CITY CRACKER

เพื่อให้คนและน้ำอยู่ร่วมกันได้ ชวนดู 4 รูปแบบการจัดการน้ำที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม

กรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านแบ่งพื้นที่เป็นสองฝั่ง พื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่างนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยเป็นที่ราบความลาดชันต่ำมาก การไหลของน้ำตามธรรมชาติในช่องทางน้ำจึงช้า หากมีน้ำท่าปริมาณมากจากแม่น้ำสาขาทางตอนเหนือสะสมและไหลบ่าลงมา หรือมีน้ำฝนตกในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ปริมาณน้ำล้นตลิ่งหรือน้ำหลากทุ่งประจำปีก็จะมากจนกลายเป็นอุทกภัยได้

นอกจากบริบทที่ตั้งของกรุงเทพฯ ที่อยู่บริเวณพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงแล้ว การเติบโตของเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย ก็ยังเป็นผลให้เมืองมีความหนาแน่น ซึ่งความหนาแน่นของเมือง การก่อสร้างอาคารต่างๆ นั้นส่งผลให้พื้นดินทรุดตัวลง ทำให้ถนนในกรุงเทพฯ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำเจ้าพระยา หากน้ำท่วมขังจึงต้องใช้วิธีการสูบน้ำขึ้นไประบายยังแม่น้ำลำคลอง ซึ่งมีระดับอยู่สูงกว่าพื้นถนนอยู่ดี อีกทั้งข้อจำกัดการระบายน้ำของกทม. ที่เมื่อเกิดฝนตกแช่หลายชั่วโมง ท่อระบายน้ำนั้นไม่สามารถระบายน้ำให้ทันได้ เกิดน้ำท่วมขังและเป็นผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน
เป็นที่น่าสนใจว่าในช่วงฤดูฝนเช่นนี้ที่สภาวะภูมิอากาศแปรปรวนอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากเหตุการณ์น้ำท่วมจีนและเยอรมนี ด้วยบริบทเมืองเช่นกรุงเทพฯ ที่ต้องอยู่ร่วมกับน้ำ City Cracker จึงอยากชวนไปเข้าใจและรู้จักกับรูปแบบการน้ำที่จะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การบริจัดการน้ำด้วยการกักเก็บ การชะลอ การหลีกหนี จนถึงการป้องกันน้ำท่วม ทั้งในมิติการบริหารจัดการของภูมิสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรม ว่าเราจะอยู่ร่วมกับน้ำอย่างไรในเมืองที่มีน้ำเป็นส่วนหนึ่งของเรา

 

Store สร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ

เมื่อฝนตกลงมาหนักๆ คนเมืองอย่างเราก็รู้ว่าคงหนีไม่พ้นปัญหาน้ำท่วม การสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำจึงเป็นการจัดการน้ำรูปแบบหนึ่ง ในการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อรอการระบายน้ำ ไม่ให้น้ำเอ่อล้นท่อเมื่อน้ำมีปริมาณมากๆ อีกทั้งยังสามารถนำน้ำเอาไว้ใช้อุปโภคในตอนที่ขาดน้ำได้ โดยการกักเก็บน้ำเป็นวิธีการนำน้ำเข้ามายังพื้นที่กักเก็บมากที่สุด แนวทางการกักเก็บน้ำในมิติภูมิสถาปัตยกรรม เป็นการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ เพื่อไว้ใช้หรือเก็บไว้ก่อนการระบายน้ำ

ในมิติแลนด์สเคปเป็นออกแบบพื้นที่เก็บน้ำโดยสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำให้กับเมือง ผ่านการออกแบบพื้นที่สีเขียวหรือโครงสร้างในงานภูมิสถาปัตยกรรม เช่น ลานนั่งเล่น ศาลา ทางเดิน ในการรวบรวมน้ำเข้ามาในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด โดยการออกแบบนั้นมีหลากหลายวิธี ตัวอย่างการออกแบบในมิติแลนด์สเคปเอง เช่น water square หรือ สระน้ำใจกลางเมืองถูกออกแบบมาเป็นจัตุรัสเมืองหรือพื้นที่นัดพบใจกลางเมือง สามารถจัดกิจกรรมหรือเป็นพื้นที่สาธารณะต่างๆได้ และยังเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีวิธีการสร้างพื้นที่ลุ่ม หรือเนินดินขึ้นมา (Polder) เป็นการยกพื้นที่พักอาศัยขึ้นเหนือพื้นที่ท่วมถึง แล้วขุดบ่อหรือคลองในการรับน้ำหรือให้น้ำซึมผ่าน อีกทั้งยังสามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้และรอการระบายสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะได้

