สำหรับคนกรุงเทพฯ เรื่องพื้นที่สาธารณะก็มีน้อยแสนน้อย เรามีพื้นที่ที่สามารถออกไปพักผ่อนหย่อนใจนอกบ้านอยู่แค่ไม่กี่ที่ ขนาดประเทศเรายังพอมีอยู่บ้าง ก็ยังรู้สึกเลยว่ามันไม่เพียงพอ ตัดภาพมาที่เพื่อนบ้านใกล้ๆ เราอย่างเมืองย่างกุ้งประเทศพม่าที่เต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่ยุคอาณานิคมนี้ มีพื้นที่สาธารณะแค่เพียง 4 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองที่มีพื้นที่สาธารณะน้อยที่สุด
ย่างกุ้งเป็นเมืองในพม่าที่มีตรอกซอกซอยเยอะมาก อันที่จริงพื้นที่เหล่านี้ก็นับเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ซอยต่างๆ ในเมืองย่างกุ้ง กลับเต็มไปด้วยขยะทั้งจากคนที่อาศัยอยู่ชั้นสูงๆ ตามอพาร์ตเมนต์หรือผู้คนที่ใช้พื้นที่ว่างในซอยนี้เป็นที่ทิ้งขยะ พอขยะเยอะก็ส่งกลิ่นเหม็น แค่เดินผ่านยังไม่อยากจะเดิน นับประสาอะไรกับออกมานั่งเล่น แต่ Doh Eain องค์กรไม่แสวงผลกำไรในเมืองย่างกุ้ง ได้มองเห็นศักยภาพของการเป็นพื้นที่สาธารณะตามซอกซอย Doh Eain จึงจัดการแปลงโฉม เจ้าตรอกเล็กๆ พวกนี้ ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะและสนามเด็กเล่นให้กับชาวเมืองย่างกุ้ง ซึ่งงานนี้ก็ไม่ได้มีแค่โปรเจกต์เดียวแล้วจบไป แต่ยังมีการบริจาคและร่วมกันระดมทุนทั้งจากออนไลน์ออฟไลน์ และแปลงโฉมพื้นที่ตามซอยต่างๆ เกือบ 10 ซอย และมีผู้ร่วมบริจาคถึง 60,000 ดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ มาช่วยกันทำให้เมืองย่างกุ้งมีชีวิตชีวามากขึ้นด้วย
A trash alley to Alley Gardens
ฟันเฟืองสำคัญของโปรเจกต์นี้ คือ Doh Eain ที่มองเห็นความสำคัญของพื้นที่สาธารณะ และเห็นว่าชาวเมืองย่างกุ้ง ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขั้นพื้นฐาน ในการออกมาทำกิจกรรมข้างนอก ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ พื้นที่สาธารณะก็สำคัญกับคุณ ทั้งเด็กเองที่ไม่มีสนามเด็กเล่น หรือพวกผู้ใหญ่ที่ไม่มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
Emilie Roell ผู้ก่อตั้ง Doh Eain เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “พื้นที่สาธารณะ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนจนเพราะพวกเขาไม่มีพื้นที่ในการพักผ่อนมากนัก เด็กที่ร่ำรวยมีตัวเลือกที่สามารถไปเล่นได้เยอะ แต่เด็กยากจนจำนวนมากที่ไม่มีพื้นที่เล่น”
ด้วยความที่ย่างกุ้งมีตรอกซอกซอยเล็กๆ เยอะมาก แต่ไม่ได้ถูกใช้งานไปในทางที่ถูกที่ควร พื้นที่ในซอยที่ควรจะเป็นพื้นโล่งๆ กลับเต็มไปด้วยขยะ แสนสกปรก พอเป็นแบบนั้นก็ไม่มีใครอยากใช้ Doh Eain จึงทำให้ซอกซอยที่เป็นพื้นที่สาธารณะอยู่แล้วแต่ไม่มีใครเหลียวแล กลับน่าใช้งานมากขึ้น โดยการใช้ศิลปะอย่าง street art เข้ามาช่วย จัดการทำความสะอาดพื้นที่บริเวณนั้น เพิ่มต้นไม้ และเฟอร์นิเจอร์บางอย่าง ให้ไม่ว่าใครก็สามารถใช้งานได้ จากซอกซอยที่สกปรกก็ได้กลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในบริเวณนั้น นอกจากจะเจริญตาแล้วก็ยังเจริญใจด้วย ตอนนี้โครงการ Alley Garden ก็ทำสำเร็จไปแล้ว 8 โครงการด้วยกัน
“ก่อนหน้านี้ ไม่มีตรงไหนที่คุณอยากจะวางเท้าลงไปเพราะขยะสกปรกมาก แถมยังมีพวกหนูอีกด้วย” Kyaw Zin Myint ชาวบ้านในละแวกนั้นกล่าว
Alley Garden คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเมืองย่างกุ้ง จากเมืองที่ผู้คนทิ้งขยะกันลงบนท้องถนน เป็นเมืองที่ตรอกซอกซอยหน้าตาสวยงามมากขึ้น จะบอกว่าโปรเจกต์นี้ทำให้ไม่มีใครทิ้งขยะเลยก็คงจะเกินจริงไปหน่อย ยังคงมีการขว้างปาขยะลงมา หรือเทน้ำสกปรกจากคนที่อยู่บนอพาร์ตเมนต์ชั้นสูงๆ อยู่บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเจ้า Alley Gardens นี้ทำให้ขยะที่ถูกนำมาทิ้งในบริเวณนั้นลดลง
แม้ว่าทาง Doh Eain จะสามารถพัฒนาโครงการนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่เพื่อความยั่งยืน นอกจากเรื่องพื้นที่สาธารณะ เรื่องขยะเองก็สำคัญไม่แพ้กัน ถ้าต้องการให้ปัญหาการขว้างปาขยะหมดไป อาจต้องใช้เวลา และความร่วมมือจากรัฐบาลท้องถิ่นและชุมชนด้วย
ในปี 2016 ปีเดียวกับที่โครการ Alley Garden เริ่มขึ้น ทาง YCDC หรือหน่วยงานที่ดูแลเมืองย่างกุ้ง ก็มีการทำความสะอาดซอกซอยต่างๆ ใจกลางเมืองย่างกุ้ง มีกลุ่ม Clean Yangon ที่เกิดขึ้นมาร่วมเป็นอาสาสมัครร่วมกันรณรงค์เรื่องการทิ้งขยะ โดยจัดเป็นแคมเปญขึ้นในปี 2017 และปัจจุบันก็มีหน่วยงานที่เข้ามาร่วมกันพัฒนาเมืองย่างกุ้งแห่งนี้แล้วกว่า 60 หน่วยงาน
Illustration by Thanaphum Thongprasert