CITY CRACKER

ยิ่งเดิน เมืองยิ่งโต ‘Walkable City’ ว่าด้วยเรื่องเมืองเดินได้กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

คุณชอบเดินหรือเปล่า? เวลาอยู่เมืองไทย ใครๆ ก็ไม่ชอบเดิน แล้วก็มักจะถูกหมายหัวว่า เราขี้เกียจเนอะ รักสบาย แต่ในทางกลับกันก็มีข้อแย้งว่า เราไม่ชอบเดินเพราะเมืองมันเดินไม่ได้ ถนนไม่ได้ถูกออกแบบให้มนุษย์ แต่ออกแบบให้รถยนต์ เวลาเดินออกนอกตึกเหมือนอยู่ในดินแดนสู้รบอะไรสักอย่าง เป็นคนเดินเท้าต้องทำตัวเล็กๆ ลีบๆ ผิวถนนก็แสนแย่ แถมยังร้อนอีก

 

แต่ก็คนไทยอีกไม่ใช่เหรอที่บางครั้ง เราไปต่างประเทศ ประเทศที่เจริญๆ ต่างเป็นดินแดนของคนเดินถนน เราทึ่งกับญี่ปุ่นที่คนเดินเท้าต้องมาก่อน เราสามารถเดินเตร่อยู่ในยุโรปและใช้สองขาพาเที่ยวทั้งวันจนเมื่อยขบ การเดิน (ในเมืองดีๆ) นี่แหละเป็นอีกหนึ่งความรื่นรมย์ เราค่อยๆ เตร่จากย่านหนึ่งไปสู่อีกย่านหนึ่ง ค่อยๆ ซึมซับบรรยากาศของเมือง

แน่นอนว่า ในเมืองที่เราเดินเตร็ดเตร่ได้นี้ รู้ตัวอีกที เราก็เดินเข้าร้านโน้นออกร้านนี้ เดินผ่านแผงลอย ร้านอาหาร หยิบนู่นถือนี่ หิ้วสารพัดของออกมา เมืองที่ออกแบบเพื่อการเดินจึงทำให้เราจับจ่ายไปกับผู้คน แทนที่จะจ่ายไปกับค่ารถค่าเดินทาง นั่งผ่านบ้านเรือนผู้คนและร้านรวงไปเสียเฉยๆ ในขณะเดียวกันการเดินก็เป็นการส่งเสริมสุขภาพขั้นพื้นฐานให้กับผู้คน ดังนั้นเอง ไอ้เจ้าประเด็นเรื่องเมืองเดินได้จึงไม่ควรเป็นแค่นิทาน เพราะเมืองเดินได้ส่งผลดีกับระบบเศรษฐกิจและการเติบโตของเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

 

ถนนและพื้นที่สาธารณะไม่ใช่ทางเชื่อมจากตึกสู่ตึก

คำว่าพื้นที่สาธารณะเป็นคำที่แสนจะไกลตัว และดูไม่มีอยู่จริงในสังคมไทย นอกอาคารสำหรับเราคือถนน และถนนคือจุดที่เชื่อมจากตึกหรือพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง ในบางประเทศ และอาจรวมถึงบ้านเราเองที่มองว่าถนนมีฟังก์ชั่นแค่เชื่อมตึกสู่ตึก ฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่าก็ถูกแล้วไง แต่ด้วยวิธีคิดแบบนี้ ทำให้ถนนและทางเท้าไม่ได้รับความสนใจและพัฒนาให้ดี

กรุง Tbilisi ประเทศจอร์เจียเองก็เป็นหนึ่งในเมืองที่เจอปัญหาคล้ายๆ เราคือมองว่าถนนมีหน้าที่แค่เป็นจุดเชื่อมต่อ ตัวถนน- ทางเท้า ส่วนพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไร ปัญหาเลยยิ่งถลำลึกเข้าไปใหญ่ คือพออยู่นอกตึกปุ๊บ เมืองก็มีแต่ถนน ทางเท้าไม่มี คนเดินก็เดินลำบาก รถก็จะชน จอร์เจียเป็นประเทศที่มีอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์สูงที่สุดในยุโรป