ในมิติสถาปัตยกรรมเอง เป็นการรวบรวมน้ำที่ไหลผ่านมายังตัวอาคารโดยกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งสามารถออกแบบพื้นที่กักเก็บน้ำฝน โดยใช้ถังเก็บน้ำฝนขนาดต่างๆที่เหมาะสมแก่พื้นที่ในการเก็บน้ำเพื่อรอการระบายน้ำออกสู่ภายนอก อีกทั้งสามารถนำไปใช้อุปโภคภายในครัวเรือนได้อีกด้วย

 

 

Delay ชะลอน้ำก่อนการระบาย

หนึ่งวิธีในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากระบบรายบายน้ำที่ระบายไม่ทันคือการชะลอน้ำ โดยการชะลอน้ำนี้จะมีการสร้างพื้นที่หน่วงน้ำด้วยการทำเป็นโครงข่ายสีเขียว (green network) ขึ้นเพื่อเป็นตัวช่วยหลักในการชะลอ ซึ่งสามารถทำในมิติแลนด์สเคปและสถาปัตย์โดยมิติแลนด์สเคปเป็นการสร้างโครงข่ายสีเขียวให้กับเมืองเพื่อรับน้ำแต่ละพื้นที่ ส่วนมิติสถาปัตย์เป็นการใช้พื้นที่สีเขียวในการรับน้ำ เพื่อชะลอก่อนไหลสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ

แนวทางการออกแบบในมิติภูมิสถาปัตยกรรมจะเป็นการสร้างพื้นที่สวนขนาดเล็ก (pocket park) เป็นการกระจายโครงข่ายสีเขียวในการชะลอน้ำ สามารถทำได้ด้วยการสร้างพื้นที่สวนข้างคลอง (linear park) ในการรับน้ำ นอกจากนี้การสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) เป็นการสร้างพื้นที่หน่วงน้ำ อีกทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นพื้นที่ฟื้นฟูระบบนิเวศและเป็นปอดสีเขียวให้กับเมือง

เพื่อให้เกิดการแก้ไขหลากหลานมิติ การชะลอน้ำก่อนละบายยังสามารถใช้แนวทางการออกแบบในมิติสถาปัตยกรรมเข้ามาช่วย คือการออกแบบหลังคาสีเขียว (green roof) และการออกแบบสวนแนวตั้งที่เป็นระแนง หรือกำแพงสีเขยว ซึ่งจะช่วยในการชะลอการไหลของน้ำจากหลังคาก่อนไหลลงสู่ท่อระบายน้ำฝน หรือถังกักเก็บน้ำฝน

 

 

Avoid การอพยพ

ปัญหาน้ำท่วมในหลายๆ พื้นที่ หากคำนึงถึงระดับความลึกของน้ำและความถี่ของการเกิดน้ำท่วม การสร้างพื้นที่เก็บน้ำหรือพื้นที่หน่วงน้ำที่ช่วยชะลอน้ำท่วมนั้นอาจไม่มาสามารถรับมือน้ำท่วมในรูปแบบนี้ได้ ดังนั้นเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่มีระดับความลึกและความถี่ที่เกิดขึ้นแตกต่างออกไป การหลีกหนีน้ำ หรือ aviod จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คนและน้ำสามารถอยู่ร่วมกันได้การหลีกหนีน้ำ หรือ avoid คือรูปแบบการจัดการน้ำที่ใช้วิธีการสร้างทางไหลผ่านของน้ำโดยไม่ให้เกิดพื้นที่ท่วมขังบริเวณนั้น ในมิติแลนด์สเคปจะทำด้วยการถมดินเพื่อยกระดับพื้นที่ขึ้น (Raising lands) ซึ่งสามารถยกระดับพื้นที่ขึ้นแล้วยังให้น้ำไหลผ่านพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้ท่วมถึง อีกทั้งออกแบบพื้นที่ทางเท้าให้มีลักษณะเป็นรูพรุน (Porous pavement) เป็นการออกแบบโดยแทรกพื้นที่สีเขียวลงไปในพื้นทางเท้าให้เกิดพื้นที่ซึมน้ำตามธรรมชาติโดยอาศัยชั้นผิวดินหรือพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่ซับน้ำ

