CITY CRACKER

หอคอยกลางทะเลทราย ถึงสวนเบญฯ และ we!park ของไทย 7 งานน่าสนใจจากเวที WAF 2023

งานเทศกาลสถาปัตยกรรมโลกหรือ The World Architecture Festival (WAF) เป็นอีกหนึ่งงานสำคัญ

ที่จะรวมตัวสตูดิโอ องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมและการพัฒนาจากทั่วโลกที่ได้รับคัดเลือกไปร่วมกันเสนอผลงานของตัวเอง ซึ่งในทุกๆ ปีเทศกาลสถาปัตยกรรมสำคัญนี้จะเวียนจัดขึ้นในเมืองสำคัญๆ และล่าสุดจัดขึ้นที่สิงคโปร์ เมืองในสวน โดยในภาพรวมงาน WAF ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ทรงเกียรติและเป็นที่จับตามากที่สุดงานหนึ่งของโลก

ในปีนี้ ทาง WAF ก็ได้ประกาศรางวัลชนะเลิศให้กับโปรเจกต์และโครงการพัฒนาต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทิศทางรางวัลค่อนข้างให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เป็นภาพของพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศซึ่งปีนี้สวนป่าเบญจกิติของบ้านเราก็ได้รับรางวัลภูมิสถาปัตยกรรมแห่งปี และเก๊าไม้ ที บาร์นที่เชียงใหม่ รวมถึงโปรเจกต์ความร่วมมือเพื่อเปิดพื้นที่สวนขนาดเล็กอย่าง we!park ก็ได้รับรางวัลเช่นกัน

เนื่องในโอกาสที่รางวัลใหญ่ทางสถาปัตยกรรมได้ประกาศรางวัล City Cracker จึงชวนไปดูโปรเจกต์รางวัลของ WAF 2023 จากโรงเรียนในจีนที่ได้รับรางวัลอาคารแห่งปี ถึงโปรเจกต์ต่างๆ จากประเทศไทย พร้อมด้วยตึกอาคารที่น่าสนใจ เช่น โปรเจกต์หอคอยพืชพรรณกลางทะเลทรายของอียิปต์ โปรเจกต์ชุมชนบริเวณชายแดนของอิหร่านที่เน้นออกแบบด้วยผู้คนจากภายใน และการกลับมาของเก๊าไม้ที่ครั้งนี้เป็นพื้นที่ร้านชาและพิพิธภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม โปรเจกต์ที่เลือกมาเป็นเพียงบางส่วนของผู้ชนะในปี 2023 เท่านั้น สามารถเข้าไปดูโปรเจกต์อื่นๆ เพิ่มเติมที่ : https://www.worldarchitecturefestival.com/waf2023/en/page/winners-2023

Huizhen High School, Approach Design Studio/Zhejiang University of Technology Engineering Design Group Co.,Ltd

World Building of the Year 2023

ปีนี้อาคารเรียนได้รับรางวัล World Building of the Year 2023 โรงเรียน Huizhen High School เป็นโรงเรียนขนาด 30 ห้องเรียน ตั้งอยู่ในเมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง สถาปัตยกรรมโรงเรียนที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขของเมืองที่มีพื้นที่ลดน้อยลง แต่มีจำนวนประชากรรวมถึงเด็กนักเรียนมากขึ้น ความเท่ของโรงเรียนที่ประกอบไปด้วยห้องเรียนและผสมผสานกับพื้นที่สวนซึ่งมีฟีเจอร์ที่เราคุ้นเคย เช่น ทางลอยฟ้าที่คดเคี้ยว ป่าแนวตั้ง การแทรกพื้นที่เล่นที่ขยายข้อจำกัดของที่ดินที่มีน้อยลง การผสานสวนสาธารณะเข้ากับพื้นที่การเรียน ผู้ออกแบบได้ชี้ให้เห็นว่าความกะทัดรัดของสองพื้นที่ที่กระชับเข้าหากัน ทำให้ปัญหาใหญ่ของโรงเรียนและพื้นที่ชุมชนคือการเดินทางจากที่เรียนไปหาสวนหดสั้นลง สามารถช่วยลดการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ได้

