CITY CRACKER

อารีย์ยังมีที่ร้าง สำรวจพื้นที่ร้างลับ กับ Ari Eco Walk เข้าใจประโยชน์ความรกร้างของเมืองผ่านเส้นทางในชีวิตประจำวัน

ประโยชน์ของการมีธรรมชาติใกล้บ้านหรืออยู่ในเมืองนั้นหลากหลายกว่าที่เราคิด ต้นไม้ต้นเดียวในละแวกบ้านอาจเต็มไปด้วยพืชพรรณเล็กๆ อีกหลายชนิด รวมถึงแมลงต่างๆ ที่กำลังตามหาอาหาร เช่นเดียวกับพื้นที่ย่านอารีย์ ถึงแม้ว่าจะอยู่ใจกลางเมือง แต่ก็ยังมีธรรมชาติแอบซ่อนให้เราได้ตามหาอยู่เหมือนกัน

กิจกรรม Urban Wildlife Walking Tour ในเมือง คือการสำรวจพื้นที่ของธรรมชาติในเมือง เพื่อเรียนรู้ธรรมชาติผ่านการสำรวจและบันทึกความหลากหลายทางระบบนิเวศในย่านอารีย์ ตัวกิจกรรมเป็นการสานสัมพันธ์คนเมืองกับสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว เพื่อยกระดับคุณภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเมืองให้ดีขึ้นต่อไป 

กลุ่ม Ari Eco walk คือหนึ่งในกลุ่มคนที่กำลังผลักดันเรื่องระบบนิเวศและธรรมชาติในเมืองที่สนใจธรรมชาติ โดยเฉพาะความรกร้างของพงหญ้าและต้นไม้ที่เติบโตขึ้นในย่านอารีย์ ตลอดจนพื้นที่สีเขียวลับๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในย่าน พร้อมเพิ่มศักยภาพของความรกร้างนั้นเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติในเมือง ทั้งเรื่องของแมลง ผึ้ง นกนานาชนิดที่อาจพบเจอได้ในเมืองที่มีต้นไม้โอบล้อม 

ด้วยบริบทของย่านอารีย์ ถือเป็นย่านที่น่าสนใจทั้งในแง่มิติของมนุษย์และธรรมชาติ ทำให้ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาในวันที่ฟ้าสดใส อากาศไม่อ้าวจนเกินไป บรรยากาศเหมาะแก่การเดินเล่นในเมืองเพื่อสังเกตธรรมชาติรอบตัว City Cracker, we!park และชาว Ari Eco Walk จึงไปเดินสำรวจธรรมชาติที่ย่านราชครู-ประดิพันธ์ ตั้งแต่เรียนรู้ชนิดของต้นไม้สีเขียวที่อยู่ในเมือง ทำความรู้จักกับแมลงหลากหลายชนิด ส่องนกและกระรอกที่ซุกซ่อนตัวอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ ตลอดจนการพบเจอพื้นที่ชุ่มน้ำจากการกลับมาของธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ในใจกลางเมือง 

กิจกรรมการเดินสำรวจความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตย่านอารีย์นี้ ทางกลุ่ม  Ari Eco Walk จะจัดกิจกรรมนี้ทุกวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือน ผ่าน AriAround แพลตฟอร์มที่รวบรวมกลุ่มคนที่อยากพัฒนาเมืองและย่านอารีย์ให้ดีขึ้น ทั้งในมิติเมืองและธรรมชาติ หากสนใจเข้าร่วมกิจกรรมสำรวจพื้นที่ธรรมชาติในเมืองนี้ สามารถติดตามวันจัดกิจกรรมและรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ทางเฟซบุ๊กเพจของ AriAround  

 

 

เริ่มต้นที่พื้นที่ในเมือง – ซอยราชครู

การเดิน Ari eco walk ครั้งนี้เริ่มต้นที่ใจกลางอารีย์ คือปากซอยราชครูที่บริเวณถนนมีรถราแล่นไปมาตลอดเวลา สองข้างถนนเองก็ขนาบข้างด้วยร้านค้าและบ้านเรือนเรียงราย และด้วยการที่ย่านที่เต็มไปด้วยที่พักอาศัย และสถานที่ทำงาน อารย์จึงเป็นพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีการเคลื่อนไหว และจอแจไปด้วยผู้คนทั้งกลางวันและกลางคืน 