ในมิติสถาปัตยกรรมที่เป็นการออกแบบอาคาร หรือที่อยู่อาศัยนั้น จะหลีกหนีน้ำท่วมด้วยการสร้างอาคารที่มีโครงสร้างเหนือระดับน้ำท่วมเพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่านอาคารได้ และยังช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดจากปัญหาน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีการออกแบบอาคารสะเทือนน้ำสะเทือนบก (Amphibious architecture) ที่สามารถรองรับพื้นที่น้ำท่วมลึกหรือน้ำท่วมบ่อยได้ โดยวิธีนี้จะทำโป๊ะขึ้นเพื่อให้อาคารสามารถลอยเหนือน้ำได้

Resist การป้องกันน้ำ

เมื่อปริมาณน้ำฝนมากขึ้นส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูง อีกทั้งการระบายน้ำที่ไม่ทันท่วงที ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในปริมาณมาก ซึ่งเป็นผลกระทบแก่ชีวิตและทรัพย์สิน อีกหนึ่งวิธีการป้องกันน้ำจึงเป็นการสร้างกำแพง หรือสร้างพื้นที่กำบังน้ำเพื่อป้องกันน้ำเข้ามายังพื้นที่ ซึ่งการสร้างกำแพงเป็นการป้องกันน้ำระดับมหาภาค หรือแก้ไขปัญหาระดับเมืองใหญ่ ซึ่งวิธีแก้เช่นนี้มักทำให้วิถีชีวิตริมน้ำหายไป เนื่องจากเกิดการปิดกั้นระหว่างวิถีชีวิตริมน้ำและผู้คนในมิติสถาปัตยกรรมเป็นการใช้ตัวอาคารในการป้องกันน้ำ (use of buildings as flood defence) โดยใช้ผนังคอนกรีตของตัวอาคารเองในการรับแรงปะทะน้ำ หรือใช้ตัวอาคารในการล้อมพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้ท่วมถึง โดยให้น้ำไหลผ่านตัวอาคาร อีกทั้งยังสามารถปลูกพืชพรรณภายในพื้นที่เพื่อการชะลอ และรับแรงปะทะของน้ำเข้าสู่อาคาร หรือการสร้างช่องระบายน้ำที่มีขนาดกว้างกระจายตามจุดต่างๆ เพื่อรองรับน้ำในช่วงปริมาณน้ำมาก

นอกจากนี้แนวทางการป้องกันน้ำในมิติภูมิสถาปัตยกรรมเอง เป็นการสร้างเขื่อนหรือโครงสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถสร้างเขื่อนที่เป็นคอนกรีตหรือเขื่อนธรรมชาติกั้นน้ำเข้ามาภายในพื้นที่ โดยการสร้างเขื่อนสามารถนำน้ำไปผลิตกระแสไฟฟ้าหรือใช้เป็นพื้นที่สาธารณะต่างๆได้ โดยการสร้างเขื่อนต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐในการให้ความร่วมมือเพื่อซ่อมบำรุงและลงทุน ซึ่งอาจจะใช้ดวลาและเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

การออกแบบการป้องกันน้ำในการสร้างเขื่อนหรือใช้อาคารในการป้องกันน้ำเข้ามายังพื้นที่ ซึ่งเวลาจะเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับสถานการณ์ใหม่ๆ จะทำได้ค่อนข้างยาก และพอทำไปแล้วจะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมในบ้างพื้นที่ เช่นดินตะกอนบางพื้นที่อาจหาย และหรืออาจไปเพิ่มที่ดินบางพื้นที่ ทำให้ทั้งวิถีชีวิต หรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ซึ่งการสร้างโครงสร้างแบบนี้จะต้องพิจารณาให้ครบรอบด้าน ดังนั้น ความ flexibility in adaptation จึงเป็นตัวแปรหลักในการพิจารณาถึงความเหมาะสม

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

routledge.com

sciencedirect.com

oma.com

weforum.org

Graphic Design by Prapawit Intun
Share :