ทางเมือง Tbilisi จึงมีปัญหาคล้ายๆ กับกรุงเทพ คือเมืองเดินไม่ได้ คนจึงหันมาใช้รถ เมืองก็สูญเสียไปกับอุบัติเหตุบนท้องถนน รถติด พื้นที่สีเขียวน้อยลงเรื่อยๆ นอกจากความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสุขภาพตั้งแต่คนเมืองอ้วน ไปจนถึงอุบัติเหตุแล้ว เมืองที่เดินไม่สะดวกยังพบกับความชะงักงันทางเศรษฐกิจโดยตรงจากการขาดกิจกรรมจากการจับจ่ายใช้สอยอีกด้วย สำหรับเมือง Tbilisi กำลังพัฒนาไปสู่เมืองที่ดีกับการเดินเพื่อเพิ่มความคึกคักทางเศรษฐกิจ

 

ยิ่งเดินได้ ยิ่งซื้อเก่ง

การที่เมืองเดินได้สะดวก เป็นอีกหนึ่งช่องทางกระจายรายได้สู่ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ในเมืองที่เดินไม่ได้เช่นกรุงเทพฯ เราจึงมักต้องไปกระจุก ไปจับจ่ายกันอยู่แต่ในห้างใหญ่ๆ ไม่สามารถเดินไปตามตรอกซอกซอย เยี่ยมเยียนร้านเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างสะดวกนัก

ในแง่การท่องเที่ยวและสันทนาการ มีรายงานว่าการเดินเกี่ยวข้องกับการเติบโตและการจับจ่ายอย่างสำคัญ เช่นที่กรุงโคเปนเฮเกนพบว่า 33% ของการช้อปปิ้งเกิดขึ้นจากการเดิน ที่อังกฤษมีข้อมูลว่าหลังปรับปรุงทางเท้าให้เดินดีขึ้นทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20-40% ในขณะที่ที่ลอนดอนมีการทดลองปรับปรุงย่านให้เดินสะดวกมากขึ้น หลังจากการปรับปรุงพบว่ามีอัตราการจับจ่ายในพื้นที่สูงขึ้นถึง 40-50%

นอกจากยุโรปแล้ว ในสหรัฐและหลายเมืองใหญ่ต่างเห็นความสำคัญของการออกแบบเมืองเผื่อการเดินมากกว่าการออกแบบโดยมีถนนใหญ่เป็นหัวใจการพัฒนา ดังนั้นการออกแบบเมืองที่กลับมุมมองจากการมองว่าถนน- พื้นที่สาธารณะนอกอาคารเป็นแค่จุดเชื่อมจากจุดสู่จุด อาจเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดที่สำคัญ

 

ถ้าเรามองว่าพื้นที่สาธารณะ ถนน ทางเท้า เป็นอีกหนึ่งหน้าตา เป็นอีกพื้นที่ที่มอบประสบการณ์ให้กับคนเมืองในการเดินในเมืองใหญ่แห่งนี้ จากการเปลี่ยนวิธีคิด และความเข้าใจเรื่องการเดินอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมืองที่กรุงเทพฯ อาจจะหลงลืมไป ก็อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง ซ่อม เราอาจมีทางเท้าที่ดีขึ้น ร่มรื่นขึ้น เราอาจสามารถเดินไปสู่ย่าน ร้านรวง และสำรวจเมืองได้สนุกกว่าแค่นั่งรถผ่าน กรุงเทพฯ อาจจะคึกคักขึ้น กระจายรายได้มากขึ้น และเราก็อาจจะอ้วนน้อยลงบ้าง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

forbes.ge

vox.com

thecityateyelevel.com

Share :