Benjakitti Forest Park, TURENSCAPE, Arsom silp Community and Environmental Architect

Landscape of the Year 2023

อีกหนึ่งความภูมิใจของกรุงเทพ กับสวนป่าเบญจกิติที่ได้รางวัลภูมิสถาปัตยกรรมแห่งปี สำหรับสวนป่าเบญจกิติเป็นสวนป่าแห่งแรกที่อยู่ใจกลางเมือง จากการปรับเปลี่ยนพื้นที่อุตสาหกรรมคือโรงงานยาสูบและสวนเบญจกิติที่เคยเป็นสวนสวยงาม ไปสู่สวนป่าที่โดดเด่นทั้งการเป็นพื้นที่สีเขียวที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสวนที่มีบทบาทในมิติทางสิ่งแวดล้อมและการเป็นพื้นที่ชุมชน

สวนป่าเบญจกิติเป็นสวนที่ดึงเอาพื้นที่ป่าเข้ามาไว้ในเมือง ใช้รูปแบบพืชพรรณหลากหลาย มีทางเดินยกระดับที่ร่มรื่น สวยงาม ในขณะเดียวกันสวนป่าแห่งนี้จะเป็นพื้นที่ที่ร่วมรับมือปัญหาเรื่องน้ำของกรุงเทพฯ มีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีบทบาททั้งต่อระบบนิเวศภายในเมือง และจะเป็นพื้นที่ที่ร่วมรับและบำบัดน้ำจากคลองไผ่สิงโตและจากพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันสวนป่าแห่งนี้ยังคงเติบโตไปสู่พื้นที่สันทนาการของชุมชน เช่น การเปิดศูนย์กีฬาไปจนถึงการปรับเปลี่ยนพื้นที่อาคารเก่าไปสู่บทบาทใหม่ๆ เช่น พื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ

The Probiotic Tower, design and more international

Future Project of the Year 2023

เมื่อสถาปัตยกรรมกลายเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี่คืออีกหนึ่งแนวคิดใหม่ที่ได้รับรางวัลโปรเจกต์แห่งอนาคตกับหอคอยจุลินทรีย์มีประโยชน์หรือ The Probiotic Tower ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ หอคอยแห่งนี้เป็นการตีความสถาปัตยกรรมที่จะสร้างขึ้นใหม่ในฐานะอาคารที่จะใช้พลังธรรมชาติในการร่วมปรับปรุงพื้นที่เมืองที่ขยายตัวขึ้น โดยรวมตัวอาคารจะเน้นออกแบบโดยการใช้พลังและวัสดุธรรมชาติในการสร้างผลเชิงบวกให้กับพื้นที่เมืองรอบๆ เช่น บทบาทของอาคารที่ปกคลุมด้วยพืชพรรณทำหน้าที่เก็บกักคาร์บอน และพืชพรรณต่างๆ จะร่วมแก้ไขปัญหาและมีบทบาทที่หลากหลายต่อชุมชน

ตัวหอคอยนี้สมศักดิ์ศรีรางวัลสถาปัตยกรรมแนวทดลอง โดยภาพรวมจะเป็นเหมือนแท็งก์น้ำและสวนแขวนขนาดใหญ่ มีระบบดูดน้ำเข้าสู่แกนกลาง และมีการใช้พื้นที่ที่มีความหลากหลายในการจัดการน้ำและดูแลกลุ่มพืชพรรณในส่วนต่างๆ เช่น มีแท็งก์ขนาดใหญ่ใช้เลี้ยงสาหร่าย มีโซนต้นกกที่ร่วมบำบัดน้ำและกกนั้นจะใช้ในการผลิตไบโอดีเซลต่อ มีส่วนฟาร์มต้นไผ่ที่ใช้ร่วมผลิตวัสดุสำหรับพื้นที่รอบๆ หอคอย ทั้งหมดนี้อยู่ในบริบททะเลทรายอันเป็นสิ่งที่สถาปัตยกรรมและธรรมชาติจะเข้าไปร่วมสร้างความอุดมสมบูรณ์ ผลิตอาหารและพลังงาน บำบัดและกักเก็บน้ำ เป็นพื้นที่ร่มรื่นและกิจกรรมของเมือง

