CITY CRACKER

ตึกยิ่งสูง เมืองยิ่งทรุด นิวยอร์กกับปัญหาเมืองจมจากอาคารระฟ้าในมหานคร

ตึกที่เรียงรายกันแน่นขนัดเต็มขอบฟ้าของมหานครนิวยอร์ก ทั้ง Empire State, 40 Wall Street, Woolworth Building และอาคารอื่นๆ อีกมากมาย เป็นหนึ่งในภาพจำของนิวยอร์กที่ใครๆ ก็นึกถึง แต่ความสวยงามที่เห็นจากมุมสูงและการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองอาจมีเรื่องที่เราจำเป็นต้องคำนึงถึง คือจากรายงานล่าสุดพบว่ามหานครมั่งคั่งแห่งนี้อาจจมลงเรื่อยๆ ในทุกปีจากน้ำหนักที่มากเกินของอาคารสูงระฟ้า

ล่าสุดงานวิจัยใหม่จาก Earth’s Future พบว่ามหานครนิวยอร์กกำลังค่อยๆ จมลงประมาณปีละ 1-2 มิลลิเมตร ด้วยน้ำหนักที่เริ่มมากเกินของอาคาระฟ้าจำนวนมาก ประกอบกับระดับน้ำทะเลที่กำลังเพิ่มขึ้นสูงจากวิกฤตการณ์โลกร้อนและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง วันหนึ่งนิวยอร์กอาจน้ำท่วมและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนเมือง แน่นอนว่าในการเปลี่ยนแแปลงนี้อาจไม่ได้จมลงในทันทีแบบเห็นได้ชัดเจน แต่จากสาเหตุและปัญหาที่สะสมมาอาจทำให้เราเริ่มเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงของเมืองมากขึ้น

ภาพนิวยอร์กในอีก 10-20 ปีข้างหน้าอาจไม่เหมือนเดิม City Cracker ชวนดูเมืองนิวยอร์กในฐานะเคสศึกษา อีกทั้งวิธีการป้องกันปัญหาและการจัดการต่อไปในอนาคต รวมถึงนิวยอ์รกอาจเป็นต้นแบบเมืองใหม่ที่ต้องปรับตัวให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ พร้อมชวนย้อนมองกรุงเทพฯ ที่มีการคาดการณ์ว่ากันว่าจะจมเช่นกัน

 

Photo by Kit Suman on Unsplash

 

ปัญหาเมืองจมที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ

จากความร่ำรวยของมหานครนิวยอร์ก เม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้าไปทำให้เมืองพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 นิวยอร์กเริ่มมีการสร้างอาคารระฟ้าขึ้นมา ก่อนจะมีหลายๆ ตึกตามขึ้นมาไม่หยุดหย่อน อีกทั้งปริมาณพื้นที่ของแมนฮัตตันทำให้เมืองและกฏหมายในการสร้างอาคารสูงทำให้นิวยอร์กเต็มไปด้วยตึกระฟ้าในเวลาไม่นาน ในแง่หนึ่งเส้นขอบฟ้าของมหานครก็สวยงามขึ้นและได้กลายเป็นภาพจำของเมือง แต่เมื่อมองกลับมายังพื้นดินกลับพบว่ามีปัญหากำลังค่อยๆ ก่อตัวอยู่เช่นกัน

แน่นอนว่าไม่ใช่นิวยอร์กเท่านั้นที่อาจต้องเผชิญกับปํญหานี้ในอนาคต เมืองอื่นๆ ทั่วโลกเองก็เริ่มแสดงให้เห็นแล้วเหมือนกัน เช่น ประเทศอินโดนีเซียที่ได้มีการย้ายเมืองหลวงจากจาร์กาต้าไปตั้งที่เมืองใหม่ จากปัญหาแผ่นดินที่ทรุดลงอย่างรวดเร็วกว่า 2 ซม – 5 ซม ในทุกปี หรือแม้กระทั่งเม็กซิโกที่ไม่ได้เป็นเมืองชายฝั่ง แต่ก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่เหมือนกัน มีรายงานว่าเม็กซิโก้ซิตี้กำลังทรุดลงเรื่อยๆ ที่ค่าเฉลี่ย 20 เซนติเมตรต่อปี ไปจนถึงเมืองเวนิสที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่ากำลังจะจมน้ำและไม่เหลือเมืองในช่วง 10 ปีข้างหน้า ทำให้เห็นว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ใดที่หนึ่งแต่เป็นปัญหาในระดับโลกที่เมืองต่างๆ กำลังเผชิญ โดยปัญหาของเมืองนิวยอร์กคาดว่ามีตัวกระตุ้นเป็นอาคารสูงจำนวนมากในเมือง