จากผลการสำรวจของ Time Out 2022 อารีย์ติดอันดับแรกย่านน่าอยู่ของกรุงเทพฯ และอันดับ 47 จากย่านทั่วมุมโลก และได้รับยกให้เป็นย่านที่สุดเจ๋งจากหลากย่านทั่วโลก ด้วยบรรยากาศและการอยู่อาศัยที่มีความช่วยเหลือ เกื้อกูล และอยู่ร่วมกันทั้งระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่  พื้นที่ย่านอารีย์นี้จึงมีภาพลักษณ์ของย่านที่เต็มไปด้วยผู้คนและมีชีวิตชีวา 

 

 

แม้ว่าอารีย์จะตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่ตัวพื้นที่นั้นสามารถเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ธรรมชาติได้ไม่ยาก โดยเฉพาะพื้นที่บางส่วนของอารีย์ อันเป็นพื้นที่ที่มนุษย์อย่างเราๆ อาจจะละเลยไป เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่ธรรมชาติรกร้าง หรือความรกครึ้มที่ถูกทางการนิยามว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม เหล่านั้นล้วนเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ในเมือง หรือ Urban Wildlife การเดิน Ari Eco Walk ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการหยุด เปิดการรับรู้ และทำความเข้าใจถึงใจระบบนิเวศและธรรมชาติในเมือง รวมถึงการชื่นชมธรรมชาติ ทำให้เห็นว่าเราและธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และสามารถที่จะอยู่ร่วมในเมืองนี้ได้

 

 

ต้นไม้ นก และแมลงในบริเวณย่านเมือง 

เราใช้เวลาเดินสำรวจและตามหาธรรมชาติในเมืองกรุงตลอดเส้นทางกว่า 2 กิโลเมตร เป็นเวลา 2 ชั่วโมง เราเดินลัดเลาะพื้นที่ซอยเล็กไปจนถึงถนนใหญ่ เดินสอดส่องธรรมชาติริมทางเท้า ไปจนถึงพื้นที่บึงและสวนของกรมประชาสัมพันธ์ หยุดพักที่พื้นที่รกร้างของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ แมลง และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เราพบเจอมีลักษณะที่แตกต่างออกไปตามพื้นที่นั้นๆ 

 

 

ต้นไม้ในช่วงแรกที่เจอมักเป็นต้นไม้อยู่ตามริมถนน เช่น ต้นอโศกอินเดีย ต้นอินทนิลน้ำ ต้นมะขาม ต้นประดู่ ต้นกะเพราที่ยังไม่แตกยอดดี  ต้นลูกใต้ใบ รวมถึงต้นไม้ต้นเล็กๆ  อย่างต้นหญ้าหมอน้อยหรือหูปลาช่อน ต้นตำแยแมว และผักเสี้ยนที่พยายามแรกตัวขึ้นริมทางเท้า ถนน และพื้นที่รกร้างลับที่ซ่อนอยู่ในเมือง

เมื่อเดินต่อเข้าไปในส่วนของพื้นที่กรมประชาสัมพันธ์ก็เจอกับดอกไม้ที่เริ่มมีสีสันมากขึ้น พร้อมกับแมลงที่กำลังออกหากินที่มากตามจำนวนดอกไม้ในละแวก ทั้งผึ้งหลวงและผึ้งมิ้ม ที่พากันบินวนรอบๆ ดอกไม้สีเหลืองของต้นทองอุไร รวมไปถึงนกในเมืองกว่า 50 ชนิดที่ถูกจดบันทึกไว้ว่าสามารถพบเจอได้ที่ใจกลางอารีย์แห่งนี้ เช่น กระแต กางเขนบ้าน ขมิ้นท้ายทอยดำ

 

 

ตามหาพื้นที่บึงใหญ่ใจกลางเมือง

นอกจากต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามริมทางเดินหรือพื้นที่ว่างและร้างในซอยอารีย์-ราชครูแล้ว อีกพื้นที่หนึ่งที่เราไม่เคยรู้ว่ามีอยู่ในเมืองอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้เราได้รู้และเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น คือตัวพื้นที่บึงขนาดใหญ่ บึงแห่งนี้ตั้งอยู่ในส่วนพื้นที่ของกรมสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เป็นบึงธรรมชาติขนาดใหญ่ ปกคลุมด้วยต้นไม้สีเขียวหลากหลายสายพันธุ์ 