Battersea Power Station Phase Two, WilkinsonEyre

WAF Completed Buildings: Mixed Use

Battersea Power Station เป็นอีกหนึ่งสุดยอดอาคารในตำนาน จากโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าที่กลายเป็นอาคารอนุรักษ์ ตัวโรงไฟฟ้าเป็นตัวแทนความก้าวหน้าทางวิทยาการของอังกฤษและกรุงลอนดอน ในขณะเดียวกันตัวอาคารนี้ก็สัมพันธ์กับวิทยาการและการออกแบบด้วย คืออาคารถูกประท้วงต่อต้านว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีรูปลักษณ์ไม่สวยงาม ซึ่งสถาปนิกระดับตำนานคือ Sir Giles Gilbert Scott จึงช่วยและปรับให้อาคารดูเป็นมิตรและมีความสวยงามมากขึ้น ในการออกแบบกิลเบิร์ต สก๊อตต์ได้ออกแบบเป็นอาคารทรงวิหารและออกแบบให้ปล่องมีสีฟางนุ่มนวลลง ด้วยบริบทสำคัญนี้อาคารแห่งนี้จึงเป็นหมุดหมายของอาคารอุตสาหกรรมที่ผสมผสานฟังก์ชั่นของโรงงานเข้ากับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

หลังจากที่โรงไฟฟ้าหมดหน้าที่และหยุดทำงาน อาคารแห่งนี้กลายเป็นมรดกและถูกชุบชีวิตขึ้นใหม่เป็นอีกหนึ่งสุดยอดพื้นที่แลนด์มาร์กใหม่ของลอนดอน กลายเป็นพื้นที่ธุรกิจสำคัญและแหล่งพบปะพร้อมพื้นที่พักอาศัยของลอนดอนต่อไป มีการเปิดพื้นที่เป็นสวนสาธารณะและพื้นที่สาธารณะ มีการปรับปล่องไอน้ำของโรงไฟฟ้าเดิมไปสู่พื้นที่การค้า โดยหนึ่งในโปรเจกต์สำคัญคือการเปิดเป็น Apple Campus

Kaomai Museums and Tea Barn, PAVA architects

WAF Completed Buildings: Creative Reuse

โครงการเก๊าไม้ล้านนาเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ด้านสถาปัตยกรรมและการอนุรักษ์ที่มักได้รับการพูดถึงในสื่อระดับโลกอยู่เสมอจากการอนุรักษ์และปรับพื้นที่ไปสู่การใช้งานใหม่ๆ จากอาคารบ่มใบยาสูบเดิม และในปีนี้ Kaomai Museums and Tea Barn ก็ได้รับรางวันในประเภท Creative Reuse  สำหรับโครงการเก๊าไม้และส่วนร้านชา เป็นการพัฒนาในระดับภาพรวม คือให้ทั้งพื้นที่เป็นเหมือนกับพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ การอนุรักษ์โดดเด่นทั้งในแง่การรักษาและฟื้นฟูอาคารและการรักษาร่มเงาและพืชพรรณภายในพื้นที่ไว้ ตัวพื้นที่มุ่งเน้นให้เป็นโอเอซิส และยังเน้นการส่งต่อความรู้คือการเป็นพื้นที่ของผู้คน เช่น คนทำงานในโรงงานยาสูบเดิมไปจนถึงศิลปินและช่างท้องถิ่นต่างๆ ได้ใช้เป็นพื้นที่สื่อสารและส่งต่อความรู้ในพื้นที่