 

independent.co.uk

 

มหานิวยอร์กกับช้าง 140 ล้านตัว

เมื่อมองกลับมาที่นิวยอร์ก จากอาคารระฟ้าจำนวนมากของเมืองทำให้ปัจจุบันนิวยอร์กกำลังค่อยๆ จมลงเฉลี่ยปีละประมาณ 1-2 มิลลิเมตร และในบางพื้นที่ของเมืองอาจมลงไปมากกว่า 2 เท่า ซึ่งเป็นการคำนวณอย่างคร่าวๆ จากน้ำหนักของอาคารทั้งหมดในเมือง ที่ประกอบไปด้วยคอนกรีตและเหล็กเส้น อยู่ที่ประมาณ 762 ล้านตัน หรือประมาณช้าง 140 ล้านตัวกำลังอาศัยอยู่ในเมืองนิวยอร์ก โดยน้ำหนักที่คำนวณออกมานี้ยังไม่นับรวมกับเฟอรนิเจอร์ และขนส่งพื้นฐานอื่นๆ ในเมือง

เมื่อรวมเข้ากับภูมิศาสตร์ของเมือง คือเป็นพื้นทรายและดินเหนียวที่ทับถมกัน การมีวัสดุจากการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่เข้าไปวางอยู่นานๆ จึงเกิดเป็นผลกระทบที่ตามมา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องของธรรมชาติอื่นๆ เข้ามาเกี่ยว คือวิกฤตการณ์โลกร้อนที่กำลังส่งผลให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้น และพายุเฮอริเคนเช่นกัน โดยทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้นิวยอร์กน้ำท่วมได้ง่ายขึ้น อีกทั้งมหานครนิวยอร์กเป็นเมืองชายฝั่งหนึ่งที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้มาเป็นระยะเวลานาน เมื่อผนวกรวมเข้ากับโครงสร้างของอาคารต่างๆ ทำให้วิกฤตเมืองจมเริ่มเห็นภาพชัดมากขึ้น

 

 

การจัดการและภาพต่อไปของเมือง

ถึงแม้ว่าภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเป็นสิ่งที่เรายังไม่รู้สึก เพราะอาคารทั้งหมดยังคงแข็งแรง แผ่นดินยังให้ความรู้สึกเหมือนเดิม นักธรณีฟิสิกส์ได้บอกว่าปัญหานี้อาจยังไม่ได้วิกฤต แต่การสร้างอาคารใหม่จำเป็นต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ จะเกิดอยู่เสมอ ดังนั้นแล้ว ในทุกๆ ครั้งที่มีการสร้างอาคารใหม่อาจต้องเตรียมแก้ไขปัญหา เพื่อรองรับสภาพเมืองในอนาคต อีกทั้งยังต้องรับมือกับภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นง่ายกว่าเดิมด้วยเช่นกัน นิวยอร์กในอนาคตเองก็ต้องปรับตัวเพื่อให้เมืองยังคงอาศัย และขับเคลื่อนไปข้างหน้าต่อให้ได้

theaseanpost.com

เราเองก็อาจจะต้องหันมามองกรุงเทพฯ เมืองโฟไซดอนที่น้ำท่วมทุกครั้งเมื่อฝนตกเองด้วยเช่นกัน คือแม้ว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ ภูมิศาสตร์ หรือบริบทพื้นที่และการใช้งานของเมืองมีความแตกต่างกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มอาคารสูงของกรุงเทพฯ ยังคงเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ

การคำนึงถึงเรื่องของการจมตัวลงของเมืองและน้ำทะเลหนุนสูงก็ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งมหานครนิวยอร์กอาจเป็นแนวทางศึกษาสำหรับเราต่อไปก็ได้ในกรณีนี้เช่นกัน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

theguardian.com
bbc.com
scientificamerican.com

Share :