รอดต่อไป

พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ยกมาข้างต้น พระราชดำรัสทั้งหมดทรงพระราชทานไว้ครอบคลุม ตั้งแต่เรื่องของภาวะโลกร้อน ความสำคัญของต้นไม้ และการใช้ข้อมูลต่างๆ กระทั่งอ่านในห้วงเวลาปัจจุบันก็ยังถือว่าทันสมัย หากแต่พระกระแสข้างต้นกลับพระราชทานไว้กว่า 30 ปีที่แล้ว สิ่งที่พระองค์ทรงเห็นคือความเปลี่ยนแปลงและการมองสิ่งต่างๆ อย่างเป็นองค์รวม ทั้งหมดนั้นนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงทีและเป็นระบบ โดยเฉพาะในมิติของเมืองและความเป็นอยู่ของผู้คน ที่จะต้องมองเห็นและเข้าใจผ่านข้อมูล จนนำมาสู่การเตรียมตัวรับมือที่ได้ผล

ในห้วงทศวรรษก่อนหน้า ก่อนที่จะพระองค์จะพระราชทานข้อคิดเห็นและข้อเตือนใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ก่อนที่วิกฤตสิ่งแวดล้อมจะเป็นรูปธรรม สิ่งที่พระองค์ทรงเล็งเห็นก่อนคือประเด็นปัญหาเรื่องเมือง เรื่องการก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร และทรงมองเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดตามมา ‘บางกระเจ้า’ พื้นที่สีเขียวที่เรารักและอาจช่วยชีวิตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการจากพระกระแส ที่รัชกาลที่ 9 ทรงมองเห็นและพระราชทานไว้ตั้งแต่ช่วงปี 2525-2530

 

makalius.co.th

 

คุ้งบางกระเจ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอพระประแดง ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ โดยสภาพเป็นคุ้งน้ำทรงกระเพาะหมู ด้านในเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่น้ำเค็มจากทะเล และได้รับผลกระทบจากน้ำขึ้นน้ำลง ตัวพื้นที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าดั้งเดิม ในช่วงปี 2525-2530 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ในครั้งนั้นเสด็จด้วยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งและทอดพระเนตรเห็นบางกระเจ้าบ่อยครั้ง ทรงมีพระราชกระแสว่า ควรสงวนพื้นที่ดังกล่าวไว้เป็นพื้นที่สีเขียว และรักษาการเป็นปอดของคนเมืองไว้ เนื่องด้วยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ลมมรสุมจากอ่าวไทยจะช่วยพัดอากาศบริสุทธิ์เข้าไปไล่อากาศเสียในกรุงเทพอย่างน้อย 9 เดือนต่อหนึ่งปี

หลังจากนั้นสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงดำเนินโครงการตามพระราชกระแส ด้วยการเวนคืนซื้อสวนรกร้างในคุ้งบางกระเจ้าขนาด 1,276 ไร่ เข้าไว้ จนถึงในปี 2546 ได้นำเอาพื้นที่ขนาด 148 ไร่สร้างเป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติ โครงการรักษาพื้นที่สีเขียวให้เป็นปอดของเมืองที่คุ้งบางกระเจ้า จึงได้รับพระราชทานชื่อว่า ‘สวนศรีนครเขื่อนขันธ์’

หลังจากนั้นในปี 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระอิสริยยศในขณะนั้น เสด็จเยี่ยมสวนและทรงมีพระราชดำรัสให้รักษาพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมการปลูกพืชผสมผสานทั้งไม้ป่าและไม้การเกษตร และใช้พื้นที่สีเขียวนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวและการศึกษาในฐานะห้องเรียนทางธรรมชาติ โดยทรงมีพระกระแสบางส่วนว่า ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องการให้มาขี่จักรยานชมสวน เพราะทราบว่าสวนศรีนครเขื่อนขันธ์นี้มีเส้นทางจักรยานสวยงาม และชมทัศนียภาพตามร่องสวนชาวบ้านเป็นระยะทางยาว’ และทรง ‘ตั้งใจจะมาเยี่ยมสวนศรีฯ โดยเฉพาะขี่จักรยาน พายเรือคะยัก และชมหอดูนก’

greenlifeplusmag.com

จากพระกระแสในทศวรรษ 2520 จนกลายเป็นพื้นที่ป่าและสวนสาธารณะที่คนเมืองรักและอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งฝุ่นควัน กระแสน้ำ ไปจนถึงการเป็นพื้นที่เยียวยาให้กับผู้คนและชุมชน การมีปอดขนาดใหญ่นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งจากสายพระเนตรของรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมองเห็นเงื่อนไขและความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น นำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธิปฏิบัติที่นำสมัย กลายเป็นพื้นที่สำคัญหนึ่งของคนกรุงเทพฯ และคนท้องที่ในยุคปัจจุบัน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

biotec.or.th

pttep.comrint

prachachat.net

km.rdpb.go.th

Share :