Border Village Community Center, Nextoffice, Studio of Architectural Research & Design

WAF Future Project: Civic

จากโปรเจกต์ใหญ่ๆ มาสู่โปรเจกต์ในอนาคตที่เป็นโปรเจกต์พื้นถิ่นในพื้นที่ห่างไกลคือพื้นที่ชายแดน Border Village Community Center เป็นโปรเจกต์ศูนย์ชุมชนของพื้นที่ที่ได้ชื่อว่าห่างไกลจากศูนย์กลางที่สุดของอิหร่าน อยู่เกือบติดกับชายแดนปากีสถาน ตัวพื้นที่นี้มีเงื่อนไขความจำกัดของสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้วยเงื่อนไขความห่างไกล ทีมสถาปนิกจึงได้เน้นการพัฒนาที่มาจากภายในพื้นที่ คือให้ผู้อยู่อาศัยวางกลยุทธ์และความต้องการของตนในการออกแบบศูนย์ชุมชนของตัวเอง พร้อมด้วยการใช้กลุ่มคนนที่มีทักษะ ไปจนถึงวัสดุต่างๆ ที่อยู่ในละแวก เป็นพัฒนาไปตามบริบท ด้วยผู้คนและสิ่งที่อยู่ในบริบทนั้นๆ เอง เช่น การใช้ใบปาล์มและการก่อกำแพงด้วยหินซึ่งเป็นวัฒนธรรมการสร้างอาคารของท้องถิ่นที่รวบรวมหินจากแม่น้ำซึ่งมีราคาถูกและคงทนมาใช้ ตัวศูนย์แห่งนี้จะประกอบด้วยพื้นที่เพื่อการศึกษา ห้องสมุดและการส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าถึงกิจกรรมทางสังคม พร้อมทั้งช่วยปูทางในมิติต่างๆ ให้กับคนรุ่นต่อไปด้วย

we!park, Shma Company Limited

WAF Highly Recomended Future Projects: Masterplanning and WAFX Winner

ส่งท้ายด้วยโปรเจกต์เพื่อนบ้านของเราคือ we!park โดย we!park คือแพลตฟอร์มพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) มีเป้าหมายเพื่อสร้างและส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเขตเมืองกรุงเทพฯ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ และภาคประชาสังคม เพื่อเปิดและปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปสู่พื้นที่สวนในขนาดพื้นที่และในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะสวนขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยโปรเจกต์ we!park ต้องการแก้ปัญหาการขาดพื้นที่สีเขียว และต้องการชี้ให้เห็นความสำคัญและความหลากหลายของสวน พลังของพื้นที่สีเขียวในการฟื้นฟูความเคลื่อนไหวและนำไปสู่การส่งเสริมความเข้มแข็งและพลังให้กับผู้คนและชุมชน

จุดเด่นของ we!park คือการทำงานร่วมกัน และในความร่วมกันนั้นนำไปสู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวผ่านการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อนำไปสู่เป้าหมายปลายทางคือการมีบริบทเมืองที่ดีขึ้น มีการกระจายตัวของสวนและการเข้าถึงสวนในระยะเดินได้ ทั้งนี้การทำงานของ we!park ยังเน้นการทำงานด้วยหลักการสำคัญของการออกแบบและการเปิดพื้นที่สาธารณะ เช่น การทำงานร่วมกันกับชุมชน การใช้ทักษะความรู้ร่วมกันของภาควิชาชีพและส่วนวิชาการ เช่น การร่วมมือกันของเครือข่ายนักออกแบบและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง โดย we!park ได้รับรางในส่วนของ Highly Recomended หมวด Future Projects: Masterplanning  และได้รับรางวัลของ WAFX รางวัลที่เน้นนวัตกรรมที่สัมพันธ์กับความยั่งยืนและการแก้ปัญหาที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่

อ้างอิงข้อมูลจาก

worldbuildingsdirectory.com

gilbertscott.org

dsignsomething.com

 

Share :