สิ่งแรกที่รู้สึกต่างออกไปเมื่อก้าวเข้ามายังพื้นที่บึงของกรมสิ่งแวดล้อมฯ คือความรู้สึกที่เย็นสบาย และสงบ เมื่อเทียบกันกับพื้นที่ด้านนอก ภายในพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่และไม่เล็ก แต่เต็มไปด้วยต้นไม้เล็กหลากหลายพันธุ์กลับทำให้ผัสสะของร่างกายเราเปลี่ยนไป นอกจากนี้ ภายในบึงเราก็เจอกับปลาช่อนและปลาชนิดอื่นๆ รวมถึงแมลงอย่างจิงโจ้น้ำกระโดดไปมา ซึ่งด้านหนึ่งทำให้เห็นว่าพื้นที่บึงนี้ได้อุดมไปด้วยระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

 

 

สำหรับประโยชน์ของการมีพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และระบบนิเวศในเมืองรูปแบบนี้ ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่เป็นที่อยู่อาศัย หรือแหล่งอาหารของสัตว์เท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งคือพื้นที่ธรรมชาติส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในเมืองด้วยเช่นกัน ในความหลากหลายนี้ส่งผลกับเราทั้งในด้านของคุณภาพดิน น้ำ และอากาศ ลดการเสื่อมโทรมของระบบธรรมชาติ ช่วยลดมลภาวะและสร้างสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่ดี รวมถึงช่วยเยียวยาจิตใจและสุขภาพทางจิตที่ดีขึ้น ลดอาการเครียด เพิ่มพื้นที่พักผ่อนให้แก่มนุษย์อีกด้วย 

 

การเรียนรู้ธรรมชาติคือการเรียนรู้ระหว่างสองฝ่าย 

หลังจากการเดินเท้าด้วยระยะทาง 2 กิโลเมตร พบว่าการเดินเพื่อสำรวจต้นไม้และแมลงเหล่านี้ เราไม่ได้แค่รู้จักชื่อและลักษณะของต้นไม้เท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าใจถึงบริบทและสภาพแวดล้อมของเมืองในช่วงเวลานั้นได้ เช่นความนิยมในการปลูกต้นไม้ในสมัยก่อน หรือความแตกต่างระหว่างต้นไม้ชนิดเดียวกันที่ขึ้นอยู่ริมถนนที่ต้องเผชิญกับฝุ่นและควันรถ และต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ด้านในพื้นที่สวนและบึงใหญ่ ที่ดูจะแข็งแรงและสุขภาพดีมากกว่า  รวมถึงลักษณะของต้นไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติ แต่ก็แตกต่างกันไปทั้งพื้นที่ริมถนน พื้นที่รกร้าง และพื้นที่ในสวน 

นอกจากความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และประวัติของพื้นที่ในย่านอารีย์ กิจกรรมครั้งนี้ยังเปิดการเปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเรา ทั้งหูที่คอยเงี่ยฟังเสียงแมลงที่กำลังหาน้ำหวาน หรือเสียงรถราในเมืองที่ผสมผสานกับกันเสียงนกร้องยามเช้า ลิ้นเพื่อสัมผัสรสชาติของชมพู่มะเหมี่ยวในสวน รวมถึงสัมผัสจากมือที่วางลงไปบนต้นไม้ ใบไม้ เพื่อทำความเข้าใจถึงลักษณะของพวกเขาที่ต้องปรับตัวเพื่อให้ใช้ชีวิตในเมืองได้ 

ดังนั้นแล้วย่านอารีย์จึงอาจเป็นต้นแบบของย่านในเมืองที่สามารถเรียนรู้และเข้าใจ รวมถึงรักษาพื้นที่ธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นการเอื้อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับเราและสรรพสัตว์ต่างๆ ได้ในเมือง ตลอดจนเป็นเส้นทางเดินใช้ชีวิตประจำวัน ที่อาจเปลี่ยนมาเป็นเส้นทางเรียนรู้นิเวศในเมืองได้ในอนาคต

 

Illustration by Montree Sommut
Share :